22 มี.ค. เวลา 03:00 • ธุรกิจ

Carrian Group มหากาพย์การปั่นหุ้นโกงที่สุดในประวัติศาสตร์ ฮ่องกง

หากใครเคยดูหนังฮ่องกงเรื่อง The Goldfinger หรือชื่อภาษาไทยว่า “โคตรพยัคฆ์ชน คนมือทอง”
1
จะเห็นว่า ในหนังพูดถึงเรื่องกลโกงการปั่นหุ้นของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายหนึ่ง ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับฮ่องกง
รู้ไหมว่าจริง ๆ แล้ว หนังเรื่องนี้สร้างมาจากเรื่องจริง โดยอ้างอิงกับเหตุการณ์ของบริษัท Carrian Group
แล้วเรื่องราวของ Carrian Group เป็นอย่างไร ?
ทำไมถึงกลายเป็นการปั่นหุ้นครั้งประวัติศาสตร์
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
Carrian Group เป็นกลุ่มบริษัทที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาในปี 1977 โดยวิศวกรชาวสิงคโปร์ที่ย้ายมาทำงานที่ฮ่องกง ชื่อว่า George Tan
George Tan เริ่มเข้ามาทำงานในฮ่องกงเมื่อปี 1972 โดยทำหน้าที่เป็นวิศวกรควบคุมงานก่อสร้าง
หลังจากทำงานเป็นวิศวกรมา 5 ปี เขาก็เริ่มก่อตั้งธุรกิจเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการกำจัดสัตว์รบกวนตามสถานที่ต่าง ๆ และเริ่มก่อตั้งบริษัท Carrian Group ให้เป็นบริษัทโฮลดิง ในปีเดียวกัน
ในเวลานั้น ฮ่องกงกำลังเปลี่ยนตัวเองจากเมืองท่าสำคัญในเอเชีย ให้กลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินแห่งใหม่ของโลก
1
บริษัทมากมายจากทั่วทุกมุมโลกในเวลานั้น เริ่มสนใจเข้ามาจัดตั้งสำนักงานแห่งใหม่ในฮ่องกง ความต้องการเช่าพื้นที่ในอาคารสำนักงานเริ่มมากขึ้น
ในปี 1978 Carrian Group จึงเริ่มลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยการกว้านซื้อที่ดินในย่าน New Territories ของฮ่องกง
1
และในช่วงปลายปี 1979 เกมปั่นหุ้นของ Carrian Group ก็ได้เริ่มต้นขึ้น
2
โดย Carrian Group ตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นของบริษัท Mai Hon Enterprises ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง เป็นสัดส่วน 52% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท ที่ราคา 6 ดอลลาร์ฮ่องกง
ดีลการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ เป็นที่ฮือฮาอย่างมากในตลาดหุ้นฮ่องกงในยุคนั้น เพราะตอนนั้นราคาหุ้นของ Mai Hon Enterprises ถูกซื้อขายกันในตลาดอยู่ที่ 1.5 ดอลลาร์ฮ่องกงเท่านั้น
5
พูดง่าย ๆ ก็คือ Carrian Group ประกาศรับซื้อหุ้นในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดถึง 4 เท่า
3
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ก็ทำให้เหล่านักลงทุนรายย่อยจนถึงนักลงทุนรายใหญ่ แข่งกันกว้านซื้อหุ้นของ Mai Hon Enterprises กันอย่างบ้าคลั่ง
จนราคาหุ้นพุ่งขึ้นจาก 1.5 ดอลลาร์ฮ่องกง ไปหยุดอยู่ที่ 5.9 ดอลลาร์ฮ่องกง ภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน หรือปรับขึ้นถึง 293%
3
การที่ Carrian Group ซึ่งเป็นบริษัทนอกตลาดหุ้น เข้ามาซื้อหุ้นของบริษัทที่อยู่ในตลาด จนมีอำนาจควบคุมบริษัทแบบนี้ เป็นการทำให้ Carrian Group สามารถเข้าตลาดหุ้นได้ทางอ้อม
และเราเรียกวิธีการนี้ว่า Backdoor Listing
1
ซึ่งการเข้าตลาดหุ้น ด้วยวิธีการนี้ จะทำให้บริษัทที่มีเรื่องไม่โปร่งใส หลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบไปได้
1
หลังจากเข้าซื้อหุ้นแล้ว Carrian Group ก็เปลี่ยนชื่อบริษัท Mai Hon Enterprises ใหม่เป็น Carrian Investments Limited
2
พอผ่านไปเพียงแค่เดือนเดียว บริษัทก็ประกาศข่าวใหญ่สะเทือนวงการอสังหาฯ ของฮ่องกง
นั่นคือ การเข้าซื้อตึกอาคารสำนักงานชื่อ Gammon House จากบริษัท Hongkong Land คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 35,000 ล้านบาท
ไม่กี่เดือนต่อมาบริษัทก็ประกาศว่า มีผู้สนใจซื้อตึกนี้ต่อจากบริษัท โดยเสนอราคาซื้อขายกันอยู่ที่ 59,000 ล้านบาท เท่ากับบริษัทจะได้กำไรจากดีลนี้ประมาณ 70%
2
เมื่อมีข่าวใหญ่สะเทือนวงการแบบนี้ ก็ทำให้ราคาหุ้นของ Carrian Investments พุ่งขึ้นมาถึงจุดสูงสุดที่ 17.9 ดอลลาร์ฮ่องกง ภายใน 1 ปี
เมื่อราคาหุ้นเพิ่มมากขึ้นขนาดนี้ Carrian Investments ก็ตัดสินใจขยายกิจการครั้งใหญ่ โดยการนำหุ้นที่มีราคาสูงของบริษัท ไปแลกหุ้นกับบริษัทอื่น เพื่อครอบครองกิจการอื่นแบบไม่ต้องใช้เงินสด
3
Carrian Investments เดินหน้าซื้อกิจการมาเรื่อย ๆ จน Carrian Investments กลายเป็นบริษัทที่มีธุรกิจอยู่ในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจอสังหาฯ, ธุรกิจประกัน, ธุรกิจท่องเที่ยว ไปจนถึงธุรกิจให้เช่ารถแท็กซี่
ไม่เพียงแต่มีธุรกิจในฮ่องกงเท่านั้น Carrian Investments ยังขยายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตัวเองออกไปยังต่างประเทศด้วย เช่น ไต้หวัน, ไทย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สหรัฐอเมริกา และแคนาดา
1
แต่ยิ่งธุรกิจมีขนาดใหญ่มากขึ้น ความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินสดก็ยิ่งมีมากขึ้น
ทำให้ Carrian Investments นำหุ้นของบริษัทไปเป็นหลักประกันในการขอกู้ยืมเงินจากธนาคาร รวมถึงการออกหุ้นเพิ่มทุนด้วย
Carrian Investments กลายเป็นหุ้นขวัญใจนักลงทุนชาวฮ่องกงได้ไม่นาน ก็ถึงเวลาที่งานเลี้ยงจะต้องเลิกรา
ในปี 1982 ตลาดอสังหาฯ ในฮ่องกงเริ่มซบเซา ราคาอสังหาฯ เริ่มปรับตัวลดลง Carrian Investments ที่มีธุรกิจหลักเป็นอสังหาฯ จึงได้รับผลกระทบตามไปด้วย
1
บริษัทเริ่มออกมายอมรับว่า กำลังขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ในขณะที่เจ้าหนี้ซึ่งก็คือธนาคาร ต่างกดดันให้ Carrian Investments ขายทรัพย์สินของบริษัท เพื่อมาชดใช้หนี้
ตอนนั้นราคาหุ้นของบริษัท ร่วงจากจุดสูงสุดที่ 17.9 ดอลลาร์ฮ่องกง ลงมาเหลือ 1.1 ดอลลาร์ฮ่องกง
3
ซึ่งทำให้ความมั่งคั่งของผู้ถือหุ้นหายไปมากถึง 94% เลยทีเดียว และจากหุ้นขวัญใจของนักลงทุน ก็กลายเป็นหุ้นที่ไม่มีใครต้องการอีกแล้ว
ในปี 1983 ตลาดหุ้นฮ่องกงได้ระงับการซื้อขายหุ้นของ Carrian Investments เพื่อทำการสอบสวนบริษัท เรื่องการฉ้อโกง
ผลปรากฏว่า ข่าวการซื้อตึก Gammon House ที่ Carrian Investments เคยประกาศนั้น เป็นข่าวปลอม โดยความจริงคือไม่มีผู้ซื้อตึก ตามที่บริษัทได้กล่าวอ้างเลย
1
นอกจากนี้ยังมีการติดสินบนผู้บริหารระดับสูงของธนาคารต่าง ๆ เพื่อให้อนุมัติเงินกู้ยืมได้ง่ายขึ้น
ทำให้ในที่สุด George Tan เจ้าของบริษัท Carrian Investments ก็ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
การสอบสวนใช้เวลานานถึง 17 ปี นับเป็นคดีปั่นหุ้น ที่กินเวลาสอบสวนนานที่สุด และร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของฮ่องกง
3
ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน และนักธุรกิจ ที่มีต่อความน่าเชื่อถือของตลาดการเงินของฮ่องกง
1
ถ้าในวันนั้น หน่วยงานกำกับดูแลของฮ่องกงไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้
1
ในวันนี้ ฮ่องกง ก็อาจไม่ได้มีสถานะเป็นศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย เลยก็ได้..
1
โฆษณา