10 มี.ค. เวลา 07:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

สสว.ดันแผน SMEs เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ 4.8 หมื่นล้าน สู้ปัจจัยเสี่ยงรุม

ปี 2567 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ประเมินว่าจะเป็นปีที่รายล้อมไปด้วยปัจจัยเสี่ยงรอบด้านสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว.ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มองทิศทางเอสเอ็มอีไทยในปี 2567 อย่างไร
นอกจากนี้ สสว.จะส่งเสริมและสนับสนุน SMEs อย่างไรให้อยู่รอด และเติบโตไปข้างหน้า ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน ฟังได้จาก นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ดังรายละเอียด
5 เป้าหมายหนุน SMEs
นายวีระพงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ในแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) ของ สสว.ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลงแล้ว เป้าหมายหลักของแผนฯ ฉบับนี้ ได้แก่ 1.การเร่งฟื้นฟู SMEs ที่ประสบปัญหาจากวิกฤตการณ์ที่ผ่านมาให้สามารถอยู่รอด และกลับมาดำเนินธุรกิจได้เช่นเดิม 2.การให้ความช่วยเหลือ SMEs ทุกกลุ่ม ในมิติต่าง ๆ ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้มากขึ้น
3.การส่งเสริมให้ SMEs สามารถขยับขนาดการเติบโตของธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น 4.การพัฒนาศักยภาพ SMEs สู่สากลและเปิดตลาดสู่ต่างประเทศ สร้างโอกาสการจำหน่ายสินค้าและบริการ สร้างฐานทางการตลาดที่ใหญ่กว่าเดิม และ 5.มุ่งเน้นการส่งเสริม SMEs ที่อยู่ในระบบ เพื่อให้ SMEs ที่ไม่ได้อยู่ในระบบเล็งเห็นถึงสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ นำมาซึ่งความสนใจที่จะเข้าสู่ระบบมากยิ่งขึ้น
วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
นอกจากแผนส่งเสริมฯ ข้างต้นแล้ว สสว. ยังจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริม SMEs ในระยะ 5 ปี ควบคู่กันไป โดยแผนปฏิบัติการรายปีมีประเด็นมุ่งเน้นที่แตกต่างกันออกไป สำหรับแผนปฏิบัติการส่งเสริม SMEs ปี 2567 จะมุ่งช่วยเหลือ SME ให้อยู่รอดจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก เพิ่มขีดความสามารถให้ปรับตัวได้ทันสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง
รวมทั้งยกระดับ SMEs ที่มีศักยภาพและกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญ ให้มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง, ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ซึ่งช่วยขับเคลื่อน Soft Power, เครื่องมือแพทย์และวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ และกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและซ่อมบำรุง
ดันเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ
สำหรับในปี 2567 สสว. ได้กำหนดทิศทางในการขับเคลื่อน สนับสนุนส่งเสริม SMEs มีเป้าหมายส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 1,148,872 ราย และมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 48,548 ล้านบาท ผ่านภารกิจด้านการจัดทำนโยบายและแผนส่งเสริม
และแผนปฏิบัติการ เสนอแนะนโยบาย/ มาตรการที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจสูง เช่น มาตรการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Thai SME-GP) เสนอแนะแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ สร้างความร่วมมือในการส่งเสริม SMEs กับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้คือการผลักดันขึ้นทะเบียน SMEs ผ่านหมายเลข ID เพียงเลขเดียว (SME One ID) เพื่อเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้แก่ SMEs ในการขอรับบริการและการส่งเสริมภาครัฐ ลดความซํ้าซ้อนจากการกรอกข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ การบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานให้กลายเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของการส่งเสริม SMEs ของประเทศ รวมถึงการพัฒนากลไกและเครื่องมือในการสนับสนุน SME ผ่านศูนย์ให้บริการ OSS ที่ครอบคลุมทั่วประเทศและพัฒนาระบบให้บริการในรูปแบบ E-Service ผ่าน SME Access
“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะเป็นแรงบวกเพิ่มเติมที่สนับสนุนให้ SMEs สามารถเติบโตต่อเนื่อง เพราะ SMEs คือกลุ่มวิสาหกิจที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 99.5% ของวิสาหกิจทั้งหมด ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 70% ของการจ้างงานทั้งประเทศ และมีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 1 ล้านล้านบาท หากพิจารณาในแง่ของการมีส่วนร่วมในการสร้างจีดีพีประเทศแล้ว พบว่า จีดีพีของ SMEs อยู่ที่ 6.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 35% ของจีดีพีรวม”
เปิดปัจจัยเสี่ยงปี 67
นายวีระพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงของ SMEs ในปี 2567 ในมุมมองด้านรายได้ พบว่า การบริโภคที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากภาระหนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มลดลง แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเติบโตตามเป้า เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้การตัดสินใจลงทุนในแต่ละช่วงเวลานับจากนี้ดำเนินการได้ยากมากขึ้น
ด้านต้นทุนยังมีความเสี่ยงจากภาระดอกเบี้ยสูง และคาดจะยังคงอยู่ระดับสูงในปีนี้ ขณะความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบของ SMEs ยังคงเกิดขึ้นได้ยาก เฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มรายย่อยหรือไมโครที่ไม่มีหลักฐานทางบัญชีที่เป็นที่ยอมรับของสถาบันการเงิน หรือแม้แต่กลุ่มขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีกว่า แต่อาจจะได้รับวงเงินไม่เพียงพอเพื่อใช้ในการดำเนินงาน และต้องแบกรับอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่
ด้านการจ้างงาน พบว่า SMEs ยังขาดแคลนแรงงานฝีมือ ที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขัน และยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นโดยเฉพาะสินค้าที่มีต้นทุนตํ่าจากจีน ที่สามารถนำเข้ามาได้อย่างสะดวกทุกช่องทาง ทำให้ SMEs บางส่วนเปลี่ยนจากการเป็นผู้ผลิตเป็นการนำเข้าแทน
โฆษณา