13 มี.ค. เวลา 07:47 • หนังสือ

หมุดหมายแห่งฝัน

ที่แรก…วัดที่มีสถาปัตยกรรมแบบจีน ส่วนใหญ่มักอยู่บนภูเขา และการเดินทางขึ้นไปนั้นค่อนข้างลำบากสลับซับซ้อน แต่จำเป็นต้องไปเพราะต้องพาใครบางคนขึ้นไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนนั้น และผู้เขียนรู้สึกอึดอัดใจทุกครั้งที่ต้องไป เป็นเพราะลึกๆแล้วผู้เขียนมีความเชื่อในศาสนาคริสต์มากกว่า ผู้เขียนมักรู้สึกว่าถูกบีบให้ทำการสักการะเพื่อให้เกียรติชาวบ้านที่หลั่งไหลเข้ามาในวัด เพื่อไม่ให้ดูแปลกแยกแตกต่างจากคนอื่น หรือบางทีก็แกล้งเดินหนีออกไป น่าแปลกที่เวลาเข้าไปในวัดจีนแห่งนั้น ผู้เขียนมักจะหลงทาง หาทางออกไม่เจอ
สถานที่ที่สอง หอพักเก่าเกรอะกรัง ค่าเช่าถูก ในฝันผู้เขียนมักประสบปัญหาคือจะต้องย้ายห้องหรือย้ายหอด้วยเหตุบางประการ และต้องพยายามจะรักษาห้องของตัวเองไว้ ฝันนี้น่าจะเกี่ยวพันถึงความต้องการปลีกวิเวกของผู้เขียน กล่าวคือต้องการความสันโดษ
ในความเป็นจริง ช่วงเวลาที่อยู่มหาลัย ผู้เขียนได้ย้ายออกจากห้องที่มีรูมเมทถึง 3 คน มาอยู่คนเดียว เพราะต้องการใช้เวลาส่วนตัวเขียนหนังสือหลังเลิกเรียน (ผู้เขียนเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัย) จึงเลือกเอาห้องที่มีขนาดกว้างแค่ 1.5 x 2 เมตร เพื่อจะได้จ่ายค่าเช่าได้ถูกลง ค่าเช่ารวมน้ำไฟแค่ 700 บาท
ซึ่งเพื่อนพอมาเห็นห้องแล้วแทบเป็นลม บอกว่าเหมือนผู้เขียนนอนอยู่ในโลงศพ เพื่อนสนิทของผู้เขียนต้องการจะอยู่ร่วมห้องกับผู้เขียน เพื่อจะได้แชร์ค่าห้อง และจะได้พากันย้ายไปอยู่หอพักที่ดูดีหรูหราขึ้น แต่ผู้เขียนปฏิเสธและพยายามอธิบายให้เพื่อนเข้าใจถึงความเป็นคนมีโลกส่วนตัวสูง ยุคนั้นแนวคิด post modern กำลังฮิต ทำให้เพื่อนๆยอมรับเจตจำนงค์อิสระของผู้เขียนได้ง่ายดายโดยไม่แตกแยกกัน
ในความฝัน แม้หอจะเก่าเกรอะกรังและเล็กเหมือนรูหนูเพียงใด แต่จะมีส่วนแยกของหอพักที่น่าประทับใจอยู่เสมอ นั่นก็คือ ห้องดนตรีและห้องสมุด ที่เปิดให้เข้าใช้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
คิดว่าผู้เขียนดันไปเอาห้องสมุดของมหาวิทยาลัยกับหอพักเก่ามาประสานร่วมกัน เกิดเป็นสถานที่ใหม่ขึ้นมา
นอกจากฝันถึงมหาวิทยาลัยและหอพัก ผู้เขียนยังชอบฝันว่าได้ย้อนกลับไปเรียนมหาวิทยาลัยอีกครั้งแต่ดันต้องไปเรียนคณะอื่น ซึ่งเป็นคณะสายวิทยาศาสตร์ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัช สัตวแพทย์ หรือสายสังคมเช่น นิติศาสตร์ ในฝันผู้เขียนมักรู้สึกดีมาก ภาคภูมิใจที่ได้เรียนคณะเหล่านั้น ซึ่งส่วนนี้ตรงข้ามกับความจริงเพราะผู้เขียนชอบการเรียนในคณะอักษรศาสตร์
หากตัดวิชาภาษาที่สาม (จีน เกาหลี ฝรั่งเศส เยอรมัน) ไวยากรณ์ศาสตร์ สัญศาสตร์ และสัทศาสตร์ออกไป ทุกวิชาน่าสนุกหมด จะมีอะไรดีไปกว่าเอางานอดิเรกมาเป็นงาน กล่าวคือ… ให้เราอ่านหนังสือและตีความหนังสือ เพื่อไปสอบ
(นอกจากวิชาวรรณคดี วรรณกรรม แล้วยังมีวิชาสนุกๆอีกมากมาย เช่น วิชาทัศนศิลป์ ซึ่งให้สร้างงานศิลปะตามความคิดสร้างสรรค์ส่วนตัว จะวาดรูป ปั้น หรือพิมพ์ภาพ ก็ได้, วิชาประวัติศาสตร์ ทั้งไทยและสากล โดยไม่ได้เน้นเรียนแบบท่องจำแต่ให้วิพากษ์ เช่นว่า ประวัติศาสตร์เล่าเรื่องจริงหรือเท็จ ประวัติศาสตร์ถูกปั้นแต่งขึ้นมาหรือว่าเป็นบันทึกจริง ,
วิชาสังคีต ซึ่งมีทั้งการขับร้อง และการบรรเลง โดยนักศึกษาจะต้องเลือกเครื่องดนตรีสองชนิด เพื่อซ้อมและเล่นจนจบเพลงจึงเป็นอันจบหลักสูตร ในตอนเรียนผู้เขียนได้เลือก ขลุ่ย และขิม สำหรับคนจบเอกสังคีตจะต้องประพันธ์เพลงขึ้นมาเองด้วย,
และวิชาที่ชอบที่สุดคือปรัชญา เป็นวิชาที่เปลี่ยนโลกทัศน์ และทำให้นักศึกษามีเสรีภาพทางความคิด แต่ได้เกรดยากมาก จบยาก ทุกคนจึงได้แค่ชอบแต่จะไม่เลือกเป็นสาขาเอก ยกเว้นพวกเมพขิงๆ ผู้เขียนจำได้แม่นยำถึงข้อสอบวิชาปรัชญา ที่มีคำถามแค่ ประโยคเดียว ต่อด้วยหน้ากระดาษว่างๆ 3-4 หน้า คำถามมีอยู่ว่า 'คุณคิดว่าคุณกำลังหลับหรือตื่นอยู่?' ....จบ)
แต่ความชอบในชีวิตจริงกลับไม่สอดคล้องกับโลกความเป็นจริง เพราะเรามักจบออกมาทำงานไม่ตรงกับสายวิชาที่เรียน ในสายตาคนรอบตัวของผู้เขียน มองว่าวิชาที่เรียนเกี่ยวกับวรรณกรรมนั้นไม่สามารถเป็นอาชีพที่มั่นคงได้ นั่นคงเป็นเหตุที่ผู้เขียนมักฝัน(ร้าย)ย้อนกลับไปสมัยปริญญาตรีเพื่อเลือกคณะใหม่เสมอ
สรุปแล้วคือสถานที่ต่างๆข้างต้น เป็นอิทธิพลจากชีวิตจริง และบุคคลรอบข้าง ที่ก่อให้เกิดฝัน แต่มีสถานที่หนึ่งซึ่งต่างออกไปโดยสิ้นเชิง
สถานที่นั้น เป็นเกาะกลางทะเล (คล้ายเกาะสีชังแต่ภูมิทัศน์ภายในไม่เหมือน) ในฝันผู้เขียนมักมีภารกิจพาใครสักคนไปเที่ยวที่นั่น เกาะแห่งนั้นไม่มีอยู่จริง แต่ในฝันผู้เขียนจะรู้สึกคุ้นเคยเหมือนว่าเป็นเจ้าถิ่น เป็นเกาะที่สวยบริสุทธิ์มีโขดหินสีดำกองเรียงสูงเป็นรูปทรงประหลาด มีหาดทรายขาว และน้ำทะเลสีฟ้า
สำคัญคือเกาะนั้นสามารถเชื่อมโยงกับสุดขอบโลกได้หรือพื้นที่อื่นๆที่ห่างไกล เหมือนสามารถเป็นประตูไปสู่ทุกสถานที่ทั่วโลก แม้แต่ขั้วโลกเหนือ แต่ต้องเดินทางโดยเรือผ่านทะเลไปเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองผู้เขียนจึงมีฝัน (ในโลกความจริง) ว่าอยากจะเดินทางล่องเรือสำราญไปทั่วโลกสักหนึ่งเดือน และอยากไปเพียงลำพัง ใช้เวลาอย่างสงบ บนเรือเพื่อเขียนหนังสือสักเล่ม
ในสถานที่สุดท้ายนี้จะสังเกตเห็นว่า ฝันในจิตไร้สำนึกเป็นเหตุให้เกิดฝันในจิตสำนึก
ฝันสามารถดำรงอยู่ในฐานะ ‘เหตุ’ ที่ก่อให้เกิดผลได้ด้วย แตกต่างจากความฝันอื่น ซึ่งเหตุการณ์ในโลกจริงเป็นเหตุให้เกิดฝัน (งงไหม)
กล่าวสรุปคือความฝันสามารถส่งผลต่อความใฝ่ฝันในโลกจริง ความฝันได้บอกใบ้ถึงหมุดหมายในอนาคต หรือเป็นเข็มทิศที่ชี้เส้นทางของโชคชะตาที่เราควรมุ่งหน้าไป แม้ไม่รู้ว่ามันจะนำพาไปประสบกับอะไรก็ตาม

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา