14 มี.ค. เวลา 10:45 • การเกษตร

การปลูก “เมล่อน” เป็นเกษตรประณีต

ก่อนอื่นต้องสร้างความเข้าใจกันก่อนว่า “เมล่อน” กับ “แคนตาลูป” เป็นพืชในตระกูลแตง (ราชินีแห่งพืชตระกูลแตง) สีเนื้อมีลักษณะคล้ายกัน รวมถึงรสชาติด้วย คือ กรอบ หอม หวาน และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น วิตามินเอ และวิตามินซีสูง จึงเป็นแตงที่นิยมบริโภคกันมากไม่แพ้แตงโม ที่สำคัญเนื้อของเมล่อนและแคนตาลูปจะมีสีเขียวหรือเขียวขาว และสีส้ม โดยทั่วไปสามารถแบ่งออกได้หลายชนิดเช่น แคนตาลูป (Cantaloupe) เมล่อนตาข่าย (Net Melon) และเมล่อนผิวเรียบ (Honeydew) เป็นต้น
เมล่อน-แคนตาลูป มีถิ่นกำเนิดในต่างประเทศ แถบทวีปแอฟริกา เจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อนแห้ง แสงแดดจัด เริ่มทดลองปลูกสำเร็จในไทยเมื่อปี 2497 (70 ปี) ที่เกษตรกลางบางเขน ปัจจุบันมีการผลิตออกมาหลายสายพันธุ์ และด้วยประเทศไทยมีสภาพอากาศร้อนจึงเป็นแหล่งผลิตเมล่อนและแคนตาลูปคุณภาพอีกแห่งหนึ่ง
สายพันธุ์ปริ้นเซส (เนื้อเขียว)
การปลูกสามารถปลูกได้ทั้งสองแบบ คือ ในโรงเรือน และนอกโรงเรือน แต่การปลูกที่ค่อนข้างลงทุนเยอะจะเป็นการปลูกในแบบโรงเรือน และผลลัพธ์จะดีกว่าแถมราคายังสูงกว่าอีกด้วย จึงเป็นที่มาของคำพูดที่ว่า “เป็นเกษตรประณีต ไม่แปลกที่ราคาจะค่อนข้างสูง”
พูดคุยกับ คุณณรากร สาริบุตร คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม ถึงการปลูกเมล่อนในโรงเรือนที่ให้ผลผลิตดีเกินคาด โดยคุณณรากร บอกว่า ปีที่ผ่านมาคณะเกษตรและเทคโนโลยี ได้ทดลองการปลูกเมล่อนปรากฏว่าเสียงตอบรับดีมาก สินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการคนในพื้นที่ ปีนี้จึงได้ปลูกและดูแลแบบจริงจัง โดยใช้โรงเรือนปิดเป็นพื้นที่เพาะปลูก
คุณณรากร สาริบุตร คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม
สายพันธุ์ที่เพาะปลูกมี 3 สายพันธุ์ เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าได้ลิ้มลองรสชาติของแต่ละสายพันธุ์ เช่น กนกกาญจน์ (เนื้อสีส้ม) แค็ท 697 (เนื้อสีส้ม) และปริ้นเซส (เนื้อสีเขียว) เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ และให้ผลผลิตที่มีคุณภาพโดยเฉพาะขนาดและความหวาน ส่วนระยะเวลาการให้ผลผลิตมีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละสายพันธุ์ คือ 64 วัน 75 วัน และ 80 วัน
“เมล่อนเป็นพืชที่ให้ผลผลิตได้ดีในช่วงอากาศร้อน ตลาดเมล่อนในภาคอีสานถือว่ายังไปได้ดี การปลูกเมล่อนถือเป็นเกษตรประณีต ขั้นตอน การดูแล การปฏิบัติ มันค่อนข้างละเอียดอ่อน จึงไม่แปลกที่ราคาจะค่อนข้างสูงตามไปด้วย ปีนี้เราเพาะปลูก 3 สายพันธุ์ เพราะเป็นสายพันธุ์ที่มีอยู่ในตลาดทั่วไป สามารถซื้อเมล็ดพันธุ์ได้ง่าย ถ้าเป็นสายพันธุ์อื่นหรือสายพันธุ์ที่หาซื้อเมล็ดยากมันก็จะไม่สะดวกสำหรับเรา
การที่เราเลือกปลูกในโรงเรือนปิด คือ จะได้ผลผลิตเต็มประสิทธิภาพกว่าการปลูกในกลางแจ้ง เพราะเราไม่สามารถควบคุมศัตรูพืชอย่างแมลงต่าง ๆ ได้ รวมถึงการควบคุมแร่ธาตุอาหารที่จะส่งผลในเรื่องของรสชาติ”
สายพันธุ์กนกกาญจน์ (เนื้อส้ม)
คุณณรากร ยังบอกอีกว่า การปลูกในโรงเรือนปิดเป็นการดูแลที่ได้ประสิทธิภาพค่อนข้างสูง ซึ่งผลผลิตจะให้น้ำหนักอยู่ที่ 1.5-1.8 กิโลกรัมต่อ 1 ลูก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่นำมาเพาะปลูก แต่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทั่วไป ส่วนเรื่องรสชาติระดับความหวานจะอยู่ที่ประมาณ 13-15 องศาบริกซ์ ซึ่งเป็นระดับความหวานที่เหมาะสมของคนในพื้นที่ ส่วนราคาเริ่มต้นตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท ส่วนใครที่อยากสอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม สอบถามได้กับ คุณณรากร สาริบุตร คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม โทร 081-047-3890
สายพันธุ์แค็ท 697 (เนื้อส้ม)
ซึ่งวันนี้ขอนำข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์มาให้อ่านกัน เผื่อใครบางคนจะปิ้งไอเดียทดลองปลูกเมล่อน-แคนตาลูป ไว้ลองทานที่บ้าน หรือทำเป็นอาชีพหลักในอนาคต
โฆษณา