ตำแหน่งหลัก ๆ ที่ควรตรวจกำเดาด้วยการอัง

🔥การอังกำเดา คือ การใช้ฝ่ามือวางเหนืออวัยวะที่ต้องการสัมผัสไอความร้อนที่แผ่ออกมาจากอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย โดยไอความร้อนที่ออกมานั้นเป็นผลพวงมาจากการที่อวัยวะนั้นทำงานหนักจนทำให้เกิดธาตุไฟสะสมและแผ่เป็นไอกำเดาออกมา
ร่างกายมีแหล่งกำเดาความร้อนเพื่อสร้างธาตุไฟแก่ร่างกายหลัก ๆ มาจากระบบที่มีชื่อว่า พัทธปิตตะ
พัทธะปิตตะ เป็น 1 ใน 3 จากตัวคุมระบบธาตุไฟในร่างกาย ได้แก่ พัทธะปิตตะ อพัทธะปิตตะ และกำเดา โดยอวัยวะในระบบพัทธะปิตตะประกอบไปด้วยสมอง หัวใจ และตับ
ในภาวะสมดุลอวัยวะในระบบพัทธะปิตตะจะไม่มีการแผ่ไอกำเดาออกมา แต่จะรู้สีกอุ่นเมื่อสัมผัสผ่านผิว แต่จะสัมผัสไอกำเดาได้ เมื่ออวัยวะนั้น ๆ มีการทำงานหนักทำให้เกิดการสะสมของธาตุไฟและแผ่เป็นกำเดาออกมา
การที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งจะมีกำเดาหรือธาตุไฟมากกว่าปกตินั้น จะมีปัจจัยที่มากระตุ้นแตกต่างกันออกไป โดยหลัก ๆ จะมีความเกี่ยวข้องกับมูลเหตุ 8 ตามหลักสมุฏฐานวินิจฉัย โดยแต่ละอวัยวะจะมีปัจจัยมากระตุ้น ดังนี้
🧠ตำแหน่งของสมอง จะมีกำเดามาสะสมเมื่อ
1. อยู่ในบริบทที่ต้องใช้ความคิดมาก ๆ ไม่ว่าจะใช้ความคิดนั้นในการทำงานหรือคิดเกี่ยวกับเรื่องราวส่วนตัวก็ตาม
2. มีความเครียดสะสม มีความวิตกกังวล แพนิค
3. ผู้ที่นอนดึกเป็นอาจิณ ซึ่งนอนเกินเวลากาลสมุฏฐาน คือ นอนหลังสี่ทุ่มเป็นต้นไป
🫀ตำแหน่งของหัวใจ จะมีกำเดาสะสมเมื่อ
1. มีเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อสภาวะอารมณ์ เช่น อยู่ในอาการเศร้า มีความทุกข์ อกหัก โดดเดี่ยว ฯลฯ
2. อยู่ในช่วงของวัยทอง
ตำแหน่งของตับ จะมีกำเดาสะสมเมื่อ
1. การดื่มเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีแอลกอฮอล์
2. การทานอาหารที่ย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์ ข้าวเหนียว ของมัน ของทอด ฯลฯ
3. การทานอาหารเกินค่าโภชนาการ เช่น ทานอาหารที่หวานเกินไป เค็มเกินไป (น้ำตาลและโซเดียมเกินค่าโภชนาการ)
4. การใช้ร่างกายที่หนักเกินกำลัง หรือฝืนร่างกายมากเกินไปโดยไม่สมดุลต่อการพักผ่อน
5. การกระทบร้อนหรือเย็นเป็นเวลานาน ๆ ได้แก่ ยืนทำงานตากแดดตลอดวัน เป็นต้น
6. อยู่ในสภาวะที่มีความเครียดสะสม
7. นอนดึก พักผ่อนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ
8. ดื่มน้ำน้อยต่อวัน
สำหรับผู้หญิงจะมีตำแหน่งพิเศษอีก 1 ตำแหน่งที่ควรตรวจคือตำแหน่ง มดลูก เพราะมดลูกเป็นตำแหน่งที่สำคัญในการสร้างฮอร์โมนสำหรับผู้หญิง และในทางแผนไืทยมีส่วนสำคัญในการสร้างสมดุลธาตุไฟ
ตำแหน่งมดลูกจะมีกำเดาเมื่อ
1.อยู่ในช่วงมีประจำเดือน
2.มีช๊อคโกแลตซีสอยู่ในโพรงมดลูก
3.มีเนื้องอกหรือ mutation cell ในบริเวณมดลูก
เมื่อเราตรวจเจอกำเดาในตำแหน่งดังกล่าวแล้ว ควรมีการซักประวัติเพิ่มเติมเพื่อยืนยันถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดกำเดาเพื่อเป็นการ confirm จาก test ที่ได้ทำการตรวจในรูปแบบแพทย์แผนไทย
เมื่อยืนยันถึงผลของกำเดาได้ ก็จะสามารถวางแผนในการรุกำเดาและให้คำแนะนำเพื่อลดปัจจัยที่ไปกระตุ้นกำเดาได้อย่างถูกต้องและมีความสอดคล้องต่อกิจวัตรประจำวันของคนไข้ต่อไป
โฆษณา