11 มี.ค. 2024 เวลา 05:27 • ท่องเที่ยว

Variety India 2024 .. วิหารทองคำ รัฐปันจาป

Variety India 2024 .. วิหารทองคำ เมืองเมืองอมฤตสาร์ รัฐปันจาป
India .. เปี่ยมเสน่ห์ให้กับการเดินทาง สำหรับคนที่ชอบออกไปสบตากับโลกแบบสนุกๆกึ่งผจญภัย สามารถมองข้ามความไม่สะดวกสบายมากมายได้บ้าง ดังนั้นเมื่อมีเงิน มีเวลาเมื่อไหร่ฉันก็มักจะออกเดินทางโดยมีจุดมุ่งหมายที่เมืองภารตะเมื่อนั้น
การเดินทางสู่อินเดียในช่วงต้นปี 2024 ของฉัน เป็นการรอนแรมอยู่ในดินแดนที่มีความแตกต่างของสังคมที่มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา วัฒนธรรม และปรัชญาอินเดีย เป็นปัจจัยหลักกำหนดรูปแบบสังคมและการเมือง ... เป็นการเดินทางข้ามประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาล และมีประชากรมากที่สุดในโลกปัจจุบัน จากตะวันตก ถึงตะวันออก
วิหารทองคำแห่งเมืองอมฤตสาร์ อินเดีย ศูนย์รวมศรัทธาชาวซิกข์
Amritsar : เมืองอมฤตสาร์ เก่า รามทาสปุระ เป็นเมืองใหญ่อันดับสองของรัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย รองจากเมือง Ludhiana .. เป็นเมืองการค้าทางเหนือ-ตะวันตกของประเทศอินเดีย ตั้งอยู่ในรัฐปัญจาบใกล้กับเขตแดนของประเทศปากีสถาน ห่างจากเมืองหลวงอย่างนิวเดลีประมาณ 410 กิโลเมตร
ที่นี่เป็นหนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐ และนับว่าเป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณและวัฒนธรรมของชาวซิกข์ที่มีชื่อเสียงสุด .. รวมถึงเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะจากเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวอินเดียที่สวนสาธารณะ Jallianwala Bagh ในยุคสมัยที่อินเดียประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ ปี ค.ศ. 1919 จวบจนกระทั่งการก้าวเข้าสู่การระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน
ปัจจุบัน .. ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งของ รัฐปัญจาบ ทางตอนเหนือของอินเดีย
เมืองอมฤตสาร์ เป็นที่ตั้งของฮัรมันดิร ซาฮิบ (Harmandir Sahib) หรือ วิหารทองคำ (The Golden Temple) เป็นคุรุทวาราที่สำคัญที่สุด
และได้รับการยกย่องว่าศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของชนชาวซิกข์ เป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวซิกข์ทั่วโลก อันเป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์มากมาย ทั้งในเรื่องของความรัก ความศรัทธา และ การเมือง
พื้นที่ในโซนก่อนที่จะเข้าถึง “วิหารทองคำ” เป็นถนนคนเดิน .. มีพื้นที่ที่จัดสรรให้เป็นอาคารจอดรถขนาดใหญ่ อยู่ในระยะทางที่สามารถเดินเท้าไปถึงวิหารทองคำได้ บริเวณโดยรอบมีทั้งส่วนศาสนสถาน พิพิธภัณฑ์ ร้านค้า โรงแรม ที่พัก รวมไว้ให้อย่างครบครัน
ร้านค้าบนถนนคนเดิน .. มีสินค้าหลากหลาย ทั้งเครื่องแต่งกาย อาการว่างประเภทขนม ผลไม้
Jallianwala Bagh : เป็นอนุสรณ์สถานแห่งความเศร้า สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวซิกซ์ ที่เคยเกิดขึ้นตรงนี้ เมื่อปี 13 เมษายน คศ. 1919 (จะเล่าเรื่องภาพหลังค่ะ)
เราประสงค์ที่จะเข้าไปชมวิหารทองคำอันศักดิ์สิทธิ์ โดยต้องมีการโพกผมให้เรียบร้อยก่อนเข้าไปในบริเวณวิหาร และไม่อนุญาตให้ใส่หมวก .. ชาวซิกซ์จะไม่มีการตัดผมตลอดชีวิต ด้วยถือว่า ผม เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายที่พระเจ้าประทานให้กับมนุษย์ เมื่อผมยาวก็จะต้องโพกด้วยผ้าให้ดูเรียบร้อย
.. มองไปทางไหน ก็จะเห็นชาวซิกซ์ โพกศีรษะ ส่วนคุณสุภาพสตรี ก็ห่มคลุมส่าหรี .. ให้บรรยากาศภารตะมากๆ
.. การเดินในบริเวณวิหารจะต้องปราศจากรองเท้า โดยสามารถฝากรองเท้าไว้ได้ ณ ที่รับฝาก
ในวันที่เราไปเยือน บริเวณวัดอากาศค่อนข้างเย็น มีสายหมอกบางๆโอบคลุมทั่วบริเวณ .. เราล้างเท้าในบ่อน้ำตื้นๆก่อนเดินผ่านประตูทางเข้า เข้าไปด้านใน
ที่นี่เปิดรับศาสนิกชนจากทุกชนชั้น ทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา และทุกเวลา โดยเปิดให้เข้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้เราได้เห็นภาพของผู้คนเดินทางเข้ามาเยี่ยมชม สักการะกันอย่างไม่ขาดสายตลอดเวลา
วิหารทองคำ Harmandir Sahib
Harmandir Sahib หรือ วิหารทองคำ (Golden Temple) เป็นคุรุทวารา(วัด) ที่สำคัญที่สุดในศาสนาซิกข์ ตั้งอยู่ที่เมืองอมฤตสาร์ รัฐปัญจาบ ภาคเหนือของประเทศอินเดีย .. ชื่อของวิหาร แปลว่า ที่สถิตของพระผู้เป็นเจ้า สถานที่อันเป็นที่ยกย่องว่าศักดิ์สิทธิ์สูงสุด (abode of God, exalted holy court)
Harmandir Sahib มีความหมายว่า สถานที่สถิตของพระผู้เป็นเจ้า .. เป็นสัญลักษณ์สูงสุด และศูนย์รวมทางจิตใจของชาวซิกข์ ซึ่งหากมีโอกาส ชาวซิกซ์จะตั้งเป้าหมายที่จะเดินทางมาถวายสักการะ และได้ลงไปอาบน้ำในสระอันศักดิ์สิทธิ์ ณ พระวิหารแห่งนี้สักครั้งหนึ่งในชีวิต
ศาสนาซิกซ์ .. ได้รับอิทธิพลจากทั้งศาสนาฮินดูและศาสนาอิสลามค่ะ เกิดจากการที่ท่านคุรุต้องการเห็นความสงบสันติระหว่างศาสนาฮินดูและอิสลาม
.. ซึ่งในขณะนั้นคนทั้ง 2 ศาสนาจับอาวุธขึ้นต่อสู้กัน จากการเข้าไปในชมพูทวีปของผู้ปกครองโมกุลซึ่งเป็นมุสลิม และประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นฮินดู
.. เราอาจจะสังเกตุเห็นสถาปัตยกรรมของอาคารต่างๆที่ผสมผสานในสไตล์ฮินดู มัสลิม หรือแม้แต่คริสต์ศาสนา
** ประวัติของพระวิหารฮัรมันดิร ซาฮิบ
เริ่มต้นที่ ท่าน คุรุ อมัรดาส ยิ ผู้ซึ่งเป็นผู้ซึ่งริเริ่มให้มีการสร้างศาสนสถานสำหรับชาวซิกข์ทั้งปวง ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญที่เป็นแรงจูงใจให้ท่านพระศาสดาเกิดความคิดในการสร้างศาสนสถานนี้ขึ้นมาก็คือ การสืบทอดวัฒนธรรมของการสร้างศาสนสถานแห่งใหม่ขึ้นมา
.. เพื่อให้ชาวซิกข์ทั้งหลายได้ใช้เป็นสถานที่ในการร่วมชุมนุมกันอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ปฏิบัติสืบทอดมาจากพระศาสดาองค์ก่อนหน้าท่านนั่นเอง
ต่อมา ท่าน คุรุ รามดาส ยิ ผู้ซึ่งรักความสงบสุข โดยท่านได้ปฏิบัติตามคำสั่งของท่าน คุรุ อมัรดาส ยิ ที่ได้สั่งให้ท่านไปสร้างเมืองใหม่ และได้สั่งให้ไปขุดบ่อน้ำ และก่อสร้างศาสนสถานสำหรับชาวซิกข์ทั้งหลาย นอกจากนี้ ท่าน คุรุ อมัรดาส ยิ ยังได้ช่วยสร้างแผนการขุดบ่อน้ำ
ซึ่งต่อมาได้ถูกนำไปปฏิบัติโดย ท่าน คุรุ รามดาส ยิ โดยมีท่าน บาบา บุดดา ยิ เป็นผู้ช่วยคนสำคัญ การก่อสร้างบ่อน้ำ (โซราวอร์) ได้เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1570 โดยได้เริ่มการก่อสร้างเมือง ควบคู่กันไปด้วย
.. วิหารทองคำ ถูกสร้างขึ้นกลางสระน้ำ โดย คุรุรามดาส (Guru Ram Das) ในปี ค.ศ. 1577
.. ต่อมา คุรุอาร์จัน (Guru Arjan) ซึ่งทรงเป็นคุรุศาสดาองค์ที่ 5 ตามความเชื่อของชาวซิกข์ ได้ทรงรับสั่งให้ Sai Mian Mir ผู้เป็นเปียร์ (pir) ชาวมุสลิมแห่ง ละฮอร์ วางศิลาฤกษ์ในปี ค.ศ. 1589
.. ในปี ค.ศ. 1604 คุรุอาร์จันได้ประดิษฐานพระมหาคัมภีร์ อดิ กรันตะ (Adi Granth) - ซึ่งต่อมาเรียกว่า พระมหาคัมถีร์ คุรุกรันตสาหิบ - และประทานชื่อให้กับวิหารนี้ว่า อัตสัตทิราถ (Ath Sath Tirath) ซึ่งแปลโดยตรงว่าสถานที่แห่ง 68 การแสงบุญอันศักดิ์สิทธิ์ "shrine of 68 pilgrimages"
.. วิหารนั้นได้รับการสร้างใหม่อย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวซิกข์ จึงถูกทำลายอย่างต่อเนื่องทั้งจากกองทัพมุสลิมของอาณาจักรในอัฟกานิสถานและจากจักรวรรดิโมกุล เช่น การบุกทำลายของพระเจ้าอะห์เมด ชาห์ ดูร์รานี (Ahmad Shah Durrani) ในปี ค.ศ. 1757 และอีกครั้งในปี ค.ศ. 1762
.. ในปี ค.ศ. 1809 - มหาราชา รันจิต สิงห์ (Maharaja Ranjit Singh) ผู้ก่อตั้งจักรวรรดิซิกข์ ได้ทรงบูรณะวิหารใหม่ครั้งใหญ่โดยประดับด้วยหินอ่อนและทองแดง
.. ปี ค.ศ. 1830 มีการประดับภายนอกวิหาร ด้วยทองคำเปลว จึงทำให้วิหารแห่งนี้ได้รับชื่อว่าเป็น "วิหารทองคำ" นับแต่นั้นมา
**Wikipedia
ว่ากันว่า .. ท่านพระศาสดาและลูกศิษย์ทั้งหลายของท่าน ร่วมฉลอง งานเปิดพระวิหารอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เป็นศูนย์กลางทางศาสนาของซิกข์ทั้งปวง
นอกจากนี้ ท่าน คุรุ รามดาส ยิ ยังได้แต่งบทเพลงอันไพเราะเพื่อเป็นการสรรเสริญบ่อน้ำโซราวอร์อัน ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ และได้สั่งให้ลูกศิษย์ทุกคนลงไปอาบน้ำในบ่อน้ำนี้แล้วทำการสวดมนต์ภาวนาและ ทำสมาธิเพื่อระลึกถึงพระนามของพระเจ้าอย่างสม่ำเสมอ
ต่อมาไม่นานนัก สถานที่แห่งนี้ก็ได้รับการขนานนามเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์และเป็นศูนย์ กลางทางศาสนาของชาวซิกข์ทั่วโลก
วิหารทองคำ .. ตั้งตระหง่านโดดเด่นอยู่กลางน้ำ ชั้นแรกของวิหารเป็นหินอ่อน
ผนังภายในแกะสลักเป็นรูปดอกไม้ไว้อย่างสวยงาม ส่วนชั้นสองขึ้นไปจนถึงยอดโดมได้ถูกตกแต่งโดยการเคลือบด้วยทองคำสีทองอร่ามงด มีน้ำหนักรวมกว่า 800 ตัน
ทุกมุมของวิหารทองคำ สวยงาม .. นอกจากจะทำการสักการะอย่างสูงสุด ทุกคนยังไม่พลาดที่จะเก็บภาพคู่กับวิหารไว้เป็นที่ระลึก
ภาพที่น่าประทับใจ อันแสดงออกถึงการเคารพ ศรัทธาสูงสุดต่อศาสนสถานแห่งนี้ของผู้คนทุกเพศ ทุกวัย .. มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ในขณัที่เราเดินชมไปเรื่อยๆรอบสระน้ำ
เราสังเกตเห็นชายชาวซิกซ์เปลี่ยนเสื้อผ้า แล้วลงไปอาบน้ำในสระ .. ที่นี่คือโซนที่ชายชาวซิกข์ใช้เปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อลงอาบนํ้า เพื่อชำระล้างจิตวิญญาณ ในสระนํ้า Sarovar Sri Harmandir Sahib ที่เชื่อกันว่าเป็นนํ้าศักดิ์สิทธิ์ .. อากาศหนาวแค่ไหน ก็ไม่สามารถต้านทานศรัทธาอันแรงกล้าได้
ส่วนคุณสุภาพสตรี จะมีห้องให้อาบนํ้า แยกไว้เป็นสัดส่วน
Harmandir Sahib จริง ๆ แล้วประกอบด้วยหมู่อาคาร และคุรุทาวรา อีกหลายแห่ง
… เช่น Akal Takht ซึ่งภายในมีที่พักสำหรับผู้แสวงบุญและ นักท่องเที่ยว ให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
โรงครัว (Langar Hall of Darbar Sahib) และGuru Ka Langar เป็นประเพณีการให้บริการอาหารแด่ทุกคน ทุกชาติ ศาสนา ตลอดวัน
.. langar ริเริ่มโดย Guru Nanak Dev Ji และก่อตั้งโดย Guru Sri Guru Amar Dass Ji คนที่ 3 ที่ Goindwal
.. ซึ่งแม้แต่กษัตริย์โมกุลอัคบาร์ก็ยังมานั่งอยู่ท่ามกลางคนธรรมดาสามัญเพื่อแบ่งปันแลนการ์
โมกุล-กษัตริย์-อัคบาร์-อัท-กูรู-คา-ลังการ์
ภาพวาดตัวอย่างจักรพรรดิโมกุลแห่งอินเดียร่วมรับประทานอาหารกับขุนนางและคนรับใช้พร้อมกับ "สังกัต" ในระหว่างการเยือนโกอินดวาลซาฮิบเพื่อเฝ้าดาร์ชันแห่งคุรุอมรดาสจี (ปรมาจารย์ซิกข์คนที่สาม)
สถาบันของ Guru ka Langar ได้ให้บริการชุมชนในหลายๆ ด้าน รับรองการมีส่วนร่วมของผู้หญิงและเด็กในงานรับใช้มนุษยชาติ
.. ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการเตรียมอาหาร และเด็กๆ จะช่วยเสิร์ฟอาหาร ทั้งหมดดำเนินการโดยอาสาสมัครและหรือโดยผู้ช่วยอาสาสมัคร
.. Langar ยังสอนมารยาทในการนั่งรับประทานอาหารในสถานการณ์ของชุมชน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมคุณธรรมแห่งความเหมือนกันของมนุษย์ทุกคน จัดให้มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่น่าอยู่ ปลอดภัย และได้รับการคุ้มครอง
.. ทุกคนยินดีที่จะแบ่งปัน Langar; ไม่มีใครหันเหไป ในแต่ละสัปดาห์ครอบครัวหนึ่งหรือหลายครอบครัวอาสาจัดเตรียมและเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภค
Guru Ka Langar (Langar Hall) : ครัวชุมชน
ในครัวชุมชนวัดทองคำ .. มีผู้ศรัทธาประมาณ 100,000 คน รวมถึงนักท่องเที่ยวมารับประทานแลงการ์ในครัวชุมชนทุกวัน แต่จำนวนนี้เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในโอกาสพิเศษ
ในแต่ละวันโดยเฉลี่ย .. วัตถุดิบที่ใช้ปรุงอาหารในครัว จะประกอบด้วยแป้งสาลี Quintal 100 ชิ้น, ซีเรียล Quintal 25 ชิ้น, ข้าว Quintal 10 ชิ้น, นม 5,000 ลิตร, น้ำตาล Quintal 10 ชิ้น, เนยใส Quintal 5 ชิ้นต่อวัน ใช้ถังแก๊ส LPG เกือบ 100 ถังในการเตรียมอาหาร พนักงานและผู้ศรัทธากว่า 100 คนให้บริการในครัว
ชาวซิกซ์จะได้รับการเพาะบ่ม สั่งสอนมาว่า .. "ชาวซิกข์ที่ 'ทำดี' ต้องคำนึงถึงความต้องการของเพื่อนบ้านที่ยากจนของเขา เมื่อใดก็ตามที่เขาพบกับนักเดินทางหรือผู้แสวงบุญจากต่างประเทศ เขาจะต้องรับใช้เขาอย่างทุ่มเท
มหาราชา รานชิต ซิงห์ .. มอบเงินจากจากัวร์ให้กับกูร์ดวาราเพื่อบำรุงแลงการ์ การบริจาคที่คล้ายกันนี้ถูกสร้างขึ้นโดยผู้ปกครองชาวซิกข์คนอื่นๆ เช่นกัน
ทุกวันนี้ กูรุดวาราทุก ๆ คนมี langar ที่ได้รับการสนับสนุนจากชุมชนโดยทั่วไป ในอาหารปรุงสุกกูร์ดวาราขนาดเล็กที่ได้รับจากครัวเรือนต่างๆ หรือใครมีอะไรก็เอามาแบ่งปัน และบริจาค เช่น นม ผัก และอื่นๆ
.. และไม่ว่าในกรณีใด ผู้แสวงบุญหรือผู้มาเยือนจะไม่พลาดอาหารในเวลารับประทานอาหารในกูรุดวารา การแบ่งปันอาหารร่วมกันโดยนั่งอยู่ใน pangat ถือเป็นการกระทำของชาวซิกข์ และถือเป็นการแสดงความกตัญญู
.. การมีส่วนร่วมในการปรุงอาหารหรือเสิร์ฟอาหารในลังการ์ และการทำความสะอาดจานที่ใช้แล้วก็เช่นกัน
** อุดมคติของการกุศลของชาวซิกข์นั้นมีความสำคัญต่อสังคมเป็นหลัก .. ชาวซิกข์อยู่ภายใต้ภาระผูกพันทางศาสนาที่จะต้องบริจาคหนึ่งในสิบของรายได้ของเขา (daswand) เพื่อสวัสดิการของชุมชน เขาจะต้องมีส่วนร่วมในการบริการมือของเขาทุกครั้งที่ทำได้ การรับใช้ใน langar ถือเป็นบุญที่สุด
Jallianwala Bagh : เป็นอนุสรณ์สถานแห่งความเศร้า สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวซิกซ์ ที่เคยเกิดขึ้นตรงนี้ เมื่อปี 13 เมษายน คศ. 1919
เหตุสังหารหมู่ที่จลิยานวาลาบาค ( Jallianwala Bagh massacre ) หรือ การสังหารหมู่ที่อมฤตสระ ( Amritsar massacre) เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 เมษายน 1919
.. จอมพลไดเออร์ได้ออกประกาศห้ามการรวมกลุ่ม หรือ ชุมนุมของประชาชน แต่การประกาศนี้ไม่ได้ถูกเผยแพร่ไปอย่างทั่วถึง
จึงมีชาวบ้านจำนวนมากมารวมตัวกันที่บาคเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาล Baisakhi อันเป็นเทศกาลสำคัญของศาสนาฮินดู และซิกข์ (ตรงกับวันสงกรานต์ของประเทศไทย)
.. นายพลจัตวา และ จอมพล เรจินอลด์ ไดเออร์ และกองกำลังของกองทัพบริติชอินเดีย เข้ามาสู่สวนสาธารณะจลิยานวาลาบาค (Jallianwala Bagh) ปิดกั้นทางเข้าออก
แล้วกราดยิงฝูงชนในสวนเป็นเวลาสิบนาทีติดต่อกันโดยไม่มีการประกาศแจ้งให้ทราบก่อนล่วงหน้า ส่วนมากเล็งไปยังทางเข้าออกบางส่วนที่ยังไม่ถูกปิดเพื่อกราดยิงผู้ที่พยายามหลบหนี
.. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 379 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 1,200 คน
.. เหตุการณ์นี้สร้างความตกตะลึงไปทั่วทั้งประเทศ และ ส่งผลรุนแรงต่อความไว้ใจและเชื่อถือของชาวอินเดียในรัฐบาลอังกฤษ ที่ปกครองอินเดียขณะนั้น และยิ่งผลักดันไปสู่การดื้อแพ่งในปี 1920–22
นักประวัติศาสตร์บางส่วนเชื่อว่าเหตุการณ์นี้เป็นเหตุผลักดันสำคัญไปสู่จุดจบของการปกครองอินเดียโดยอังกฤษ .. แต่จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลอังกฤษไม่เคยขอโทษอย่างเป็นทางการถึงเหตุการณ์นี้ มีแต่เพียงแถลงการณ์ "สำนึกผิด" (regret) ในปี 2019
**Wikipedia
.. รอยกระสุนบนผนังที่เราเห็น คือ ลมหายใจที่หลุดลอยไปโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่
โฆษณา