25 มี.ค. เวลา 01:36 • การศึกษา
โรงพยาบาลเวชธานี

Ep.4 “การรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยการผ่าตัด หลังการผ่าตัดเดินได้หรือไม่”

สวัสดีครับทุกท่าน อาทิตย์นี้เราจะมาต่อกันที่การผ่าตัดนะครับ การผ่าตัดรักษาข้อเข่าเสื่อมจริงๆ แล้วไม่ได้มีแต่การผ่าตัดเพื่อใส่ข้อเทียมเพียงอย่างเดียว วงการแพทย์ได้พยายามใช้เทคนิคการผ่าตัดต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ในปัจจุบัน ข้อมูลรวมถึงผลลัพธ์จากการผ่าตัดเทคนิคต่างๆ ได้พิสูจน์แล้วว่า “การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม” เป็นการผ่าตัดรักษาที่ได้ผลดีที่สุด โดยจะช่วยแก้ไขอาการปวดเข่าจากความเสื่อม แก้ไขมุมขาที่ผิดรูป ช่วยเพิ่มคุณภาพการใช้งานเข่า และเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนไข้ได้เป็นอย่างดี
การผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมโดยไม่ต้องเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เทคนิคการผ่าตัดลดอาการปวดของโรคข้อเข่าเสื่อมวิธีที่ได้ผลดี โดยที่ยังไม่ต้องเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ส่วนใหญ่แล้วเหมาะสำหรับคนไข้ที่อายุน้อย กว่า 50 ปี หลังผ่าตัดสามารถกลับไปใช้งานข้อเข่าได้เป็นปกติในระยะเวลาสั้น (ประมาณ 3 เดือน) ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดแบบข้างเดียว หรือการผ่าตัดพร้อมกันทั้งสองข้างโดยวิธีการผ่าตัดมีดังนี้นะครับ
1) การผ่าตัดแก้ไขมุมการรับน้ำหนักของข้อเข่า
ภาพการผ่าตัดเปลี่ยนแนวกระดูกข้อเข่า
เนื่องจากข้อเข่าในแต่ละข้างของมนุษย์เรามี 2 ซีก คือซีกด้านในและซีกด้านนอก โดยปกติเข่าที่ไม่มีความเสื่อมจะรับน้ำหนักตัวที่ผ่านลงมาโดยเข่าทั้งสองซีกเท่าๆ กัน แต่เข่าของผู้ที่เป็นโรคข้อเสื่อมจะเริ่มมีความเสื่อมในซีกใดซีกหนึ่งก่อน ส่วนใหญ่แล้วเป็นซีกด้านใน (Medial) ของเข่า
ภาพแสดงแนวข้อเข่าปกติ(ด้านซ้าย)และผิดปกติ(ด้านขวา)
โดยหลักการของเทคนิคนี้คือ การปรับแนวการรับน้ำหนักของข้อเข่าจากซีกเข่าที่มีความเสื่อม ให้น้ำหนักไปลงซีกเข่าที่ปกติแทน ความเสื่อมของผิวข้อยังอยู่ตำแหน่งเดิม แต่น้ำหนักร่างกายจะไม่ลงมากดทับในตำแหน่งที่เสื่อมอีก ช่วยลดอาการปวดได้ดี ซึ่งการที่จะเปลี่ยนมุมของขาได้ เทคนิคการผ่าตัดต้องมีการตัดกระดูก ส่วนใหญ่มักเป็นกระดูกหน้าแข้ง และมีการปรับมุมของกระดูก จากนั้นต้องมีการใส่เหล็กดามยึดกระดูกที่ถูกตัดนั้น
ข้อดี –ไม่มีการใส่ข้อเทียมซึ่งมีอายุการใช้งานจำกัดที่ระเวลาหนึ่งเข้าไปในร่างกาย จึงเหมาะสมในผู้ป่วยอายุน้อย (อายุต่ำกว่า 50 ปี) ที่ยังต้องการใช้งานเข่ามากๆ อยู่
ข้อเสีย – ส่วนข้อเสียของการผ่าตัดปรับมุมการรับน้ำหนัก ผลของการรักษาด้อยกว่าวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเนื่องจากความเสื่อมของผิวข้อยังมีอยู่เช่นเดิม
2) การส่องกล้องเพื่อล้างข้อเข่าและตบแต่งร่องรอยความเสื่อมในข้อเข่า
ปัจจุบันวิธีนี้มีความนิยมน้อยลงมาก เนื่องจากการผ่าตัดวิธีนี้ช่วยให้อาการปวดดีขึ้นเพียงเล็กน้อยและชั่วคราว ทั้งยังมีข้อจำกัดมาก เนื่องจากการส่องกล้องผ่าตัดไม่สามารถแก้ไขความโก่งงอ ผิดรูปของข้อเข่าได้ และหากข้อเข่ามีความเสื่อมสึกหรอมาก การส่องกล้องไปล้างหรือกรอกระดูกก็ไม่สามารถช่วยแก้ไขความผิดปกติของข้อเข่าในระดับนี้ได้ มักทำในข้อเข่าที่มีความเสื่อมน้อยหรือระยะแรกๆ
ภาพการแสดงการผ่าตัดผ่านกล้อง
ในปัจจุบันการผ่าตัดส่องกล้องเทคนิคนี้ จึงมักจะทำร่วมกับการผ่าตัดปรับมุมกระดูก หรือทำในคนอายุน้อย ที่มีการบาดเจ็บของกระดูกอ่อนขนาดเล็ก และรอยโรคเฉพาะที่เท่านั้น ไม่เหมาะกับโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีการเสียหายของกระดูกเป็นวงกว้าง รุนแรง หรือมีรอยโรคหลายตำแหน่ง
ข้อดี – แผลมีขนาดเล็ก เพราะผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง ใช้เวลาพักหลังผ่าตัดน้อย
ข้อเสีย – การล้างข้อเข่าและตบแต่งร่องรอยความเสื่อม ช่วยแก้ไขอาการได้ในระยะเวลาหนึ่ง เมื่อข้อเข่าเสื่อมจนกระดูกเสียหายมากขึ้น คนไข้จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าอีกครั้ง
การผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม คือการผ่าตัดเพื่อนำกระดูกผิวข้อเข่าที่มีโรคความเสื่อมออก และทดแทนโดยการใส่อุปกรณ์ข้อเข่าเทียม ซึ่งจะช่วยลดอาการปวด แก้ไขการผิดรูปของข้อเข่าได้เป็นอย่างดี ในปัจจุบันวงการแพทย์ยอมรับกันว่าการผ่าตัดข้อเข่าเทียมถือเป็นการผ่าตัดที่ช่วยแก้ไขอาการเจ็บปวด ติดขัด ขาโก่งผิดรูปที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมระดับปานกลางถึงรุนแรงได้ดีที่สุด และพบว่าสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดให้ดีขึ้นกว่าก่อนผ่าตัดอย่างชัดเจน
ในปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทั้งข้อ (Total knee replacement)
การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าทุกส่วนของข้อ ทดแทนผิวกระดูกอ่อนที่มีความเสื่อมทั้งหมด ข้อเทียมที่นำมาใส่จะมีขนาดเท่ากับข้อเข่าโดยธรรมชาติของผู้ป่วย เหมาะกับคนไข้ที่ผิวข้อเสียหายมากหลายตำแหน่ง, มีเข่าโก่งผิดรูปอย่างชัดเจน หรือมีการเสียความมั่นคงของเส้นเอ็นยึดข้อเข่า หลังจากทำการผ่าตัดชนิดนี้ ข้อเข่าที่ผิดรูปโก่งงอจะกลับมาตรงตามแนวแกนการลงน้ำหนักทันทีด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันได้มีการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic-Assisted Surgery)
เดิมทีการผ่าตัดจะใช้วิธีเปิดแผลใหญ่ ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร โดยศัลยแพทย์เป็นผู้ออกแบบและกำหนดตำแหน่งในการใส่ผิวข้อเทียม พบว่ายังมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น การตัดสินใจของศัลยแพทย์ รวมถึงการเปิดแผลใหญ่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดหลังผ่าตัดและฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้า ด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเช่น Rosa Knee ซึ่งประกอบไปด้วยแขนกล 2 แขน คอยควบคุมและกำหนดตำแหน่งในการตัดแต่งเตรียมผิวข้อเข่า ช่วยวัดอุปกรณ์และขนาดของข้อเข่าเทียม รวมถึงมีซอฟต์แวร์ช่วยวางแผนและจำลองการผ่าตัดล่วงหน้า ทำให้การผ่าตัดมีความถูกแม่นยำ
การใช้หุ่นยนต์ Rosa knee ช่วยผ่าตัดไม่จำเป็นต้องเปิดแผลใหญ่เหมือนเมื่อก่อน และไม่จำเป็นต้องรุกล้ำภายในช่องกระดูก ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดและเสียเลือดมาก ดังนั้นข้อดีของการใช้คือ
• ความแม่นยำสูง: ลดโอกาสผิดพลาด
• แผลผ่าตัดเล็ก
• เลือดออกน้อย: เลือดออกน้อยกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม
• เจ็บปวดน้อย: ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดน้อยลง
• ฟื้นตัวเร็ว: ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว ใช้เวลาพักฟื้นสั้นลง สามารถลุก ยืน เดินได้ภายใน 12 ชั่วโมง
• การเคลื่อนไหวดีขึ้น: ผู้ป่วยสามารถกลับมาเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีขึ้น
ส่วนวัสดุข้อเข่าเทียมนั้นจะใช้วัสดุทำมาจากโลหะผสมไทเทเนียม (titanium) และโคบอลต์โครเมียม (cobalt chromium) ส่วนตรงกลางที่รองรับการเคลื่อนไหวของข้อเทียม เป็นวัสดุที่ทำมาจากพลาสติกโพลีเอทีลีน (polyethylene) ซึ่งล้วนแต่เป็นอุปกรณ์ที่ปลอดภัยต่อร่างกาย และมีอายุการใช้งานยาวนานมาก กว่าที่อุปกรณ์จะสึกหรอ (ขึ้นกับศัลยแพทย์ เทคนิคความแม่นยำในการผ่าตัด สภาพร่างกายของคนไข้ และสภาพการใช้งานข้อเข่าของแต่ละคน)
ที่มา: https://www.zimmerbiomet.com/en/products-and-solutions/specialties
2. การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเฉพาะส่วน (Partial knee replacement)
ผู้ป่วยที่ใช้การผ่าตัดลักษณะนี้มีความสึกกร่อนของกระดูกอ่อนผิวข้อ จำกัดอยู่เฉพาะบริเวณบางส่วนของผิวข้อ
ความเสียหาย หรือความเสื่อมของข้อเข่า มักจะเริ่มต้นเกิดกับฝั่งด้านในของข้อเข่าเป็นส่วนใหญ่ (อาจมีผู้ป่วยส่วนน้อยที่มีลักษณะขาโก่งเข้าด้านใน ซึ่งมีความเสื่อมที่ผิวกระดูกด้านนอกข้อเข่าก่อน)
ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงสามารถเลือกทำการผ่าตัดแบบเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเฉพาะส่วนได้ ข้อเข่าเทียมแบบเฉพาะส่วนนี้จะมีขนาดเล็ก ขนาดไม่ถึงครึ่งหนึ่งข้อเข่าธรรมชาติ
ข้อดี
-การบาดเจ็บของเนื่อเยื่อที่ถูกผ่าตัดน้อยกว่าแบบการผ่าตัดเปลี่ยนทั้งหมด
-ขนาดแผลเล็กกว่า
-เสียเลือดน้อยกว่า
-เจ็บปวดน้อยกว่า
-ฟื้นตัวกลับมาใช้ชีวิตประจำวันรวมถึงเล่นกีฬาได้เร็ว
ข้อจำกัด
-ต้องใช้ในผู้ป่วยที่มีความเสื่อมด้านในด้านหนึ่งเท่านั้น
-เส้นเอ็นข้อเข่าต้องมีสภาพแข็งแรงใช้งานปกติ
ที่มา: https://www.zimmerbiomet.com/en/products-and-solutions/specialties
สำหรับคำถามที่พบบ่อยหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่านะครับ
1.ข้อเข่าเทียมใช้ได้นานแค่ใหน
ตามข้อมูลที่ได้รีวิวรวมถึงประสบการณ์ ผมพบว่า ข้อเข่าเทียมจะเริ่มเสียหายภายใน 10 ปีอยู่ที่ 5% จะเริ่มหลวมภายใน 20 ปีอยู่ที่80% โดยที่จะขึ้นอยู่กับการใช้งานและวัสดุที่ใช้ของข้อเทียม
2.ข้อเข่าเทียมราคาแพงจะใช้งานนานและดีกว่าข้อเข่าเทียมราคาถูกใช่หรือไม่
ผมอยากจะบอกว่าราคาไม่ใช่สิ่งที่บอกคุณภาพการใช้งานไม่ว่าจะแพงหรือถูกการใช้งานไม่ได้ต่างกัน อายุการใช้งานขึ้นกับหลายๆปัจัยดังข้อแรกที่กล่าวไป
3.หลังผ่าข้อเข่าเทียมทำไมเข่าอุ่นๆตลอดเวลา
กรณีนี้เกิดจากกระบวนการของร่างกายในการซ่อมแซมตัวเองโดยเฉพาะเวลาที่ได้เริ่มเดินหรือกายภาพ ปกติอาการจะดีขึ้นหลัง 3 เดือน
4.หลังผ่าตัดขาจะเท่ากันหรือไม่
โดยปกติหลังผ่าขาข้างที่ผ่ามักยาวขึ้นเพราะขาข้างที่ผ่าแล้วแนวกระดูกจะตรงขึ้น
5.ผ่าแล้วเดินได้ไหม หลังผ่าตัดจะเริ่มให้เดินและกายภาพทันทีภายใน 12 ชั่วโมงเพื่อการฟื้นตัวที่เร็ว
6.หลังการผ่าตัดจะปวดแผลมากไหมและระยะฟื้นตัวนานแค่ใหน
ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันและวิธีการระงับปวดผู้ป่วยสามารถที่จะนอนพักหรือกายภาพได้โดยที่อาการปวดน้อยและฟื้นตัวค่อนข้างไวปกติจะนอนโรงพยาบาลประมาณ 3 วันและใช้อุปกรณ์ช่วยเดินประมาณ 1-2 เดือน
7.ทำไมหลังผ่าตัดได้ยินเสียงกร๊อบแกร๊บ
ภาวะนี้อาจพบได้ในผู้ป่วยหลังผ่าตัด ตราบใดที่ไม่มีอาการปวดถือว่าเป็นเรื่องปกติ
หลังจากในเขียนบทความมา 4 EP.คิดว่านักอ่านทุกท่านได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเข่าที่ถูกต้องนะครับ สัปดาห์ต่อไปจะนำความรู้ วิทยาการใหม่ๆสำหรับข้อเข่ามาเสนอทุกคนให้ได้อ่านนะครับ ถ้าทุกท่านชอบหรืออยากกระจายความรู้ก็ช่วยกดหัวใจและแชร์ต่อๆกันนะครับ
Brought to you by
Dr. B.Bone
โฆษณา