27 มี.ค. เวลา 08:33 • การเมือง

New Productive Forces: สโลแกนใหม่ของสีจิ้นผิง - Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร

สโลแกนใหม่ของรัฐบาลจีนคือต้องการปลุกพลังการผลิตใหม่ (New Productive Forces) คำนี้หมายถึงอะไร
เติ้งเสี่ยวผิง อดีตผู้นำที่เปิดและปฏิรูปเศรษฐกิจจีน เคยอธิบายไว้ว่า เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนคือต้องปลดปล่อยพลังการผลิต ความหมายตอนนั้นคือผลิตให้มีของกินของใช้ไม่ขาดแคลนก่อน จึงจะนำไปสู่การร่ำรวยร่วมกันแบบสังคมนิยมในอนาคต เพราะสังคมนิยมไม่ใช่สังคมขาดแคลนที่คนจนเสมอหน้ากัน
นั่นคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการผลิตของจีน จนจีนก้าวขึ้นมาเป็น “โรงงานโลก” ทุนทั่วโลกมาอาศัยแรงงานราคาถูกในเมืองจีนผลิตของส่งออกไปทั่วโลก
ขนาดรวมของอุตสาหกรรมการผลิตของจีนในปัจจุบันนั้น ใหญ่กว่าเอาอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเยอรมัน สามยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตของโลกมารวมกันเสียอีก
แต่วันนี้สีจิ้นผิงเพิ่มคำว่า "ใหม่" ต่อท้ายพลังการผลิต ความหมายตรงไปตรงมาว่าจีนจะไม่ผลิตแต่เสื้อผ้า ของเล่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ข้าวของกิ๊กก๊อกอีกต่อไป แต่จีนจะต้องผลิตของไฮเทคอย่างโซล่าเซลล์ รถยนต์อีวี สมาร์ทโฟน แบตเตอรี่ยุคใหม่ ฯลฯ
ในการประชุมสองสภาของจีนที่ผ่านมาเมื่อต้นเดือนมีนาคม สีจิ้นผิงได้ไปเข้าร่วมประชุมกับกลุ่มผู้แทนของมณฑลเจียงซู และได้กล่าวย้ำถึงเป้าหมายการสร้างพลังการผลิตใหม่ของจี
1
การเลือกไปพูดกับกลุ่มผู้แทนมณฑลเจียงซูมีความสำคัญมากในเชิงสัญลักษณ์ เพราะเจียงซูมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากกว่างตง และที่สำคัญเป็นฐานการผลิตใหญ่ในสามอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ของจีน ได้แก่ โซล่าเซลล์ รถยนต์อีวี และแบตเตอรี่ การส่งออกในสามอุตสาหกรรมนี้ของเจียงซูเติบโต 12.3% เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในจีน
สีจิ้นผิงยังตั้งเงื่อนไขเกี่ยวกับการพัฒนาพลังการผลิตใหม่อีกสามข้อ ได้แก่ หนึ่ง ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังการผลิตใหม่ ต้องไม่ทิ้งภาคการผลิตเก่าในทันที ต้องค่อยๆ เปลี่ยนผ่านให้เรียบร้อย โดย “สร้างอันใหม่ให้ได้ก่อนรื้ออันเก่า”
สอง ต้องไม่สร้างฟองสบู่หรือหว่านเงินอย่างไร้ความรับผิดชอบ แบบที่เคยเกิดขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์หรือในอุตสาหกรรมก่อสร้างในอดีตที่มีปัญหาร้อนแรงเกินไปและกำลังการผลิตเกินตัว (overcapacity)
สาม คือต้องพยายามทลายข้อต่อในซัพพลายเชนที่จีนยังทำเองไม่ได้และต้องพึ่งพาต่างชาติ โดยต้องมีการตั้งเป้าหมายชัดเจนในข้อต่อของอุตสาหกรรมไฮเทคเหล่านั้น มีแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาหลักสูตรการศึกษา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเป้าหมายให้จีนทำด้วยตัวเองให้ได้
ดังที่กระทรวงศึกษาจีนเพิ่งอนุมัติสาขาวิชาใหม่หลายสาขา สาขาหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากคือสาขาวิศวกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ ซึ่งหลายคนทราบดีว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์เป็นจุดเป็นจุดตายของจีนที่ถูกสหรัฐฯ และพันธมิตรทำสงครามเทคโนโลยีด้วยการตั้งข้อจำกัดไม่ส่งชิปไฮเทคให้จีนใช้ รวมทั้งไม่ส่งซอฟแวร์ ชิ้นส่วน และเครื่องจักรในการผลิตชิปให้จีน
ตอนนี้มีหลายคนถามว่า เป้าหมายการเติบโต 5% ของรัฐบาลจีนในปีนี้ จะเสกมาจากไหน ในเมื่อภาคการบริโภค ภาคการส่งออก ภาคการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และภาคการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (สร้างถนน สะพาน รถไฟ) ล้วนไปต่อไม่ได้เหมือนเดิม
1
คำตอบคือ รัฐบาลจีนคงหันมาทุ่มสุดตัวให้กับภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ในเชิงยุทธศาสตร์เหล่านี้ที่จะสร้าง “พลังการผลิตใหม่”
ในรายงานของนายกฯ หลี่เฉียงของจีนในการประชุมสองสภาฯ ได้ประกาศเป้าหมายทางนโยบายอันดับ 1 ของปีนี้ของจีนจะเป็นการสร้างซัพพลายเชนของภาคอุตสาหกรรมใหม่ให้ครบวงจร ซึ่งแตกต่างจากเป้าหมายอันดับ 1 ของปีที่แล้วที่เป็นเรื่องการฟื้นพลังการบริโภคภายหลังเปิดเมือง ทำให้มีการพูดว่าจีนกำลังเปลี่ยนจากการเน้นที่การสร้างดีมานด์ มาเป็นการเน้นที่การสร้างซัพพลาย
การปรับแผนของรัฐบาลจีนย่อมส่งผลสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลก เพราะเมื่อจีนกลับมาเน้นอุตสาหกรรมการผลิต เราจึงเริ่มเห็นข่าวการขยายกำลังการผลิตของจีนและข่าวสินค้าจีนทะลักทั่วโลก อย่างรถยนต์อีวีของจีนก็บุกตลาดโลกอย่างรวดเร็วและราคาถูกลงเรื่อยๆ
1
หลายคนเริ่มจับตามองว่า นี่กำลังจะเป็นชนวนนำไปสู่การกีดกันทางการค้าและสงครามการค้ารอบใหม่หรือไม่
1
เพราะล่าสุดฝั่งอียูก็กำลังตั้งท่าจะตั้งกำแพงภาษีต่อรถยนต์อีวีจีนแล้ว และหากทรัมป์กลับมา คงจุดชนวนสงครามการค้ารอบใหม่ต่อพลังการผลิตใหม่ของจีนแน่
โฆษณา