28 มี.ค. 2024 เวลา 02:30 • ธุรกิจ

คุยกับ เจ้าของ “HAAB” แบรนด์ขนมไข่ ในบรรทัดทอง ยอดขายเดือนละ 1,500,000 ชิ้น

ถ้าพูดถึงบรรทัดทองใครหลาย ๆ คนก็ต้องนึกถึงร้านอาหาร ร้านของหวาน ชื่อดังจำนวนมาก ที่เปิดขนาบสองฟากฝั่งของถนนเส้นนี้
2
ไม่ว่าจะเป็นร้านเก่าแก่ที่อยู่มานานหลายปี หรือร้านที่เพิ่งเปิดและแจ้งเกิดเพราะถนนเส้นนี้
หนึ่งในนั้นคือ "HAAB" (อ่านว่า หาบ) ร้านขนมไข่สงขลา ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในตอนนี้
จากยอดขาย 20,000 ชิ้นต่อเดือนในช่วงแรก สู่ 1,500,000 ชิ้นต่อเดือน ในปัจจุบัน
และล่าสุด HAAB ก็เพิ่งได้รับรางวัล สุดยอดร้านคอนเซปต์เด่นแห่งปี ประจำปี 2024 จาก Grab ประเทศไทย
แล้วอะไรคือเคล็ดลับความขายดี ของแบรนด์นี้ ?
วันนี้ลงทุนเกิร์ลมีโอกาสพูดคุยกับ คุณมอส-จรรยธร บิลพัฒน์ Co-founder ของแบรนด์ HAAB
ซึ่งเราคุยกันตั้งแต่จุดเริ่มต้นของแบรนด์ จนถึงกลยุทธ์และวิธีที่ทำให้พวกเขาโดดเด่นจากคู่แข่ง
เรื่องราวของ HAAB น่าสนใจขนาดไหน กลยุทธ์เป็นอย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
คุณมอส-จรรยธร บิลพัฒน์ เล่าว่า ก่อนหน้านี้ทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศทั่วไปมาก่อน
ประกอบกับเคยลองทำธุรกิจร่วมกับ Co-founder อีกสองคน
ซึ่งเป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยจะหาสินค้าตัวที่มีแนวโน้มว่าจะขายดีมาขาย
ต่อมาเกิดได้วิกฤติโรคระบาด มีการล็อกดาวน์ ทำให้หลาย ๆ คนต้องทำงานและใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้านกันเป็นหลัก
คุณมอสและเพื่อน ๆ ก็ได้มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ
จึงได้สร้างแบรนด์ที่ขายโต๊ะปรับระดับไฟฟ้าและเก้าอี้เพื่อสุขภาพขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า DreamDesk
ซึ่งแบรนด์ก็ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดีและประสบความสำเร็จพอสมควร
หลังจากที่ธุรกิจเดิมเริ่มลงตัวแล้ว คุณมอสและเพื่อน ๆ ก็ได้มองหาไอเดียในการทำธุรกิจใหม่ ๆ
ซึ่งในตอนแรกก็ปรึกษากันว่าจะขายอะไรดี
จนสุดท้ายแล้วก็เคาะไปที่ “ธุรกิจอาหาร”
แล้วทำไมต้องเป็น ธุรกิจอาหาร ?
คุณมอสบอกว่า มองเห็นศักยภาพของย่านบรรทัดทองที่กำลังบูมขึ้นเรื่อย ๆ
มีผู้คนและนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เดินทางมาหาอะไรกินหลังเลิกงาน
บวกกับคุณมอส ได้ใช้ชีวิตในย่านจุฬา-บรรทัดทอง มาร่วม 10 ปี ทั้งเรียนและทำงาน
เพราะสถานที่ตั้งของออฟฟิศเดิมก็อยู่บริเวณนี้
พอรู้แล้วว่าจะทำธุรกิจอะไร ต่อมาก็ได้ปรึกษากับเพื่อนอีกสองคน
ว่าจะขายอะไรกันดีเพราะในเวลานั้นย่านบรรทัดทองเต็มไปด้วยร้านอาหารจำนวนมาก
หลังจากระดมความคิดกันได้สักระยะ ก็ได้คำตอบออกมา คือ ณ เวลานั้นย่านบรรทัดทองเต็มไปด้วยร้านอาหารที่นั่งกินเป็นมื้อ ๆ ยังไม่ค่อยมีแบบ Finger Food หรือแบบลักษณะเดินไปกินไปได้
คุณมอสเลยเสนอ “ขนมไข่ สงขลา” ให้กับทีม
เพราะขนมไข่หลายคนน่าจะรู้จักกันอยู่แล้ว แต่ขนมไข่ สงขลา หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นและอยากลอง
ทำไมต้องสงขลา ?
เพราะว่าคุณมอส เป็นคนจังหวัดสงขลา และคุณยายของคุณมอส ก็ขายขนมไข่อยู่แล้ว และมีสูตรประจำตัวของคุณยายด้วย
ซึ่งขนมไข่ของสงขลาจะมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนกับที่กรุงเทพมหานคร
คือจะมีรสชาติหวานและตัดเค็มจากเนย มีความกรอบนอก นุ่มใน ฉ่ำเนย
ในช่วงแรกคุณมอสได้นำขนมมาให้เพื่อน ๆ และทีมลองชิมเพื่อดูฟีดแบ็ก
ปรากฏว่าคนในทีมและเพื่อน ๆ รู้สึกว้าวมาก เพราะมีรสชาติที่แปลกใหม่ไม่เคยกิน
คุณมอสและเพื่อน ๆ เลยตัดสินใจเลือกขาย ขนมไข่ ภายใต้แบรนด์ HAAB
แล้วทำไมต้องชื่อ HAAB ?
คุณมอสว่า ต้องการเล่นคำและทำให้หลายคนงงและสงสัย ว่าคนจะอ่านว่าอะไร ถ้าเขียนชื่อแบรนด์ภาษาอังกฤษว่า HAAB
เพราะชื่อจะอ่านค่อนข้างยาก และถ้าคนไม่รู้จะตีความกันไปมั่วไปหมด
จนมีการถามกันปากต่อปาก หรือถึงขั้นค้นหาในกูเกิลเพื่อหาคำตอบ ก็ถือว่าเป็นการตลาดที่แยบยลไปในตัว
ซึ่งถ้ามาหาคำตอบว่าชื่อนี้ออกเสียงว่าอย่างไร
ก็จะออกเสียงว่า “หาบ” ซึ่งจะไปตรงกับคำว่า หาบเร่ แผงลอย ที่จะตรงกับคอนเซปต์ของทางร้าน
เพราะต้องการจะนำเสนอขนมพื้นบ้านจากทางใต้ ที่หากินได้ยากในกรุงเทพมหานคร
แต่คุณมอสก็ไม่ได้โฟกัสแค่คนไทย เพราะยังสร้างกิมมิกเล็ก ๆ ให้ชาวต่างชาติ ที่มาเดินแถวย่านบรรทัดทอง
ด้วยการเล่นกับคำว่า HAAB ถ้าขยายออกมาจะได้คำว่า Heart Attack Amount of Butter
หรือถ้าแปลเป็นไทยก็จะมีความหมายว่า ปริมาณเนยจุก ๆ จนทำให้หัวใจวาย
ซึ่งก็เรียกเสียงหัวเราะหรือรอยยิ้ม ให้กับชาวต่างชาติที่มาซื้อหรือเดินผ่านจำนวนไม่น้อย
โดยในช่วงเปิดร้านแรก ๆ ทางร้านขายได้เพียงเดือนละ 20,000 ชิ้น เท่านั้น
เพราะขนมไข่ สงขลา ถือว่ายังแปลกใหม่สำหรับใครหลายคน
แต่คุณมอสก็แก้ปัญหาด้วยการคอยแจกขนมให้กับคนที่เดินผ่านชิมและอธิบายความแตกต่าง
ซึ่งก็ถือว่าได้ผลดี เพราะหลายคนที่ลังเลว่าจะซื้อหรือไม่หลังจากได้ชิมก็กลับมาซื้อเยอะเหมือนกัน
พอหลายคนที่กลับมาซื้อก็มักจะถ่ายลงโซเชียลมีเดียของตัวเอง และเริ่มมีนักรีวิวมารีวิวลงช่องตัวเองกันบ้าง
โดยคุณมอสบอกว่า พอแบรนด์เป็นที่รู้จักก็เริ่มออกอิเวนต์เพิ่มขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าหลักของแบรนด์ นั่นก็คือกลุ่มพนักงานออฟฟิศ
โดยจะเน้นออกตามศูนย์การค้าในเครือของเดอะมอลล์ เช่น สยามเซนเตอร์ สยามพารากอน
และตามอาคารสำนักงานต่าง ๆ
ซึ่งจุดนี้ก็มีความท้าทายที่สำคัญอย่างหนึ่ง
คือสูตร ขนมไข่ สงขลา ต้องใช้เตาถ่านในการให้ความร้อน
แต่เวลาไปออกอิเวนต์ตามศูนย์การค้าหรืออาคารสำนักงานต่าง ๆ เขามักจะไม่อนุญาตให้ใช้เตาถ่าน
ทำให้คุณมอสและทีมต้องพัฒนาปรับเปลี่ยนสูตรใหม่ สำหรับเวลาไปออกอิเวนต์
โดยจะทำให้สามารถบรรจุลงในกล่อง และคุณภาพของรสชาติต้องเหมือนเดิม
ซึ่งก็ต้องลองผิดลองถูกกันอยู่สักพัก ก่อนที่จะได้สูตรที่ลงตัวและรสชาติไม่ต่างจากเดิมมากนัก
และสามารถเก็บไว้ได้นาน
โดยถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นจะอยู่ได้ถึง 14 วัน หรือนอกตู้เย็นจะเก็บได้ 7 วัน
และด้วยระยะเวลาที่สามารถเก็บไว้ได้นานขนาดนี้ ทำให้ HAAB ไปได้ดีขึ้นในมุมการขาย
จากขายได้เดือนละ 20,000 ชิ้นในช่วงแรก เริ่มขยับเป็น 100,000 ชิ้น
และทะยานสู่ 1,500,000 ชิ้นต่อเดือน ในปัจจุบัน
ปัจจุบันเราสามารถซื้อได้ที่หน้าร้าน โดยจะมี 2 สาขา ซึ่งจะตั้งอยู่ที่บรรทัดทองและในซอยจุฬา 14
และกำลังสร้างหน้าร้านที่มีลักษณะคล้าย ๆ กับคาเฟ แต่จะเป็นลักษณะ Grab & Go ซึ่งจะเสร็จในช่วงกลางปีนี้
นอกจากหน้าร้านแล้วยังสามารถสั่งซื้อได้ในช่องทางออนไลน์และดิลิเวอรี โดยจะส่งได้ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
ตัวอย่างราคาเช่น 10 ชิ้น 70 บาท, 15 ชิ้น 90 บาท, 20 ชิ้น 100 บาท
และในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ทาง HAAB ก็จะมีการคอลแลบกับแบรนด์ชื่อ จูนปัง
ร้านดังย่านบรรทัดทอง โดยจะออกเมนูรสชาติใหม่ที่ชื่อว่า “สังขยาครัมเบิ้ล”
ซึ่งก่อนหน้านี้ทาง HAAB ก็มีการไปคอลแลบกับแบรนด์เครื่องดื่มย่านบรรทัดทองอีกเจ้า
อย่าง “ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน” โดยออกมาเมนู สังขยาชาไทย
และในอนาคตเราน่าจะเห็น HAAB คอลแลบกับแบรนด์ดัง ๆ มากขึ้น
หรือมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจออกมาอีกก็ได้
และนี่คือเรื่องราวที่น่าสนใจ ของแบรนด์ที่เอาสินค้าพื้นบ้าน อย่าง ขนมไข่สงขลา
มาสร้างกิจการจนขายดี หลัก 1,500,000 ชิ้น ต่อเดือน..
Reference
-สัมภาษณ์พิเศษ คุณมอส-จรรยธร Co-founder ของแบรนด์ HAAB
3
โฆษณา