14 มี.ค. 2024 เวลา 08:06 • ท่องเที่ยว

สังฆารามสารนาถ เมืองพาราณสี รัฐอุตตรประเทศ

ในบันทึกครั้งสุดท้าย ก่อนถูกทำลายล้างอย่างย่อยยับ
“สังฆารามแห่งสารนาถ” (Sarnath Monastery) ตั้งอยู่ในบริเวณที่เคยป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (Isipatana Migadava) สถานที่บำเพ็ญพรตของเหล่ามุนีฤๅษี เขตแคว้นกาสี ในสมัยพุทธกาล ทางทิศเหนือของเมืองพาราณสี (Varanasi) รัฐอุตตรประเทศ
ชื่อนามของสารนาถมาจากคำว่า “สารงฺค+นารถ – สารังคนาถ” หมายถึงที่อยู่ของฝูงกวาง ซึ่งในวรรณกรรมทางพุทธศาสนา สังฆารามสารนาถนี้ ถือเป็น “สังเวชนียสถานแห่งการปฐมเทศนา”
.. เป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ได้เสด็จมาพบกับ ปัญญวัคคีย์ทั้ง 5 (Pañcavaggiya) ประกอบด้วย โกณฑัญญะ (Kondanna) วัปปะ (Vappa) ภัททิยะ (Bhaddiya) มหานามะ (Mahanama) และอัสสชิ (Assaji) และได้ทรงแสดงเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (Dhammacakkappavattana Sutta) จนโกณฑัญญะได้บรรลุธรรม ขอบวชเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก
สังฆารามสารนาถ .. ถูกทำลายอย่างย่อยยับในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 โดยแม่ทัพอิสลามเตอร์ก นามว่า “กุดบัดดิน ไอบัค (Qutb al-Din Aibak –kutbuddin Aybeg)
เขานำกองทัพจำนวนกว่า 120,000 คน ของ สุลต่านแห่งราชวงศ์คูริด (Ghurid Dynasty) พระนามว่า “โมฮัมหมัด โฆรี-ฆอร์” (Mu'izz ad-Din Muhammad Ghori) เข้ายึดครองและทำลายบ้านเมืองในอินเดียเหนือไปจรดแค้วนพิหาร ได้เผาทำลายวัดวาอารามในพุทธศาสนาและเทวาลัยพราหมณ์ฮินดู เข่นฆ่าผู้คน และพระภิกษุสามเณรล้มตายหลายหมื่นรูป
ในปี 1834 จึงได้มีการขุดค้นซากปรักหักพังของสังฆารามสารนาถที่ถูกทิ้งร้างเป็นป่ารกชัฏโดย “เซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม” ซึ่งก็ได้มีการรื้ออิฐและแผ่นหินสลักจำนวนมากไปสร้างอาคารในยุคอาณานิคม เขื่อนใหญ่กั้นตลิ่งริมแม่น้ำกว่า 40 จุด เขื่อนและสะพานข้ามแม่น้ำวรุณา (Varuna) และสถานีรถไฟที่พาราณสี .. ทั้งยังขนย้ายรูปประติมากรรมที่ยังมีสภาพสวยงามไปตามพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ
.. จนในที่สุด “ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ” (Anagarika Dhammapala) ผู้ศรัทธาพุทธศาสนาชาวลังกาได้ใช้ความพยายาม ฝ่าฟันอุปสรรคมากมายเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนา และนำสังฆารามสารนาถ (รวมทั้งสังเวชนียสถานอีกหลายแห่ง) ที่ได้กลายเป็นป่ารกและสถานที่เลี้ยงสัตว์ของเศรษฐีชาวฮินดูภายหลังการขุดค้นของอังกฤษ กลับคืนมาได้สำเร็จในช่วงปี 1901
ถึงเรื่องราวของสังฆารามสารนาถจะแทบไม่ปรากฏบันทึกใด ๆ หลงเหลืออยู่ในอินเดียอย่างชัดเจน แต่ยังเป็นโชคดีที่ “หลวงจีนฟาเหียน” พระถังซำจั้งและสมณะอี้จิง ได้เคยเดินทางมาที่เมืองพาราณสีและได้บันทึกเรื่องราวอดีตแห่งความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาเอาไว้ ซึ่งก็อาจถือได้ว่าเป็นบันทึกช่วงสุดท้ายก่อนที่พุทธศาสนาในอินเดียเหนือจะถูกทำลายล้างอย่างย่อยยับ
“หลวงจีนฟาเหี้ยน” (Faxian ,Fa-Hien) เกิดในยุคราชวงศ์จิ้นตะวันออก ได้เดินทางไปสืบพระศาสนา เมื่อปี พ.ศ. 942 ได้จาริกผ่านทะเลทรายโกบีและภูเขาน้ำแข็งในเอเชียกลางเข้าสู่ “แคว้นคันธาระ” ในยุคของพระเจ้าจันทรคุปตะที่ 2 วิกรมาทิตย์ (Chandragupta II Vikramaditya) แห่งราชวงศ์คุปตะ เมืองสังกัสสะ กันยากพย์ (กาโนช) สาเกต สาวัตถี กบิลพัสดุ เวสาลี ปาตลีบุตร นาลันทา ราชคฤห์ คยา พาราณสี โกสัมพี …
.. ท่านศึกษาคัดลอกพระธรรมอยู่ในอินเดียนาน 10 ปี แล้วได้นำคัมภีร์พระไตรปิฎกเดินทางกลับเมืองจีนโดยทางเรือ เผชิญคลื่นลมนานเกือบ 7 เดือน กลับถึงประเทศจีน ในปี พ.ศ. 957 รวมเวลา 15 ปี
ท่านได้เดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถานทั้ง 4 โดยในช่วงปี พ.ศ. 945 ได้มาที่สังฆารามสารนาถ เมืองพาราณสี และได้เดินทางย้อนกลับไปยังเมืองปาตลีบุตร (Patliputra ปาฏลีบุตร, ปัตนะ) ในปีเดียวกัน จึงได้เห็นซากของพระราชวังของพระเจ้าอโศกมหาราชาที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีต จนรู้สึกปลงสังเวช
ต่อมาอีกราว 230 ปี ในช่วงราชวงศ์ถัง .. พระตรีปิฎกธราจารย์เฮี้ยนจั๋ง-ฮวนซัง (Hsuan tsang) ซานจั๋ง (Sānzàng) เสวียนจั้ง หรือ “พระถังซัมจั๋ง” ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากท่านฟาเหี้ยน ได้ออกเดินทางมายังอินเดียในปี พ.ศ. 1170 ในยุคของพระเจ้าหรรษวรรธนะ (Harha Vardhana) หลังสมัยคุปตะ
.. ผ่านคว้นแคชเมียร์ (กัษมีร์) ปัญจาบ อินเดียเหนือ เมืองมถุรา เยี่ยมสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่กบิลพัสดุ์ ลุมพินี สาวัตถี กุสินารา ในช่วงปี พ.ศ. 1178 อยู่ที่พาราณสี พุทธคยา ปาฏลีบุตร (ปัตนะ) ราชคฤห์ และเข้าศึกษาพระธรรมในมหาวิทยาลัยนาลันทา หลังจากนั้น จึงได้เดินทางลงไปเยือนแคว้นคุชราต แคว้นคันธาราฐ แล้วจึงเดินทางกลับมาศึกษาพระธรรมที่มหาวิทยาลัยนาลันทาอีกครั้งหนึ่ง ได้เดินทางกลับมาถึงฉางอานในปีพ.ศ. 1188 รวมระยะเวลาเดินทาง 17 ปี
“หลวงจีนอี้จิง” (I-Ching ,I-Tsing ,Itsing) เป็นพระจีนอีกรูปหนึ่งที่ได้ใช้เส้นทางเดินเรืออ้อมคาบสมุทรมาลายูมายังอินเดีย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1214 และเดินทางกลับ 1238 รวมระยะเวลา 25 ปี ก็ได้เคยเดินทางไปสักการะสังเวชนียสถานที่สังฆารามสารนาถ ซึ่งในเวลานั้นอยู่ในการปกครองของราชวงศ์คุชราต-ประติหาระ (Gurjara-Pratihara dynasty) ที่สนับสนุนศาสนาพราหมณ์ฮินดูและเชน
พุทธศาสนาในอินเดียเหนือช่วงเวลานั้นแทบหมดสิ้นไปแล้ว แต่ยังคงรุ่งเรืองอยู่ที่มหาลัยนาลันทา ในแคว้นพิหาร ที่หลวงจีนอี้จิงได้ไปศึกษาอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 1223-1233 เท่านั้น
*** บันทึกของหลวงจีนฟาเหี้ยน ได้เล่าถึงสังฆารามสารนาถ ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 10 ไว้ว่า “คณะของเราออกเดินทางไปทางตะวันออกเฉียงเหนือของแม่น้ำวรุณาประมาณ 10 ลี้ ได้มาถึงสังฆารามสารนาถ (อารามมฤคทายวัน) อันใหญ่กว้าง
.. บริเวณฆาราวาสแย่งออกเป็น 8 ส่วน มีกำแพงล้อมอยู่โดยรอบแยกเป็นสัดส่วนจากพระภิกษุสงฆ์ แต่ละส่วนทำเป็นชั้นต่อกันขึ้นไปยื่นออกไปด้วยระเบียงทางเดินยาว นายช่างผู้ออกแบบได้แสดงฝีมือการก่อสร้างที่หาเปรียบไม่ได้ ขณะไปถึง มีพระภิกษุสงฆ์อาศัยอยู่ในบริเวณสังฆารามแห่งนี้ประมาณ 1,500 รูป เป็นสงฆ์ในนิกายสางมิตียะอันเป็นสาขาหนึ่งแห่งนิกายหินยาน
… ภายในวงล้อมของกำแพงสังฆาราม มีวิหารใหญ่เป็นศูนย์กลางสูงประมาณ 200 ฟุต หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีทอง มองดูรูปกระเบื้องเหมือนผลมะม่วง
รากฐานของวิหารเรียงหินเป็นชั้น ๆ ส่วนบนเป็นผนังสูงทำเป็นช่อง ๆ ก่อด้วยอิฐอย่างดี ภายในช่องแต่ละช่องที่มีอยู่ 4 ด้าน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ
ในท่ามกลางวิหารยังมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ทำด้วยทองสำริดเนื้อดีประดิษฐานอยู่ ขนาดของพระพุทธรูปขนาดเท่าองค์จริงของพระพุทธองค์ อยู่ในอิริยาบถแสดงเทศนาพระธรรมจักร
.. ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ มีวิหารแห่งหนึ่งและมีเสาศิลาของราชาอโศก แม้ว่ารูปรอยรากฐานเดิมจะพังทลายไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว แต่เท่าที่เหลือยู่ตัววิหารยังมีซากกำแพงตั้งอยู่สูงประมาณ 100 ฟุต เป็นที่พระตถาคตเจ้าผู้ได้ตรัสรู้อริยสัจธรรม ประกาศปฐมเทศนา หมุนวงล้อแห่งพระธรรมเป็นครั้งแรก
ตรงหน้าวิหารมีเสาหินจารึกของพระเจ้าอโศก สูงประมาณ 70 ฟุต เสาหินเป็นมันเลื่อมเรียบ มีรัศมีงามจับตา ประกายที่ออกมาจากแผ่นหิน เหมือนกับทบกับแสงพระอาทิตย์ ได้เห็นผู้คนเดินทางมากราบไหว้กันไม่ขาด
.. บริเวณใกล้กับวิหารนั้น มีสถูปศิลาองค์ใหญ่ เป็นที่สาวกของพระพุทธเจ้าทั้ง 5 ได้เห็นพระสมณโคตมละทิ้งการบำเพ็ญแบบทุกขกิริยาหันมาประกอบความเพียรตามแบบมัชฌิมาปฏิปทาจึงไม่ยอมนับถือ แล้วก็พากันมาอยู่ที่นี่
.. ข้างสถูปนี้ ยังมีสถูปอีกองค์หนึ่งไม่ห่างไกลกันนัก เป็นที่ซึ่งพระเมตไตรยะอนาคตพุทธเจ้าได้ทรงรับพยากรณ์ว่าจะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า จากที่ครั้งพระตถาคตประทับอยู่ที่ยอดเขาคิชกูฏ ในกรุงราชคฤห์ มีพุทธดำรัสกับเหล่าพระภิกษุสงฆ์ในขณะนั้นว่า ..
“ดูก่อนพระภิกษุทั้งหลาย ในแผ่นดินชมพูทวีปนี้ จักเป็นสถานที่ที่มีสันติสุข ควรแก่ความสงบแห่งจิตใจ ชีวิตมนุษย์จะยืนยาวไปถึง 80,000 ปี สมัยนั้นจะมีพราหมณ์นามว่า “ไมเตรยะ” มีร่างกายที่สะอาดดุจทองคำบริสุทธิ์ เขาจะละความสุขจากครอบครัวของตน ออกแสวงหาพระธรรม จนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เทศนาสั่งสอนเพื่อประโยชน์และความสุขของมวลมนุษย์ทั้งปวง
ออกไปทางตะวันตกของวิหาร มีสถูปอีกองค์หนึ่งที่เล่ากันมาว่าเป็นที่พระศากยมุนีทรงรับคำพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าในอดีต ว่าจะได้บรรลุสัมมาโพธิญาณ ห่างไปทางใต้ไม่มากนัก ก็เป็นสถานที่จงกรมของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ที่ได้ปรินิพพานไปแล้ว
.. ภายในบริเวณสังฆาราม มีซากวิหารและสถูปใหญ่น้อยปรากฏอยู่ทุกที่ แสดงความศรัทธาของผู้คนที่ได้สร้างสิ่งก่อสร้างสืบทอดต่อกันมาจนสลับซับซ้อน ไปทางตะวันตกของสังฆารามจะเป็นซากสระน้ำใหญ่ เชื่อว่าสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ได้เคยเสด็จมาสระน้ำที่สระแห่งนี้ ไปทางตะวันตกของสระน้ำ ยังมีซากถังใหญ่อีกใบหนึ่ง วัดดูโดยรอบประมาณ 180 ก้าว เชื่อว่าเป็นที่ล้างบาตรของพระพุทธเจ้าในครั้งพุทธกาลด้วย
ไปทางเหนือของสังฆาราม มีซากสระน้ำใหญ่ วัดโดยรอบประมาณ 150 ก้าว เป็นวงกลม เชื่อว่าพระพุทธองค์คงได้เคยชำระล้างผ้าไตรจีวรที่สระแห่งนี้ น้ำลึกใสสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีขึ้นลง คงระดับอยู่เป็นปกติภายในสระมีพญานาคอาศัยอยู่ ถ้าคนไม่ประพฤติธรรมใจหยาบช้าลามก ลงมาอาบน้ำในสระนี้ ก็จะถูกจระเข้กัดกินจนตาย ถ้าเป็นคนดีรักษาศีลธรรมอุโบสถ สามารถมาใช้สระน้ำนี้อาบกินได้ ไม่มีอันตรายต่อ
บริเวณใกล้กับขอบสระ มีแผ่นหินปูเป็นลานกว้างอยู่แห่งหนึ่ง เชื่อว่าเป็นที่พระพุทธองค์เสด็จมาชำระอัฐบริขารที่ตรงนี้ ข้างสระน้ำด้านหนึ่งไม่ไกลจากพระสถูป กำหนดว่าในครั้งหนึ่ง เป็นสถานที่ที่พระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นพญาช้างฉัททันต์ มี 6 งา เป็นจอมแห่งช้างทั้งหลายในป่าใหญ่
ออกจากสถานที่แห่งนี้แล้วไปทางใต้ของสังฆาราม มีสถูปอีกองค์หนึ่งสูงประมาณ 300 ฟุต สลักด้วยหินมีลวดลายงดงาม มีช่องโดยรอบเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำในแต่ละช่อง เชื่อว่าเป็นที่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ปฏิเสธไม่ยอมรับพระพุทธเจ้า คราวเสด็จมาจากพุทธคยาภายหลังจากการตรัสรู้
*** พระตรีปิฎกธราจารย์เฮี้ยนจั๋ง-ฮวนซัง บันทึกไว้ว่า “...แคว้นพาราณสี มีเนื้อที่อาณาเขต 4,0000 ลี้ โดยประมาณ ด้านทิศตะวันตกของเมืองหลวงจดแม่น้ำคงคา นครนี้มีความยาว 19 ลี้ กว้าง 16 ลี้ มีกำแพงล้อมรอบมั่นคง ถนนหนทางและบ้านเรือนตั้งติดต่อกันยาวเป็นพืด
.. ประชาชนมีชาติตระกูล ร่ำรวยมั่งคั่ง ในเรือนมีทรัพย์มหาศาล มีเพชรนิลจินดามากมาย ชาวเมืองนี้มีนิสัยสุภาพเรียบร้อย อ่อนหวาน โอบอ้อมอารี มีความเป็นธรรม ขยันหมั่นเพียรในการศึกษา และทำมาหากิน ใฝ่ใจ ศึกษาศิลปวิทยา ประเพณี แต่ชาวนครนี้ก็นับถือศาสนาอื่น ที่นับถือพระพุทธเจ้ามีจำนวนน้อย
ดินฟ้าอากาศของเมืองพาราณสีนั้นดีมาก เพราะตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเพาะปลูก จะเพาะปลูกพืชเล็กใหญ่ชนิดใดก็งอกงามอุดมสมบูรณ์ ผลหมากรากไม้หลากพันธุ์หลากชนิด ต้นหญ้าขึ้นเขียวชอุ่ม โอนลู่ตามลม มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ทุกหนแห่ง
จากแม่น้ำคงคาเมืองพาราณสี ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 10 ลี้ ถึงอารามมฤคทายวัน ภายในอาราม มีภิกษุจำพรรษา 1,500 รูป
พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนศึกษาอยู่ในนิกายสางมิตียะ ฝ่ายหินยานทั้งสิ้น ภายในกำแพงมีวิหารสูง 200 เฉี่ยะ ยอดวิหารเป็นรูปอมระ (มะขามป้อม) ทำจากทองคำ ฐานบันไดเป็นศิลา มีช่องเก็บพระพุทธรูป นอกนั้นมีเทวาลัยของศาสนาพราหมณ์อยู่หลายร้อยแห่ง มีนิกายที่นับถือกันอยู่เป็นจำนวนหมื่น
พระเจ้าผู้เป็นใหญ่ของนิกายเหล่านี้คือพระมเหศวร นักบวชพราหมณ์บางนิกายโกนผมออกหมด บางนิกายขมวดผมมุ่นเป็นจุก นักพรตบางนิกายเดินแก้ผ้า ไม่มีเครื่องครอง ออกเที่ยวไปตามถนนหนทางในสถานที่ต่าง ๆ ด้วยวิธีทรมานตนของพราหมณ์ เพื่อหวังจะหลุดพ้นจากโลกอันวนเวียนด้วยความเกิดและความตาย
เล่ากันว่า พระโพธิสัตว์เคยเสวยพระชาติเป็นพญากวาง ตามเรื่อง “นิโครธมิคชาดก” (Nigrodhamiga-Jātaka) ที่ป่ากวางมฤคทายวันแห่งนี้ด้วย
บริเวณเมืองหลวงยังมีเทวาลัยใหญ่ ๆ อยู่ประมาณ 20 แห่ง แต่ละแห่งมีสิ่งแกะสลักสวยงาม มีเทวรูปแบบแปลก ๆ หาดูไม่ได้ในที่ใด
เทวาลัยเหล่านี้มีหมู่ไม้ใหญ่ขึ้นข้าง ๆ มีร่มเงาอยู่โดยรอบแต่ละแห่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำมีกระแสสะอาดไหลผ่าน เงาหมู่ไม้ทอดลงจับกระแสน้ำดูงดงามจับตา ภายในเทวาลัยมีพระมเหศวรผู้เป็นใหญ่กว่าเทพองค์ใด งามด้วยทองสำริด มีขนาดสูงประมาณ 100 ฟุต มองดูเหมือนกับภาพของผู้มีชีวิต
ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของวิหารมีสถูปศิลาองค์หนึ่ง ที่พระเจ้าอโศกทรงสร้างไว้ ฐานสถูปแม้จะชำรุดทรุดโทรมแล้ว องค์สถูปยังคงสูงกว่า 100 เฉียะ
ข้างหน้าสถูปมีเสาหินสูงประมาณ 70 เฉียะ เนื้อศิลาเรียบลื่นเป็นเงางามเหมือนกระจกเงา แลเห็นเป็นประกายคล้ายว่าจะมีรูปเงาของพระพระพุทธองค์ออกมา
จากอารามมฤคทายวัน ไปทางทิศตะวันตก 3 - 4 ลี้ มีสถูปองค์หนึ่งสูงกว่า 300 เฉียะ ฐานเจดีย์สูงใหญ่ ประดับด้วยอัญมณีมีค่า
ตัวสถูปไม่มีช่องประดิษฐานพระพุทธรูป จะมีก็แต่ส่วนที่มีลักษณะคล้ายรูปบาตรควํ่า แม้จะมียอดเจดีย์ แต่ไม่มีฉัตรและกระดิ่ง
ข้างสถูปเป็นที่ที่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ซึ่งมีอัญญาโกณฑัญญะเป็นต้น ละลืมกติกาสัญญาที่ตนเองกำหนดขึ้น ถวายการต้อนรับพระพุทธเจ้า...”
*** สำหรับ หลวงจีนอี้จิงที่ได้เดินทางมายังสังฆารามสารนาถ บันทึกว่า “..ในสมัยก่อน กษัตริย์แห่งคุปตะเคยสร้างวิหารใหญ่ พระสถูปและอาคารมากมาย ทั้งยังยกหมู่บ้าน 24 แห่งให้เป็นข้าดูแลสังฆารามแห่งนี้ แต่บัดนี้คงไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว...”
REF : Ejeab Academy
โฆษณา