13 มี.ค. เวลา 11:10 • สุขภาพ
โรงพยาบาลเวชธานี

Ep.3 ข้อเข่าเสื่อมรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว???

สวัสดีครับ เราพบกันอีกครั้งทุกๆวันพุธนะครับ สัปดาห์ที่แล้วผมพูดถึงความเชื่อที่ว่าโรคข้อเข่าเสื่อมเกิดขึ้นได้จาก การวิ่งบ่อย ๆทำให้ข้อเข่าเสื่อมไวใช่หรือไม่ ซึ่งที่จริงแล้วการวิ่งบ่อยๆไม่ได้ทำให้ข้อเข่าเสื่อม แต่ต้องระวังเรื่องการวิ่งทางไกลหรือการเกิดการบาดเจ็บนะครับ ในสัปดาห์ที่แล้วผมให้คำแนะนำง่ายๆเรื่องการออกกำลังกายโดยเฉพาะกล้ามเนื้อต้นขาที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์
มาครับสัปดาห์นี้เราจะมาพูดกันถึง ‘’ ข้อเข่าเสื่อมรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว’’ จริงหรือไม่ จากที่ผมวนเวียนเจอกลุ่มคนไข้ที่เป็นเข่าเสื่อมมาปรึกษาเรื่องการรักษาและจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆทุกปีเท่าที่เก็บข้อมูลก็ปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆปีละ 10-15 % โดยที่อัตราโรคข้อเข่าเสื่อม อยู่ที่ 57.10 ต่อประชากร 100,000 คน [1] โดยที่ความชุกของข้อเข่าเสื่อมในไทยอยู่ที่ 11.3% [2] ใกล้เคียงกับตัวเลขในทวีปเอเชีย 19.2%
จริงๆแล้วเป้าหมายการรักษาข้อเข่าเสื่อมมันจะเป็นการรักษาจำเพาะสำหรับบุคคลนะครับ (ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ เราตัดเสื้อโหลเพื่อเอามาใส่ให้ทุกคน แบบเดียว ขนาดเดียวมันเป็นไปได้ยากนะครับที่จะสวมพอดีได้ทุกคน) ดังนั้นการรักษาข้อเข่าเสื่อมจึงควรได้รับการออกแบบสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายโดยหลักการรักษาใหญ่ๆ[3] คือ
1.สามารถลดความเจ็บปวดให้สุขสบาย
2.ป้องกันข้อติด
3.ส่งเสริมการทำงานของข้อเพื่อไม่ให้มีข้อจำกัดในการทำงาน
ทีนี้ผมจะพูดให้ง่ายขึ้น ให้เห็นภาพ คือ การรักษาแบบไม่ผ่าตัด และ การรักษาแบบผ่าตัด เริ่มรู้สึกแล้วใช่ไหมครับว่าเรายังมีทางเลือก ทีนี้ ในการรักษาแบบไม่ผ่าตัด เราก็ยังมีวิธีเลือกอีก คือ การรักษาแบบใช้ยา และการรักษาแบบไม่ใช้ยา หลายๆท่านอ่านมาถึงตรงนี้เริ่มมีกำลังใจใช่ไหมครับว่าเรายังมีทางเลือกหลายทางที่ไม่ใช่การผ่าตัดและไม่จำเป็นต้องใช้ยา
สำหรับการรักษาแบบไม่ใช้ยานั้นมีหลักเกณฑ์ดังนี้
(ตามเกณฑ์คำแนะนำของ EULAR 2023)
1. ต้องมีแผนการจัดการหลายองค์ประกอบที่จำเพาะสำหรับบุคคล เช่น ความรู้เรื่องเข่า การออกกำลังกาย อาหาร
2. ต้องมีข้อมูล ความรู้เรื่องเข่า และการดูแลตนเอง เป็นการสร้างความตระหนักรู้เรื่องข้อเข่าเสื่อม
3. ออกกำลังกายโดยปรับตามความเหมาะสมและการลดน้ำหนัก เช่น การฝึกกล้ามเนื้อต้นขา, Tai Chi, โยคะ, จักรยานตั้งพื้น
[ที่มา : https://images.app.goo.gl/yvTty4M6gTEPNCRq7]
4. รูปแบบการฝึกออกกำลังกาย เช่น ผมแนะนำการออกสม่ำเสมอและต่อเนื่อง 4-6 อาทิตย์ขึ้นไปวันละ 30 นาที 4-5 วันต่อสัปดาห์
5. การรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ แล้วเท่าไหร่หละจึงเป็นเกณฑ์ปกติ
[ที่มา :www.facebook.com/thaincd]
เกณฑ์คนอ้วน
[ที่มา : https://www.thairath.co.th/lifestyle/men/2706314]
6. รองเท้า เครื่องช่วยเดิน และอุปกรณ์พยุงเข่า โดยวิธีเลือกรองเท้าคือ การใช้รองเท้าที่ใส่สบาย มีขนาดใหญ่พอให้มีพื้นที่วางเท้าเพียงพอเมื่อต้องรับน้ำหนักเดินหรือวิ่ง อุปกรณ์ช่วยแต่งตัว เก้าอี้ปรับสูงต่ำ เบาะนั่งชักโครกยกสูง ราวบันได หรือใช้เครื่องช่วยเดินที่เหมาะสม
7. คำแนะนำเกี่ยวกับท่าทางระหว่างการทำงาน งดยกของหนักๆ การขึ้นลงบันไดบ่อยๆ
8. เทคนิคการเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อปรับปรุงไลฟ์สไตล์ เช่น งดใส่ส้นสูงที่เป็นส้นเข็ม การหิ้วของหนักๆเดินไกลๆ
สำหรับการรักษาแบบใช้ยานั้นมีหลักเกณฑ์ดังนี้
The guidelines from American College of Rheumatology/Arthritis Foundation (ACR/AF), the 2019 Osteoarthritis Research Society International (OARSI), and the 2020 Veterans Affairs and Department of Defense (VA/DoD) treatment guidelines [4]
1. การรักษาแบบ first line คือ การใช้ยานวดที่เป็นกลุ่มยาลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์, กลุ่มยาลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์แบบรับประทาน รวมถึงการฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์เข้าข้อ (CSI) สำหรับข้อเข่าเป็นคำแนะนำที่แข็งแกร่ง
2. การรักษาแบบ กลูโคซามีน คอนดรอยติน ซัลเฟต และ การฉีดพลาสมาที่มีเกล็ดเลือดสูง (PRP) การใช้วิตามินดีและการฉีดกรดไฮยาลูโรนิกภายในข้อ ไม่แนะนำให้ใช้
3.การรักษาโดยมีคำแนะนำแบบมีเงื่อนไขให้ใช้ยาทาแคปไซซิน(เจลพริก)เฉพาะที่สำหรับข้อเข่าเสื่อม, พาราเซตามอลสำหรับข้อเข่าและข้อสะโพก, ดูล็อกซีทีนสำหรับข้อเข่าเสื่อม, ยาที่มีส่วนผสมของ opiod สำหรับข้อเข่าเสื่อม กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้ยากลุ่มการรักษาแบบ first line
อย่างไรก็ตามยังมียาอีกกลุ่มที่เรียกว่า DMOADs ผมขอเรียกชื่อเล่นมา กลุ่มยาดีหมด นะครับ โดย DMOADs จะเป็นยาที่ปรับเปลี่ยนพยาธิสรีรวิทยาของ OA ซึ่งช่วยยับยั้งความเสียหายทางโครงสร้างเพื่อป้องกันหรือลดความเสียหายในระยะยาว และช่วยบรรเทาอาการที่อาจเกิดขึ้นได้[5] ปัจจุบันไม่มี DMOADs ที่ได้รับการรับรองจาก FDA หรือ EMA ของสหรัฐอเมริกา แต่การรักษาที่เกิดขึ้นใหม่ซึ่งมุ่งเป้าไปที่ลดการอักเสบ กระบวนการทางเคมีของกระดูกอ่อน และการเปลี่ยนแปลงของกระดูกใต้ผิวข้อ ซึ่งอาจชลอการเสื่อมของโรค[6]
การบำบัดทางชีวภาพ เช่น PRP เสต็มเซลล์ ซึ่ง PRP ผมได้กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่จริงๆแล้วหัวข้อการบำบัดทางชีวภาพผมจะยกเป็นหนึ่งเรื่องเลยที่จะมาให้ความรู้กันยาวๆ ในEp.นี้ผมจะขอแบบสั้นๆไปก่อนนะครับ โดย PRP จะช่วยเรื่องของการปล่อยคีโมไคน์ ไซโตไคน์ ปัจจัยการเจริญเติบโต โปรตีนที่ช่วยเรื่องการอักเสบ โปรตีเอส พูดง่ายๆคือ ช่วยเรื่องลดการอักเสบ ส่วนเสต็มเซลล์จะช่วยเรื่องการลดอาการอักเสบและเพิ่มความสามารถของหน้าที่ข้อเข่า แต่ ACR/AF, OARSI, AAOS และ ESCEO guideline ยังไม่ให้การรองรับ
[https://www.stoneclinic.com/blog/myths-and-facts-about-stem-cell-therapies]
คราวนี้ทุกคนก็จะได้ทราบว่าจริงๆแล้วการรักษาข้อเข่าเสื่อมไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเสมอไป เรายังมีทั้งการรักษาแบบไม่ใช้ยา และ การรักษาแบบใช้ยา อีกทั้งเรายังได้รู้อีกว่าการรักษาแบบยามีอะไรบ้าง มีการแบ่งกลุ่มยารักษาแบบใดนะครับ สำหรับหัวข้ออาทิตย์หน้าEp.4 ผมจะพูดถึงเรื่อง “การรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัด ผ่าแล้วเดินไม่ได้จริงหรือไม่” มีการผ่าตัดกี่วิธี นวัตกรรมล่าสุดสำหรับการผ่าตัดข้อเข่าเสื่อม ทุกท่านสามารถติดตามได้ที่บล็อกนี้ครับ
Brought to you by
Dr. B.Bone
โฆษณา