Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
นักเรียนหมอความ - Juris Doctor Student
•
ติดตาม
13 มี.ค. 2024 เวลา 19:22 • ความคิดเห็น
ปัญหาของการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 บัญญัติว่า "ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด"
และนี่คือกฎหมายว่าด้วยเรื่องการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย (Self Defense) ของประเทศไทยครับ จากตัวบทบัญญัติดังกล่าวมีองค์ประกอบดังนี้ครับ
1) มีภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายเกิดขึ้น
2) ภยันตรายนั้นใกล้จะเข้ามาถึง
3) มีการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่น
4) การกระทำเพื่อป้องกันนั้นต้องทำไปพอสมควรแก่เหตุ
หากเราทำครบองค์ประกอบทั้ง 3 อย่างที่กล่าวมาข้างต้น กฎหมายก็จะบอกว่าเราไม่มีความผิดครับ แนวคิดนี้ได้มาจากทฤษฎีสัญญาประชาคม (Social Contract) ครับ ว่าบางเวลาจะมีเหตุการณ์ที่รัฐไม่สามารถคุ้มครองดูแลประชาชนได้ทัน จึงอนุญาตให้ประชาชนสามารถกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันตัวเองครับ
เราก็จะเห็นได้ว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์จะคุ้มครองบุคคลที่กำลังจะถูกประทุษร้ายจากภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายครับ โดยให้บุคคลสามารถป้องกันตนเองได้โดยไม่มีความผิดในกรณีที่ภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายมันกำลังจะมาถึงตัวจริงๆ
แต่ถึงอย่างนั้น ประมวลกฎหมายอาญามาตรานี้มีข้อบกพร่องในการคุ้มครองผู้เสียหายอยู่ค่อนข้างเยอะครับ จากที่ผมเคยพูดคุยกับอาจารย์และผู้ที่เคยประสบพบเจอมามีประเด็นมาดังนี้ครับ
1) อัยการมักสั่งฟ้องกับผู้ที่กระทำโดยป้องกันไปก่อน
จริงอยู่ว่าเป็นการเปิดโอกาสให้คู่ความ (ผู้ที่ถูกกระทำโดยป้องกันต่อ) สามารถไปสู้คดีได้ว่าเขาป้องกันโดยชอบหรือไม่ กระทำไปพอสมควรแก่เหตุหรือไม่ แต่ในหลายๆคดีมักเป็นที่ประจักษ์ว่าผู้นั้นได้กระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายจริงๆ สุดท้ายศาลยกฟ้อง บางคดีสู้กันถึงฎีกา สู้กันเป็นปี เสียทั้งสุขภาพจิต ทั้งเวลา ทั้งเงินในการว่าจ้างทนายความของผู้เสียหายโดยที่เขาไม่มีความผิด
เรื่องนี้อัยการอาวุโสหลายท่านจึงวางหลักการทำงานไว้ว่าหากพยานหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ว่าผู้นั้นได้กระทำโดยป้องกันจริงๆ ก็จะสั่งไม่ฟ้องครับ หากคู่ความติดใจก็ให้ไปฟ้องเอาเอง
2) พนักงานสอบสวนมักชี้ว่าเป็นสมัครใจวิวาท
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 372 บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดทะเลาะกันอย่างอื้ออึงในทางสาธารณะ หรือสาธารณสถาน หรือกระทำโดยประการอื่นใดให้เสียความสงบเรียบร้อยในทางสาธารณะหรือสาธารณสถาน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท"
หากทั้งสองฝ่ายสมัครใจเข้าวิวาทกัน เช่น ไปท้ากันต่อย ตะโกนท้าทายกันแและเข้าทำร้ายร่างกายกัน จะไม่มีใครสามารถอ้างป้องกันได้เลยครับ แต่ทีนี้ มันมีหลายกรณีที่มีบุคคลกระทำโดยป้องกันจริงๆ ไม่ได้สมัครใจจะมีเรื่องด้วย แต่พอไปถึงโรงพัก ตำรวจก็บอกเป็นการสมัครใจวิวาทและก็เปรียบเทียบปรับกันแล้วกลับบ้านครับ บางทีก็ปรับ 500 บ้าง 1000 บ้าง
ด้วยความที่ว่าผู้คนส่วนมากก็ไม่ติดใจอะไร ถ้าจะปฏิเสธข้อหาแล้วไปสู้ในศาลก็อาจจะเสียเวลา เสียค่าทนายความ ค่าเดินทางอะไรเพิ่มเติมครับ หลายคนเลยเลือกที่จะจบตรงนี้ทัั้งๆที่เขาไม่มีความผิดเลยด้วยซ้ำครับ เป็นเวรกรรมที่อยู่ๆมีคนมาหาเรื่อง พอป้องกันตัวแล้วก็ต้องเสียค่าปรับอีก
เพราะฉะนั้น ส่วนตัวผมเลยถือว่าเป็นการดีที่สุดที่จะวิ่งหนีนะครับ เวลามีใครหาเรื่องเรายกมือไหว้ไปก่อนดีกว่าครับ จริงอยู่ว่ากฎหมายอนุญาตให้เราป้องกันตัวต่อภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายที่ใกล้จะเข้ามาถึงแล้ว แต่เลี่ยงได้ก็เลี่ยงจะดีกว่าครับ
แล้วจะมีวิธีอย่างไรเพื่อจะคุ้มครองผู้เสียหายได้ดีขึ้น ก็เป็นประเด็นให้ทุกคนช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ไขต่อไปครับ
กฎหมาย
ข่าว
อาชญากรรม
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย