19 มี.ค. เวลา 05:02 • หนังสือ

ทำไมอุลตราแมนและไฟฉายย่อส่วนเป็นจริงไม่ได้? EP.2

ถ้ามีถังใส่น้ำจนเต็มอยู่สองถัง ถังใบที่ใหญ่กว่ามีน้ำมากกว่าจะหนักกว่าเพราะน้ำหนักจะขึ้นกับปริมาตรของน้ำที่อยู่ในถัง ดังนั้นถ้าเราอยากรู้ว่าลำตัวจะหนักขึ้นแค่ไหนเมื่อรอบลำตัวยาวขึ้นเป็นสองเท่า เราก็ต้องคำนวณดูว่าปริมาตรของร่างกายมันเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน
เราสมมติกันไว้ว่าลำตัวของเรามีรูปร่างเหมือนลูกเต๋าดังนั้นเราจะลองมาขยายขนาดลูกเต๋ากันดู สูตรที่จะใช้คำนวณหาปริมาตรของลูกเต๋า คือ กว้าง x ยาว x สูง
ถ้าลูกเต๋าเริ่มด้วยการมีด้านแต่ละด้านเท่ากับหนึ่ง มันก็จะมีปริมาตรหนึ่งลูกบาศก์ ถ้าลูกเต๋าใหญ่ขึ้นสองเท่า คือมีแต่ละด้านยาวเท่ากับสอง ปริมาตรมันก็จะเป็น 23 = 8 เท่าจากของเดิม ถ้าลูกเต๋าใหญ่ขึ้น สามเท่า ปริมาตรของมันจะเพิ่มเป็น 33 = 27 เท่าจากของเดิม ถ้าใหญ่ขึ้นสี่เท่า ปริมาตรมันก็จะเพิ่มเป็น 43 = 64 เท่าจาก ของเดิม
1
ถึงตรงนี้เราจะเริ่มเห็นอะไรบางอย่างกันแล้ว....
แม้ว่าทุกครั้งที่ตัวใหญ่ขึ้น ขาจะรับน้ำหนักได้มากขึ้น แต่น้ำหนักลำตัวที่กดทับลงไปบนขามันเพิ่มขึ้นเร็วกว่าน้ำหนักที่ขาจะรับได้ไหว เมื่อขนาดของร่างกายใหญ่ขึ้นเป็นสองเท่า สามเท่า และสี่เท่า พื้นที่หน้าตัดของขาจะเพิ่มขึ้นเป็น 4 เป็น 9 เป็น 16 เท่า แต่น้ำหนักตัวเพิ่มเป็น 8 เท่า เป็น 27 เท่า และ 64 เท่า ตามลำดับ
ดังนั้น เมื่อตัวใหญ่ไปถึงจุดหนึ่ง ถ้าร่างกายยังมีสัดส่วน เหมือนเดิม ขาที่มีอยู่มันจะรับน้ำหนักไม่ไหว ถ้าจะให้ขารับน้ำหนักได้ ขนาดของขาจะต้องเปลี่ยนไป ขาต้องใหญ่ขึ้น ดังนั้น ถ้าเราอยากให้อุลตราแมนของเรายืนสู้กับมนุษย์ต่างดาวได้ เราก็ต้องออกแบบใหม่ให้ทุกครั้งที่อุลตราแมนขยายตัวใหญ่ขึ้นขาของอุลตราแมนต้องใหญ่ขึ้น (ขาควรจะเหมือนขาของก็อดซิลล่าหรือขาช้าง) แต่ถ้าขาอุลตราแมนใหญ่ขึ้นจริง ปัญหาที่จะตามมาคือขาจะมีน้ำหนักมาก ทำให้การยกขา การลากขา ทำได้ช้า การเคลื่อนไหวของอุลตราแมนจึงต้องเป็นไปอย่างอุ้ยอ้าย
คราวนี้มาดูฝั่งโนบิตะกันบ้าง เมื่อโนบิตะโดนย่อส่วนลงมาให้มีขนาดร่างกายเล็กจิ๋ว สิ่งที่เกิดกับอุลตราแมนเองก็จะเกิดกับโนบิตะเช่นกัน แต่จะเป็นในทิศทางตรงกันข้าม นั่นคือยิ่งร่างกายมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ น้ำหนักตัวและน้ำหนักที่ขาจะ รองรับได้ก็จะลดลงเรื่อย ๆ แต่น้ำหนักตัวจะลดลงเร็วกว่ามาก ดังนั้นโนบิตะจึงไม่จำเป็นจะต้องมีขาใหญ่เท่าที่เป็นอยู่ แม้โนบิตะจะมีขาที่บางและเล็กเหมือนไม้ขีดไฟก็ยังสามารถยืนได้สบายๆ แต่การมีขาที่ใหญ่กลับจะทำให้ขาหนักโดยไม่จำเป็น
เมื่อเราย้อนกลับไปมองขาของสัตว์ต่างๆ ในธรรมชาติ เราก็จะเริ่มเห็นเหตุผลที่ซ่อนอยู่ว่าทำไมสัตว์ต่างๆ ในธรรมชาติมัน จึงมีรูปร่างอย่างที่มันเป็น อย่างสัตว์ที่มีรูปร่างใหญ่โต เช่น ช้าง มันจะมีสัดส่วนของขาต่อร่างกายที่ใหญ่มากและการเดินของมันจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่สัตว์ที่มีร่างกายเล็ก เช่น แมลง หรือนก มันสามารถที่จะยืน วิ่ง หรือกระโดดไปมาบนขาบางๆ ได้ และด้วยขาที่บางเบานี้เอง การเคลื่อนไหวของขาจึงทำได้เร็ว ทำให้มันวิ่งได้เร็วแม้ว่าขามันจะสั้นก็ตาม (นึกถึงแมลงสาบที่วิ่งมาหาเรา)
ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะนึกสงสัยอยู่ในใจว่าสัตว์ที่ตัวใหญ่ ๆ อย่างม้าหรือกวางตัวใหญ่ๆ ขามันก็ไม่ได้ดูใหญ่มากเมื่อเทียบกับเรา ทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น
คำตอบคือ เป็นเพราะมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่ด้วย
แรกสุดเลยคือ เราเดินสองขา น้ำหนักที่ลงในแต่ละขา จึงหารสอง แต่ม้าและกวางเดินสี่ขา น้ำหนักที่ลงแต่ละขาจึงหารสี่ แต่ละขาจึงไม่ต้องรับน้ำหนักมาก
ปัจจัยที่สองคือ ทั้งม้า และกวางต่างก็วิวัฒนาการมาในทุ่งหญ้าที่โล่งกว้าง ในทุ่งหญ้า ที่โล่งกว้างไม่มีต้นไม้ให้กำบัง วิธีหนีจากผู้ล่าที่ดีที่สุดคือการ วิ่งให้เร็ว ดังนั้น ทั้งม้าและกวางจึงถูกออกแบบมาให้มีขาที่เบา วิธีที่ม้าและกวางใช้เพื่อทำให้ขาเบาคือ การย้ายกล้ามเนื้อออก จากขาไปไว้ที่หลังให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในทางตรงกันข้าม ขาเราดูใหญ่เพราะภายในขาเรามีส่วนที่ไม่ได้ใช้รับน้ำหนักอยู่มากทั้งกล้ามเนื้อและไขมัน
อีกเหตุผลที่ขาของม้า โดยเฉพาะม้าแข่งมักจะมีขาที่เล็ก มากนั้น เพราะขาที่บางนี้ไม่ได้วิวัฒนาการเกิดเองตามธรรมชาติ แต่ขาที่เรียวเล็กนี้เกิดจากการที่คนคัดเลือกพันธุ์ม้าที่วิ่งได้เร็วทำให้ขาของม้าแข่งเรียวเล็กผิดธรรมชาติและหักง่ายกว่าขาของม้าในธรรมชาติ
ถึงตรงนี้เราพอจะเห็นกันแล้วว่าเมื่อขนาดของร่างกาย เปลี่ยนไป รูปร่าง สัดส่วนของร่างกายจำเป็นต้องเปลี่ยนไป เช่นเดียวกัน แต่การเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่รูปร่างของ ร่างกายเท่านั้น
การที่เราสามารถเปล่งเสียงออกมาได้ เราต้องดันลมจากปอดให้วิ่งผ่านสายเสียงที่อยู่ในลำคอ หลักการทำงานของสายเสียงก็ไม่ต่างอะไรกับการทำงานของสายกีตาร์ นั่นคือสายที่บางเล็ก จะให้เสียงที่แหลมกว่า สายที่หนาและใหญ่ จะให้เสียงทุ้มกว่า ความสั้นยาวของสายเสียงก็มีผลต่อเสียง สายที่สั้น (เหมือนการกดสายกีตาร์ลงไปกับคอกีตาร์) จะทำให้ได้เสียงที่แหลมกว่าสายที่ยาว
การที่ผู้ชายเสียงทุ้มกว่าส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะสายเสียงมีขนาดใหญ่และยาวกว่า ในเด็กผู้ชายที่เสียงแตกเนื้อหนุ่มก็เกิดขึ้นเพราะฮอร์โมนเพศชายมีผลทำให้สายเสียงเกิดการเปลี่ยนแปลง
แต่ขนาดของสายเสียงก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะบอกคุณภาพของเสียงที่ออกมา มันยังขึ้นกับปริมาณลมที่วิ่งผ่านสายเสียงนั้นด้วย ถ้าเรานึกถึงการเป่าขลุ่ย เราจะนึกออกว่าถ้าเราอยากให้เสียงมันออกมาเบาๆ เราก็เป่าเบาๆ ให้ลมผ่านน้อยๆ แต่ถ้าเราอยากให้เสียงมันดังเราก็เป่าลมแรงๆ
เมื่อขนาดของร่างกายเราเปลี่ยนไป ขนาดของหลอดลมก็จะเปลี่ยนไป ขนาดของสายเสียงก็จะเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่าความดังและความแหลมของเสียงก็จะเปลี่ยนไปด้วย เราก็พอจะเดาได้ว่าเมื่อโนบิตะถูกย่อส่วนลงเสียงของเขาก็คงจะเบาและแหลมมากๆ และอาจจะเกินกว่าที่หูของคนทั่วไปจะฟัง ได้ยิน ในทางตรงกันข้าม อุลตราแมนก็น่าจะมีเสียงที่ดังและทุ้มต่ำมาก และเช่นกันแม้ว่าเสียงที่ออกมาจะดังแต่เสียงอาจจะ ต่ำเกินกว่าที่หูคนทั่วๆ ไปจะฟังเข้าใจก็เป็นได้
ถึงตรงนี้เราก็เห็นกันแล้วว่า ขนาดร่างกายของสิ่งมีชีวิต มีผลต่อรูปร่างและกลไกการทำงานภายในด้วย ดังนั้นเมื่อ สิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการให้ขนาดของร่างกายเปลี่ยนไป รูปร่างของ สิ่งมีชีวิตก็มีแนวโน้มจะต้องเปลี่ยนตามไปด้วย
หมายเหตุ : เนื้อหาย่อและเรียบเรียงมาจาก หนังสือ “เหตุผลของธรรมชาติ”
เรียบเรียงโดย : แอดมินเอ็ม
ภาพโดย : แอดมินฝ้าย
กดซื้อหนังสือแบบ E-book ได้แล้ววันนี้ที่
💗 Chula book : https://bit.ly/3GdY7dO
💗 Bookcaze : https://bit.ly/40O6Cpl
💗 Naiin ebook : https://bit.ly/3OHiWTk
💗 ปิ่นโต ebook : https://bit.ly/3OSko5o
กดซื้อหนังสือแบบเล่ม ได้ที่
💚 Line My Shop : https://bit.ly/3PlxYyt
โฆษณา