Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Lovecare Station
•
ติดตาม
23 มี.ค. เวลา 02:00 • สุขภาพ
ซึมเศร้าเรื้อรัง ปัญหาสุขภาพทางใจที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและการใช้ชีวิต!
หากรู้สึกเศร้า กังวล เหนื่อย หมดอารมณ์ร่วมกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเกือบทุกช่วงเวลา นั่นอาจเป็นอาการของ “ซึมเศร้าเรื้อรัง” อาการผิดปกติทางอารมณ์ที่ส่งผลต่อความคิดและสุขภาพร่างกาย จนทำให้ใช้ชีวิตประจำวันหรือเข้าสังคมได้อย่างยากลำบาก ดังนั้นหากคิดว่าตนเองมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังจึงควรเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง
แม้ว่าโรคซึมเศร้าเรื้อรังจะเป็นที่รู้จักและพูดถึงกันมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน แต่เชื่อว่าผู้ที่เข้ามาอ่านหลายคนยังคงมีข้อข้องใจเกี่ยวกับซึมเศร้าเรื้อรังอยู่ อย่างโรคซึมเศร้าเรื้อรังคืออะไร เกิดจากอะไร อันตรายไหม จำเป็นจะต้องรับการรักษาหรือเปล่า แล้วจะรู้อย่างไรว่าตนเองมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง สามารถทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กันได้ที่นี่
ซึมเศร้าเรื้อรังคืออะไร
โรคซึมเศร้าเรื้อรัง (dysthymia) คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติทางด้านอารมณ์ที่ส่งผลให้รู้สึกหดหู่ ซึมเศร้า เบื่อ เหนื่อยหรือหงุดหงิดกับทุกอย่าง ซึมเศร้าเรื้อรังไม่ได้มีอาการรุนแรงมากนักเมื่อเทียบกับโรคซึมเศร้า แต่ก็เป็นเหตุทำให้ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมานกับอาการของโรคอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างต่ำ 1-2 ปี
หากปล่อยอาการทิ้งไว้โดยที่ไม่ได้เข้ารับการรักษา อารมณ์ผิดปกติต่าง ๆ ที่มีอยู่จะส่งผลกระทบต่อกระบวนการความคิดและสุขภาพร่างกาย อันเป็นเหตุทำให้ใช้ชีวิตประจำวันและอยู่ร่วมกับผู้คนในสังคมได้ยากลำบาก ดังนั้นหากสงสัยว่าตนเองมีอาการเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับมือรักษากับโรคที่เป็นอยู่ได้อย่างถูกวิธี
ซึมเศร้าเรื้อรัง สาเหตุเกิดจากอะไร
ในปัจจุบันยังไม่มีการระบุสาเหตุการเกิดซึมเศร้าเรื้อรังไว้อย่างชัดเจน แต่มีการกล่าวถึงสาเหตุของโรคซึมเศร้าเรื้อรังไว้ว่าอาจเกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน ดังนี้
●
พันธุกรรม
พันธุกรรมเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ไม่ทราบที่มาที่ไปอย่างแน่ชัด แต่มักพบว่าในกรณีที่มีบุคคลในครอบครัวหรือญาติมีประวัติรักษาโรคซึมเศร้าเรื้อรังก็จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นซึมเศร้าเรื้อรังเพิ่มขึ้น
●
สารเคมีภายในสมอง
ในสมองจะมีสารสื่อประสาทที่มีหน้าที่คอยรับส่งสารเคมีอยู่ กรณีที่สารเคมีในสมองสมดุลก็จะทำให้รู้สึกมีความสุข แต่ถ้าสารเคมีในสมองไม่สมดุล ไม่ว่าจะมีสารเคมีมากหรือน้อยเกินไปก็จะส่งผลต่อร่างกายและจิตใจได้
สารเคมีที่ส่งผลต่อการเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังหรือdysthymia มีดังนี้
1.
อะเซทิลโคลน (Acetylcholine) – ส่งผลต่อสมาธิและความจำ
2.
โดพามีน (Dopamine) – ส่งผลต่ออารมณ์
3.
นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) – ส่งผลต่อการรับรู้และการควบคุมอารมณ์
4.
ซีโรโทนิน (Serotonin) – ส่งผลต่ออารมณ์ การรับรู้ความรู้สึก
●
เหตุการณ์ที่ไปกระทบจิตใจ
หากพบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดความเครียดสูง หรือเจอเหตุการณ์ที่ไปกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างรุนแรง ก็จะกระตุ้นทำให้เกิดอาการซึมเศร้าเรื้อรังได้
●
สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่
ในกรณีที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่ความหม่นหมอง มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่เหมาะสม มีการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว หรือสถานะในครอบครัวลำบากขัดสน ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังได้
●
ความเจ็บป่วย
อาการเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคสุราเรื้อรัง และโรคอื่น ๆ หรืออาการป่วยทางด้านจิตใจ เช่น โรควิตกกังวล ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อาจทำให้ป่วยเป็นซึมเศร้าเรื้อรังด้วยเช่นกัน
อาการแบบไหนเข้าข่ายเป็นซึมเศร้าเรื้อรังบ้าง ?
ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าเรื้อรังจะมีอาการแตกต่างกันขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค ส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการเศร้าและหดหู่เป็นระยะยาวกว่า 1-2 ปี โดยที่อาการของโรคจะไม่เว้นช่วงนานกว่า 2 เดือน แต่ก็มีโอกาสที่จะพบอาการซึมเศร้าเรื้อรังรุนแรงหรืออาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้
●
รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนแรง หมดแรง
●
หมดอารมณ์ สิ้นหวัง เบื่อกับทุกอย่าง ไม่มีความสนใจต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
●
ไม่มีสมาธิจดจ่อ มีความสามารถในการตัดสินใจน้อยลง
●
ไม่มีความมั่นใจในตนเอง ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถใด ๆ หรือรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า
●
นอนไม่หลับ นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ หรือนอนมากจนเกินไป
●
ไม่มีความอยากอาหาร หรือรู้สึกอยากทานอาหารมากกว่าปกติ
●
พยายามตีตัวออกห่างจากครอบครัว เพื่อนฝูงและสังคม
อย่างไรก็ตามซึมเศร้าเรื้อรัง อาการไม่ได้มีเพียงที่กล่าวข้างต้นเท่านั้น แต่ยังมีอาการโมโหฉุนเฉียวที่มักพบในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นมัก ซึ่งอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อด้านการเรียนและการเข้ากลุ่มกับเพื่อน หรืออาจจะมีความคิดที่อยากหายตัวไป อยากหลับไม่ตื่น หรืออยากฆ่าตัวตายด้วย หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์โดยด่วนเพื่อรีบเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป
ความแตกต่างระหว่างซึมเศร้าเรื้อรังกับโรคซึมเศร้า
อาการซึมเศร้าเรื้อรังกับซึมเศร้านั้นมีความใกล้เคียงมาก แต่ทั้งสองโรคนั้นกลับมีความแตกต่างกันอยู่ ในที่นี้สามารถสรุปความต่างของทั้งสองโรคง่าย ๆ ได้ว่า ซึมเศร้าเรื้อรังมีอาการรุนแรงน้อยกว่า แต่มีระยะเวลาของอาการนานกว่า โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้
โรคซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia)
แสดงอาการต่อเนื่องในระยะยาวนานมากกว่า 2 ปี โดยที่อาการไม่ได้รุนแรงมากนัก แต่ระหว่างที่เป็นซึมเศร้าเรื้อรังจะมีบางช่วงที่อาการของโรคดีขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งระยะเวลาที่อาการดีขึ้นจะมีระยะไม่เกิน 2 เดือน
โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder)
แสดงอาการต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ขึ้นไปแต่ไม่ต่อเนื่องเท่าซึมเศร้าเรื้อรัง ในกรณีที่ไม่มีภาวะอื่น ๆ ร่วมด้วย อาการของโรคซึมเศร้าจะอยู่ประมาณ 6-12 เดือน แต่ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็จะทำให้ระยะเวลาอาการลดลงอย่างมาก
วิธีวินิจฉัยซึมเศร้าเรื้อรัง
ปกติแล้ววิธีวินิจฉัยโรคทางจิตเวชต่าง ๆ รวมถึงโรคซึมเศร้าเรื้อรังจะเริ่มต้นจากการซักถามประวัติก่อนว่ามีสมาชิกในครอบครัวหรือญาติเคยรักษาโรคจิตเวชหรือไม่ สอบถามสุขภาพและประวัติการรักษาของผู้ป่วย เพราะมีความเป็นไปได้ว่าอาการป่วยเกิดจากโรคทางกาย และอาจจะมีการตรวจทางห้องแล็บเพิ่มเติมเพื่อแยกโรคที่มีอาจมีอาการคล้ายคลึงกับซึมเศร้าเรื้อรัง
เมื่อตรวจแล้วไม่พบอาการป่วยทางกายที่ส่งผลต่อการเป็นซึมเศร้าเรื้อรัง ก็จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเพิ่มเติม เช่น ถามเรื่องพฤติกรรม ความรู้สึกนึกคิดของผู้ป่วย เพื่อวินิจฉัยและแยกโรคทางจิตเวชที่มีอาการใกล้เคียง เช่น โรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง ไบโพลาร์ และอื่น ๆ
เมื่อวินิจฉัยแล้วพบว่าผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง ก็จะตรวจระดับความรุนแรงของอาการ และตรวจว่ามีโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่เพื่อรักษาตามอาการที่มีอย่างเหมาะสม
ซึมเศร้าเรื้อรัง หากไม่รักษาอันตรายไหม?
ในกรณีที่ป่วยเป็นซึมเศร้าเรื้อรังควรรับการรักษาอย่างถูกต้อง เพราะถึงแม้ว่าอาการของโรคไม่ได้รุนแรงมากนัก แต่ก็เป็นอาการที่สร้างผลกระทบต่อร่างกาย ทั้งยังส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการพบปะผู้คนในสังคม โดยการรักษาโรคซึมเศร้าเรื้อรังจะแบ่งออกเป็น 2 วิธีด้วยกัน คือ การรักษาด้วยยาและการรักษาด้วยจิตบำบัด
การรักษาด้วยยา
ก่อนเริ่มการรักษาด้วยยา ในเบื้องต้นแพทย์จะพูดคุยกับผู้ป่วยเรื่องปริมาณยา ประเภทยาที่ใช้ ผลข้างเคียงจากยา วิธีรักษา โดยประเภทยาที่มักใช้รักษาซึมเศร้าเรื้อรังจะมีดังนี้
●
ยาต้านเศร้ากลุ่มSelective Serotonin Reuptake Inhibitors(SSRIs)
●
ยาต้านเศร้ากลุ่มTricyclic Antidepressants
●
ยาต้านเศร้ากลุ่มSerotonin and Norepinephrine Reuptake Inhibitors(SNRIs)
การรักษาด้วยยานั้นจะมีผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น เวียนหัว คลื่นไส้ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอื่น ๆ แต่ร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัวให้เข้ากับยาในระยะเวลาไม่นาน แต่ถ้าไม่ดีขึ้นจะต้องปรึกษากับแพทย์เพื่อเปลี่ยนยาตัวอื่นที่เหมาะกับร่างกายแทน
นอกจากนี้แล้วการรักษาด้วยยาก็จะมีค่ายาที่เพิ่มเข้ามา โดยยาซึมเศร้าจะมีราคาค่อนข้างสูงและจำเป็นต้องกินอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาหรือลดปริมาณยาเองเพราะจะส่งผลต่อการรักษาและเกิดอาการถอนยาได้
การรักษาด้วยจิตบำบัด
การรักษาด้วยจิตบำบัดจะเน้นไปที่การสื่อสารพูดคุยระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรับมือกับอาการที่กำลังเป็นอยู่ได้ โดยวิธีรักษาซึมเศร้าเรื้อรังด้วยจิตบำบัดจะมุ่งเน้นไปที่การทำให้ผู้ป่วยตระหนักถึงปัจจัยที่ส่งผลให้อาการแย่ลง แนะนำวิธีรับมือกับปัญหา รวมถึงวิธีจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม
โดยส่วนมากแล้วทางแพทย์จะรักษาผู้ป่วยซึมเศร้าเรื้อรังด้วยยาซึมเศร้าควบคู่กับการรักษาด้วยจิตบำบัดเพราะจะมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่การรักษาโรคซึมเศร้าเรื้อรังนั้นจำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือกับผู้ป่วยด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากเกิดความผิดปกติขึ้นในระหว่างการรักษาควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาที่เหมาะกับตนเองต่อไป
สรุปซึมเศร้าเรื้อรัง ควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อรู้ว่ามีโอกาสเป็น
โรคซึมเศร้าเรื้อรัง คือ ความผิดปกติทางอารมณ์ที่ส่งผลต่อความคิดและการใช้ชีวิต โดยจะมีความรุนแรงน้อยกว่าโรคซึมเศร้าแต่กลับส่งผลกระทบต่อชีวิตในระยะยาว ดังนั้นเมื่อสำรวจตนเองแล้วคิดว่ามีโอกาสที่จะเป็นซึมเศร้าเรื้อรังควรเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาไม่ให้อาการจากโรคส่งผลต่อร่างกาย ความคิด และสามารถใช้ชีวิตร่วมกับทุกคนได้อย่างมีความสุข
https://www.lovecarestation.com/dysthymia/
ปรึกษาปัญหาวัยรุ่น /www.lovecarestation.com สี่โมงเย็น ถึง เที่ยงคืน
Facebook : Lovecare Station เที่ยง ถึง สองทุ่ม
Line : @Lovecarestation (
https://lin.ee/MiFAsKL
) เที่ยง ถึง สองทุ่ม
#lovecarestation ฟรี! ทุกช่องทาง
#กังวลท้อง #กลัวติดโรค #เอชไอวี #เอดส์ #ท้องไม่พร้อม #โดนรังแก #คุมกำเนิด #สัมพันธภาพ #สุขภาพจิต #YM2M #MSM
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย