27 มี.ค. เวลา 14:05 • บันเทิง

ทูตท่องเที่ยว วัฒนธรรม & อาหาร 2024 ก็หลัวอีโจวไงจะใครล่ะ

นิตยสาร National Geographic Traveler ฉบับกุมภาพันธ์ 2024 ปกหลัวอีโจว 2 แบบ 2 สไตล์นี้ ต้องบอกว่าใช้เวลาแปลนานที่สุดเท่าที่เคยแปลมา คือ 5 วัน กว่าจะพ้นแต่ละพารากราฟมาได้ ต้องเริ่มจากเสิร์ชข้อมูลวิกิภาษาจีน อ่านทำความเข้าใจมาสรุปเป็นไทยให้สั้นๆเข้าใจง่ายๆ คำไหนที่ตั้งใจแปลแบบทับศัพท์ ก็ต้องเปิดดิคเช็คเสียงพินอินให้ถูกต้อง
ความจริงเนื้อหาไม่ค่อยจะยาก แต่ติดตรงข้อมูลวัฒนธรรมทั้งหลายที่ต้องละเอียด เพราะเมียถือคติงานเพื่อหลัว ถ้าตัดสินใจทำแล้วต้องทำให้สุด จะมาแค่ผ่านโปรแกรมทรานสเลทเฉยๆ เมียไม่อิน เพราะคุณหลัวเค้าทำงานทุกอย่างอย่างพิถีพิถันจริงจัง เราก็ต้องทุ่มเทไม่แพ้กัน ก็แฟนกันนี่เนอะ
ก็หวังว่าแม่ๆทุกคนจะอ่านกันอย่างเพลิดเพลิน แล้วพบกันใหม่งานหน้านะคะ
หลัวอีโจว | มังกรมะโรงเวียนมาอีกครั้ง
เกิดปีมังกรมิลเลนเนียม หลัวอีโจวซึ่งอายุครบ 24 ปีเต็มในปีนี้ เปี่ยมด้วยพลังบวกอันเป็นเอกลักษณ์ของคนเจนนี้ นอกจากสถานะนักแสดงรุ่นใหม่ของโรงละครแห่งชาติแล้ว เขายังมีบทบาทอื่นๆอีกมากมาย เช่น นักร้อง และ นักเต้น ด้วยความเป็นศิลปินรุ่นใหม่แห่งยุคสมัยใหม่ หนุ่ม “มะโรง” เช่นเขาไม่เคยหยุดที่จะทดลองและค้นหา เพื่อไปให้ถึงการเป็นบุคคลต้นแบบของคนรุ่นหลัง
“หนุ่มมังกร” พบมังกรจีน
ปี 2024 นับเป็นปีมังกรเจี่ยเฉิน (ปีที่ 41 ในรอบ 60 ปีตามหลักโหราศาสตร์จีน) หลัวอีโจวซึ่งเกิดปีมังกรมิลเลนเนี่ยมในปี 2000 จึงมีอายุครบ 2 รอบในปีนี้ มังกรถือเป็นเสาหลักแห่งอารยธรรมจีน เป็นสัญลักษณ์ของชาติ และเป็นหนึ่งในสิ่งมงคลสูงสุดที่ชาวจีนนับถือ
เพราะเป็นนักษัตรหนึ่งเดียวที่มีอยู่เพียงในคติความเชื่อ รูปลักษณ์ของมังกรจึงเกิดขึ้นจากจินตนาการ ปรัชญาเมธีหวังชงแห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออกบรรยายไว้ในคัมภีร์ “หลุ้นเหิง” ว่า “ภาพวาดมังกรบนโลกนี้มีหัวเป็นม้า มีตัวเป็นงู”
ส่วนคัมภีร์ “เอ๋อร์หย่าอี้”ของหลัวเยวี่ยนแห่งราชวงศ์ซ่ง บรรยายภาพมังกรไว้ละเอียดยิ่งกว่าว่า “เขาเหมือนกวาง หัวเหมือนอูฐ ตาเหมือนกระต่าย คอเหมือนงู หน้าท้องเหมือนปีศาจทากทะเล มีเกล็ดเหมือนปลา กรงเล็บเหมือนเหยี่ยว อุ้งมือเหมือนเสือ และหูเหมือนวัว“ แสดงให้เห็นถึงความหมายและความคาดหวังมากมายต่อสัตว์วิเศษนี้
ในความทรงจำของหลัวอีโจว ภาพ “มังกรจีน” ที่ยังชัดเจนที่สุดคือ มังกรไฟถงเหลียงที่บ้านเกิดในฉงชิ่ง การแสดงเชิดมังกรไฟแห่งถงเหลียง เป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ชุดแรกๆของประเทศ และยังเป็นที่ยอมรับให้เป็น “มังกรอันดับหนึ่งของชาติจีน” อีกด้วย เหตุผลเพราะ “คนเต้นท่ามกลางเพลิง มังกรเหินกลางประกายไฟ” ทำให้การแสดงนี้คว้าอันดับหนึ่งของการเชิดมังกรไปครอง
มังกรไฟแห่งถงเหลียง ที่ต้องควงแขนคุณหลัวไปดูด้วยกันสักครั้ง
ตามบันทึกประวัติศาสตร์ที่ย้อนกลับไปได้ไกลถึงยุคราชวงศ์สุย-ถัง การแสดงเชิดโคมมังกรได้กลายมาเป็นประเพณีของชาวพื้นถิ่นถงเหลียง เพื่อต้อนรับฤดูใบไม้ผลิใหม่ที่มาเยือน และเฉลิมฉลองโชคลาภวาสนาในเดือนแรกของปี
ในยุคราชวงศ์หมิง-ชิง การสนับสนุนของสมาคมพ่อค้าทำให้โคมมังกรเริ่มมีรูปแบบที่ซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นยุคนี้เองที่มังกรไฟได้หยั่งรากลึกในวิถีชีวิตชาวถงเหลียง จนถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
มังกรไฟแห่งถงเหลียงไม่ได้เป็นเพียงพิธีส่งมังกรศักดิ์สิทธิ์ขึ้นไปบนท้องฟ้าเพื่อเรียกเมฆฝน เพื่อขอพรให้ฝนฟ้าเป็นใจในขวบปีที่กำลังจะมาถึงเท่านั้น แต่ยังเปี่ยมไปด้วยความหวังว่า ประกายไฟที่พร่างพราวจะเผาไหม้โชคร้ายให้มลายไป พร้อมถือกำเนิดสิ่งดีใหม่ๆให้กับทุกคน
หลัวอีโจวยังจำความตะลึงที่ได้เห็นมังกรไฟแห่งถงเหลียงเป็นครั้งแรกได้ดี เขาเพิ่งจะอายุ 7 หรือ 8 ปีเท่านั้น สมองน้อยๆของเขาราวกับได้หลุดเข้าไปอยู่ในโลกวิเศษในยุคปรัมปรา เมื่อได้เห็นโคมมังกรไฟขนาดมหึมาบินฉวัดเฉวียนอยู่บนท้องฟ้า
เหล็กหลอมเหลวร้อน 1700°C ฟุ้งกระจายเป็นประกายสีทอง พุ่งทะยาน ระเบิดจ้าบนท้องฟ้ายามค่ำคืน ในขณะที่คนเชิดเฝ้ามองเจ้ามังกรตีลังกาเหินเวหาเปี่ยมชีวิตชีวา ท่ามกลางลาวาเหล็กหลอมที่ปะทุระเบิดดั่งดอกไม้ไฟ งดงาม ตระการตา
หลัวอีโจวเล่าถึงอดีตในวัยเด็ก “มังกรไฟถงเหลียงคือการแสดงออกทางรูปธรรมของมรดกทางจิตวิญญาณของชนชาติจีน และการแสดงออกเชิงศิลปะของวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเรา มันมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและล้ำลึก ในขณะเดียวกันก็เป็นนวัตกรรมที่สะเทือนวงการมาก”
ในความทรงจำของหลัวอีโจว นอกจากมังกรไฟแห่งถงเหลียงและเทศกาลแข่งเรือมังกรแล้ว ประเพณีหนึ่งที่เขาประทับใจมากที่สุดคือการถือเคล็ดตัดผมในวันที่ 2 เดือน 2 ตามปฏิทินจีนที่เรียกว่า “หลงไถโถว” (มังกรเชิดหัว) ในวันนี้ของทุกปี หลัวอีโจวไม่เคยลืมที่จะตัดเส้นผม 1 เส้นของตัวเอง “ถ้าอยู่บ้าน แม่ผมก็จะเป็นคนจัดการตัดผมให้ ถ้าผมออกไปทำงาน แม่ก็จะโทรมาเตือนทุกวันที่ 2 เดือน 2 ว่าถึงวันหลงไถโถวแล้วนะ อย่าลืมตัดผมตามประเพณีด้วย“
ในชีวิตจริง ตัวตนแห่งมังกรจีนนั้นมีอยู่ทุกหนแห่ง หลัวอีโจวเองก็มีของใช้ของแต่งบ้านที่เกี่ยวกับมังกรเต็มไปหมด ขนาดมากองถ่ายนิตยสาร National Geographic Traveler ก็ยังดีใจมากที่ได้มังกรกระดาษน่ารักๆติดไม้ติดมือกลับบ้านไปอีกหนึ่ง
มังกรกระดาษน่ารักที่คุณหลัวเก็บกลับบ้านเป็นที่ระลึก
ก้าวต่อไปสู่อนาคต • มังกรคลื่นลูกใหม่
ซีรี่ส์เรื่อง “โห้วล่าง/แด่ฝันของคลื่นลูกใหม่” เป็นผลงานแสดงนำด้านภาพยนตร์และละครโทรทัศน์เรื่องแรกของหลัวอีโจว บอกเล่าเรื่องราวการสืบต่อมรดกภูมิปัญญาแพทย์แผนจีนโบราณ เขารับบทเป็นเหรินเทียนเจิน ซึ่งเกิดมาในตระกูลแพทย์แผนจีน
เหรินเทียนเจินสามารถท่องจำคำภีร์หวงตี้เน่ยจิงได้ตั้งแต่ 3 ขวบกว่า เริ่มแมะชีพจรได้ตั้งแต่ 4 ขวบ ติดตามคุณยายไปตรวจคนไข้ตั้งแต่ 9 ขวบ อายุครบ 10 ขวบ ก็สำเร็จวิชาพลังฝ่ามือนวดรักษา นับเป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรมแพทย์จีนแผนโบราณที่แท้จริง
“เหรินเทียนเจินมีคุณสมบัติด้านวิชาชีพที่โดดเด่นมาก และการมีประสบการณ์งานคลินิกตั้งแต่เด็กก็สำคัญมากจริงๆ” เพื่อเข้าถึงบทบาทได้ดีขึ้น หลัวอีโจวทำการบ้านมาเป็นอย่างดี เขาทำแม้กระทั่งเดินทางไปถึงต้าลี่เพื่อเรียนรู้จากอาจารย์หลิวลี่หงซึ่งเป็นต้นแบบตัวละคร “โห้วล่าง”
“จริงๆแล้ว ยิ่งเข้าใจมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งพบว่าความรู้ในศาสตร์แพทย์จีนแผนโบราณนั้นทั้งกว้างและก็ลึก แล้วคุณก็จะรู้สึกทึ่งในวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเราอย่างเลี่ยงไม่ได้”
วัฒนธรรมดั้งเดิมนั้นสมควรถูกสืบสาน และ “โห้วล่าง” ก็คือกระบวนการการส่งต่อจากรุ่นก่อนสู่รุ่นหลัง “แม้กระทั่งผู้นำอย่างเหรินซินเจิ้ง พ่อของเหรินเทียนเจิน ซึ่งอุทิศชีวิตให้กับศาสตร์แพทย์แผนจีนโบราณ ก็ยังถือเป็น ‘คลื่นลูกใหม่‘ ของวงการแพทย์แผนจีนด้วยเช่นกัน พวกเขาคือผู้รับไม้ต่อจากบุคลากรรุ่นก่อน และพยายามส่งต่อจิตวิญญาณกับวัฒนธรรมของศาสตร์แพทย์แผนจีนด้วยรูปแบบที่ทันสมัยขึ้น”
“ในฐานะที่เป็นคนจีน เราต้องเข้าใจในวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาติ ในขณะเดียวกัน เมื่ออายุมากขึ้น ผมก็ยิ่งรู้สึกถึงพลังแห่งวัฒนธรรมดั้งเดิมที่อยู่ในสายเลือดความเป็นจีนของผม และก็ยังเป็นแหล่งกำเนิดความมั่นใจในวัฒนธรรมของตัวเองด้วย“
หลัวอีโจวกล่าวต่อว่า ”เพราะฉะนั้น เราต้องรักษาความกระหายที่จะออกไปเรียนรู้ และส่งเสริมวัฒนธรรมดั้งเดิมของเราในแบบของตัวเอง และพากเพียรในการเป็นทั้งผู้รับมอบและผู้สานต่อมรดกทางภูมิปัญญา“
ตั้งแต่เข้าวงการมา หลัวอีโจวเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมวัฒนธรรมจีนดั้งเดิมอยู่เสมอ รวมถึงรายการสำรวจและตีความด้านสังคมวัฒนธรรมอย่าง “Glory is Back! Beijing Central Axis” ในมุมมองของหลัวอีโจว นี่คือสิ่งที่คนทำงานด้านศิลปะวรรณกรรมต้องทำ
“ผมคิดว่าการได้ใช้ผลงานมาโปรโมทวัฒนธรรมดั้งเดิมให้กับคนรุ่นใหม่และโลกได้รับรู้ เป็นเรื่องที่เป็นเกียรติอย่างมาก เพราะผมเริ่มต้นจากวัฒนธรรมจีน จากพื้นดินอันอุดมสมบูรณ์ตรงนี้หยั่งรากลึกเรียนรู้ จนได้มา และส่งต่อออกไป“
นอกจากการร่วมงานโปรโมทวัฒนธรรมจีนดั้งเดิมในละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และรายการวาไรตี้แล้ว หลัวอีโจวยังมีแผนที่จะใส่เนื้อหาวัฒนธรรมจีนโบราณลงในผลงานเพลงในอนาคตอีกด้วย “ผมหวังว่าจะมีโอกาสนำองค์ประกอบดนตรีจีนโบราณกับสไตล์สมัยใหม่มา remix แล้วนำเสนอให้ฟังกัน”
เพลงใหม่ของหลัวอีโจวที่เพิ่งปล่อยออกมาในปีมังกรชื่อว่า “龘” (ต๋า/มังกรผงาด) ตัวอักษรอันซับซ้อนนี้มาจากสำนวนจีนว่า “龍行龘龘“ (หลงสิงต๋าต๋า) ซึ่งหมายถึงฝูงมังกรปรากฏร่าง พุ่งทะยานขึ้นฟากฟ้า เปี่ยมด้วยความกระตือรือล้น เปี่ยมด้วยจิตวิญญาณ
เนื้อเพลงภาษาไทยแปลโดยเมียเองค่ะ ยากที่สุดในทุกเพลงที่ผ่านมา
ในสายตาของเขา มังกรไม่ใช่เป็นแค่ภาพลักษณ์ของตำนานหรือนิทานปรัมปราเท่านั้น แต่เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่ง ”มันคือสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณของการสืบสานสายเลือดจีน“
การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด • มังกรที่รอวันถูกค้นพบ
หนุ่มสาวรุ่นใหม่ในตอนนี้กำลังประสบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในรอบใหม่ บางคนก็กำลังโลดแล่นไปข้างหน้า บางคนก็ยังรีรอ นอกเวลางาน “หนุ่มมะโรง” อย่างหลัวอีโจวมีวิธีผ่อนคลายในแบบของตัวเอง นั่นคืออ่านหนังสือและออกไปเที่ยว
เมื่อพูดถึงงานอดิเรกสองอย่างที่ติดมาตั้งแต่เด็ก หลัวอีโจวเล่าเสียงฉะฉานเหมือนเด็กน้อย สำนวนที่ว่า “อ่านหนังสือหมื่นเล่ม เดินทางพันๆลี้” เขานี่แหละที่เป็นตัวอย่างชั้นดี
“การอ่านเป็นวิธีผ่อนคลายจิตใจที่ได้ผลเป็นอันดับหนึ่งสำหรับผม งานของผมค่อนข้างจะเอาแน่เอานอนไม่ได้ ชั่วโมงทำงานกับพักผ่อนก็ไม่ค่อยจะเป็นเวลา การอ่านเลยเป็นวิธีที่ดีในการผ่อนคลายความเครียด“
ขออวดหนังสือที่ซื้ออ่านตามหลัว Murakami’s Hear the Wind Sing
“คุณไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือสารพัดสาขาวิชาชีพหรอก แค่ให้เข้ากับความชอบของตัวเองก็พอ แค่นี้คุณก็จะได้พักจากโทรศัพท์มือถือบ้างแล้ว ใช้ชีวิตให้ช้าลง เบาสบายขึ้น แล้วเป้าหมายของคุณก็จะบรรลุได้เอง ถ้าหากผมสามารถดึงแรงบันดาลใจจากเรื่องที่อ่านแล้วเอามาต่อยอดความคิดได้ ผมว่ามันก็เป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมากเลย”
หลัวอีโจวมีความตระหนักรู้ที่โตเกินวัย “กระบวนการอ่านทำให้คุณเป็นฝ่ายใช้ความคิด แทนที่จะรับเอาข้อมูลเข้ามาอย่างไม่ลืมหูลืมตา ทุกวันนี้ บิ๊กดาต้าบนอินเทอร์เน็ตจะคอยพุชคอนเทนท์มาให้เราโดยอิงจากเรื่องที่คนส่วนใหญ่สนใจ แต่การอ่านหนังสือนั้นไม่เหมือนกัน แม้กระทั่งในขั้นตอนการเลือกหนังสือ คุณก็ต้องใช้ความคิดของตัวเองเพื่อตัดสินใจเลือก ดังนั้น ขอแค่เริ่มอ่าน ผมคิดว่ายังไงก็มีประโยชน์แน่นอน“
ลิสต์หนังสือที่อ่านกับเพลย์ลิสต์เพลงที่ฟังของหลัวอีโจวนั้นเหมือนกัน นั่นคืออะไรก็ได้ที่ชอบ “สไตล์ของผมค่อนข้างจะเปลี่ยนไปเรื่อย เพราะจะว่าไป การอ่านเป็นเรื่องของการผ่อนคลาย ไม่ใช่ภารกิจที่ต้องทำ เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องไปกำหนดกฎเกณฑ์อะไรให้มาก“
เดินทางหลายพันลี้ • มังกรนักท่องโลก
การเดินทางเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้เลยในชีวิตหลัวอีโจว พ่อแม่ของเขาชอบท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ทำให้ได้ติดสอยห้อยตามไปเที่ยวที่ต่างๆตั้งแต่เด็ก
“พวกท่านพาผมไปทั่วทุกภาคเลยครับ อย่างกานจือคังติ้ง (เมืองรอยต่อระหว่างทิเบตกับมณฑลเสฉวน) ชิงไห่ ซีอาน เป่าจี เหยียนอัน (ที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงสงคราม) ปักกิ่ง ต้าซิงอันหลิ่ง ฉางไป๋ซาน (ภูเขาไฟคั่นพรมแดนระหว่างเมืองจี๋หลินของจีนกับเกาหลีเหนือ) เหยียนจี๋ จะว่าไป พูดยังไงก็ไม่มีทางหมดหรอกครับ“
เพราะอิทธิพลของครอบครัวนักเที่ยว หลัวอีโจวจึงตกผลึกความคิดเรื่องการเดินทางได้อย่างน่าสนใจ ”การท่องเที่ยวให้ผลเหมือนน้ำกับน้ำนมในสกินแคร์บำรุงผิวเลยครับ ช่วยปลอบประโลมทั่วร่างของคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดินเข้าไปในธรรมชาติ คุณจะรู้สึกว่าจิตใจได้รับการเยียวยาและผ่อนคลาย“
การเดินทางท่องเที่ยวนอกจากจะนำความสุขมาให้ทั้งกายใจแล้ว ยังมีความสำคัญต่อหลัวอีโจวมากกว่านั้นอีก “ประเทศของเรานั้นกว้างใหญ่ไพศาล แต่ละภูมิภาคก็ให้กำเนิดพลังชีวิต ประเพณีท้องถิ่น และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น การเดินทางพันๆลี้เพื่อออกไปสัมผัสเรื่องราวสังคมวัฒนธรรมที่หลากหลาย ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการหล่อหลอมอุดมการณ์ รวมถึงการสร้างสรรค์งานศิลปะของตัวเองด้วย“
“ถ้าไม่สามารถสะสมวัตถุดิบจากชีวิตจริง และดึงเอาพลังแห่งวัฒนธรรมในสังคมที่ตัวเราอยู่ออกมาใช้ได้ ทั้งการแสดงและงานสร้างสรรค์ของผมก็คงจะธรรมดาและว่างเปล่ามาก”
“แต่เพราะการรังสรรค์งานศิลปะจะต้องไม่ใช่การนำเสนอแบบด้านเดียวชั้นเดียว คนดูเองก็จะมีการตีความ รับรู้ในแบบตัวเอง เพราะฉะนั้น ที่ผมต้องทำคือหาความรู้ให้มากขึ้น เพิ่มประสบการณ์ให้มากขึ้น และผสมผสานสิ่งที่เห็น ได้ยิน และรู้สึกเข้าไปในเนื้องานของผม นี่คือความหมายลึกๆของการท่องเที่ยวสำหรับผม“
แม้แต่ตอนยุ่งกับงานและทิ้งปักกิ่งไปนานๆไม่ได้ หลัวอีโจวก็ยังหาเวลาไปเที่ยวรอบๆชานเมืองปักกิ่ง และเริ่มออกสำรวจเหอเป่ย ถ้ามีวันหยุดยาว เขาเป็นพวกชอบวางแผนการเดินทางล่วงหน้า แต่จะปล่อยสบายๆเมื่อถึงเวลาเดินทางจริง “ไม่จำเป็นต้องออกเดินทางโดยมีจุดหมายอะไรเป็นพิเศษ ไปถึงที่ไหนก็เที่ยวที่นั่น อยากพักก็พัก”
หลัวอีโจวอยากไปเที่ยวเส้นทางสายเสฉวน-ทิเบต หรือไม่ก็ “เริ่มออกเดินทางจากบ้านเกิดที่อิ๋นชวน ผ่านกานซู่ ชิงไห่ แล้ววิ่งเป็นวงกลมเที่ยวยูนนาน กุ้ยโจว เสฉวน กะเวลาให้กลับมาทันฉลองตรุษจีนที่ฉงชิ่งพอดี“
จากบ้านเกิดอิ๋นชวนถึงบ้านเดิมฉงชิ่ง หลัวอีโจวใช้เส้นทางไม่ซ้ำสายมาหลายครั้ง ที่ประทับใจที่สุดคือตอนข้ามเขาฉินหลิ่ง “เทือกเขาฉินหลิ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างภูมิอากาศแบบเหนือกับใต้ของจีน ผมจำได้ว่าตอนนั้นด้านเหนือของอุโมงค์หิมะยังตกอยู่เลย แต่ที่ทางออกอุโมงค์ด้านใต้อากาศกลับอบอุ่นเข้าฤดูใบไม้ผลิดอกไม้บาน ทำให้ผมทึ่งมาก นี่ก็เป็นอีกที่ที่มหัศจรรย์น่าไปเที่ยว”
รักเดียวใจเดียวอาหารจีน • มังกรหนุ่มกระเพาะโหด
พูดถึงการเดินทาง อาหารก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมาก หลัวอีโจวยอมลงทุนลงแรงเสมอเพื่อของอร่อย “มีครั้งหนึ่ง ผมอยากกินเตาเซียวเมี่ยน (บะหมี่มีดปาด) ของซานซีขึ้นมา ก็เลยขับรถไปคนเดียว 400 กิโลเมตร ไปถึงต้าถงเพื่อบะหมี่ 1 ชาม อีกครั้งหนึ่งผมอยากจะกินเนื้อจามรี ก็เลยชวนที่บ้านขับรถจากฉงชิ่งไปกานจือไปกินด้วยกัน”
เมื่อถามหลัวอีโจวถึงความประทับใจที่มีต่อ อิ๋นชวน ฉงชิ่ง และ ปักกิ่ง สามเมืองที่เขาเคยใช้ชีวิตมา สิ่งแรกที่เขานึกถึงคืออาหาร “อิ๋นชวนก็จะเป็น ‘โส่วจวาหยางปว๋อ‘ (สันคอแกะจับด้วยมือตุ๋น) ’ล่าเป้าหยางเกาโร่ว’ (เนื้อแกะผัดเผ็ด) ‘เฉ่าเมี่ยนเพี่ยน‘ (ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ผัด) ’เฉ่าลาเถียว‘ (บะหมี่เส้นเหลืองผัด)“
อาหารอิ๋นชวนตามลำดับที่หลัวพูดถึง
”ส่วนของฉงชิ่งก็จะเป็น ’ฉงชิ่งเสี่ยวเมี่ยน’ (บะหมี่ฉงชิ่ง) ‘หั่วกัว’ (หม้อไฟหมาล่า) ’เกอเล่อซานล่าจื่อจี‘ (ไก่ทอดผัดพริกของเกอเล่อซาน) ’เซียงฉาง’ (ไส้กรอกจีน/กุนเชียง) ‘ล่าโร่ว’ (หมูสามชั้นรมควัน)“
อาหารโปรดหนุ่มฉงชิ่งเค้าล่ะค่ะ ภาพตามลำดับการเมนชั่น
“มาถึงปักกิ่งบ้าง ‘ถงกัวช่วนโร่ว’ (จิ้มจุ่มหม้อทองแดง/หม้อไฟปักกิ่ง) ‘เหลาเป่ยจิงจ๋าเจี้ยงเมี่ยน‘ (บะหมี่ซีอิ๊วดำปักกิ่งดั้งเดิม) ’เป้าตู่’ (ผ้าขี้ริ้ววัวลวกจิ้ม) แล้วยังมี ‘เซาม่าย’ (ขนมจีบ) กับ ’หยางเซียจึ’ (กระดูกสันหลังแกะตุ๋นน้ำแดง)“
ของดีปักกิ่ง ตามลำดับการพุดถึงเหมือนเดิมค่ะ
ในฐานะฟู้ดดี้พี่ใหญ่ของบ้าน หลัวอีโจวก็แค่ตั้งชื่อสัตว์เลี้ยงในบ้านตามชื่ออาหารเท่านั้นเอง เขาเลี้ยงนกหงส์หยก 2 ตัว ตัวหนึ่งชื่อ ‘อวี๋เซียง‘ (รสปลา) อีกตัวชื่อ ’โร่วซือ’ (หมูเส้น) [อวี๋เซียงโร่วซือ คือ หมูหั่นเส้นผัดซอสกระเทียม (ไม่มีปลามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด)] แล้วก็มีน้องแมว 1 ตัวชื่อ ‘จ้งจึ‘ (บ๊ะจ่าง)
นอกจากนี้เขายังตั้งชื่อน้องหมาที่ยังไม่มาไว้ล่วงหน้าว่า ‘หมาล่าเซียงกัว‘ (หมาล่าผัดแห้ง) หลัวอีโจวเล่าว่า ”ผมวางแผนไว้ว่าสัตว์เลี้ยงในบ้านจะต้อง มีนกเล็กๆ มีปลา มีแมว มีหมา ตอนนี้ 3 อย่างแรกมีครบแล้ว เหลือแค่รอ ’หมาล่าเซียงกัว’ ปรากฏตัว”
อาหาร 3 จาน ที่มาของชื่อสมาชิกตัวป่วนในบ้านหลัว
หลัวอีโจวเพิ่งกลับจากปารีสเมื่อ 2 วันก่อน เขาดีใจมากที่เห็นอาหารจีนเยอะแยะมากมายในแอพสั่งอาหาร “มีเบอร์เกอร์ส่านซี หม้อไฟฉงชิ่ง เกี๊ยวตงเป่ย อาหารกวางตุ้ง อาหารจีนนู่นนี่หลากหลายมาก”
อาหารคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม นอกจากจะทำให้ต่อมรับรสมีความสุข กินจนสาแก่ใจแล้ว อาหารยังให้อะไรหลัวอีโจวได้มากกว่านั้น “นี่เป็นความโชคดีของคนยุคเรามาก สมัยนี้ ไม่ว่าพวกเราจะอยู่ที่ไหนบนโลก ก็สามารถรับพลังและความอุ่นใจจากมาตุภูมิได้เสมอ”
ณ จุดนี้ ที่กระแสความเป็นจีนกำลังมา ความรักในวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนกำลังจุดติดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในหมู่คนรุ่นใหม่ พวกเขากำลังใช้วิธีของตัวเองส่งเสียงจากประเทศจีนให้ก้องไปทั่วโลก
หลัวอีโจวกล่าวว่า “งานศิลปะเป็นเรื่องสากล เรามักเห็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมเจ๋งๆได้จากทุกที่ทั่วโลก ประเทศจีนเองก็มีประวัติศาสตร์มายาวนานขนาดนี้ แถมยังร่ำรวยวัฒนธรรมขนาดนี้ ผมเชื่อว่าคอนเทนต์ของพวกเราต้องโดนใจต่างชาติได้แน่ๆ ขอแค่พวกเราหมั่นศึกษา สร้างสรรค์ และเผยแพร่ออกไปก็พอ”
แผนในอนาคตของหลัวอีโจวก็ยังเหมือนเดิมที่เป็นมา “รักษาไว้ซึ่งความกล้าคิดกล้าทำ เก็บเล็กผสมน้อยศึกษาเพิ่มเติมไม่ขาด และพยายามสุดฝีมือที่จะพาผลงานดีๆทั้งภาพยนตร์ ละครทีวี กับงานเพลงมาพบกับทุกคน”
เขาไม่เคยขีดข้อจำกัดให้ตัวเอง “อะไรที่ไม่เคยก็อยากจะลองให้ครบทุกสไตล์เลยครับ รวมไปถึงเสื้อผ้าหน้าผม สถานะ และแม้แต่สีผิว ทุกอย่างทำเพื่อเข้าถึงบทบาท ไม่แบกอะไรเดิมๆไปใช้กับผลงานใหม่ในแต่ละครั้ง“
ว่ากันว่าดวงคนเรามักจะชงในปีนักษัตรเกิดของตัวเอง แต่หลัวอีโจวไม่เคยเชื่ออย่างนั้น เขามีคุณสมบัติมองโลกในแง่ดีสมกับเกิด ”ปีมังกร“
“หลงสิงต๋าต๋า (มังกรผงาดฟ้า) คือฤกษ์งามยามดีสำหรับเหล่าลูกมังกร ไม่ต้องเกรงกลัวใดๆ แค่ทำให้ดีที่สุดโอบกอดตัวเองในวัย 24 ก็พอแล้ว” หลัวอีโจวปิดท้ายว่า “ผมกลับคิดว่า มังกรกำลังเชิดหัวขึ้นแล้วนะครับ”
Q&A
ถามตอบกับหนุ่มมังกร
Q: ช่วงนี้ทำอะไรอยู่บ้าง?
A: ช่วงนี้ทำงานแบบมีความสุขมากเลยครับ นอกจากมาถ่ายแบบลงนิตยสารแล้ว ก็ยังมีงานกาล่ากับงานเทศกาลนู่นนี่หลายงานเลย ขณะเดียวกันก็ตั้งตารอคอยวันหยุดที่จะถึง จะได้กลับไปอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว ฉลองตรุษจีนด้วยกัน
Q: ปีมะโรงกำลังจะมาถึง ได้เตรียมการอะไรเป็นพิเศษไหม?
A: ได้รับคำอวยพรจากเพื่อนๆเยอะแยะเลยครับ เตือนผมให้ใส่เสื้อผ้าสีแดงด้วย นอกนั้นก็มี วันนี้ได้มาถ่ายนิตยสารในคอนเซ็ปต์ “มังกรจีน” มีความสุขมากครับ
Q: ตอนเด็กๆฉลองตรุษจีนอย่างไร? มีความทรงจำอะไรเป็นพิเศษไหม?
A: ตรุษจีนตอนเด็กๆกับตอนนี้คล้ายกันมากครับ ช่วงที่สำคัญที่สุดคือมื้อเย็นที่กลับมารวมตัวพร้อมหน้า เพราะปกติผมทำงานอยู่ที่อื่น การได้กลับบ้านเกิด ได้กลับมาเจอผู้หลักผู้ใหญ่กับเด็กๆในครอบครัว คือความสุขที่ไม่มีอะไรมาเทียบได้
ความทรงจำเกี่ยวกับตรุษจีนที่พิเศษที่สุดคือ มีอยู่ปีหนึ่ง ในวันสิ้นปี ผมต้องอยู่เวรที่หน่วยทหารเหวินกงถวน สหายทหารของผมห่อเกี๊ยวเอามาฝาก ตรุษจีนแต่ละปีเป็นเรื่องแห่งความสุขสำหรับผม เพราะตรุษจีนเป็นสิ่งล้ำค่า จะไม่มีความสุขได้อย่างไร
Q: คุณคิดว่าถ้าต้องใช้สีมาอธิบายความเป็นฉงชิ่ง อิ๋นชวน ปักกิ่ง แต่ละเมืองจะเป็นสีอะไร?
A: ฉงชิ่งต้องสีแดง สีแห่งความเผ็ดร้อน สีของพริก ส่วนอิ๋นชวน จริงๆก็อยากเลือกสีแดงอีก ทำไมเหรอครับ? เพราะเก๋ากี้ก็สีแดง ปักกิ่งเป็นสีน้ำตาลไหมนะ? สีของซอสซีอิ๊วดำจ๋าเจี้ยงเมี่ยนแบบดั้งเดิมไง(หัวเราะ) ปักกิ่งน่ะหรอ แน่นอนว่าก็สีแดงด้วยเช่นกัน เพราะเป็นเมืองหลวงของพวกเรา ดังนั้น เมืองสามเมือง ก็สามแดงไปเลย
Q: ตอนนี้ฝึกมวยไทเก๊กไปถึงไหนแล้ว? คิดอย่างไรกับวัฒนธรรมพังค์ในหมู่วัยรุ่นตอนนี้?
A: มวยไทเก๊กหรอครับ ก่อนหน้านี้ผมก็เคยไปดูพวกคุณปู่คุณตาฝึกกันที่สวนสาธารณะ ถ้ามีโอกาส ก็อยากจะกลับมาฝึกใหม่ ผมคงไม่กล้าดูแลสุขภาพแบบพังค์ แบบนอนดึกไปด้วย มาสก์หน้าไปด้วย ไม่แนะนำอย่างแรง มันเหมือนกำลังหลอกตัวเอง ยังไงก็ต้องรักตัวเองให้มากที่สุด รับผิดชอบต่อทุกๆการกระทำของตัวเอง
โฆษณา