16 มี.ค. เวลา 00:00 • หนังสือ

บทความ Blockdit ตอน ลีกวนยูสร้างชาติอย่างไร ตอน 6 เอกราชคาดไม่ถึง

Talaq
3
สองวันหลังจากเกิดเหตุการณ์วันเสียงปืนแตกที่บ้านนาบัว อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ในเช้าวันที่ 7 สิงหาคม 1965 ที่เกาะน้อยตอนใต้สุดของคาบสมุทรมาลายา วันที่ 9 สิงหาคม 1965 เป็นวันจันทร์ เวลาสิบโมงเช้า เสียงประกาศทางวิทยุกระจายเสียงก้องไปทั่วคาบสมุทรมาลายา ทำให้คนมาเลย์และสิงคโปร์สะดุ้งตกใจ
2
มันเป็นประกาศของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ตุนกู อับดุล ระห์มาน ข้อความว่า “สิงคโปร์จะยุติการเป็นรัฐหนึ่งของมาเลเซีย และจะเป็นประเทศเอกราชตลอดกาล เป็นอิสระจากมาเลเซีย และรัฐบาลมาเลเซียขอรับรองสถานะประเทศสิงคโปร์ และจะทำงานร่วมกันอย่างมีมิตรภาพ”
1
เป็นประกาศสามภาษา มาเลย์ อังกฤษ และจีนกลาง ออกอากาศซ้ำทุกครึ่งชั่วโมง และส่งข่าวไปให้สำนักข่าวทั่วโลก
นี่เป็นข่าวที่ผู้นำรัฐสิงคโปร์ ลีกวนยูสะดุ้ง คาดไม่ถึง เขาแปลกใจว่าทำไม ตุนกู อับดุล ระห์มาน จึงรีบประกาศว่าประเทศแม่คือมาเลเซียประกาศตัดหางปล่อยวัดรัฐสิงคโปร์
มันเป็นเวลาสองปีหลังกำเนิดสหพันธรัฐมาเลเซีย ซึ่งรวมรัฐสิงคโปร์ด้วย มีความขัดแย้งกันหลายเรื่อง แต่เขาไม่คาดว่าจะประกาศปุบปับอย่างนี้
เวลาก่อนเที่ยง ลีกวนยูปรากฏตัวที่สถานีวิทยุและโทรทัศน์สิงคโปร์ เพื่อแถลงข่าว ผู้สื่อข่าวคนหนึ่งถามเขาว่า “คุณพอบอกได้ไหมว่ามีเหตุการณ์อะไรบ้างที่ทำให้เกิดการประกาศเช้านี้?”
ลีกวนยูอธิบายความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างมาเลย์กับสิงคโปร์ที่ดำเนินมานาน กล่าวว่า “ตลอดชีวิตของผม ผมเชื่อเรื่องการรวมตัวกัน และความเป็นหนึ่งของสองเขต ประชาชนเชื่อมกับทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง...”
1
พูดถึงตรงนี้เขาก็กลั้นก้อนสะอื้น บอกว่า “ผมขอหยุดสักครู่ได้ไหม?” ความรู้สึกท่วมท้นภายในทำให้เขาน้ำตาซึม และพูดต่อไม่ได้
1
มันไม่ใช่การถ่ายทอดสด สถานีจะแพร่ภาพตอนหกโมงเย็น ลีกวนยูขอให้ผู้อำนวยการสถานีวิทยุและโทรทัศน์สิงคโปร์ตัดท่อนที่เขาซับน้ำตาออก แต่ผู้อำนวยการบอกว่าไม่สมควรอย่างยิ่ง ประการหนึ่งเพราะผู้สื่อข่าวทั่วโลกจะรายงานข่าวนี้ การตัดภาพท่อนนี้ออกไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น อีกประการ มันเป็นการพูดที่จริงใจ
รายงานข่าวผู้นำสิงคโปร์ท่วมท้นด้วยความรู้สึกภายในแพร่ไปทั่วโลก หลายคนในมาเลเซียมีความเห็นว่า การร้องไห้ของผู้ชายส่อถึงความอ่อนแอ แต่ผู้ชมทางตะวันตก อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ดูเข้าใจดีกว่า
ก่อนหน้าวันนั้น ลีกวนยูผ่านความกดดันอย่างหนัก อดหลับอดนอนสามวันสามคืน ร่างกายเกือบไปต่อไม่ไหว มาถึงจุดนี้ เขารู้สึกผิดที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เขารู้สึกว่าเขาสร้างความผิดหวังต่อคนนับล้านๆ คนที่ตั้งความหวังไว้กับเขา
ลีกวนยูหลั่งน้ำ วันที่สิงคโปร์ถูกขับออกจากมาเลเซีย 9 สิงหาคม 1965 และมีภาระหนักหน่วงรออยู่
ลีกวนยูเป็นผู้นำรัฐสิงคโปร์ผ่านการเลือกตั้ง เป็นผู้นำวัยเพียง 35 ผ่านไปหกปี ก็เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น
วันที่ 9 สิงหาคม ถนนในเมืองสิงคโปร์เงียบเหงา เพราะผู้คนกลัวว่าจะเกิดเหตุร้าย กลัวว่ากลุ่มโปรพรรค UMNO ของมาเลเซียจะออกมาต่อต้านการแยกประเทศและก่อความวุ่นวาย ดังที่เกิดเหตุจลาจลระหว่างคนจีนกับคนมาเลย์หลายครั้งในหลายปีที่ผ่านมา
2
แต่ตำรวจเตรียมการไว้แล้ว เพราะได้รับจดหมายจากรัฐมนตรีมหาดไทยของสหพันธรัฐมาเลเซีย สั่งให้ตำรวจเปลี่ยนเจ้านาย ไปขึ้นตรงต่อรัฐบาลสิงคโปร์แทน และเตรียมรับเหตุร้าย
ขณะที่ลีกวนยูผิดหวังกับตัวเอง คนจีนในสิงคโปร์กลับรู้สึกตรงกันข้าม พวกเขาจุดประทัดเฉลิมฉลองเอกราช การหลุดพ้นจากเงาของรัฐมาเลเซีย
ช่วงหลายวันต่อมาองค์กรสมาคมธุรกิจทั้งหมดในสิงคโปร์นัดประชุมกัน เพื่อกำหนดทิศทางของการค้าในประเทศใหม่ และทำอย่างไรเพื่อให้ประเทศใหม่นี้ไปรอด
ลีกวนยูเล่าว่า บางประเทศเกิดมาพร้อมเอกราช บางประเทศต้องต่อสู้เพื่อจะได้มา แต่สิงคโปร์ถูกโยนเอกราชโครมมาให้
2
ลีกวนยูเล่าว่า ธรรมเนียมปฏิบัติของคนมาเลย์คือผู้ชายสามารถหย่าภรรยาได้ โดยแค่เอ่ย “Talaq” (แปลตรงตัวว่าปลดปล่อย หมายถึง “ผมขอหย่าคุณ”) สามครั้ง ก็เท่ากับการหย่าเสร็จสิ้นโดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากฝ่ายหญิง
3
มาเลเซียก็เอ่ย “Talaq” กับสิงคโปร์ในวันนั้น
รัฐสิงคโปร์ไม่เคยคิดจะแสวงหาเอกราช หรือแยกทางกับประเทศแม่ แต่ในเมื่อมันเป็นหมากตาบังคับ พวกเขาก็ต้องเดินหมากต่อไป
1
และหวังว่าจะสามารถเล่นจนจบกระดาน
Temasek
ประวัติศาสตร์สิงคโปร์นับย้อนหลังไปได้อย่างน้อย 800 ปี มันเคยเป็นศูนยกลางค้าขายทางเรือสมัยโบราณ ที่เรียกว่า Temasek (เป็นภาษามาเลย์ หมายถึงบึงหรือทะเล) ชื่อนี้ปรากฏทั่วสิงคโปร์ในปัจจุบัน บ้างเป็นชื่อสถานที่ บ้างเป็นชื่อบริษัท ฯลฯ
พวกอังกฤษไปเยือนสิงคโปร์ครั้งแรกเมื่อต้นปี 1819 นำโดย เซอร์ สแตมฟอร์ด แรฟเฟิลส์ (Sir Stamford Raffles) ก่อตั้งสถานีการค้าสำหรับบริษัท British East India
ห้าปีต่อมา อังกฤษก็ครอบครองสิงคโปร์อย่างเบ็ดเสร็จ หลังทำสนธิสัญญากับสุลต่าน สองปีต่อมาก็เป็นส่วนหนึ่งของ Straits Settlements คือกลุ่มดินแดนของอังกฤษในเอเชียอาคเนย์ ตั้งในปี 1826
ก่อนแรฟเฟิลส์มาถึง สิงคโปร์มีประชากรในหลักร้อยหรือพันคน เป็นพวกมาเลย์กับจีน ถึงปี 1860 ประชากรเพิ่มเป็นแปดหมื่น เกินครึ่งเป็นจีน เมื่ออุตสาหกรรมยางพาราเติบโตมากในมาลายาและสิงคโปร์ สิงคโปร์ก็กลายเป็นศูนย์กลางส่งออกยางพาราของโลก
1
สิงคโปร์ต้นศตวรรษที่ 20
ในปี 1867 มีการจัดสรรอาณานิคมในเอเชียอาคเนย์ใหม่ สิงคโปร์ก็อยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ ในสถานะที่เรียกว่า Crown colony (อาณานิคมราชวงศ์อังกฤษ)
1
ไม่นานสิงคโปร์ก็กลายเป็นเมืองท่าสำคัญในภูมิภาค โดยเฉพาะหลังจากเปิดคลองสุเอซในปี 1869 ทำให้เรือสินค้าแล่นไปมามากขึ้น การค้าดีบุกและยางพารารุ่งเรืองเต็มที่
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐต่างๆ ในมาลายารวมเป็น Crown colony ใช้ชื่อว่า Malayan Union แต่ถูกต่อต้านจากพวกมาเลย์ชาตินิยม Malayan Union ก็ล้มและตั้งใหม่เป็นสหพันธรัฐมาลายา (The Federation of Malaya)
สหพันธรัฐมาลายาก่อตั้งในปี 1948 ประกอบด้วย 11 รัฐ เก้ารัฐเป็นรัฐมาลายา อีกสองรัฐเป็น British Straits Settlements คือปีนังและมะละกา แต่ไม่รวมสิงคโปร์
1
จนถึงปี 1963 ก็กำเนิดประเทศมาเลเซีย โดยรวมสิงคโปร์ บอร์เนียวเหนือ และซาราวัคเข้าไปด้วย
1
ลีกวนยูให้สัมภาษณ์ The International Herald Tribune ในปี 2007 ว่า “ก่อนอื่น จะเข้าใจสิงคโปร์ คุณต้องเริ่มจากเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้เรื่องหนึ่งก่อน สิงคโปร์ไม่ควรจะดำรงอยู่ เราไม่มีฐาน พื้นที่ เงินทุน นี่ไม่ใช่จาไมกาหรือฟีจิ นี่เป็นเกาะเล็กนิดเดียว จุดยุทธศาสตร์ตั้งอยู่ใต้สุดของเอเชีย เชื่อมทางเดินเรือระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก...
4
“ทันใดนั้นเราต้องอยู่ของเราเอง เราต้องป้องกันตัวเอง เราต้องหาเลี้ยงชีพโดยไม่มีแผ่นดิน เราต้องสร้างกระทรวงการต่างประเทศ การปกครองฮ่องกงใต้ความคุ้มครองของอังกฤษหรือจีนเป็นเรื่องหนึ่ง การปกครองสิงคโปร์เป็นอีกเรื่องหนึ่ง คุณต้องสร้างกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ระบบควบคุมต่างๆ...
7
“ที่สำคัญกว่าคือโอกาสทางเศรษฐกิจ เราต้องสร้างความแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน นั่นคือความตกใจที่หนึ่ง เพราะเราเชื่อว่าเมื่อเชื่อมกับมาเลเซีย เราจะสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมของสิงคโปร์ เราจะมีแผ่นดิน ตลาดร่วมกัน และสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมแทนการนำเข้าเหมือนประเทศอื่นๆ แต่แล้วเราก็ต้องอยู่ด้วยตัวเอง โดยที่เพื่อนบ้านไม่เห็นใจสักนิด เราจะทำอย่างไร...
4
สิงคโปร์สมัยเก่าในภาพวาด
“เริ่มต้นคือเราไม่มีวัตถุดิบอะไรที่จะสร้างประเทศ ไม่มีปัจจัยพื้นฐาน ประชากรเหมือนกัน ภาษาเดียวกัน วัฒนธรรมเดียวกัน และชะตากรรมเดียวกัน...
“พวกเราเป็นผู้อพยพจากเมืองจีนตอนใต้ อินเดียตอนใต้ ปากีสถาน และซีลอน (ชื่อเดิมของศรีลังกา) กับหมู่เกาะก่อนที่จะถูกแบ่งแยก ดังนั้นปัญหาคือ เราสามารถรวมคนต่างๆ เหล่านี้เข้าด้วยกันอย่างไร...
“ฐานของประเทศไม่มีเลยสักอย่าง แต่จุดแข็งที่เรามีคือเราเป็นเอกราชช้า ในปี 1965 เรามีเวลายี่สิบปีศึกษาตัวอย่างของรัฐที่ล้มเหลวมาแล้ว ดังนั้นเรารู้ว่ามีอะไรที่ต้องหลีกเลี่ยง เช่น ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ความขัดแย้งทางภาษา ความขัดแย้งในศาสนา เราเห็นตัวอย่างจากซีลอน...
2
“หลังจากตอนนั้น เรารู้ว่าถ้าเรานำไอเดียโรแมนติกอะไรก็ตามมาใช้ พยายามรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่และวัฒนธรรมในอดีต เราจะฉิบหาย ดังนั้นจะไม่มีการหวนกลับไปที่ท้องถิ่นนิยม เราก้าวพ้นจากจุดที่เราทอดสมอ เราทั้งหมดถูกปล่อยเกาะที่นี่เพื่อมีชีวิตที่ดีขึ้นหรือเลวลงจากประเทศต้นกำเนิดของเรา”
5
หน้าที่ที่ไม่พร้อมทำ
ลีกวนยูบอกว่า เขาไม่เคยคาดว่าในวันที่ 9 สิงหาคม 1965 เมื่ออายุ 42 เขาต้องรับผิดชอบประเทศอิสระหนึ่งประเทศ ตอนอายุ 35 เขาเป็นเพียงผู้นำของเขตปกครองตนเอง (Self-governing State of Singapore) แต่ตอนนี้เป็นประเทศจริงๆ มันเป็นงานคนละระดับ
การสร้างประเทศจากศูนย์เป็นงานยากกว่ายากกว่ายาก
2
เขารู้ว่าโอกาสสำเร็จนั้นต่ำ เพราะสิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ สิงคโปร์มีแต่คนอย่างเดียว แต่จุดเด่นคือสิงคโปร์เป็นเมืองท่าสำคัญ
สื่อทั่วโลกพยากรณ์ความล่มสลายของประเทศอายุหนึ่งวันนี้โดยถ้วนหน้า หนังสือพิมพ์ต่างประเทศต่างๆ ล้วนคาดการณ์ว่าสิงคโปร์จะเป็นรัฐล้มเหลว หนังสือพิมพ์อังกฤษฉบับหนึ่งเขียนว่า สิงคโปร์จะล้มเหมือนกับที่าณาจักรโรมันเสื่อม เพราะความป่าเถื่อนมาแทนที่
Sydney Morning Herald ฉบับวันที่ 10 สิงหาคม 1965 เขียนว่า “สิงคโปร์ที่เป็นเอกราชไม่ถูกมองว่าจะทำได้สำเร็จเมื่อสามปีก่อน ไม่มีอะไรในสถานการณ์ล่าสุดที่บอกว่ามันจะสำเร็จในวันนี้”
London Sunday Times ฉบับวันที่ 22 สิงหาคม 1965 ลงว่า “เศรษฐกิจของสิงคโปร์จะล้มครืนถ้าฐานทัพอังกฤษต่างๆ มูลค่า 100 ล้านปอน์สเตอร์ลิงจะปิดตัว”
1
เหนื่อยใจตั้งแต่วันแรก
1
แม้แต่ประเทศมาเลเซียก็โจมตีเขาอย่างหนัก จนตำรวจประจำตัวลีกวนยูเตือนเขาให้ระวังตัว เขาต้องย้ายบ้านชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย และเพิ่มกำลังอารักขา
1
ลีกวนยูย้ายไปอยู่ที่บ้านพักของรัฐบาลริมทะเล ใกล้กองทัพอากาศ ประชุมคณะรัฐมนตรีไม่สม่ำเสมอ บางครั้งใช้โทรศัพท์เอา
ลีกวนยูต้องเริ่มที่ทำให้โลกรู้จักประเทศใหม่นี้ เขาขอให้ ราจารัตนัม (Sinnathamby Rajaratnam หรือ S. Rajaratnam) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนแรก ราจารัตนัมก็ดำรงตำแหน่งนี้ตั้งแต่วันแรกจนถึงปี 1980
2
ราจารัตนัมเป็นนักการเมือง รัฐบุรุษ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค PAP ถือว่าเป็นคนหนึ่งที่มีมีบทบาทสำคัญสร้างประเทศสิงคโปร์
1
ขั้นต่อไปคือสร้างกองทัพ มีชาวมาเลย์จำนวนหนึ่งเห็นว่าไม่ควรให้สิงคโปร์แยกตัวไป ดังนั้นมันไม่ได้รับประกันว่า วันหนึ่งมาเลเซียจะไม่ยกทัพทัพมาบุกยึดประเทศใหม่นี้
หน้าที่สร้างกองทัพตกเป็นของโกเคงซวี (Goh Keng Swee 吴庆瑞) เดิมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เขาอาสาย้ายออกจากตำแหน่งการคลังเพื่อไปดูแลกลาโหม แล้วตั้งคนใหม่คือ ลิมกิมซัน (Lim Kim San 林金山) ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทน
พวกเขาตั้งกระทรวงที่รวมมหาดไทยเข้ากับกลาโหม เรียกว่า Ministry of Interior and Defense (MID กระทรวงมหาดไทยและกลาโหม) ฝึกตำรวจเป็นทหาร ทุกวันนี้ป้ายรถของกองทัพสิงคโปร์ก็ยังมีอักษรย่อ MID
1
ขั้นที่สามคือเศรษฐกิจ เป็นงานยากเย็น เพราะเริ่มทุกอย่างใหม่ มาเลเซียไม่ต้องติดต่อค้าขายกับสิงคโปร์โดยตรง ตัวเลขคนว่างงานคือ 14 เปอร์เซ็นต์
ลีกวนยูต้องหาทางสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่ แต่จะทำอย่างไร? มันไม่ง่ายเหมือนฮ่องกงที่เป็นเกาะเหมือนกัน แต่อังกฤษยังดูแลฮ่องกงอยู่
จะอยู่รอด คนสิงคโปร์ต้องพัฒนา ทำสินค้าได้ดีกว่า ถูกกว่า
ลีกวนยูเขียนบันทึกว่า โชคดีที่ประชาชนอยู่ข้างเขา ไว้ใจเขา
1
ช่วงเริ่มต้นสร้างประเทศนั้น ลีกวนยูนอนไม่หลับ หมอสั่งจ่ายยานอนหลับ ยากล่อมประสาท แต่เขาพบว่าเบียร์และไวน์ได้ผลดีกว่าสำหรับเขา
เขานอนไม่พอเสมอๆ ครั้งหนึ่งข้าหลวงใหญ่อังกฤษมีเรื่องด่วนต้องปรึกษา ก็ต้องไปหาเขาที่บ้าน เพราะเขาไม่มีแรงลุกจากเตียง นอนซมด้วยความอ่อนเพลีย
ชะตากรรมของสิงคโปร์ไม่ได้เริ่มในวันที่ 9 สิงหาคม 1965 แต่มันอาจเริ่มเมื่อยี่สิบปีก่อนพอดี คือวันที่ 9 สิงหาคม 1945 เมื่อญี่ปุ่นถูกทิ้งระเบิดปรมาณูลูกที่สองที่นางาซากิ
ผลของคลื่นความเปลี่ยนแปลงกระทบตามเหตุและปัจจัย ลงท้ายด้วยเอกราชที่คาดไม่ถึงของประเทศใหม่ประเทศหนึ่ง
(สัปดาห์หน้า : ใต้แสงแห่งเกาะใต้ เมื่อญี่ปุ่นยึดครองสิงคโปร์)
โฆษณา