12 มี.ค. เวลา 03:00 • การตลาด

อธิบาย Diderot Effect พฤติกรรม กระหน่ำซื้อของใหม่ เพราะไม่พอใจของเก่า โอกาสสำคัญ ของนักการตลาด

เคยเป็นกันไหม ? เวลาที่เราซื้อเสื้อตัวใหม่มา แล้วมีความรู้สึกว่ากางเกงตัวเก่าที่มีอยู่ มันไม่แมตช์กับเสื้อตัวใหม่ เลยอยากได้กางเกงตัวใหม่เพิ่ม
สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการซื้อกางเกงตัวใหม่ติดไม้ติดมือมาด้วย ทั้ง ๆ ที่ตอนแรก ไม่มีแผนจะซื้อกางเกงเลยด้วยซ้ำ
และบางครั้งก็ไม่ใช่แค่กางเกงตัวใหม่อย่างเดียว
แต่อาจจะซื้อไอเทมอื่นเพิ่มอีกหลาย ๆ อย่าง เช่น รองเท้า เข็มขัด กระเป๋า เครื่องประดับ
เพียงเพราะว่าอยากได้ของที่แมตช์กับเสื้อตัวใหม่ที่ซื้อมาเท่านั้น
โดยปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้น
และมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Diderot Effect
2
แล้ว Diderot Effect คืออะไร ? เกี่ยวข้องอย่างไรกับการตลาด ?
บทความนี้จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจกับพฤติกรรมผู้บริโภครูปแบบนี้กัน
Diderot Effect คือ พฤติกรรมที่คนได้ครอบครองของชิ้นใหม่ที่สวยงามโดดเด่น
แล้วเกิดความรู้สึกไม่พอใจในของเก่า ๆ ที่ตัวเองครอบครองอยู่
1
เช่น รู้สึกว่าของเก่าที่มีอยู่มันสวยไม่เท่าของใหม่ หรือของเก่าไม่เข้าชุดกับของใหม่ที่เพิ่งได้มา
ทำให้ต้องหาของชิ้นใหม่มาทดแทนของเก่าที่มีอยู่เรื่อย ๆ เพื่อเติมเต็มความต้องการของตัวเอง
ซึ่งคำว่า “Diderot Effect” ถูกบัญญัติขึ้นครั้งแรกในปี 1988
โดยคุณ Grant David McCracken นักเขียนและนักมานุษยวิทยา ชาวแคนาดา
โดยคำว่า “Diderot” มาจากชื่อของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่มีชีวิตในศตวรรษที่ 18 ชื่อว่าคุณ Denis Diderot
ในงานเขียนของคุณ Diderot ชื่อว่า “Regrets on Parting with My Old Dressing Gown”
เขาได้เล่าความรู้สึกแปลกประหลาดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเสื้อคลุมสีแดง
ที่เป็นตัวต้นเหตุให้ชีวิตของเขาพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ
1
โดยเรื่องราวของคุณ Diderot เริ่มขึ้นหลังจากที่เขาได้รับเสื้อคลุมสีแดงสดตัวหนึ่งเป็นของขวัญ
ซึ่งมันทั้งสวยงามและหรูหรามาก
1
อย่างไรก็ตาม แทนที่เขาจะมีความสุขกับของขวัญที่เพิ่งได้มา
เขากลับเป็นทุกข์ เมื่อพบว่าเสื้อคลุมตัวนั้น มันสวยงามเกินกว่าที่จะอยู่ในบ้านเก่า ๆ ของเขา
1
และคิดไปว่า ของใช้ที่มีอยู่ในบ้านมันทั้งเก่าและไม่คู่ควรกับเสื้อคลุมตัวใหม่ของเขาเลย
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเริ่มซื้อของชิ้นใหม่มาทดแทนของเก่า ๆ ในบ้าน
ทั้ง ๆ ที่ทุกอย่างก็ยังมีสภาพดีและใช้งานได้อยู่
โดยเขาเริ่มจากเปลี่ยนเก้าอี้ฟางที่ใช้นั่งทำงาน ให้เป็นโซฟาหุ้มหนังโมร็อกโก
เปลี่ยนโต๊ะทำงานไม้ตัวเก่าเป็นตัวใหม่ รวมทั้งภาพวาดศิลปะติดผนังก็ถูกแทนที่ด้วยภาพวาดราคาแพง
นอกจากนั้น เขายังเปลี่ยนของใช้ในบ้านแทบทุกชิ้น ให้กลายเป็นของใหม่ที่มีราคาแพงมากกว่าเดิม
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ทั้งบ้านของเขาเข้าชุดกับเสื้อคลุมสีแดงตัวใหม่ที่เพิ่งได้มาเท่านั้น
6
แล้วผลสุดท้ายคุณ Diderot ก็สูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมาก
อีกทั้งยังเป็นหนี้ท่วมหัวจากการซื้อข้าวของเครื่องใช้ในบ้านเกินตัวด้วย
2
ด้วยเหตุนี้ชื่อของคุณ Diderot จึงถูกนำไปตั้งเป็นชื่อปรากฏการณ์ว่า “Diderot Effect” นั่นเอง
โดย Diderot Effect สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน
โดยเฉพาะเมื่อได้ครอบครองสิ่งของใหม่ ๆ ที่ดีกว่าที่เคยมีอยู่
1
ตัวอย่างปรากฏการณ์ Diderot Effect ในชีวิตประจำวันที่พบได้ทั่วไป เช่น
คนที่ซื้อบ้านหลังใหม่ที่สวยมาก แต่ไม่อยากเอาเฟอร์นิเจอร์เก่าจากบ้านหลังเดิมไปใช้ต่อ
เลยตัดสินใจซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ยกเซต
2
ไม่ว่าจะเป็น โซฟาชุดใหม่ เครื่องเสียงยกเซต เครื่องครัวใหม่เอี่ยม หรือเตียงนอนหลังใหม่
ทั้งหมดนี้ก็เพียงเพื่อให้เฟอร์นิเจอร์เข้าชุดกับบ้านใหม่
หรือการที่ผู้ชายซื้อรถจักรยานยนต์บิ๊กไบก์คันใหม่
แล้วต้องซื้อหมวกกันน็อกใบใหม่ รวมถึงถุงมือหนัง และเสื้อแจ็กเก็ตตัวใหม่ที่เข้าชุดกับรถ
จากพฤติกรรม Diderot Effect ทั้งหมดนี้ จึงสรุปเป็นหลักการง่าย ๆ ได้ 2 ข้อ คือ
1
1. สิ่งที่เราซื้อมักจะสอดคล้อง กับตัวตนของเรา
1
คนเรามักจะซื้อในสิ่งที่แสดงถึงตัวตน ฐานะ ความชอบ หรือรสนิยมของเรามากที่สุด
ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถยนต์ เสื้อผ้า อาหาร หรือสินค้าอะไรก็ตาม
1
2. เมื่อเราได้รับหรือซื้อของชิ้นใหม่ที่ดูดี แตกต่างจากตัวตนปกติของเรา
คนคนนั้นจะมีพฤติกรรมซื้อของใหม่มากขึ้น เพื่อเติมเต็มความต้องการของตัวเอง
เช่น ซื้อเสื้อผ้าครบคอลเลกชัน เพื่อให้เข้าชุดกัน
ซึ่งการครอบครองของใหม่ ทำให้ความรู้สึกในตัวตนเดิมเปลี่ยนไป
จึงเกิดความรู้สึกต้องซื้อของชิ้นใหม่ เพื่อให้ตรงกับอัตลักษณ์ใหม่ของตัวเอง
จะเห็นว่าปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Diderot Effect ที่ว่านี้ ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของใหม่เพิ่มเป็นอย่างมาก
1
แล้วธุรกิจสามารถนำปรากฏการณ์นี้ มาประยุกต์ใช้กับกลยุทธ์การตลาด ได้อย่างไร ?
1
ตัวอย่างไอเดียก็อย่างเช่น
การผลิตสินค้าที่สามารถใช้งานร่วมกันได้ หรือมีความเป็นชุดเซต
เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่า ต้องมีสินค้าเสริมอื่น ๆ มาใช้งานร่วมกับสินค้าหลักที่เพิ่งซื้อไปด้วย จึงจะได้ประโยชน์สูงสุด (แต่ได้ใช้จริงหรือไม่นั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง)
หรือให้ความรู้สึกว่าต้องมีสินค้าให้ครบเซต เพื่อความสวยงามสูงสุด
ตัวอย่างธุรกิจที่ใช้กลยุทธ์แบบนี้ เช่น
- ธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่น มักออกสินค้าใหม่ ๆ เป็นคอลเลกชัน
ทำให้ลูกค้ามักจะซื้อสินค้าไปทั้งชุด เพื่อให้เสื้อผ้าแมตช์กันมากที่สุด
- ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์อย่าง IKEA ที่ออกแบบและวางเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นให้ดูเข้าคู่กัน
ทำให้ลูกค้ามีโอกาสซื้อสินค้าที่ไม่ได้ตั้งใจซื้อแต่แรกมากขึ้น
- หรือแม้กระทั่ง Apple ที่ทำสินค้าหลากหลายเป็น Ecosystem จนสาวกหลายคนซื้อของชิ้นหนึ่งแล้ว ต้องตะบี้ตะบันซื้อชิ้นอื่นมาเสริมระบบนิเวศให้ครบ
ซึ่งแม้ว่า Diderot Effect จะทำให้คนใช้จ่ายเงินสุรุ่ยสุร่ายมากขึ้น
แต่ถ้าเรารู้เท่าทัน เราก็จะใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวังมากขึ้น ก่อนที่ชีวิตจะตกเป็นเหมือนคุณ Diderot
เหมือนคำกล่าวของคุณ Diderot เจ้าของชื่อพฤติกรรมนี้ที่ว่า
“ฉันเคยเป็นเจ้านายเสื้อคลุมตัวเก่า แต่ตอนนี้ฉันเป็นทาสเสื้อคลุมตัวใหม่ไปแล้ว”
1
โฆษณา