ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลสิงคโปร์ยังวางแผนมอบเงิน 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาด้านเทคนิค (ITE) ที่มีอายุ 30 ปีหากพวกเขาลงทะเบียนในโปรแกรมอนุปริญญา และจะเติมเงินอีก 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ให้กับ Central Provident Fund หากสำเร็จการศึกษา
นอกจากนี้ยังมีเงินลงทุนมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในช่วงสี่ปีข้างหน้าใน Our SG Arts Plan ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อทำให้ศิลปะเข้าถึงได้มากขึ้นสำหรับคนสิงคโปร์ทุกคน และเติมเงิน 20 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์สำหรับกองทุน One Team Singapore
เพราะในอนาคตอันใกล้ คือยุคที่จะถูกนิยามโดย AI
เมื่อทราบดีว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะมีบทบาทมากขึ้นในการรวบรวมและใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ภาครัฐของสิงคโปร์จะให้ความสำคัญกับการรักษาระบบนิเวศดิจิทัลที่ยืดหยุ่นและโปร่งใส ด้วยการวางแนวทางล่วงหน้าในเรื่องของการส่งเสริมความไว้วางใจ และให้คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสิงคโปร์ปรึกษาหารือกับสาธารณะ เกี่ยวกับการรวบรวมและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในการพัฒนาและปรับใช้ระบบคำแนะนำและการตัดสินใจของ AI
เมื่อวางรากฐานของการใช้ข้อมูลด้วย AI แล้ว การเตรียมคนให้พร้อมคือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ AI ทำงานโดยไม่แทนที่คน และการอนุญาตให้คน “ค้นพบสิ่งที่ตนหลงใหล” ด้วยความรับผิดชอบใหม่ๆ ที่ต้องใช้ “ความสามารถเฉพาะตัวของมนุษย์” เท่านั้น
“เพื่อให้ความมั่นใจกับชาวสิงคโปร์ทุกคนว่าเมื่อเรากลายเป็นสังคมที่ใช้ AI ทุกคนจะมีโอกาสเรียนรู้และเติบโต และไม่มีใครจำเป็นต้องกลัวการถูกแทนที่” หว่อง รัฐมนตรีคลังสิงคโปร์ย้ำ
นอกจากนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า “ทุกคน” ถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกยุค AI อย่างแท้จริง รัฐบาลยังเตรียมออกมาตรการจูงใจและแนวทางสนับสนุนให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กของสิงคโปร์เร่งกระตือรือร้นในการประยุกต์ใช้ AI และเทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ มาปรับปรุงประสิทธิภาพ เพิ่มประสิทธิผลและเสริมสร้างศักยภาพยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของตนเอง
National AI Strategy จาก 1.0 สู่ 2.0
กลยุทธ์ AI แห่งชาติ หรือ National AI Strategy คือ แผนการใช้ AI อย่างลึกซึ้งเพื่อเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสิงคโปร์ ซึ่งหลังจากที่เริ่มวางพื้นฐานจำเป็นสำหรับ AI ที่แข็งแกร่งเรียบร้อยแล้ว ก็คือการต่อยอดสู่ National AI Strategy 2.0 เพื่อสนับสนุนให้ชาวสิงคโปร์มองว่า AI เป็นเพื่อนเพื่อเพิ่มผลผลิตและยกระดับชีวิต แทนที่จะเป็นศัตรูที่คุกคามการดำรงชีวิต
โดยแนวทางการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของ กลยุทธ์ AI แห่งชาติ 2.0 มี 3 ประการหลักด้วยกันคือ การขยายขอบเขตของ AI จากการเป็นโอกาสสู่ความจำเป็นในการก้าวไปข้างหน้า จากการจำกัด AI อยู่แค่ขอบเขตของประเทศไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองโลก และจากการจำกัด AI ที่อยู่แค่แนวคิดหรือโครงการเฉพาะไปสู่ระบบที่ครอบคลุมภาคส่วนต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม