27 มี.ค. เวลา 16:26 • หนังสือ

ดูแลตัวเองดีๆ นะ

หนังสือดูแลตัวเองดีๆ นะ Take care of yourself.
เขียนโดย Low Profile
สำนักพิมพ์ DOT
หนังสือเล่มนี้ชวนให้เรากลับมาดูแลตัวเอง ใส่ใจ และให้ความสำคัญกับตัวเอง เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตก็คือตัวเรา เพราะถ้าไม่มีเรา สิ่งที่เหลือก็ไม่มีความหมาย ไม่ว่าจะมีมูลค่าและสำคัญมากเท่าใดก็ตาม เริ่มจากดูแลตัวเอง เมื่อดูแลตัวเองได้ดี ก็จะมีแรงไปดูแลคนอื่นต่อไป
PART 1 สำคัญกว่าทำก่อน
• อารมณ์ ความคิด ความรู้สึกและเวลาของเรามีค่า ไม่ควรเอาไปเสียกับเรื่องแย่ๆ ที่เปล่าประโยชน์ ควรเอามาใช้กับเรื่องดีๆที่เราชอบหรือสนใจให้มากกว่าเดิม ให้เราใส่ใจคนที่รัก อย่าใส่ใจคนที่เกลียด อย่าเปลืองอารมณ์อันมีค่าแก่คนที่เกลียดเราหรือเราเกลียด
• ความรัก จะเห็นว่ายุคนี้เมื่อไม่พอใจอะไรนิดหน่อยก็เลิกกัน แทนที่จะปรับความสัมพันธ์ แต่เลือกที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์ สาเหตุที่คนยุคนี้รักกันง่ายและเลิกกันเร็ว เพราะเราเสพติดสารเคมีในสมอง
คบกันใหม่ช่วงแรกจะเป็นความตื่นเต้น แปลกใหม่ ทำให้ฮอร์โมนอะดรีนาลินและโดพามีนหลั่ง คบกันนานๆไป โดพามีนจะหยุดหลั่งแล้ว แต่จะมีฮอร์โมนออกซิโทซินสารแห่งความผูกพันอีกตัวหลั่งแทน
เมื่อไม่รู้ตัว และยังอยากเสพติดความสนุกสนาน ตื่นเต้น จากอะดรีนาลินและโดพามีน หลายคนจึงมองหาคนใหม่แทนคนเดิม ยิ่งยุคนี้โซเชียลทำให้เราเจอคนใหม่ได้ง่ายมาก จึงทำให้ไม่ได้หยุดพัก และทบทวน
ฉะนั้นจริงๆ เมื่อรู้ว่ามันเกิดเพราะสารเคมีในสมอง ถ้าเราอยากได้ความสนุก ตื่นเต้น เร้าใจ เราไปหาในเรื่องอื่นๆแทนได้ ไม่จำเป็นต้องหาในความรักเลย เพราะเราจะไม่มีวันพอ เราเป็นคนเลือกเองว่าอยากได้ความสนุกตื่นเต้นชั่วคราว หรือความผูกพันที่ยั่งยืน
• คนยุคนี้ทำงานแบบ Multitasking กันเยอะ (รวมถึงการใช้ชีวิตด้วย) คือทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ส่งผลให้เราขาดสมาธิ หลายคนมักคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำได้และช่วยให้งานมีประสิทธิภาพ แต่จริงๆ ผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์บอกว่ามนุษย์ทำงานได้ทีละอย่างเท่านั้น การทำงานที่มีประสิทธิภาพ จะใช้การโฟกัสและมีสมาธิกับงานเดียว 30 - 40 นาที โดยไม่ถูกรบกวน
95% ในกรุ๊ปต่างๆเป็นงานของคนอื่นที่เราไม่ต้องรู้ก็ได้
ลองปิดการแจ้งเตือนทุกแอพ เหลือไว้เฉพาะคนที่สำคัญจริงๆ หากมีเรื่องสำคัญจะมีคนเรียก หรือเมนชั่น (@) เข้ามาเอง หรือไม่ก็โทรหา เพื่อที่เราจะไม่เสียเวลา และได้โฟกัสกับงานที่ต้องทำจริงๆ เพราะหากเอาแต่ตอบสนองต่อคนอื่น เราก็จะไม่ได้ตอบสนองต่องานของตัวเอง ลองปิดการแจ้งเตือน 50% ชีวิตอาจดีขึ้นอีก 50%
• พูดถึงพฤติกรรมของคน Passive (เชิงรับ-ไม่โต้ตอบ) กับคนแบบ Aggressive (เชิงรุก-โต้ตอบก้าวร้าว)
คนแบบ Passive ขี้เกรงใจ เป็นคนง่ายๆ เวลามีเรื่องอะไรจะยอมหยวนๆไป ไม่อยากเหนื่อย มีปัญหา หรือวุ่นวาย ข้อดีคือไม่ทำให้เกิดการปะทะ แต่ข้อเสียคือทำให้เรากดเก็บความรู้สึกเอาไว้ จนเกิดแรงกดดัน และความเครียดซ่อนอยู่
ส่วนพฤติกรรม Aggressive เป็นพวกไม่เคยยอมใคร เรียกร้องสิทธิตัวเองเก่ง แสดงจุดยืน บอกความรู้สึกตัวเองตรงๆ ข้อดีคือไม่ต้องเก็บกดความรู้สึก เพราะคิดอะไรก็พูดออกมาเลย ส่วนข้อเสียคือการกระทำของเขามักจะสร้างปัญหาให้คนอื่นๆ เพราะโลกนี้ไม่มีใครได้ทุกสิ่งที่ต้องการแม้จะเรียกร้องเก่งแค่ไหน หลายครั้งคน Aggressive มักยึดมุมมองด้านเดียวของตนเองว่าถูกโดยไม่ดูมุมมองคนอื่น ว่าสิ่งที่คิดปกป้องสิทธิของเขาบางครั้งก็กำลังรุกล้ำสิทธิคนอื่นอยู่
จะเห็นว่าพฤติกรรมทั้งสองแบบมีข้อดี ข้อเสียทั้งคู่ หากเคยชินและใช้วิธีเดียวในการใช้ชีวิตก็ลำบาก เพราะคน Passive อาจป่วยเป็นซึมเศร้าได้ ส่วนคน Aggressive ก็อาจเป็นโรคหัวใจวาย หรือเส้นเลือดในสมองแตก เพราะว่าปะทะกับคนอื่นตลอดเวลา
แนะนำถึงการเป็นคนแบบที่ 3 เรียกว่า คน Assertive เป็นส่วนผสมของพฤติกรรมแบบแรกและแบบที่สองไว้ในตัวคนเดียว หากสิ่งที่เกิดขึ้นกระทบต่อเรื่องที่เราให้ความสำคัญและคุณค่าในชีวิต จะลุกขึ้นมาปกป้องและแสดงจุดยืนด้วยท่าทีอ่อนน้อม ไม่ก้าวร้าว
ทำให้คนมีนิสัยที่ 3 นี้ ไม่เป็นคนยอมคนหรือเป็นคนก้าวร้าวในสายตาคนอื่น เรียกว่าเป็นคนที่สมดุลในตัวเอง
เวลาคนที่ไม่ค่อยพูดแสดงความคิดเห็นลุกขึ้นพูดนั้น คนอื่นมักจะให้ความสำคัญ และน่าเชื่อถือกว่าคนที่พูดบ่อยๆ
ส่วนคนที่พูดเก่งๆ และแสดงจุดยืนตัวเองตลอดเวลา หากรู้จักเงียบและรับฟังเป็นจะมีเสน่ห์มาก
• ทำอย่างไรที่จะทำให้เราทำสิ่งที่ตั้งใจได้สำเร็จ โดยไม่เลิกไปก่อน ก็คือเราต้องรู้จักหาตัวช่วยที่จะผลักดันให้เราทำมันได้สำเร็จ
• ชีวิตคนเรามีโอกาสจะเห็นภาพรวม และออกแบบมันก่อนบ้างไหม? ให้มองภาพสิ่งที่ควรทำก่อนตามลำดับดังนี้ 1) สิ่งสำคัญในชีวิตที่ไม่เร่งด่วน ทำก่อน ตามด้วย 2) สิ่งสำคัญในชีวิตที่เร่งด่วน 3) สิ่งไม่สำคัญแต่เร่งด่วน และ 4) สิ่งที่ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน
ขงเบ้งสอนเล่าปี่ว่าถ้าเลือกทำสิ่งต่างๆในชีวิตตามลำดับนี้ ชีวิตของเราจะเป็นอย่างที่ต้องการได้อย่างมีคุณภาพ
สิ่งสำคัญในชีวิตที่ไม่เร่งด่วน เปรียบได้กับสุขภาพ ครอบครัว การดูแลพ่อแม่ งานในฝันที่อยากทำ การวางแผนหรือการพักผ่อน แม้จะไม่เร่งด่วนก็ตามต้องมาก่อน หลายครั้งเรามักเลือกเรื่องสำคัญเร่งด่วน หรือไม่สำคัญและไม่เร่งด่วนก่อน เพราะคิดว่าสิ่งสำคัญที่ไม่เร่งด่วนทำทีหลังก็ได้ แต่เอาเข้าจริงมันทำไม่ได้หรืออาจสายไปแล้วเสมอ
ถามตัวเองดูว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิตที่ไม่เร่งด่วนของเรา ให้เรากลับมาให้ความสำคัญกับการออกแบบชีวิต และเรียงลำดับความสำคัญของชีวิต เชื่อว่าชีวิตคนเราออกแบบได้
• โลกทุกวันนี้มีปัญหาต่างๆ นานา เข้ามาในชีวิตทำให้รู้สึกอยากบ่นออกมา จริงๆแล้วการบ่นสามารถทำได้ เพียงแต่ส่วนใหญ่เราจะบ่นผิดคน หรือบ่นให้คนที่จริงๆแล้วไม่จำเป็นต้องฟัง หรือแม้บ่นถูกคนก็เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจกัน เมื่อแก้ที่คนอื่นไม่ได้ หรือยาก ขั้นแรกเรามาแก้ที่ตัวเองกันก่อนดีกว่า
การบ่นจะทำให้เราเสียเวลาที่จะเอาไปทำอะไรดีๆและสร้างสรรค์ การบ่นทำให้เสียพลังงานที่จะทำงาน วางแผนชีวิตหรือพักผ่อน วิธีการรับมือกับการบ่นง่ายนิดเดียว คือ "ไม่บ่น"
1
PART 2 ก้าวแรกไปก่อน ก้าวที่สองจะตามมาเอง
• คนคิดบวกมีนิสัยอย่างไร อยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบไหน มีวิธีคิดยังไง จึงทำให้คิดบวก หรือคิดไม่เหมือนคนอื่น
ข้อสรุปใหญ่สำคัญคือ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ขนาดไหน คนคิดบวกจะไม่โฟกัสที่อุปสรรคหรือปัญหาอย่างเดียว แต่เขาจะมองหาทางแก้ไขหรือทางออกมากกว่า
ในตัวเราจะมี 2 โหมดทับซ้อนกันอยู่คือ 1) โหมดต่อสู้ (ความกลัว) 2) โหมดผ่อนคลาย (ความรัก)
เวลาเรากลัว ระแวง เข้าโหมดต่อสู้ เราจะตัดสินใจไม่ดี มองโลกแคบ หรือก็คือคิดลบ ต่างจากเวลาที่เราผ่อนคลายสบายๆ ได้ทำงานที่ชอบ หลับพักผ่อนเพียงพอ มีความรัก เข้าโหมดพักผ่อน เราจะตัดสินใจได้ดี มองโลกกว้าง หรือก็คือคิดบวก
บางทีคนคิดบวกหรือคิดลบแท้จริงอาจจะไม่มี
เพียงแต่ว่าในชีวิตประจำวันและสภาพแวดล้อม เราอยู่โหมดไหนมากกว่ากัน
เมื่อต้องคิดและตัดสินใจทำ เปลี่ยนมาทำในเวลาที่เราผ่อนคลายสบายๆ เต็มไปด้วยความรักจะดีกว่า
• เวลาพูดถึงอัจฉริยะสักคน เรามักจะคิดว่าเขาเก่ง เต็มไปด้วยพรสวรรค์มาแต่เกิด ทำอะไรครั้งแรกก็สำเร็จเลย แต่ความจริงอัจฉริยะก็คือคนธรรมดาที่ลงมือทำสิ่งต่างๆ ถูกบ้าง ผิดบ้าง คือทำ 10 ครั้ง อาจล้มเหลว 9 แล้วสำเร็จ 1 ครั้ง
แต่ทุกคนมักมองเห็นความสำเร็จ 1 ครั้งมากกว่าความล้มเหลว 9 ครั้ง
จึงสอนให้เรากล้าที่จะลงมือทำและสนุกกับชีวิตมากขึ้น เริ่มทำสิ่งต่างๆจากที่ตัวเองมีและตัวเองเป็น พอทำไปเรื่อยๆ สิ่งดีๆก็จะเกิดขึ้นเอง ก้าวแรกไปก่อน ก้าวที่สองจะตามมาเอง
• เด็บบี ฟอร์ด ผู้เขียนหนังสือ The Dark Side of the Light Chasers อธิบายว่า ถ้าเรามีนิสัยใจคออย่างไร เช่น แคร์คนอื่นมากเกินไป จะมีโอกาสดึงดูดคนที่มีนิสัยตรงข้ามเข้ามาหาในชีวิต ทั้งคู่ชีวิตหรือเพื่อนร่วมงาน เพื่อให้ระลึกถึงคุณสมบัติ หรือคุณลักษณะบางอย่างในตัวเราที่เรากดทับมันไว้หรือหลงลืมมันไป
แม้แต่ผู้ตามหาแสงสว่างก็ยังมีด้านมืดอยู่ในตัว
การไม่ไปกดทับหรือปฏิเสธมัน แต่ยอมรับและโอบกอดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จะทำให้เติบโตไปอีกระดับ เป็นคนที่มีมิติมากขึ้น เราปฏิบัติตามกฎหรือแคร์คนอื่นมากเป็นพิเศษ ทว่าโลกความจริง ไม่เสมอไปที่เราใส่ใจคนอื่น แล้วเขาจะใส่ใจตอบ หรือทำดีแล้ว คนอื่นจะดีตอบ
1
ผู้หญิงบางคนมีแฟนแล้วถูกทำร้ายร่างกาย การตะโกนด่าแล้วบอกลาก็จำเป็นกว่าการเป็นแม่พระแสนดีโดยยอมให้ผู้ชายทำร้ายร่างกายต่อไป บางครั้งการเป็นนางมารร้ายก็ไม่ได้แย่เสมอไป
• ไบรอัน เทรซี่ (Brian Tracy) ผู้เขียนหนังสือ Eat That Frog บอกว่าให้เรากินกบทุกเช้า คือให้เราหยิบเอางานที่สำคัญที่สุดมาทำเป็นลำดับแรกสุดของวัน (อย่าเก็บไว้ทีหลัง) เพราะช่วงเช้าเราจะมีพลังงานมากที่สุด หากเราจัดสรรเวลาเหล่านี้ไว้ทำงานที่สำคัญ หรือยากๆ เราก็จะได้ผลลัพธ์มากที่สุดต่างจากเดิมหน้ามือเป็นหลังมือ วิธีนี้ช่วยลดการหอบงานกลับไปทำที่บ้านได้ และมีเวลาเพิ่มขึ้นมากมายในชีวิต
ลองเก็บงานเล็กๆไว้ทำทีหลัง แล้วหยิบงานสำคัญขึ้นมาทำก่อน
• มนุษย์ต้องการพื้นที่ส่วนตัว แม้จะมีแฟนหรือแต่งงานแล้ว ก็ยังอยากได้เวลาและพื้นที่ส่วนตัวเพื่ออยู่คนเดียว และมือถือคือพื้นที่หลบภัยของหลายคน
หลายคู่เลิกกันเพราะเรื่องแบบนี้ ถ้าไม่ห่างเหินเกินไปจนไม่สนใจดูแล ก็มีความสัมพันธ์แบบตัวติดมากไป เชื่อว่าความรักที่ดีควรมีระยะห่างพอประมาณ
กฎข้อนึงของความสัมพันธ์ คือรักษาพื้นที่ส่วนตัวและความเป็นตัวเองไว้ 70% แชร์พื้นที่ส่วนกลางกับอีกคน 30% โดย 30%นี้เป็นของเรา เมื่อรวมกับของเขาอีก 30% ก็จะมีพื้นที่ส่วนกลางระหว่างกันถึง 60% ซึ่งสูตรนี้สามารถปรับเปลี่ยนตัวเลขได้ตามชอบใจเลย
รัก นับถือ เคารพ และรักษาสิทธิ์ของตัวเองให้มากๆ แล้วก็รัก นับถือ เคารพ และรักษาสิทธิ์ของอีกคนให้มากๆเท่ากับตัวเอง แล้วเรื่องดีๆจะเกิดขึ้น
• ผู้รู้ทางการเงินทุกคนต่างสอนว่าเราควรออมเงินสำรองที่ไม่เอามาใช้เลย 10-15% ของเงินเดือน เผื่อเวลาฉุกเฉิน แต่ผู้เขียนเล่มนี้บอกว่าตอนแรกลองแล้วทำไม่ได้ ก็เลยมาคิดว่า วันหนึ่งๆเราจ่ายให้คนอื่นตั้งมากมาย ทั้งซื้อข้าว ซื้อกาแฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเดินทาง ฯลฯ แต่เราไม่เคยจ่ายให้ตัวเองเลย
จึงเป็นที่มาว่า เขา "จ่ายเงินให้ตัวเองก่อนทุกเช้า" วันละ 50 บาท อาจจะไม่มากในสายตาของหลายคน แต่การทำแบบนี้ทำให้เขามีเงินเก็บจนได้ เมื่อถึงสิ้นเดือนค่อยเอาไปฝากธนาคาร วิธีนี้ทำให้คนเก็บเงินไม่อยู่อย่างเขามีเงินเก็บแสนบาทแรกโดยไม่กลายเป็นสิ่งของที่อยากได้ไปเสียก่อน
• ทุกอาชีพที่ประกอบสร้างเป็นสังคมขนาดใหญ่ ล้วนมีความสำคัญเท่ากัน แม้วันนี้เรากำลังประกอบอาชีพที่ไม่มีใครนับถือและมองเห็นคุณค่า โปรดอย่าลืมว่า อาชีพที่เราทำอยู่นั้นก็สำคัญ มีคุณค่า มีประโยชน์ ขาดหายไปไม่ได้ และเราที่ทำอาชีพเหล่านั้นก็คือคนมีคุณค่า
PART 3 พลังงานที่ดีตลอดชีวิตการเดินทางของเรา
• งานคือความเครียด ใครโชคดีได้ทำงานที่รักและชอบ รวมถึงเงินดีก็น่ายินดีด้วย แต่มีอีกไม่น้อยที่ไม่ได้ทำงานที่ชอบ หรือชอบแล้วแต่เงินน้อย หรือได้หัวหน้าไม่ดี ทำให้รู้สึกกดดันทุกวันจนเครียด ทำให้หลายคนหมดไฟ และป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
ทำยังไงไม่ให้เราหมดไฟไปเสียก่อน หนึ่งในหลายคำตอบคือเราต้องมีงานอดิเรก งานอดิเรกช่วยลดอาการเครียดและหมดไฟได้ชะงัดเลย
งานอดิเรกที่เราชอบและสนใจ ที่เราเลือกทำและศึกษาเอง เราสามารถควบคุมโลกใบนี้ของเราได้แทบ 100% ที่สำคัญเราสามารถกำหนดช่วงเวลาที่จะทำหรือไม่ทำงานอดิเรกได้ 100% กำหนดเป้าหมายว่าจะทำเล่นๆขำๆ หรือเอาให้เก่งเลยก็ได้
งานที่เราชอบ รักและสนใจ ทำแล้วสนุก อยากทำต่อ ทำต่อแล้วจะเก่งขึ้น เก่งขึ้นก็จะสนุกแล้วอยากทำต่อไป เป็นวงจรแห่งความสุขหมุนวนไปไม่จบสิ้น ทำให้เรามีพลังงานที่ดีและมีเป้าหมายชีวิต
เห็นด้วยกับผู้เขียนว่า แม้เราจะควบคุมโลกการทำงานจันทร์ถึงศุกร์ไม่ได้เลย แต่ในตอนเย็น หรือเสาร์ อาทิตย์ ทั้งสองวัน เราควบคุมและสร้างโลกของเราได้
• ร้านกาแฟที่ไม่ได้ขายกาแฟเพียงอย่างเดียว ทว่าขายสถานที่เพื่อให้ลูกค้ามาใช้งานด้วย จิตดั้งเดิมของสตาร์บัคส์ คือร้านกาแฟที่มีกลิ่นกาแฟคละคลุ้ง ให้ผู้คนอยากมานั่งเล่น พักผ่อน พบปะเพื่อนฝูงและทำงาน (เป็นสถานที่ที่ 3 ที่เราอยู่ นอกจากบ้านและที่ทำงาน ไม่ใช่ร้านกาแฟที่ขายอาหารเช้าแข่งกับร้านอาหารอื่นๆ เพราะกลิ่นอาหารจะกลบกลิ่นกาแฟในร้าน ทำลายมนตร์เสน่ห์ดั้งเดิม จึงสั่งเลิกขายอาหารเช้า เหลือเพียงขนมปังไม่กี่ชนิด) ทำให้สตาร์บัคส์ที่เคยเจอวิกฤต ข้ามผ่านมรสุม และได้รับความนิยม
แม้ผู้เขียนจะไม่ค่อยได้ใช้บริการร้านกาแฟแห่งนี้ แต่นี่คือเหตุผลที่เขาชื่นชมสตาร์บัคส์ เวลาที่เราไม่รู้จะไปต่อทางไหน ให้ย้อนกลับมาคิดว่า "จิตวิญญาณดั้งเดิม"ของเราคืออะไร สิ่งที่เราต้องการเป็น และทำคืออะไรกันแน่ เราอยากมีชีวิตแบบใดต้องการเป็นคนยังไง และรักในสิ่งใด
• กฎ 30/30/30 เป็นกฎที่บอกว่า จะมีคน 30% ที่รักและสนใจเรา ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม และจะมีกลุ่มที่สองอีก 30% ที่ไม่ว่าเราจะพูดหรือทำดีแค่ไหน เขาก็จะไม่ชอบและเกลียดเราเสมอ ส่วนกลุ่มสุดท้าย 30% ที่เหลือ ไม่ว่าเราจะทำอะไร เขาจะเฉยๆ ไม่สนใจเรา
ทำให้เห็นว่าชีวิตมีทั้งคนที่ชอบเรา เกลียดเรา และเฉยๆกับเรา จำนวนพอๆกัน
ปัญหาคือ เรามักจะลืมหรือมองข้ามคนที่ชอบเราไป แต่มักไปสนใจคนที่ไม่ชอบหรือไม่สนใจเราแทน มันเป็นการเสียเวลาเปล่าที่จะทำให้คนที่ไม่ชอบหันมาชอบเรา
ส่วนคนที่ชอบเรา ไม่ว่าเราจะทำอะไร เขาก็จะคอยติดตาม เฝ้ามอง ให้กำลังใจเราเสมอ เขาจะคอยเป็นห่วง สนับสนุน ถนอมน้ำใจ เป็นกลุ่มคนที่จะไม่ทำร้ายเรา แม้เราจะทำตัวแย่แค่ไหน ก็จะอยู่กับเราไปจนวันสุดท้ายของชีวิต นี่คือกลุ่มคนสำคัญที่สุดที่เราควรใส่ใจ ดูแล และให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง
มาเป็น 30% แรกของกันและกัน
• งานหรือเป้าหมายใหญ่ๆในชีวิต ที่เราอยากทำให้มันสำเร็จเร็วๆในเวลาอันสั้น ผู้เขียนเล่มนี้เห็นว่าเป็นไปไม่ได้ งานใหญ่ต้องใช้เวลา คนพบว่ายิ่งรีบ มุ่งมั่นตั้งใจกับเป้าหมายมากเท่าไหร่ แล้วผลลัพธ์ไม่ปรากฏสักที เราจะยิ่งเหนื่อย เครียดและท้อมากขึ้นไปอีก แล้วความรู้สึกด้านลบจะมาบั่นทอนกำลังใจ กำลังกายเราอีกด้วย
วิธีแก้คือเราต้องพยายามแต่พอดี หรือไม่พยายามเลยก็ได้ ทำมันตามกำลังกายกำลังใจของเรา
เดวิด เจ ชวอร์ต ผู้เขียนหนังสือ The Magic of Thinking Big บอกว่า"หากเรามีเป้าหมายใหญ่ที่ดูแทบเป็นไปไม่ได้ ก็ให้ฝึกเดินทีละไมล์" โดยไม่มีการเปรียบเทียบว่าเดินมาได้เท่าไหร่ เหลือระยะทางอีกเท่าไหร่ ตั้งเป้าหมายคือเดินทีละไมล์พอ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เราทำได้ แล้วจะค่อยๆ เข้าใกล้ความสำเร็จเอง
• ข้อคิดดีๆของ นโปเลียน ฮิลล์ เขาบอกว่า "งาน 5% ที่เราทำเกินมานั้น สำคัญกว่างานที่เราทำมาทั้งหมด"
เวลาที่ได้รับมอบหมายงานและเราทำได้ 100% จะถือว่าเท่ากับ 0 เพราะผู้ว่าจ้างรู้สึกว่าได้จ่ายเงินตอบแทนกลับคืนไปแล้ว (ในรูปเงินเดือน ค่าจ้าง) จึงไม่รู้สึกพิเศษหรือติดค้างอะไร แต่ถ้าเราทำเพิ่มเกินอีก 5 -10% ผู้มอบหมายงานจะรู้สึกเซอร์ไพรส์ หรือประหลาดใจนั่นเอง เพราะรู้สึกว่าได้รับงานตอบแทนกลับมามากกว่าที่คิด เป็นคำตอบของคำถามที่ว่าทำงานบรรลุเป้าที่ตั้งไว้แล้ว ควรหยุดหรือทำเพิ่มต่อไปดี
• กฎ 80/20 ของพาเรโต เจ้าของแนวคิดทำน้อยได้มาก กฎนี้บอกว่า สำหรับทุกสิ่งที่เราทำนั้น จะมีสิ่งที่เราลงมือทำถึง 80% แต่จะได้ผลลัพธ์เพียง 20% เท่านั้น ขณะมีบางสิ่งที่เราลงมือทำเพียง 20% แต่จะให้ผลลัพธ์ถึง 80%
เราต้องพยายามให้ถูกวิธี กฎ 80/20 ของพาเรโตจึงสำคัญ คนที่ทำอะไรไม่กี่อย่างที่เข้าใจ "จุดแข็งของตัวเองว่าชอบอะไร" ทำให้สามารถโฟกัสในสิ่งที่ตัวเองสนใจและทำได้ดี จึงไม่เสียเวลาชีวิตไปกับเรื่องอื่นๆ ทำให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพราะรู้จักตัวเอง ตรงกับกฎของพาเรโตที่ทำงาน 20 แต่ได้ผลลัพธ์ถึง 80
• เมื่อเจองานเยอะ และทำให้เหนื่อยล้า ที่ดูเหมือนยิ่งงานเสร็จเร็ว งานใหม่ยิ่งเข้ามา จนพาความเครียดเข้ามาด้วย การจัดลำดับความสำคัญของงาน และการพูดปฏิเสธว่าติดงานสำคัญอยู่ ไม่ว่างบ้าง ไม่ได้บ้าง หรือฝึกให้คนอื่นต้องรอคอยบ้าง ก็อาจเป็นคำตอบที่ดี
PART 4 ให้คิดว่าเป็นโอกาสที่เราจะทำให้มันดีขึ้นได้
• สำหรับบางงานบางอาชีพนั้นอาจยากลำบากในตอนแรก เป็นแล้วก็ไม่ได้รายได้เยอะ ต้องทำงานอื่นเสริมไปด้วย แต่ภายหลังก็สามารถประสบความสำเร็จได้
• เวลาเจอคนที่มีทัศนคติและบุคลิกต่างกับเรามากๆ เราจะอึดอัด เพราะมีโอกาสที่จะมีมุมมองความคิดเห็นที่ต่างกัน จึงอาจปะทะกันสูง เราจึงชอบอยู่กับคนที่คิดเหมือนกับเรา ทำอะไรคล้ายกัน หลีกเลี่ยงการพบเจอกับคนที่คิดต่าง เพื่อตัดปัญหาที่จะทะเลาะ หรือเป็นศัตรูไป
ตอนเป็นเด็กเราทุกคนจะทำการพัฒนาบุคลิกภาพของตัวเองขึ้นมา โดยบุคลิกภาพของเราจะออกแบบขึ้น เพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมในตอนนั้น
เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ นักจิตวิทยาชื่อดังชาวอเมริกันบอกว่า เราจะรับมือกับสิ่งเร้าภายนอก หรือกลไกป้องกันตัวเองอยู่ 4 แบบ คือ
1) ยอมรับหรือยอมตาม
2) ตำหนิหรือต่อต้าน
3) มีเหตุผลหรือใช้ความจริงจัง
4) เฉไฉ เฮฮา บิดพลิ้ว
เราใช้บุคลิกภาพข้อไหนในการดำเนินชีวิตอยู่ ชอบตัวเองที่เป็นอยู่หรือไม่ มีอะไรอยากปรับปรุง สามารถอัพเกรดได้เลย
• ระหว่างการดำเนินชีวิต คงไม่มีใครหนีพ้นจากปัญหา แม้เราจะป้องกันตัวเองดีแค่ไหน บางคนเลือกหนทางไม่เสี่ยงทำอะไรทั้งสิ้น เพราะไม่เสี่ยงจะได้ไม่เกิดปัญหา แต่ความจริงความเสี่ยงที่สุดคือการไม่ลงมือทำอะไรต่างหาก
ดังนั้นการไม่ลงมือทำอะไรเลย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา จึงไม่ใช่คำตอบที่ดีนัก แต่น่าจะเป็น เมื่อเจอกับปัญหาแล้วเรา"จะทำอย่างไร"มากกว่า
• ถ้าอยากมีผลงาน อยากทำอะไรให้สำเร็จให้สร้างผลงานที่เป็นดราฟต์แรกออกมาก่อน
สำหรับคนทำงานจริงจะพบว่า ไม่มีทางที่ผลงานจริงจะสวยงามเท่าในหัวคิด เพราะทำจริงจะมีอุปสรรค ความยากในการถ่ายทอด นำเสนอ หรือเรื่องเทคนิคความเชี่ยวชาญ ที่ต้องใช้เวลาสั่งสม เหตุนี้เองทำไมบางคนสร้างผลงานได้มาก เพราะพวกเขาไม่ได้ยึดติดความสมบูรณ์แบบมากเกินไป แค่ดราฟต์แรกทำได้ 20% เขาก็เอาออกมาแล้ว (ไว้ค่อยแก้ทีหลัง) สุดท้ายผลงานที่เรามองว่าห่วยแตกนั้น อาจมอบโอกาส นำเราไปสู่สิ่งใหม่ๆ หรือสเต็ปต่อไปเอง
• ดีพัค โชปรา ผู้เขียนหนังสือ The Seven Spiritual Laws of Success แนะนำว่าเวลาเราเจอปัญหาหรืออุปสรรคที่ไม่พอใจนั้น ให้เราหยุดที่จะวิจารณ์ หรือตัดสินสิ่งที่เกิดขึ้นก่อน โดยมี 3 ขั้นตอนที่ต้องจัดการตัวเองคือ
1) หยุดที่จะตัดสิน วิจารณ์ หรือโทษคนอื่น เพราะอาจไม่เป็นอย่างที่เราคิด
2) หยุดที่จะตัดสิน วิจารณ์ หรือโทษตัวเอง เพราะจะลดทอนคุณค่าหรือพลังงานของเราลง
3) ให้คิดว่าปัญหา อุปสรรค หรือความล้มเหลวต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งการเติบโตซ่อนอยู่ คือเป็นโอกาสที่เราจะทำสิ่งนั้นให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้
มองปัญหาเป็นก้อนหินที่เราจะใช้ถมหลุมบ่อที่ขวางหน้า หรือมองเป็นขั้นบันไดที่เราจะเหยียบข้ามอุปสรรคนั้นไป หากเราทำสิ่งนี้กับทุกอุปสรรค หรือทุกปัญหาที่เข้ามาในชีวิต ชีวิตของเราจะเต็มไปด้วยก้อนหิน หรือขั้นบันไดมากมายที่จะช่วยยกระดับ และพัฒนาชีวิตให้สูงขึ้นได้
• เวลาโกรธ ถ้าไม่แสดงออกมา เราจะกดทับความโกรธ บอกตัวเองว่าไม่เป็นไรและเก็บมันไว้ แต่ยิ่งกดทับความโกรธมากเท่าไหร่ เรื่องน่าโมโหยิ่งเพิ่มขึ้น
มีคนเคยบอกไว้ว่า "เหตุการณ์จะเกิดซ้ำๆ เพราะเรายังไม่เรียนรู้และก้าวผ่านปัญหาไปได้นั่นเอง เรื่องที่ยังก้าวไม่ผ่าน มันจะย้อนกลับมาเสมอ"
เวลาโกรธคนอื่น เราน่าจะเปลี่ยนความต้องการให้คนอื่นทำอะไร มาเป็นความต้องการให้ตัวเองทำอะไรแทนดีกว่า เมื่อเลิกคาดหวังและต้องการอะไรจากคนอื่นแล้ว พลังและอำนาจในการจัดการเรื่องต่างๆ จะเปลี่ยนมาอยู่ที่ตัวเอง เราจะพบพลังสร้างสรรค์ และทำเรื่องดีๆ ได้อีกเยอะ
ขอบคุณ คุณ Low Profile ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ที่รวบรวมวิธีที่จะดูแลตัวเองทั้งกาย ใจ อารมณ์ ความคิด มาไว้ให้เลือกใช้ตามสถานการณ์ เชื่อว่าดูแลตัวเองดีแล้ว ทุกอย่างจะดีขึ้น ขอบคุณค่ะ
สนใจหนังสือคลิกลิงก์ 👇
โฆษณา