13 มี.ค. เวลา 08:45

การส่งออกจะยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไปไหวหรือไม่?

ภาคการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 ที่เศรษฐกิจไทยได้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างครั้งใหญ่จากการพัฒนาเศรษฐกิจที่นำโดยภาคการลงทุน การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในประเทศ และนโยบายการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า มาเป็นประเทศที่ภาคการส่งออกก้าวขึ้นมามีบทบาทอย่างชัดเจนในการเติบโตของประเทศ ผลักดันด้วยนโยบายส่งเสริมการส่งออกที่ต่อยอดจากภาคอุตสาหกรรมที่ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ
ประกอบกับการเข้ามาของเงินลงทุนโดยตรงจากบริษัทผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ต่างชาติที่หันมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าส่งออก อีกทั้งยังได้รับอานิสงส์จากการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ จนความสำคัญของภาคการส่งออกต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากสัดส่วนราว 30% ต่อ GDP เป็นกว่า 60% ต่อ GDP ภายในเวลาเพียงสิบปีหลังวิกฤต และมีบทบาทสำคัญในการเติบโตและยกระดับพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง
แต่ในวันนี้ เริ่มมีคำถามที่ดังขึ้นเรื่อย ๆ ว่า “การส่งออก” ที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักมาตลอดกว่า 30 ปีจะยังแข็งแรงพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปต่อได้หรือไม่ เพราะเริ่มส่งสัญญาณความอ่อนแรงมาตั้งแต่ช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 และยิ่งชัดเจนขึ้นในระยะหลัง KKP Insight ฉบับนี้จะย้อนไปดูพัฒนาการของภาคการส่งออกไทยในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
1
ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายหลายด้านที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ทำให้ไทยเสี่ยงที่จะสูญเสียจุดยืนเดิมในสมรภูมิการแข่งขันในโลกใหม่ และหากยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป คงยากที่เศรษฐกิจไทยจะหวังพึ่งภาคการส่งออกเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนตัวหลักได้เหมือนในอดีต
30 ปี ไทยส่งออกอะไร ไปไหน และแข่งขันได้หรือไม่?
โครงสร้างสินค้าส่งออกไทยในช่วงเกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมาได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ไทยเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคเกษตร มาเป็นการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก สู่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น และสินค้าส่งออกไทยมีการกระจายตัวเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในช่วง 20 ปีหลัง โครงสร้างสินค้าส่งออกไทยค่อนข้างกระจุกตัวและไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก
สำหรับกลุ่มสินค้าที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยในปัจจุบัน ได้มีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุด 50 อันดับแรก1 เติบโตขึ้นต่อเนื่องจาก 49% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดในปี 1997 มาเป็น 57% ในปี 2006 ก่อนที่สัดส่วนจะคงที่ราว 60% จนถึงปัจจุบัน
หากเจาะลึกเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญ 17 สินค้าที่เรียกว่าเป็น “Winner products” ของไทย2 เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล คอมพิวเตอร์/แลปท็อป ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) แผงวงจรไฟฟ้า (IC) รถยนต์ขนส่งสินค้า ชิ้นส่วนยานยนต์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องปรับอากาศ แผงโซล่าเซลล์ และข้าว จะพบว่าสัดส่วนไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักในระยะ 10 ปีหลังที่ผ่านมา โดยสัดส่วนของสินค้ายังคิดเป็นประมาณ 35% เท่าเดิม
แม้ว่าประเภทสินค้าเหล่านี้โดยรวมยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก โดยมีสัดส่วนเฉลี่ยถึง 1 ใน 4 ของมูลค่าการค้าโลกทั้งหมด แต่ส่วนแบ่งตลาดของไทยในสินค้าเหล่านี้ในตลาดโลกมีแนวโน้มคงที่มาตั้งแต่ปี 2010 โดยการส่งออกของไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 2% ของมูลค่าส่งออกโลกในสินค้ากลุ่มนี้ เทียบกับในอดีตที่สัดส่วนดังกล่าวเคยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 1% ในช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งและขึ้นไปถึงจุดสูงสุดที่ 2.3% ในปี 2010 ที่สำคัญคือหากเจาะลึกขึ้นในรายสินค้า
จะพบว่าบางสินค้าหลักที่ไทยส่งออกเริ่มจะเป็นที่ต้องการของโลกลดลง ในขณะที่บางสินค้าไทยเริ่มที่จะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดอย่างเห็นได้ชัด ไม่ใช่ว่าไทยกำลังแข่งขันในสินค้าที่สำคัญของโลกจนไม่ได้มีโอกาสขยายไปยังสินค้าอื่น ๆ ในช่วงที่ผ่านมา ดังจะกล่าวถึงต่อไป
นอกจากประเภทของสินค้าส่งออกไทยแล้ว ตลาดสินค้าส่งออกเป็นอีกหนึ่งมิติที่น่าสนใจ ว่าที่ผ่านมาไทยได้เปิดตลาดส่งออกใหม่ ๆ มากน้อยเพียงใด โดยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาตลาดส่งออกหลักของไทยกระจุกตัวอยู่ใน 5 กลุ่มประเทศหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น อาเซียน (ไม่รวมบรูไน) และยุโรป โดยมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 75% ของมูลค่าส่งออกไทยทั้งหมด
แม้ว่ากลุ่มประเทศส่งออกหลักจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป แต่ที่น่าสนใจคือ อันดับความสำคัญระหว่าง 5 กลุ่มประเทศนี้เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก จากเดิมที่สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเคยเป็นคู่ค้าสำคัญสองอันดับแรกของไทย แต่หลังจากปี 2000 เป็นต้นมา กลุ่มประเทศอาเซียนและจีนเริ่มมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (รูปที่ 5) จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและรูปแบบการค้าโลกเมื่อจีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตสินค้าส่งออกสำคัญของโลกหลังจากเข้าร่วม World Trade Organization (WTO)
ในปี 2001 ทำให้เกิดการก่อตัวของ global supply chains โดยเฉพาะในเอเชียที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งไทยก็ได้ประโยชน์จากการอยู่ใน China’s supply chains นี้ด้วยในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ไทยก็เริ่มส่งออกไปกลุ่มประเทศยุโรปในสัดส่วนน้อยลงเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะความตึงเครียดด้านการค้าและการแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ได้ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการค้าโลกในช่วงที่ผ่านมาและจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก รวมถึงผลกระทบต่อการส่งออกไทยในระยะต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ไทยจะเป็น “ฐานการผลิตสุดท้าย” ของสินค้าโลกลืม?
ที่ยืนของการส่งออกไทยอยู่ตรงไหนในการค้าโลก? ลองมาดูการเปลี่ยนแปลงของส่วนแบ่งตลาดการส่งออกทั่วโลกของสินค้า 16 ประเภทที่ไทยส่งออกเป็นหลัก โดยดูใน 2 มิติ คือ 1) สินค้าอยู่ในโลกใหม่หรือเก่า” โดยพิจารณาจากสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าแต่ละประเภทเทียบกับการส่งออกรวมของโลก ถ้าสินค้าใดมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แปลว่าเป็นที่ต้องการของโลกมากขึ้น หรือเรียกว่าเป็นสินค้าโลกใหม่ ส่วนในมิติที่สอง เป็นการพิจารณาว่า
2) “ไทยยังแข่งขันได้มากแค่ไหน” ในสินค้านั้น ๆ โดยดูจากส่วนแบ่งตลาดของไทยในสินค้าดังกล่าวในตลาดโลก ส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นหมายถึงไทยมีความสามารถในการแข่งขันในสินค้าดังกล่าวมากขึ้น ดังนั้นจะเป็นสัญญาณที่ดีหากไทยสามารถผลิตสินค้าในโลกใหม่ในสัดส่วนที่มากขึ้น ขณะที่ลดสัดส่วนการผลิตในสินค้าของโลกเก่าไปพร้อมกัน
KKP Research สรุปข้อเท็จจริงได้ 3 ประเด็นจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการส่งออกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (รูปที่ 6) ดังนี้
1. ไทยเป็นฐานการผลิตของสินค้าที่โลกกำลังจะลืม กล่าวคือ สินค้าที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นกลับเป็นสินค้าของโลกเก่าที่ความต้องการลดลงเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์สันดาป และชิ้นส่วนยานยนต์ ที่กำลังถูกตีตลาดจากรถยนต์ไฟฟ้า Hard Disk Drive (HDD) ที่กำลังถูกแทนที่ด้วย Solid State Drive (SSD) (รูปที่ 7 และ 8) รวมถึงผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ความต้องการตลาดโลกลดลงตามเทรนด์เศรษฐกิจสีเขียว เป็นต้น
2. ไทยไม่มีสินค้าดาวรุ่งในโลกใหม่ ในทางตรงกันข้าม สินค้าที่กำลังเติบโตได้ดีและเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นในตลาดโลกตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ Smart phone แผงวงจรไฟฟ้า และ SSD ไทยกลับมีส่วนแบ่งตลาดลดลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
3. สินค้าที่อาจยังไปต่อได้กระจุกในกลุ่มสินค้าซับซ้อนต่ำ สินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มสินค้าเกษตรและสินค้าที่ไม่ได้มีความซับซ้อนในการผลิต เช่น ผลไม้สด เนื้อสัตว์แปรรูป ยางรถยนต์ ซึ่งอาจจะยังเป็นสินค้าสำคัญของภาคส่งออกไทยต่อไปได้ (ยกเว้นยางพาราและข้าวที่มีไทยมีส่วนแบ่งตลาดลดลงอย่างเห็นได้ชัด)
อย่างไรก็ดี สินค้ากลุ่มนี้ในตลาดโลกไม่ได้มีสัดส่วนความต้องการเปลี่ยนไปมากนัก และขนาดมูลค่าการส่งออกทั่วโลกของสินค้ากลุ่มนี้ไม่ได้สูงมากนัก อีกทั้งสินค้าเกษตรสำคัญของไทยคือข้าวก็มีแนวโน้มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับคู่แข่งอย่างเวียดนามและอินเดียมากขึ้นเรื่อย ๆ
ถึงแม้ว่าภาคส่งออกไทยจะยังคงเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทยต่อไปได้ เพราะขนาดการส่งออกของสินค้าในปัจจุบันก็ยังถือว่าไทยมีส่วนแบ่งตลาดโดยรวมในตลาดโลกอยู่ไม่น้อย แต่จากข้อเท็จจริงข้างต้นจากการพิจารณาความสามารถในการแข่งขันตามโครงสร้างการส่งออกสินค้าไทย ก็สะท้อนว่าในอนาคตภาคส่งออกไทยอาจจะต้องเผชิญกับความท้าทายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงที่สินค้าโลกเก่าในที่สุดอาจจะหมดยุคหมดความต้องการไปอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว ขณะที่ไทยยังไม่มีที่ยืนในโลกใหม่ที่สามารถแข่งขันในสินค้าที่โลกต้องการมากขึ้นได้
เวียดนาม-มาเลเซีย ไม่รอไทย
คำถามสำคัญอีกประการที่จะกำหนดอนาคตของภาคส่งออกไทย คือ ประเทศอื่น ๆ ที่เป็นคู่แข่งโดยตรงกับไทยโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งมีรูปแบบพัฒนาการเศรษฐกิจที่เน้นการส่งออกแบบเดียวกับไทย ได้มีการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและเทคโนโลยีโลกมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะประเทศเวียดนามและมาเลเซียที่เป็นประเทศคู่แข่งของไทยในระยะหลังและกำลังเป็นดาวรุ่งของภูมิภาค โดยจะเปรียบเทียบกับสินค้าส่งออกหลักของไทย 16 ประเภท รวมไปถึงสินค้าส่งออกหลัก 10 อันดับแรกของทั้งสองประเทศ
เวียดนามมีสินค้าดาวรุ่งอย่าง Smartphone แผงวงจรไฟฟ้า IC และแผง Solar cell ที่มีความต้องการที่เพิ่มขึ้นมากในตลาดโลกและเวียดนามมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน เวียดนามยังคงมีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมเบา เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ สำหรับสินค้าโลกเก่าที่กำลังถูกทดแทน เช่น HDD หรือคอมพิวเตอร์ สัดส่วนของสินค้าเหล่านั้นถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับสินค้าส่งออกทั้งหมดของเวียดนามและเวียดนามไม่ได้ขยายส่วนแบ่งตลาดเชิงรุกในสินค้าเหล่านี้มากนัก (รูปที่ 9)
มาเลเซียเป็นอีกประเทศที่มีความกระจุกตัวของสินค้าส่งออกเพียงไม่กี่ประเภท โดยจะเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมและแผงวงจรไฟฟ้า IC ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้า IC รวมถึง Smartphone ของมาเลเซียเริ่มมีแนวโน้มสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ในส่วนของสินค้าดาวรุ่งในโลกใหม่ที่ขยายส่วนแบ่งตลาดได้ค่อนข้างดี คือ SSD ในขณะที่มาเลเซียเริ่มลดสัดส่วนการส่งออกในสินค้าที่กำลังจะหมดสมัยอย่าง HDD
หลังจากที่บริษัทแม่ในต่างประเทศมีการย้ายฐานการผลิต HDD จากมาเลเซียมายังประเทศไทย และเร่งขยายฐานการผลิต SSD ในมาเลเซีย
เมื่อจีนรุกคืบในไทย ใครได้ใครเสีย?
หนึ่งในประเด็นสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในระยะหลัง คือ ภาคการผลิตในประเทศที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการถูกสินค้าจีนตีตลาดในประเทศมากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมา ไทยนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้สัดส่วนการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นจากประมาณ 15% มาอยู่ที่ประมาณ 25% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมดในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
1
และสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนมากขึ้นในระยะหลังไม่ใช่เพียงแค่สินค้าที่นำเข้าเพื่อการผลิตใน supply chains เท่านั้น แต่เริ่มเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่เข้ามาทดแทนสินค้าที่ผลิตในประเทศมากขึ้น ปัญหานี้ดูเหมือนจะไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องชั่วคราวแต่จะเป็นปัญหาที่อาจกระทบภาคการผลิตไทยต่อเนื่องในระยะข้างหน้า เพราะสาเหตุหลักที่นำมาสู่ปัญหานี้มาจาก 2 ประเด็นเชิงโครงสร้างในเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มยืดเยื้อในระยะยาว ได้แก่
เศรษฐกิจจีนที่กำลังซบเซาลงจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ การหดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน นำไปสู่ความซบเซาของเศรษฐกิจในวงกว้างที่ดูยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับดีขึ้น เศรษฐกิจที่ตกต่ำจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์รวมไปถึงการถูกกีดกันทางการค้าจากประเทศในฝั่งตะวันตกที่กระทบต่อภาคการส่งออก
2
บีบบังคับให้รัฐบาลจีนจำเป็นต้องสนับสนุนภาคการผลิตในจีนเพื่อให้ภาคการผลิตเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการทำให้เศรษฐกิจจีนสามารถเติบโตตามเป้าหมาย 5% ที่ตั้งไว้ ภาครัฐจีนสนับสนุนให้มีการขยายกำลังการผลิตมากขึ้น ส่วนหนึ่งด้วยการอัดฉีดสินเชื่อผ่านธนาคารพาณิชย์เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของธุรกิจ
ในขณะเดียวกัน การที่รัฐบาลจีนยังคงลังเลที่จะเพิ่มการขาดดุลทางการคลังและรายได้ของครัวเรือนในประเทศก็ถูกฉุดรั้งด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้กำลังการผลิตในประเทศขยายตัวเกินกว่าที่อุปสงค์ในประเทศจะรับไหว จึงทำให้จีนต้องระบายกำลังการผลิตส่วนเกินไปยังตลาดโลก
กระแส Reshoring และ Deglobalization ในช่วงก่อนหน้านี้ที่กระแสโลกาภิวัตน์และความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนยังคงดีอยู่ จีนสามารถระบายการผลิตส่วนเกินของประเทศไปยังสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นตลาดส่งออกหลักได้ อย่างไรก็ตาม จากประเด็นความขัดแย้งที่มีการโต้ตอบกันอย่างชัดเจนขึ้นผ่านนโยบายด้านการค้าและการลงทุน ทำให้สหรัฐฯ มีการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนกลับประเทศ และลดสัดส่วนการนำเข้าจากจีน โดยหันไปพึ่งพาเม็กซิโกมากยิ่งขึ้น ทำให้จีนไม่สามารถระบายอุปทานส่วนเกินไปยังสหรัฐฯ ได้อีกต่อไป
จึงผลักดันให้อุปทานส่วนเกินถูกระบายมายังตลาดอาเซียนรวมถึงไทยซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดอาเซียนขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกหลักของจีนทดแทนสหรัฐฯ ที่น่ากังวล คือ การที่ไทยมีข้อตกลงการค้า Free Trade Agreement (FTA) กับจีน ยิ่งทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าจีนถูกมากจากการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เร่งให้สินค้าจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เข้ามาตีตลาดไทยมากขึ้น
สินค้าจีนตีตลาด ปัญหาใหญ่ภาคการผลิตและส่งออกไทย
KKP Research ประเมินว่าประเด็นเชิงโครงสร้างในเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนข้างต้นจะส่งผลให้ธุรกิจในจีนต้องปรับตัวเพื่อระบายสินค้าและอุปทานส่วนเกิน ซึ่งจะเกิดผลกระทบ 3 ด้านหลักต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่
ภาคการผลิตไทยจะได้รับแรงกดดันต่อเนื่อง จากข้อมูลการนำเข้าในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า การนำเข้าสินค้าจากจีน ทั้งในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เหล็ก รถยนต์โดยเฉพาะรถไฟฟ้า EV เฟอร์นิเจอร์ กระดาษ ยางรถยนต์ กำลังเข้ามาตีตลาดไทยอย่างรวดเร็ว
ส่วนหนึ่งจากการทุ่มตลาดของจีนที่ทำให้สินค้าไทยแข่งด้านราคาได้ยาก ทำให้ไทยขาดดุลทางการค้ากับจีนในสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสอดคล้องกับดัชนีภาคการผลิตในหมวดสินค้าเหล่านี้ที่มีแนวโน้มหดตัวค่อนข้างเร็วอย่างน่าใจหาย โดยเฉพาะในหมวดคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงการผลิตเหล็กซึ่งหากผู้ประกอบการไทยยังคงสูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับจีนเช่นนี้ต่อเนื่อง อาจนำไปสู่การปิดโรงงานและการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้
มูลค่าเพิ่มจากการส่งออกไทยจะลดลง เมื่อสหรัฐฯ ลดการนำเข้าสินค้าโดยตรงจากจีนภายใต้การกีดกันทางการค้าที่เข้มข้นขึ้น หนึ่งในวิธีการปรับตัวของผู้ประกอบการจีน คือ การโยกย้ายการลงทุนไปยังประเทศอื่นเพื่อใช้เป็นช่องทางในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ (Re-routing)
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การส่งออกแผงโซล่าเซลล์ (Solar PV) ของไทยที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งไทยอาจเป็นเพียงแค่ทางผ่านของแผงโซลาเซลล์จากจีนไปยังตลาดสหรัฐฯ เท่านั้น เพราะจำนวนแผงโซลาเซลล์ที่ไทยนำเข้าสะสมจากจีนตั้งแต่ต้นปี 2022 เป็นต้นมา
มีค่าใกล้เคียงมากกับจำนวนแผงโซล่าเซลล์ที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ประเด็นนี้สะท้อนว่าการส่งออกสินค้าในบางประเภทที่ถูก re-routing จากจีน อาจสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจไทยน้อยมาก ซึ่งหากแนวโน้มเช่นนี้มีสัดส่วนที่มากขึ้นจะทำให้มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศไทยไม่เพิ่มขึ้นแม้การส่งออกจะยังเติบโตได้ก็ตาม
จีนเข้ามาทำธุรกิจในอาเซียนโดยตรงมากขึ้น เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ นอกจากการระบายสินค้าส่วนเกินมาเพื่อทุ่มตลาดและเพื่อ re-routing ไปยังตลาดในประเทศเศรษฐกิจหลักแล้ว อีกหนึ่งกระแสที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น คือ การที่นักธุรกิจจีนโยกย้ายการลงทุนออกจากจีน เพื่อเข้ามาเจาะตลาดในประเทศอาเซียนโดยตรง จากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ซบเซาต่อเนื่องและความต้องการในการกระจายสินทรัพย์ออกจากประเทศจีน ซึ่งนอกจากจะเห็นการเข้ามาของธุรกิจจีนในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตที่เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นในไทยอย่างก้าวกระโดดแล้ว
ยังรวมไปถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจในภาคบริการอื่น ๆ ด้วย โดยในปัจจุบันการลงทุนโดยตรง (FDI) จากจีนเร่งตัวขึ้นจนเป็นอันดับหนึ่งตั้งแต่ปี 2022 แซงหน้าญี่ปุ่นที่เคยเป็นแหล่งเงินลงทุนโดยตรงรายใหญ่ในไทย ในแง่หนึ่ง การลงทุนที่เพิ่มขึ้นนี้อาจเป็นผลดีต่อการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แต่ก็จะทำให้ธุรกิจไทยต้องเร่งปรับตัวรับการแข่งขันในตลาดในประเทศที่จะดุเดือดขึ้นจากธุรกิจจีนที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนและจากช่องทางสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ
เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร เมื่อส่งออกไทยอ่อนแรง
เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเทคโนโลยีขั้นกลางและกำลังจะถูกทดแทนด้วยสินค้าประเภทใหม่ ทั้งจากเทคโนโลยีที่เปลียนแปลงไปเร็วและการเข้ามาตีตลาดไทยจากประเทศจีนดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แม้ว่าในระยะหลังเศรษฐกิจไทยจะหันไปพึ่งพาภาคบริการมากขึ้นแต่ก็ยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่าจะเป็นทางออกให้กับเศรษฐกิจไทยได้ในระยะยาว เนื่องจากภาคบริการของไทยยังคงเป็นบริการที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำและภาคอุตสาหกรรมไทยยังต้องพึ่งพาบริการมูลค่าเพิ่มสูงจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง
KKP Research ประเมินว่าประเทศไทยกำลังจะได้รับผลกระทบชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ จากความท้าทายดังกล่าวใน 3 มิติ
1) ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ลดลง เศรษฐกิจไทยมีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในช่วงที่ผ่านมา KKP Research ประเมินว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ คือ
(1) การชะลอตัวที่เกิดจากปัจจัยเชิงวัฎจักร (Cyclical Slowdown) เช่น เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้เกิดการสะสมของสินค้าคงคลัง ส่งผลให้ความต้องการซื้อสินค้าไทยชะลอตัวลงชั่วคราวแต่ยังกลับมาเติบโตได้เมื่ออุปสงค์โลกกลับมาเติบโต (2) การชะลอตัวที่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง หรือหมายถึงการชะลอตัวที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร ซึ่งน่ากังวลมากกว่าและเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก
KKP Research ประเมินว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยบางส่วนเป็นผลมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยแนวโน้มการเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจไทยกำลังลดลงและต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ที่ 3% มาโดยตลอดในช่วงหลังโควิด-19 เป็นต้นมาซึ่งแม้จะเกิดจากหลายสาเหตุทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและเศรษฐกิจไทยที่เริ่มเข้าสู่ภาวะวัฏจักรขาลงของสินเชื่อ การชะลอตัวของอุปสงค์จากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ แต่การฟื้นตัวที่ช้าของการส่งออกไทยเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้า
ในระยะข้างหน้า KKP Research ประเมินว่าความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทยมีแนวโน้มจะด้อยลงต่อเนื่อง โดยกลุ่มสินค้าที่เห็นสัญญาณการชะลอตัวของภาคการผลิตคิดเป็นกว่า 1 ใน 4 ของมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตของไทย ในอดีตตั้งแต่ปี 1999-2019 มากกว่าครึ่งหนึ่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมาจากการส่งออกสินค้า
หากความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้ของโลกชะลอตัวลงและนำมาสู่การชะลอตัวในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของไทยจะส่งผลให้ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดต่ำลงในระยะยาว ตัวอย่างเช่น การชะลอตัวลงในระยะยาวทุก ๆ 1% ของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนและฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลงตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป จะส่งผลให้ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจลดลงได้ถึงประมาณ 0.17%
2) แรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น KKP Research ประเมินว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยไม่เพียงน่ากังวลในมิติของผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่มีความเสี่ยงในมิติของผลกระทบต่อภาคครัวเรือนและแรงงานในประเทศด้วย
จากสถิติการจ้างงานของไทยพบว่าแรงงานในภาคอุตสาหกรรมไทยมีสัดส่วนถึงประมาณ 16% ของแรงงานทั้งหมด และแม้ไทยจะมีภาคเกษตรเป็นฐานรองรับแรงงานที่ตกงานช่วงเศรษฐกิจชะลอแต่รายได้เฉลี่ยระหว่างภาคเกษตรและอุตสาหกรรมยังมีความแตกต่างกันมากทำให้ระดับค่าจ้างไทยมีแนวโน้มปรับตัวลดลง นอกจากนี้ แม้ว่าจะเห็นทิศทางการเข้ามาลงทุนของอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศไทยบ้างแต่ยังมีขนาดเล็กและมีการจ้างงานที่ต่ำ
ตัวอย่างเช่น การผลิตรถยนต์ EV มีการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศสูง และใช้เครื่องจักรในการผลิตแทนการใช้แรงงานมากขึ้น (Automation)
3) ผลกระทบต่อดุลการค้าอาจส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าในระยะยาว KKP Research ประเมินว่าไทยกำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงระยะยาวที่ทำให้ดุลการค้าเกินดุลลดลง คือ
(1) การสูญเสียส่วนแบ่งตลาดส่งออก โดยไทยมีการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตเพื่อส่งออกของไทยคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 50% ของมูลค่าการส่งออก ทำให้ทุก 1% ที่หายไปของการส่งออกในภาคอุตสาหกรรมจะหมายถึงดุลการค้าที่ลดลงครึ่งหนึ่งของมูลค่าที่หายไป
(2) แนวโน้มการนำเข้าสินค้าจากจีนที่เพิ่มขึ้นมาทดแทนการบริโภคสินค้าเดิมในประเทศที่ผลิตโดยธุรกิจของคนไทย เป็นประเด็นที่น่ากังวลขึ้นเนื่องจากจีนมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าทำให้เห็นสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากจีนสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มนี้จะเป็นตัวเร่งให้ดุลการค้าของไทยขาดดุลได้เร็วมากขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้
KKP Research ประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างนี้กระทบกับค่าเงินบาทใน 2 มิติ คือ
(1) ค่าเงินบาทของไทยในระยะต่อไปจะไม่กลับไปมีแนวโน้มแข็งค่าเช่นในอดีต จากดุลการค้าที่มีแนวโน้มลดลงในระยะยาว โดยในอดีตค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาตลอดเกิดขึ้นพร้อมดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลอย่างมากและต่อเนื่อง ในขณะที่ปัจจุบันดุลบัญชีเดินสะพัดไทยอยู่ในระดับต่ำและคาดว่าจะไม่กลับไปเติบโตได้เท่าเดิม
(2) ความผันผวนของค่าเงินบาทจะเพิ่มสูงขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีแนวโน้มเคลื่อนไหวตามการเปลี่ยนแปลงของ USD และปัจจัยภายนอกได้มากขึ้น
แล้วไทยต้องปรับตัวอย่างไร?
KKP Research ประเมินว่าผลกระทบด้านลบทั้งหมดนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และตอกย้ำความจำเป็นในการเร่งหานโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง (Supply-side structural reform policy) เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระดับการพัฒนาและจุดแข็งของเศรษฐกิจไทย เร่งเพิ่มศักยภาพของแรงงานให้มีความสามารถในการรองรับการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้น
ไทยต้องเร่งปฏิรูปให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะ เพื่อลดข้อจำกัดของการขาดแคลนแรงงาน และดึงดูดแรงงานที่มีทักษะจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มการจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ อีกทั้งควรลดข้อจำกัดและกฎระเบียบในการทำธุรกิจ (ดูข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในบทความ KKP Insight นโยบายที่หายไป ในวันที่เศรษฐกิจไทยไม่แกร่งเหมือนเดิม,จุดเปลี่ยนการส่งออก
เมื่อโลกเริ่มไม่สนใจไทยอีกต่อไป และ เมื่ออุตสาหกรรมแข่งไม่ไหว หรือภาคบริการคือคำตอบของไทย) นโยบายเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญในการช่วยให้ศักยภาพที่อ่อนแรงลงของเศรษฐกิจไทยฟื้นกลับมาเติบโตได้ดีขึ้นในระยะยาว
โฆษณา