19 มี.ค. 2024 เวลา 03:33 • ปรัชญา

โลกปัจจุบันดูหมือนจะตอกย้ำสิ่งที่โชเป็นฮาวเออร์กล่าวไว้ได้เป็นอย่างดี.

การใช้โซเชียลมีเดียทำให้เรามองเห็นความสุขของผู้อื่นและสิ่งที่พวกเขามีได้ง่ายและบ่อยขึ้น, ซึ่งนำไปสู่การเปรียบเทียบตัวเรากับพวกเขา, ความรู้สึกความรู้สึกบกพร่องในตัวเอง, และลงเอยที่ความรู้สึกอิจฉา.
โซเชียลมีเดียทำให้เราอิจฉาเรื่องที่คนที่มีชีวิตอยู่ในสมัยก่อนที่จะมีโซเชียลมีเดียไม่เคยอิจฉาเพราะพวกเขาไม่มีโอกาสให้รู้สึกอิจฉา.
เราจึงเหมือนอยู่ในสถานอนุบาลความอิจฉาระดับพรีเมียมที่เราสามารถพกพาไปไหนมาไหนด้วยได้ตลอดเวลา. เราพร้อมที่จะอิจฉาได้ทุกครั้งที่เราเปิดใช้แอพพลิเคชั่นเหล่านั้น.
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ช่องว่างระหว่างเรากับคนที่เราเปรียบเทียบตัวเราเองด้วยนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดความรุนแรงของความอิจฉา. โซเชียลมีเดียเปิดโอกาสให้เราเปรียบเทียบกับคนใกล้ตัวที่มีช่องว่างระหว่างกันไม่มาก. สิ่งนี้เองที่ทำให้โชเซียลมีเดียจุดเพลิงความอิจฉาได้อย่างทรงพลังยิ่ง. มันเปิดโอกาสให้เราสอดส่องความเป็นไปในชีวิตของผู้อื่นอยู่ตลอดเวลาได้อย่างง่ายดายเพียงนิ้วสัมผัส.
และเมื่อเราเห็นผู้อื่นมีชีวิตที่สุขสบายกว่า, มีประสบการณ์ชีวิตที่แปลกใหม่และน่าตื่นเต้นกว่าเรา, เราก็รู้สึกร้อนรนใจและพยายามทำสิ่งเหล่านั้นบ้างเพื่อมาโพสต์, มาบอกเล่าจะได้ไม่น้อยหน้าเพื่อนในโลกออนไลน์.
ด้วยเหตุนี้, การเลิกหรือลดปริมาณการใช้โซเชียลมีเดียช่วยลดความอิจฉาได้. นี่เป็นตรรกะที่เรียบง่ายและตรงไปตรงมา. ความแตกต่างหรือช่องว่างที่มองเห็นได้ระหว่างเรากับผู้อื่นเป็นเหตุให้เรารู้สึกบกพร่องหรือน้อยหน้า. หากเราเลิกหรือลดการใช้โซเชียลมีเดีย, เราก็มองไม่เห็นเรื่องราวในชีวิตของผู้อื่น. เมื่อไม่เห็นก็ไม่เกิดการเปรียบเทียบ. และเมื่อไม่เปรียบเทียบก็ย่อมไม่เกิดความอิจฉา.
หากพิจารณา "กายวิภาคของความอิจฉา" ต่อไป, เราจะพบ ความรู้สึกที่เกี่ยวข้องกับความอิจฉา, ซึ่งเป็นความรู้สึก ‘มุมกลับ’ ของความอิจฉา.
หากความอิจฉาเป็นความรู้สึกไม่พอใจที่เกิดขึ้นเมื่อเราได้เห็นความสำเร็จของผู้อื่นที่เราไม่ชอบหรือเห็นว่าเป็นคู่แข่งของเรา, การได้เห็นความล้มเหลวของพวกเขาอาจนำมาซึ่งความรู้สึกพึงพอใจได้.
ในภาษาเยอรมัน, มีคำศัพท์ที่หมายถึงความอิ่มเอมใจอันเนื่องมาจากการได้เห็นผู้อื่นอาภัพอับโชคหรือล้มเหลวว่า Schadenfreude, ซึ่งเกิดจากการนำคำสองคำมาสมาสกัน: กล่าวคือ, ความเสียหายและความสุข.
พวกเราหลายคนหัวเราะมีความสุขจากการชมคลิปตลกที่ตัวละครในนั้นได้รับบาดเจ็บหรือประสบอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ. ชาร์ลี แชปลินเข้าใจและหากินกับ Schadenfreude จนโด่งดังระดับอมตะ.
รายการที่กลั่นแกล้งผู้คนเพื่อเรียกเสียงหัวเราะอย่าง Candid Camera ก็สร้างความบันเทิงจนเป็นที่นิยมทั่วโลกอยู่เป็นเวลานาน. ในทำนองเดียวกัน, เราอาจรู้สึกอิ่มใจเบาๆ ที่ได้เห็นเพื่อนในโลกโซเชียลซวยเล็กๆ หรือประสบเรื่องร้ายๆ เป็นครั้งคราว.
Schadenfreude ดูเหมือนจะชั่วร้ายกว่าความรู้สึกอิจฉาจนโชเป็นฮาวเออร์ถึงกับเคยกล่าวไว้ว่า ความรู้สึกอภิรมย์ในความอาภัพอับโชคของผู้อื่นนั้นเป็นลักษณะของปีศาจ. อย่างไรก็ตาม, ความรู้สึกนี้อาจเป็นเพียงความรู้สึกสามัญธรรมดาอีกความรู้สึกหนึ่งของมนุษย์ทั่วไป, ไม่ใช่ความชั่วร้ายของภูติผีหรือปีศาจตนใด.
จิตวิทยาวิวัฒนาการ, ซึ่งเชื่อว่า ลักษณาการแห่งระบบการนึกคิดของมนุษย์ – การทำงานของสมอง - ถูกวิวัฒนาการโดยการคัดสรรทางธรรมชาติก่อร่างสร้างรูปขึ้นมาเพื่อความอยู่รอด, อธิบายความรู้สึกสุขใจจากความเดือดร้อนของผู้อื่นไว้ว่า ในอดีต, ในโลกที่ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัดและต้องมีการต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรกันอย่างต่อเนื่องเพื่อความอยู่รอด, ผู้ที่แข็งแกร่งกว่าหรืออยู่สูงกว่าในกลุ่มมักจะครอบครองทรัพยากรได้มากกว่า.
สิ่งนี้หมายความว่า เราซึ่งมีสถานะทางสังคมต่ำกว่าหรือแข็งแกร่งไม่เท่ามีโอกาสเข้าถึงและครอบครองทรัพยากรได้น้อยกว่า. ด้วยเหตุนี้เอง, ความเดือดร้อนของผู้ที่อยู่สูงกว่าอาจหมายถึงการเปิดช่องแห่งโอกาสให้เราจะได้เข้าถึงทรัพยากรต่างๆ มากขึ้น. ความสามารถในการรู้สึกสุขใจบนความทุกข์ของผู้อื่นจึงถูกการคัดสรรทางธรรมชาติคัดเลือกเอาไว้.
โดยสรุปแล้ว, บทความนี้พาท่านสำรวจธรรมชาติของทั้งความรู้สึกทุกข์ใจเพราะความสำเร็จของผู้อื่น (ความอิจฉา) และความรู้สึกอิ่มใจเพราะความล้มเหลวของผู้อื่น (Schadenfreude). การสำรวจอย่างถี่ถ้วน, และการวิเคราะห์องค์ประกอบและสาเหตุอันเป็นต้นตอของทั้งสองความรู้สึกนี้ช่วยให้เราเข้าใจสารัตถะของมันและสามารถรับมือกับมันในยามที่มันปรากฏตัวได้อย่างรู้เท่าทัน.
การวิเคราะห์เพื่อรู้เท่าทันอารมณ์อื่นๆ ก็เช่นกัน.
โฆษณา