23 มี.ค. เวลา 13:00 • กีฬา

'The Fat Pitch' รอลูกที่ใช่ แล้วค่อยเหวี่ยงไม้ตี

Warren Buffett บอกลงทุนก็เหมือนเบสบอล เพียงแต่เราไม่จำเป็นต้องพยายามตีทุกลูก
ถ้าเราลงทุนในหุ้น Berkshire Hathaway ตอนที่คุณปู่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) เข้าไปเป็นเจ้าของตั้งแต่ราคา 19 เหรียญ/หุ้น ในปี 1965 แล้วปล่อยไว้เฉยๆ โดยไม่ต้องซื้อขายอะไรเลย ผ่านมา 59 ปี หุ้นนั้นจะมีมูลค่าราวๆ 622,777 เหรียญ/หุ้น ในปี 2024 (21 มีนาคม)
หรือขึ้นมาประมาณ 3,277,673%
ไม่แปลกใจที่ บัฟเฟตต์ ได้รับฉายาว่า “Oracle of Omaha” หรือเทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา เพราะดูจากความสำเร็จแล้ว เหมือนว่าบัฟเฟตต์จะต้องมีเทคนิคเคล็ดลับอันซับซ้อนในการลงทุนเลือกหุ้นที่นักลงทุนทั้งโลกไม่เข้าใจอยู่แน่ๆ
หรือบางทีเขาอาจจะเป็นนักลงทุนเสี่ยงสูง เพื่อจะให้ผลตอบแทนกลับมาสูงรึเปล่า? หรือบางทีเขาแค่เป็นชายที่โชคดีสุดๆ คนหนึ่งเท่านั้น?
ที่จริงแล้วมันไม่ใช่แบบนั้นเลย
แน่นอนว่าโชคก็เป็นส่วนหนึ่ง บัฟเฟตต์เองก็เคยพูดว่าตัวเองถูกลอตเตอรี่รังไข่ (ovarian lottery) เกิดมาในครอบครัวที่พร้อม ในจังหวะที่ดี ประเทศอเมริกา เป็นผู้ชายผิวขาว ชื่นชอบเรื่องการลงทุนและทำได้ดี
เพียงแต่โชคก็ไม่ใช่ทุกอย่าง
กุญแจสู่ความสำเร็จของบัฟเฟตต์แท้จริงแล้วมาจากความสามารถในการ ‘รอ’ ต่างหาก
รอที่จะลงทุนในจังหวะที่เหมาะสม ลงทุนเมื่อโอกาสที่จะชนะมีสูงกว่าปกติ
ในสถานการณ์ที่เรียกว่า ‘The Fat Pitch’
⚾️[[ #The_Fat_Pitch ]]
หากใครเคยดูสารคดีเกี่ยวกับบัฟเฟตต์จะพอทราบว่าเขาเป็นแฟนกีฬาเบสบอลตัวยงเลย ออฟฟิศที่เมืองโอมาฮาตรงบริเวณโถงทางเดินจะมีภาพการแข่งขันและนักกีฬาเบสบอลติดอยู่หลายภาพ และในห้องของเขาก็มีของที่ระลึกเกี่ยวกับเบสบอลพร้อมลายเซ็นนักกีฬา รวมไปถึงภาพของเขาเองที่ถ่ายคู่กับนักเบสบอลด้วย
แต่มีนักเบสบอลคนหนึ่งที่บัฟเฟตต์ชื่นชอบมากเป็นพิเศษชื่อว่า เทด วิลเลียมส์ (Ted Williams) จากทีม Red Sox ถึงขั้นเก็บภาพการแข่งขันนัดแรกของวิลเลียมส์ที่ลงเล่นให้กับ Red Sox เอาไว้ด้วย
สิ่งที่ดึงดูดให้บัฟเฟตต์ชื่นชอบวิลเลียมส์คือหลักคิดการตีลูกของเขาที่เขียนเอาไว้ในหนังสือ “The Science of Hitting” ที่อธิบายว่าทำไมวิลเลียมส์ถึงกลายเป็นหนึ่งในนักเบสบอลมีสถิติการตีลูกสูงที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ช่วงที่ดีที่สุด (ปี 1941) ตีโดนถึง 40% เมื่อบอลถูกขว้างเข้ามาในโซนการตีของเขา (โดยเฉลี่ยทั้งอาชีพอยู่ที่ 34.4%)
ในสารคดี ‘Becoming Warren Buffett’ บัฟเฟตต์เปรียบเทียบหลักการลงทุนของเขากับเบสบอลและยกตัวอย่างแนวคิดจากหนังสือของวิลเลียมส์เอาไว้ด้วย
โดยในหนังสืออธิบายว่าวิลเลียมส์จะแบ่งโซนการตี (Strike Zone) หรือพื้นที่การเหวี่ยงไม้ตีลูกออกเป็น 77 ช่อง โดยแต่ละช่องจะมีขนาดเท่ากับลูกเบสบอล และแต่ละช่องก็จะมีคะแนน ‘ความน่าจะเป็น’ ที่จะตีบอลโดนติดเอาไว้ด้วย
สำหรับวิลเลียมส์แล้วแนวคิดการตีของเขาเรียบง่ายมาก แทนที่จะเหวี่ยงไม้ตีทุกลูกที่เข้ามาในโซนการตี (ซึ่งมี 77 ช่องแต่โอกาสในการตีโดนไม่เท่ากัน) เขาแค่รอให้บอลถูกขว้างเข้ามาในช่องที่เขารู้ว่าจะมีโอกาสในการตีโดนมากที่สุด แล้วค่อยเหวี่ยงไม้
พูดอีกอย่างหนึ่งคือ เขารอให้ลูกเขามาในช่องที่ดีที่สุด ถ้ายังไม่ใช่ก็ยังไม่ตี และอาจจะสไตรก์เอาต์บ้างเป็นบางครั้ง ก็ไม่เป็นไร
บัฟเฟตต์อธิบายว่า “ถ้าเขารอจนลูกเข้ามาที่จุดที่ดีที่สุด (sweet spot) เขาจะตีโดน .400 เลย”
จุดที่มีโอกาสตีโดนสูงๆ นั่นแหละครับที่เป็น ‘The Fat Pitch’
💹[[ #ลงทุนก็เหมือนเบสบอล_เพียงแต่ไม่จำเป็นต้องตีทุกลูก ]]
หลักคิดเดียวกันนี้เองที่บัฟเฟตต์นำมาใช้จนเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ รอโอกาสที่เข้ามาให้เป็น รู้ว่าสิ่งที่เชี่ยวชาญคือตรงไหน ตรงไหนมีโอกาสลงทุนแล้วจะชนะได้มากกว่า ไม่จำเป็นต้องลงทุนทุกครั้ง
ข้อได้เปรียบอีกอย่างที่บัฟเฟตต์ชี้ให้เห็นคือนักเบสบอลถ้าไม่ตี ปล่อยลูกผ่านสามครั้งก็สไตรก์เอาต์ หมดรอบการตี แต่ถ้าเป็นนักลงทุนเรารอได้เรื่อยๆ จนเจอโอกาสในการลงทุนที่ใช่จริงๆ
ยกตัวอย่างง่ายๆ ก่อน ฟองสบู่ดอทคอม นักลงทุนในตลาดเหวี่ยงไม้ตีลูกกันอย่างบ้าคลั่ง บัฟเฟตต์กลับยืนเฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย เขาถูกมองว่าล้าสมัยที่ไม่ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี แต่เขาก็ไม่ได้สนใจ รอต่อไป เพราะนั่นไม่ใช่ ‘The Fat Pitch’ ที่เขาต้องการ
แล้ว ‘The Fat Pitch’ ของบัฟเฟตต์หน้าตาเป็นยังไง?
ยกตัวอย่าง PetroChina บริษัทยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งในธุรกิจน้ำมันของประเทศจีน ตอนนั้นมีรายได้ประมาณ 30,000 ล้านเหรียญ กำไร 5,600 ล้านเหรียญ บัฟเฟตต์อ่านรายงานบริษัทและรู้เลยว่านี่เป็นโอกาสการลงทุนที่เขาพอจะเข้าใจ และมีโอกาสที่จะสำเร็จสูง จึงตัดสินใจลงทุนด้วยเงินราว 500 ล้านเหรียญในปี 2002
ต่อมาในปี 2007 Petrochina มีรายได้สูงกว่า 110,000 ล้านเหรียญ และกำไรอีกกว่า 19,000 ล้านเหรียญ บัฟเฟตต์ตัดสินใจขายหุ้นตัวนี้ออกไป เพราะเห็นว่าราคาหุ้นเกินมูลค่าไปมากแล้ว
การตีลูกครั้งนี้ทำให้บัฟเฟตต์ได้กำไรกว่า 3,500 ล้านเหรียญจากเงินต้นเพียง 500 ล้านเหรียญเท่านั้น ผลตอบแทนรวมอยู่ที่ประมาณ 720% ภายในเวลา 5 ปีเลยทีเดียว
เขาอธิบายเอาไว้ว่า
“บริษัททั้งหมดมูลค่า 35,000 ล้านดอลลาร์ 1/4 ของราคาของ Exxon แต่มีกำไรเท่ากับ 80% ของ Exxon วันหนึ่งผมไปอ่านรายงานประจำปีในและเห็นข้อความจากประธานบริษัทที่ว่าบริษัทจะจ่ายเงินปันผล 45% ของกำไร ซึ่งมากกว่าบริษัทอื่นๆ ประเภทเดียวกัน หากเป็นบริษัทสหรัฐฯ มูลค่ามันคงอยู่ที่ 85,000 ล้านดอลลาร์ มันเป็นบริษัทที่ดีและเยี่ยมเลย”
เรียบง่ายสุดๆ บัฟเฟตต์เห็นบริษัทหนึ่งที่อยู่ในโซนการตีของเขาและเป็นจุดที่เขามีโอกาสตีโดนสูง ก็จัดไปหนึ่งไม้
⭐️[[ #ไม่จำเป็นต้องโฮมรันทุกลูก ]]
สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ การที่ลูกเข้ามาในโซนการตีของเรา และมันเป็น The Fat Pitch ด้วย ถ้าเหวี่ยงไม้ไปแล้ว ตีโดน แต่ก็อย่าคาดหวังว่าทุกครั้งจะการันตีความสำเร็จ 100%
ดูอย่างวิลเลียมส์ แม้จะตีโดน ก็ไม่ใช่ทุกลูกจะเป็นโฮมรัน
อาจจะไปได้ถึงเบสแรก หรือเบสสอง บางทีอีกฝั่งก็รับบอลได้เอาต์ออกไป หรือบางทีก็เป็นโฮมรัน
มีปัจจัยภายนอกมากมายที่เราควบคุมไม่ได้ (ดูอย่าง PetroChina ตอนนั้นรัฐบาลจีนถือหุ้นอยู่ถึง 88% ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นมา รัฐบาลตัดสินใจดึงออกจากตลาด หรืออะไรก็ตาม ดีลที่ดี แม้จะตีโดน ก็อาจจะไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวังเอาไว้ในตอนแรก)
หลักคิดของบัฟเฟตต์ที่นักลงทุนทุกคนควรเข้าใจคือการหาโซนของตัวเองให้เจอ สิ่งที่เราถนัด (เรียกว่า Circle of Competence) เรื่องที่เราสนใจ เราไม่จำเป็นต้องเข้าใจทุกบริษัทในตลาด แต่ให้ดูว่าโซนไหนเราจะมีโอกาสคาดการณ์และวิเคราะห์ได้แม่นยำมากที่สุด
อย่าไปคิดว่ามันต้องเป็นโฮมรันทุกครั้ง อย่าไปหวังว่ามันจะเป็นหุ้นร้อยเด้งทุกตัว
โฟกัสที่โซนของตัวเอง รอจังหวะที่ใช่ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จแบบระยะยาวอย่างสม่ำเสมอ
💬 บัฟเฟตต์กล่าวว่า
“กลยุทธ์ในการลงทุนคือการอยู่ตรงนั้นแล้วมองบอลผ่านไปเรื่อยๆ และรอให้มันมาอยู่ในจุดที่ดีที่สุดของเรา [แล้วค่อยเหวี่ยงไม้] ถ้าคนอื่นตะโกนว่า ‘ตีสิ ตีเลย ไอ้บื้อ!’ ก็ไม่ต้องไปสนใจคนพวกนั้น”
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ #aomMONEY)
#WarrenBuffett #การเงิน #การลงทุน #เบสบอล #บัฟเฟตต์ #วอร์เรน #TheFatPitch #Baseball #TedWilliams #TheScienceofHitting
โฆษณา