25 มี.ค. เวลา 11:00 • หนังสือ

ประสบการณ์เซ็นหนังสือ

วันพฤหัสบดีที่ 28 นี้ จะมีงานหนังสืออีกครั้งที่ศูนย์สิริกิติ์ นักเขียนพบนักอ่าน นักอ่านทักทายนักเขียน เป็นจุดเด่นของงานหนังสือ
กิจกรรมหนึ่งของงานหนังสือคือการเซ็นหนังสือของนักเขียน (เรียก autograph หรือ holograph) ผมผ่านกิจกรรม autograph มาสามสิบปี เจอประสบการณ์มาทุกรูปแบบ ก็จะเล่าสู่กันฟัง
ผมเคยเล่าว่า ผมอยากให้กิจกรรม autograph เป็นช่วงเวลาที่คุยกัน แต่ส่วนมากไม่ค่อยมีใครคุยด้วย โผล่หน้ามาแล้วหายไปเร็วเหมือน The Flash
ปกติเมื่อผมเซ็นชื่อ และเขียนชื่อเจ้าของหนังสือ ผมไม่ค่อยใส่สรรพนาม เช่น คุณ หรือตำแหน่ง เช่น ดร. เพราะรู้สึกว่าเป็นทางการไปหน่อย ยกเว้นเป็นคำขอ
เหตุผลเพราะ autograph ในงานหนังสือไม่ใช่จดหมาย มันเป็นที่ระลึกเมื่อพบกัน และ(มัก)ไม่ใช่เรื่องทางการ ผมเห็นว่าเมื่อมาพบกัน ก็ถือว่ารู้จักกันแล้ว ไม่ว่าจะคุยกันแค่คำเดียวหรือหลายคำ หรือแค่ยิ้มให้ ก็ไม่ใช่คนแปลกหน้าแล้ว เพื่อความเป็นกันเองขึ้น จะไม่ใส่สรรพนาม เหมือนกับที่เราไม่ใส่ 'คุณ' หรือ 'ดร.' หน้าชื่อบนเค้กวันเกิด
แต่ถ้าซื้อไปเป็นของขวัญฝากผู้ใหญ่ ก็ใส่คำนำหน้าว่าคุณ หรือตำแหน่ง ถ้าต้องการ
บางครั้งผู้อ่านบอกว่า "ช่วยเซ็นให้ป้าสมจิตหน่อยค่ะ" จากประสบการณ์ก็จะถามว่า ป้าสมจิตอายุเท่าไร เพราะเมื่อใส่ 'ป้าสมจิต' โดยมีลายเซ็นผมกำกับ ก็แปลว่าผมเรียกเจ้าของหนังสือว่าป้า ในวัยขนาดนี้ โอกาสที่ผมจะเรียกใครว่าป้าหรือลุงลดน้อยลงทุกที จากประสบการณ์ ป้าหรือลุงของคนขอส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่าผมทั้งนั้น จึงใส่สรรพนามป้าไม่ได้ ตอนนี้เองที่อาจจะใส่ 'คุณ'
สำหรับนักเขียนทุกคนในโลก กิจกรรมเซ็นหนังสือเป็นการเชื่อมกับคนอ่าน ถ้าเป็นไปได้ จะทำให้หนังสือเป็นสิ่งที่เรียกว่า personalised ผมเองวาดการ์ตูนให้สำหรับเจ้าของหนังสือที่รู้สึกว่ามัน personalised แต่ผมไม่เคยเห็นนักเขียนตะวันตกเขียนสรรพนาม Mr. / Miss ฯลฯ มักใส่คำว่า Dear นำหน้าเพื่อให้เป็น personalised
1
ในเมืองไทย ผมเคยใส่ dear (ภาษาไทยว่าที่รัก) ให้สุภาพสตรีที่รู้จัก ปรากฏว่าสามีเธอไม่ค่อยชอบ ทั้งที่ 'dear' ในความหมายฝรั่งต่างจาก 'ที่รัก' ของไทย จึงเลิกใช้ที่รักกับนักอ่านสตรีตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ยกเว้นกับผู้ชายเท่านั้น
แต่อย่าคิดมากนะยะ
3
โฆษณา