18 มี.ค. 2024 เวลา 02:31 • ธุรกิจ

Tokopedia ธุรกิจที่โดนสบประมาท แต่วันนี้ชนะ Lazada และไล่บี้ Shopee ในอินโดนีเซีย

คนไทยคงชินกับการใช้ Shopee, Lazada และ TikTok Shop เพื่อสั่งของออนไลน์
แต่ถ้าไปถามคนอินโดนีเซีย จะได้คำตอบที่แตกต่างออกไป เพราะตามส่วนแบ่งตลาด แอปซื้อของออนไลน์ยอดนิยม 3 อันดับแรกของประเทศนี้ ได้แก่
- อันดับ 1 Shopee 36%
- อันดับ 2 Tokopedia 35%
- อันดับ 3 Lazada 10%
1
พออ่านแล้ว เราคงสะดุดชื่อแอปอันดับ 2 และเกิดคำถามว่า Tokopedia เป็นใครมาจากไหน
และมีดีอะไร ถึงกลายมาเป็นแอปยอดนิยมของคนอินโดนีเซียได้ ?
Tokopedia ถือเป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ที่ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Tokopedia มาจากคำ 2 คำ คือ “Toko” ซึ่งเป็นภาษาอินโดนีเซียที่แปลว่า ร้านค้า และ “Encyclopedia” ที่แปลว่า สารานุกรม แล้วตัดคำว่า Encyclo ออก
ซึ่งถ้าแปลตรงตัว ก็หมายถึง ร้านค้าที่ขายหนังสือ
เพราะคนก่อตั้งบริษัทนี้คือ เด็กชนบทชาวอินโดนีเซีย ที่ได้โอกาสเข้ามาเรียนหนังสือในจาการ์ตา แล้วเห็นว่า คนอินโดนีเซียยังเข้าถึงหนังสือน้อยมาก จึงเกิดไอเดียสร้างแพลตฟอร์มช่วยสั่งหนังสือผ่านระบบออนไลน์ขึ้นมา
พอเป็นแบบนี้ คุณ William Tanuwijaya และคุณ Leontinus Alpha Edison ก็ได้ก่อตั้งเว็บไซต์ Tokopedia ขึ้นมาในปี 2009 เพื่อให้คนทั่วไปสามารถซื้อหนังสือออนไลน์ได้ง่ายขึ้น
ก่อนที่จะขยายไปยังสินค้าชนิดอื่น เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ และอีกมากมาย
จุดเริ่มต้นตรงนี้ คล้ายกับเว็บไซต์ Amazon ของคุณเจฟฟ์ เบโซส ที่เริ่มต้นแพลตฟอร์มด้วยการขายหนังสือก่อน เพราะเป็นสินค้าที่คนคุ้นเคย และไม่คิดเยอะเวลาสั่งออนไลน์
จากนั้นก็ค่อย ๆ ขยายประเภทสินค้าที่ขายบนแพลตฟอร์ม ให้ครอบคลุมสารพัดสิ่ง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรก Tokopedia เริ่มต้นได้อย่างยากลำบาก โดยเฉพาะการถูกปฏิเสธจากนักลงทุน ที่สบประมาทว่าคุณ William ไม่น่าจะทำให้ธุรกิจนี้สำเร็จได้
1
ซึ่งแม้นักลงทุน จะเห็นด้วยกับโอกาสเติบโตของธุรกิจ E-commerce ในอินโดนีเซีย แต่ก็มองว่าคนพิเศษเท่านั้นที่จะสามารถทำได้ และคนคนนั้นก็ไม่ใช่คุณ William..
แต่ทั้งคู่เองก็ไม่ได้ยอมแพ้ เดินหน้าสร้างธุรกิจต่อ และอาศัยกลยุทธ์การตลาดแบบบอกต่อ เพื่อดึงให้คนเข้ามาใช้บริการ พร้อมทั้งพยายามดึงร้านค้าขนาดเล็กต่าง ๆ ให้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม
จนกระทั่งมีนิตยสารช็อปปิง เริ่มลงข่าวเกี่ยวกับ Tokopedia และปรากฏว่าผลตอบรับออกมาค่อนข้างดี
ทำให้ Tokopedia ตัดสินใจลองทุ่มงบโฆษณาในโรงภาพยนตร์ เพื่อโปรโมตแอปให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น
1
เพราะต้องบอกว่า ช่องทางออนไลน์ในสมัยนั้น ยังเข้าถึงได้เฉพาะคนบางกลุ่ม โรงภาพยนตร์จึงกลายเป็นหนึ่งในช่องทางหลัก ที่สามารถเข้าถึงคนจำนวนมากได้
และหลังจากผ่านไป 5 ปี Tokopedia ก็พิสูจน์ตัวเองได้สำเร็จ และกำลังใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนได้เงินทุนจาก SoftBank และ Sequoia Capital กว่า 3,600 ล้านบาท ก่อนที่บริษัท Alibaba ของคุณแจ็ก หม่า จะเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในปี 2017
แล้วปัจจุบัน Tokopedia ประสบความสำเร็จมากแค่ไหน ?
หากเราไปดูส่วนแบ่งการตลาด แพลตฟอร์ม E-commerce ในอินโดนีเซีย ที่วัดจากยอดขายสินค้าทั้งหมดหรือ GMV จะพบว่า
- อันดับ 1 Shopee 36%
- อันดับ 2 Tokopedia 35%
- อันดับ 3 Lazada 10%
จะเห็นได้ว่า Tokopedia สามารถเอาชนะ Lazada และไล่บี้ Shopee ได้แบบหายใจรดต้นคอเลยทีเดียว..
ซึ่งองค์ประกอบที่ทำให้ Tokopedia มาถึงจุดนี้ได้ ก็เพราะ
1) Tokopedia ไม่ได้มีแค่บริการซื้อของออนไลน์
แต่ยังมีบริการอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริการทางการเงิน ที่ให้คนอินโดนีเซีย จ่ายบิลค่าไฟ ค่าประกัน หรือการกู้ยืมได้ ซึ่งถูกออกแบบให้ตรงตามหลักปฏิบัติของคนมุสลิม ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีฟีเชอร์เปรียบเทียบดีลคุ้มค่า และซื้อคูปอง Voucher จากร้านค้าหรือร้านอาหารต่าง ๆ ได้ในแพลตฟอร์มอีกด้วย
ทำให้คนอินโดนีเซีย มีทางเลือกอื่นนอกจาก Shopee หรือ Lazada จากสินค้าและบริการอันหลากหลายบนแพลตฟอร์ม แถมบริการยังได้รับการออกแบบมาให้ถูกจริตคนท้องถิ่นอีกด้วย
2) บริการโลจิสติกส์ที่ครอบคลุม
ต้องบอกว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศแห่งหมู่เกาะ มากถึง 17,000 เกาะ ทำให้การขนส่งยากลำบากมาก ซึ่ง Tokopedia เอง ก็เข้าใจปัญหาตรงนี้เป็นอย่างดี
1
และพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ของตัวเองที่ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ในช่วงแรก จึงมีการใช้ระบบ Google Maps เข้ามาช่วยระบุตำแหน่งในการจัดส่งตามบ้าน จากนั้นจึงค่อยตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องของที่อยู่อีกครั้ง
ทำให้ Tokopedia มีระบบข้อมูลหลังบ้านที่สะสมมายาวนาน ที่สามารถนำไปต่อยอดได้ในด้านต่าง ๆ ทั้งเพื่อทำให้การจัดส่งมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และยังสร้างคลังสินค้าตามจุดต่าง ๆ ไว้ให้ร้านค้าเช่า เพื่อสามารถส่งสินค้าให้ลูกค้าได้เยอะขึ้นอีกด้วย
1
ซึ่งก็เป็นผลดีกับ Tokopedia เองเช่นกัน เพราะสามารถลดต้นทุนค่าขนส่งได้มหาศาล จากการส่งของจำนวนมากในแต่ละรอบได้
นอกจากนี้ ในปี 2021 ที่ผ่านมา Tokopedia ไปควบรวมกิจการกับ Gojek ที่มีบริการคล้ายกับ GrabBike ทำให้เกิดการ Synergy ระหว่างธุรกิจ ที่ Tokopedia สามารถส่งสินค้าถึงลูกค้าในเกาะหนึ่ง ภายในวันเดียวได้
ซึ่งแน่นอนว่า Shopee ที่เข้ามาทำตลาดในอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2015 ก็มีขนส่งของตัวเองเช่นกัน ชื่อว่า Shopee Xpress
1
แต่สิ่งหนึ่งที่ Tokopedia ได้เปรียบมากกว่า นั่นคือ การโฟกัสเพียงตลาดอินโดนีเซีย แค่ตลาดเดียว ในขณะที่ Shopee เอง ต้องดูแลตลาดมากถึง 8 ประเทศ..
3) การสร้าง Community กับร้านค้ารายย่อย
1
Tokopedia มีการสร้างคอร์สฝึกอบรมหรือ Academy มาตั้งแต่ตอนเริ่มธุรกิจ เพื่อให้ร้านค้าที่เข้าร่วม มีความเข้าใจและเชื่อใจแพลตฟอร์มมากขึ้น
แถมยังเกิดเป็น Community ที่ช่วยให้เกิดการตลาดแบบบอกต่อไปยังร้านค้ารายย่อยอื่น ๆ ให้เข้ามาขายบนแพลตฟอร์ม Tokopedia มากขึ้น
เมื่อแพลตฟอร์มสามารถดึงร้านค้าเข้ามาได้มากเท่าไร ก็จะกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้ใช้งาน หรือลูกค้าผู้ซื้อสินค้า เข้ามาตาม ๆ กันด้วย เป็น Network Effect เสริมกันนั่นเอง
ซึ่งนอกจากเรื่องนี้แล้ว Tokopedia ยังสามารถให้บริการกับร้านค้ารายย่อยต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มช่องทางหารายได้เข้าบริษัทได้อีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องบอกว่า แม้ Tokopedia เติบโตจนเป็นผู้นำในตลาดแล้ว แต่เรื่องความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ ยังคงน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะหลังจากควบรวมกับ Gojek เป็น GoTo Group
เพราะหากไปดูผลประกอบการช่วงที่ผ่านมา จะพบว่า
- ปี 2020
รายได้ 7,640 ล้านบาท ขาดทุน 38,431 ล้านบาท
- ปี 2021
รายได้ 10,414 ล้านบาท ขาดทุน 49,121 ล้านบาท
- ปี 2022
รายได้ 26,062 ล้านบาท ขาดทุน 88,577 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า GoTo บริษัทแม่ของ Tokopedia และ Gojek เองยังขาดทุนมหาศาล เพราะยังต้องอัดค่าโฆษณาและโปรโมชันจำนวนมาก เพื่อสร้างและรักษาฐานลูกค้า นั่นเอง
โดยเฉพาะผลประกอบการ ปี 2022 ซึ่งหลังเกิดการควบรวมกิจการกันแล้ว ที่แม้จะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ขาดทุนเพิ่มเป็นเท่าตัวเช่นกัน
เนื่องจากต้องแบกรับต้นทุนจาก 2 ขา ทั้งฝั่งธุรกิจ E-commerce และธุรกิจ Ride-sharing ซึ่งเป็นตลาดทะเลเลือดทั้งคู่..
2
ดังนั้น แม้ Tokopedia เองจะชนะ Lazada และไล่บี้ Shopee ได้ในตอนนี้ แต่การแข่งขันที่ดุเดือด และต้องแลกมาด้วยต้นทุนการดึงดูดลูกค้ามหาศาล
สุดท้ายแล้ว การจะเป็นผู้เหลือรอดที่แท้จริงได้ ก็คงต้องวัดกันว่า ธุรกิจไหนจะมีเงินสดมาให้เผาต่อไป มากกว่าและนานกว่ากันแทน..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
1
GoTo ได้ขายหุ้น Tokopedia ในสัดส่วน 75% ให้กับ TikTok ด้วยมูลค่าราว 54,000 ล้านบาท เมื่อปลายปีที่แล้ว หลังจากรัฐบาลอินโดนีเซีย สั่งแบน TikTok Shop
โดย GoTo ยังคงถือหุ้น Tokopedia อยู่ 25%
เท่ากับว่าตอนนี้ Tokopedia มีแหล่งเงินทุนให้ถลุงเพิ่ม จาก GoTo ที่เพิ่งได้เงินทุนจากการขายหุ้นออกไป
รวมถึง TikTok ที่มีพี่ใหญ่จากจีนอย่าง ByteDance เป็นเจ้าของอยู่..
โฆษณา