15 มี.ค. เวลา 15:06 • ความคิดเห็น

ต้นทุนแฝงของงานบ้าน (The hidden cost of chores)

การทำงานบ้านถือว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งในชีวิตประจำวันของใครหลายๆ คน รวมถึงตัวผู้เขียนด้วย เพราะเราทุกคนอยากจะเห็นที่อยู่อาศัยที่สะอาดเรียบร้อย บางคนทำอาทิตย์ละครั้ง หรือบางคนทำทุกวัน โดยผู้เขียนจะทำงานบ้านสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งหากจำแนกงานบ้านออกมาเป็นสัดส่วนต่อเวลาจะแบ่งได้ดังนี้
- ดูดฝุ่นและถูพื้น 180 นาที (บ้าน 3 ชั้น): คิดเป็น 75% ของเวลาทำงานบ้านทั้งหมด
- เช็ดฝุ่น 60 นาทีต่อ 3 ชั้น: คิดเป็น 25% ของเวลาทำงานบ้านทั้งหมด
จะเห็นได้ว่าถ้านำเวลาในการทำงานบ้านมารวมกัน จะอยู่ที่ 240 นาที หรือ 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เลยทีเดียว โดยการดูดฝุ่นและถูบ้านใช้เวลาไปแล้วกว่า 3 ชั่วโมงหรือ 75% ของเวลาทำงานบ้านทั้งหมด ซึ่งคิดว่าเป็นการลงทุนเวลาที่ผิดจุด
จึงเป็นเหตุให้ต้องหาตัวช่วยเพื่อที่จะมาทดแทน และเมื่อหาไปเรื่อยๆ ก็ค้นพบนวัตกรรมที่เรียกว่าหุ่นยนต์ดูดฝุ่น (Robot vacuum) ซึ่งเจ้าเครื่องนี้มันมีหน้าที่แบบ 2 in 1 คือทั้งดูดฝุ่นและถูพื้นในคราวเดียวกัน โดยเราสามารถสั่งให้เครื่องทำงานผ่านแอปพลิเคชันได้ ซึ่งถือว่าตอบโจทย์เป็นอย่างมาก
แต่เมื่อลองเข้าไปดูสินค้าใน E-commerce หลายเจ้า พบว่าราคาค่อนข้างสูง จึงลองคำนวนความคุ้มค่าในรูปตัวเงิน โดยมีตัวแปรในการคำนวนดังนี้
- ราคาเครื่อง: 9,000 บาท
- อายุการใช้งานเฉลี่ย: 156 สัปดาห์ (3ปี)
- ค่าแรงเฉลี่ยต่อชั่วโมง: 125 บาท
- ชั่วโมงทำงานบ้านต่อสัปดาห์: 3 ชั่วโมง (เฉพาะดูดฝุ่นและถูพื้น)
หากคิดราคาเครื่องจะตกอยู่ที่ 57.69 บาทต่อสัปดาห์ (ไม่รวมต้นทุนผันแปรอื่นๆ)
หนึ่งสัปดาห์ทำงานบ้าน 3 ชั่วโมง เมื่อคิดเป็นจำนวนเงินจะอยู่ที่ 375 บาทต่อสัปดาห์
ถึงเเม้จะไม่ครอบคุมเวลาในการทำงานบ้านทั้งหมด แต่จะเห็นได้ว่าเมื่อเทียบกันแล้วจะประหยัดไปถึง 317.31 บาทต่อสัปดาห์ หรือ 16,500 บาทต่อปี และที่สำคัญคือมีเวลาเพิ่มขึ้น 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ 156 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งหากคำนวนเป็นจำนวนจะอยู่ที่ 19,500 บาท และสามารถเอาเวลาส่วนนี้ไปต่อยอดพัฒนาด้านต่างๆ ได้อีกมากมาย
นับจากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านมา 1 เดือนแล้ว รู้สึกคิดถูกอย่างมากที่ตัดสินใจซื้อ Robot vacuum ในวันนั้น เพราะเวลาที่เพิ่มขึ้นมา 3 ชั่วโมงในทุกสัปดาห์ สามารถเอาไปใช้กับกิจกรรมต่างๆมากมาย เช่น เสริมความรู้และทักษะที่จำเป็น ใช้เวลากับครอบครัว หรือเขียนบทความลงแพลตฟอร์ม Blockdit เพื่อหารายได้เสริม เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากทั้งในมิติของตัวเงินและเวลา
ท้ายที่สุด เราเคยคิดกันไหมว่ามีต้นทุนแฝงอะไรอีกที่เราสามารถจัดการโดยการนำเทคโนโลยีมาทดแทน หากเราสามารถปิดช่องว่างตรงนี้ได้มากเท่าไหร่ ก็หมายความว่าเราจะมีเวลาเพิ่มขึ้นในการทำสิ่งอื่นที่เพิ่ม productivity ได้ไม่น้อย และนั่นหมายถึง productivity ภาพรวมของประเทศที่เพิ่มมากขึ้นจากการปรับช่องว่างเล็กๆตรงนี้
โฆษณา