16 มี.ค. เวลา 10:45 • ไลฟ์สไตล์

ชวนรู้จัก “กระจูด” ภูมิปัญญาชาวบ้านสู่การต่อยอดเป็นสินค้าระดับสากล

กระจูด วัชพืชที่หลายคนอาจยังไม่คุ้นหู แต่กระจูดถือเป็นภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษที่นำมาต่อยอดจนสร้างชื่อให้สินค้าไทยได้ไปไกลถึงระดับสากล
“กระจูด” ชื่อที่ใครหลายคนอาจจะยังไม่คุ้นหู แต่รู้หรือไม่ว่ากระจูดได้ถูกนำมาถักทอเกิดเป็นข้าวของเครื่องใช้ที่เราล้วนคุ้นชื่อกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋า ตะกร้าใส่ของ เสื่อ รวมไปถึงเบาะรองนั่ง และกระจูดถือเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาด้านศิลปหัตถกรรมที่มีมาอย่างยาวนานและการสานกระจูดยังสะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านจนนำมาสู่การต่อยอดสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนอย่างมหาศาล วันนี้ทางทีมข่าวพีพีทีวี จึงหยิบยกเกร็ดความรู้ของกระจูดมาให้รู้จักวัชพืชชนิดนี้มากขึ้นกัน
ต้นกระจูด
ชวนรู้จัก “กระจูด”
กระจูด หรือเรียกว่า “จูด” (ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Lepironia articalata) มีลักษณะลำต้นกลม สีเขียวอ่อน สูงได้ประมาณ 1-2 เมตร ถือเป็นพันธุ์ไม้จำพวก “กก” มีถิ่นกำเนิด มาจากทางเกาะมาดากัสการ์ มอริเซียส ลังกา สุมาตรา แหลมมลายู หมู่เกาะต่าง ๆ ในแหลมมลายู แหลมอินโดจีน ริมฝั่งทะเล ฮ่องกง บอร์เนียว ตลอดถึงทวีปออสเตรเลีย ริมฝั่งตะวันออก
กระจูด พบมาในไทยแถวภาคตะวันออกและภาคใต้ โดยต้นกระจูดจะเจริญเติบโตได้ดีในแหล่งที่เรียกว่าโพระ หรือ ป่าพรุ ซึ่งเป็นป่าดิบชื้น มีพื้นที่ลุ่มน้ำขัง เกิดจากแอ่งน้ำจืดที่ขังตัวติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะบริเวณริมทะเลสาปที่เป็นดินโคลน หากจะนำกระจูดมาใช้งาน ต้องเพาะปลูกกระจูดให้เจริญเติบโตเป็นเวลา 3 ปีขึ้นไป และควรมีลำต้นยาวไม่ต่ำ 1 เมตร
ถึงจะเริ่มเก็บเกี่ยวไปใช้งานได้ โดยต้นกระจูดแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ จูดใหญ่ และจูดหนู ซึ่งคนจะนิยมใช้จูดใหญ่ในการนำมาทำสินค้าต่าง ๆ มากกว่า เพราะจูดหนูมีลำต้นเล็ก สั้น และมีความเหนียวน้อยกว่าจูดใหญ่
กระจูดเมื่อแรกเริ่มใช้ประโยชน์
ในสมัยก่อน “กระจูด” มีการเก็บเกี่ยวเพื่อนำไปส่งออกในรูปแบบของวัตถุดิบเท่านั้น ต่อมาชาวภาคใต้ได้พัฒนาริเริ่มนำกระจูดมาสานทอเป็นสิ่งต่าง ๆ เช่น ทำเชือกผูกสินค้า ทำใบเรือ ทำเสื่อ และทำกระสอบบรรจุสินค้าต่าง ๆ เป็นต้น
สำหรับการนำกระจูดไปสานเพื่อทำเป็นเสื่อ จะมีวิธีแตกต่างจากการทำเสื่อทั่วไปเพราะจะต้องนำต้นกระจูดมาคลุกกับดินขาวเสียก่อน แล้วจึงนำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำต้นกระจูดมาทุบให้แบนเพื่อให้เกิดความนิ่มตัว ก่อนจะเอาไปสาน หากอยากให้เสื่อมีสีสันด้วยก็ต้องนำมาย้อมสีก่อนแล้วจึงค่อยนำไปสาน
โดยเสื่อที่ทำมาจากกระจูด จะเรียกกันว่า “เสื่อกระจูด” หรือ “สาดจูด ซึ่งในสมัยก่อนจะสานเสื่อกันด้วยลวดลายมาตรฐานอย่าง ลายขัดสอง หรือลายขัดสาม และต่อมาชาวบ้านในชุมชนมีการพัฒนาฝีมือเริ่มคิดค้นสร้างสรรค์เป็นลวดลายใหม่ ๆ ทำให้สามารถสานเสื่อกระจูดเป็นลายอื่น ๆ ได้มากขึ้น นอกจากจะได้ความสวยงามแล้ว ยังได้ความคงทนและเพิ่มความแข็งแรงให้กับเสื่อกระจูดที่ได้สานไปอีกด้วย
การสานกระจูด
กระจูดสะท้อนชีวิตและภูมิปัญญาชาวบ้าน
แรกเริ่มเดิมที บรรพบุรุษมีการสอนลูกหลานให้สานกระจูดไว้เพื่อเป็นสิ่งของใช้งานภายในครัวเรือนของตนเองเท่านั้น โดยเริ่มมาจากการที่ครอบครัวอาศัยอยู่ใกล้กับป่าพรุจึงเห็นต้นกระจูดเจริญเติบโตขึ้นเป็นจำนวนมาก และด้วยวิถีชาวบ้านสมัยนั้นที่นิยมใส่หมวกเพื่อกันแดดเวลาออกไปทำงาน และพกเสื่อเพื่อปูนั่งหรือปูนอนเวลาอยากพักผ่อน
ประกอบกับกระบวนค้นคิดของคนในสมัยก่อนที่อยากนำต้นกระจูด พืชที่เห็นกันอยู่ทุกวันมาใช้ประโยชน์ จึงเริ่มมีการเก็บเกี่ยวต้นกระจูดและคิดสร้างสรรค์นำมาสานออกมาเป็นหมวกและเสื่อเพื่อใช้งานในชีวิตประจำวัน ก่อนจะส่งมอบเป็นภูมิปัญญาให้ลูกหลานได้รู้จักการสานกระจูดต่อไป
นอกจากนั้นแล้วในสมัยก่อน ตามงานบุญต่าง ๆ ชาวบ้านนิยมใช้ “เสื่อที่สานจากกระจูด” ไว้ปูให้แขกหรือเจ้าภาพได้นั่งฟังสวดมนต์และพักผ่อน ซึ่งคุณสมบัติของเสื่อกระจูด คือ มีความเย็นสบายและด้วยอากาศร้อนในเมืองไทย ทำให้เสื่อกระจูดเป็นที่ถูกใจของแขกและคนภายนอกเป็นอย่างมาก
ภายหลังลูกหลานมีการคิดค้นสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ ๆ ของเสื่อเพื่อให้มีความสวยงาม คงทนมากขึ้นและต่อมาเสื่อกระจูดก็ได้พัฒนาให้กลายมาเป็นสินค้าของชุมชน ซึ่งนอกจากเสื่อกระจูดแล้วยังมีการต่อยอดนำต้นกระจูดมาสานให้เป็นตะกร้าและเป๋าถือเพื่อจำหน่ายอีกด้วย เรียกว่าต้นกระจูดสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว
งานศิลปหัตถกรรมจากกระจูด
ด้วยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษสู่การนำมาต่อยอดของลูกหลานในยุคปัจจุบัน ทำให้ต้นกระจูดถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นสิ่งของมากมายที่เราต่างก็คุ้นชื่อหรือเคยใช้งานกันมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น เสื่อ กระเป๋าถือ ตะกร้าใส่ของต่าง ๆ กระเป๋าใส่โน้ตบุ๊กหรือไอแพด ปลอกคุมเก้าอี้ ที่รองจาน-รองแก้ว หรือแม้กระทั่งรองเท้าแตะ และนอกจากนั้นยังมีการนำกระจูดไปผสมผสานเข้ากับวัสดุอื่น ๆ
เพื่อสานและถักทอให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างเช่น การนำกระจูดมาผสมกับหนัง แล้วผลิตออกมาให้เป็นตัวกระเป๋าหรือหูกระเป๋าที่มีลวดลายสวยงามแตกต่างจากสินค้าอื่นในท้องตลาดและยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของงานได้ดีอีกด้วย
ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ทำจากกระจูด
ในปัจจุบันถึงคนเราอาจจะไม่คุ้นหูกับคำว่ากระจูดมากนัก แต่ตัวของกระจูดนี่แหละถือเป็นอีกหนึ่งงานหัตถกรรมจากภูมิปัญหาชาวบ้านที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเมื่อนักท่องเที่ยวมาเห็นและถูกใจเลือกซื้อกลับไปก็สามารถพับหรือม้วนตัวสินค้ากระจูดเก็บใส่ไว้ในกระเป๋าเดินทางได้อย่างง่ายดาย เพราะตัวของกระจูดมีคุณสมบัติที่ยืดหยุ่น
เมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้วนำสินค้าที่ผลิตจากกระจูดออกมาจากกระเป๋าเดินทาง ตัวสินค้าก็จะกลับคืนเป็นรูปทรงสวยงามดังเดิมเหมือนกับตอนซื้อมา ทำให้ผู้ซื้อไม่ต้องกังวลว่าหากซื้อกลับไปแล้วโดนเสื้อผ้าหรือสิ่งของภายในกระเป๋าเดินทางทับจะทำให้ตัวสินค้าเสียหาย
นอกจากสินค้าที่ผลิตจากกระจูดจะเป็นที่ถูกอกถูกใจของนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจแล้ว กระจูดยังถือเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนในสมัยก่อน ผ่านกระบวนการคิดการสร้างสรรค์นำมาสร้างเป็นสิ่งของต่าง ๆ แล้วส่งต่อความรู้ให้ลูกหลานในยุคปัจจุบันได้พัฒนาต่อยอดออกมาเป็นสินค้าของชุมชนและยังถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ของเมืองไทยอีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : วิกิพีเดีย, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ศูนย์ส่งเสริมศิลปชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา