30 มี.ค. 2024 เวลา 05:30

Psychological Safety ทางออกของผู้นำองค์กรยุคใหม่ สร้างความสำเร็จได้ทั้งคนและทีม

เคยรู้สึกไหมว่าทำไมผู้นำองค์กรหลายคนถึงมีออราบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกเคารพ ชื่นชอบและรู้สึกสบายใจที่ได้ทำงานด้วยไปพร้อมๆ กัน?
หน้าที่ของผู้บริหารหรือผู้นำองค์กรคือการดำเนินกิจการต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นการวางกลยุทธ์ การประเมินประสิทธิภาพของพนักงาน การจัดการบริหารความเสี่ยง และการรับมือแก้ปัญหาที่ทำให้ผลประกอบการขององค์กรหยุดชะงัก ในช่วงหนึ่งคนจึงมองว่าผู้นำจะต้องมีภาพลักษณ์ที่เคร่งขรึม เด็ดขาด ฉลาดและมีประสบการณ์
1
แต่ในโลกสมัยใหม่ที่ความเท่าเทียมถือเป็นบรรทัดฐานของสังคม บางคนอาจมีกลิ่นอายของความเป็นผู้นำที่มากความสามารถ และเป็นมิตรกับสมาชิกในองค์กรไปพร้อมๆ กันโดยที่ไม่ต้องทำอะไรมากมาย และไม่จำเป็นต้องมีขบวนผู้ติดตามเดินล้อมหน้าล้อมหลัง หรือพยายามประกาศศักดาของตัวเอง ว่าแต่อะไรจะสามารถทำให้เรามีออราได้เหมือนคนเหล่านี้บ้าง?
เคล็ดลับอยู่ที่ ‘Humanized Leadership’
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป มุมมองที่ผู้บริหารหรือผู้นำมีต่อองค์กรก็ควรเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย จากที่เคยให้ความสำคัญกับ ‘ฟันเฟือง’ ซึ่งนำไปสู่ผลกำไรและผลประกอบการทางธุรกิจ ก็ควรเปลี่ยนมาเห็นความสำคัญของ ‘คนทำงาน’ ซึ่งเป็นเบื้องหลังของความสำเร็จมากยิ่งขึ้น นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของคุณสมบัติผู้นำในโลกยุคใหม่ที่มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น ที่ได้รับการนิยามว่า ‘Humanized Leadership’
คุณสมบัติของผู้นำที่มีความเป็นมนุษย์นับเป็นทักษะการบูรณาการรูปแบบหนึ่ง เพราะนอกจากเราจะต้องใช้สมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความคิดที่ซับซ้อนเป็นระบบ (Executive Functions) ในการจัดการและบริหารแล้ว เรายังต้องใช้คุณธรรมและมนุษยธรรมเข้ามาบริหารงานไปด้วย
การที่สมองทำงานควบคู่กันทั้งสองฟังก์ชันแบบนี้ ทำให้ Humanized Leadership กลายเป็นทักษะที่ซับซ้อนและคลุมเครือ เราไม่อาจสร้าง ‘คู่มือบริหารของ Humanized Leader’ และแจกแจงหน้าที่ที่สำคัญทีละข้อได้ เพราะความเป็นมนุษย์ของพวกเรานั้นช่างแตกต่างและไร้รูปแบบโดยสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะไม่มีทางออกสำหรับเรื่องนี้ ในการเสริมสร้างคุณสมบัติของ Humanized Leadership ที่มีทั้งความสามารถในการบริหาร แต่ยังคงไว้ซึ่งคุณธรรมและความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์และเพื่อนร่วมงานนั้นอาจเริ่มต้นได้ด้วย ‘หลักจิตวิทยา’ ที่สำคัญกับความคิดของมนุษย์ ดังต่อไปนี้
สร้าง ‘Psychological Safety’ ให้คนทำงานรู้สึกปลอดภัย
ความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) เป็นศัพท์ทางจิตวิทยาที่เอมี เอ็ดมอนด์สัน (Amy Edmondson) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาองค์กรและผู้นำองค์กรบัญญัติขึ้นมาเพื่ออธิบายถึง “ความเชื่อที่คนทำงานมีร่วมกัน” ซึ่งจะทำให้คนในทีมรู้สึกปลอดภัย และทำให้ทีมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โดยวิธีการสร้าง Psychological safety สำหรับหัวหน้าหรือผู้นำองค์กรยุคใหม่ที่มีความเห็นอกเห็นใจและมีความเป็นมนุษย์มากขึ้นก็สามารถทำได้ดังนี้
[ ] ลดการแบ่งขั้วในที่ทำงาน
เนื่องจากการแบ่งขั้ว การเล่นอำนาจ หรือการแบ่งพรรคแบ่งพวกมักจะทำให้คนรู้สึก ‘ไม่ปลอดภัย’ พวกเขาจะระวังความคิด การตัดสินใจ รวมถึงควบคุมพฤติกรรมและคำพูดของตัวเองในสถานการณ์ต่างๆ มากเกินไป และนั่นจะกลายเป็นข้อจำกัดให้พวกเขาไม่สามารถคิด หรือตัดสินใจอย่างอิสระได้
[ ] สนับสนุนให้เกิดความหลากหลายในที่ทำงาน
การเคารพความหลากหลายเองก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้องค์กรสามารถพัฒนาและขับเคลื่อนต่อไปได้ ยิ่งไปกว่านั้น การที่เราเคารพความแตกต่างของทุกคนจะช่วยให้พนักงานมี ‘ทักษะการปรับตัว’ ต่อความเปลี่ยนแปลง และปรับตัวได้อย่างฉับไวมากยิ่งขึ้นด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้นำองค์กรหรือหัวหน้าเองก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ความคิดเห็นที่ต่างกันของพนักงานกลายเป็นความขัดแย้งที่สร้างช่องว่างและบรรยากาศอึมครึมให้กับทีม ไม่เช่นนั้นก็จะก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบตามมาได้
[ ] จูงใจพนักงานด้วย ‘รางวัล’ ตามผลงานของตนเอง
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรามีความเป็นมนุษย์มากที่สุดก็คือการเห็น ‘คุณค่า’ ของมนุษย์ด้วยกัน การให้รางวัลจึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันคือการสื่อสารออกไปว่าองค์กรเห็นคุณค่าของพนักงาน นับเป็นการแสดงคำขอบคุณอีกวิธีหนึ่งได้ด้วย นอกจากจะทำให้พนักงานเห็นคุณค่าในฝีมือของตัวเองแล้ว ‘รางวัล’ จากหัวหน้าหรือบริษัทยังทำหน้าที่เป็นแรงขับและกระตุ้นให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงมีเป้าหมายในการพัฒนาตัวเองให้เก่งยิ่งขึ้นอีกด้วย
[ ] เน้นการพัฒนาในระดับบุคคลและระดับทีม
หมดยุคของหัวหน้าที่ปล่อยให้ลูกน้อง หรือพนักงานใหม่เรียนรู้ด้วยตัวเองแล้ว ผู้นำองค์กรยุคใหม่ที่มีความเป็นมนุษย์สูงจะต้องเห็นว่าพนักงานแต่ละคนสามารถพัฒนาทักษะได้ และการเติบโตของพนักงานเหล่านั้นก็จะถูกนำมาต่อยอดสร้างผลผลิตดีๆ ให้กับบริษัทต่อไป ดังนั้นการลงทุนที่ถูกต้องควรที่จะลงทุนไปกับการพัฒนาคุณภาพพนักงานขององค์กรให้ดีที่สุด
พนักงานใหม่จะกล้าแสดงความคิดเห็น และกล้าเผชิญงานที่ท้าทาย โดยที่รู้ว่าพี่ๆ ในทีมพร้อมที่จะสนับสนุนและช่วยเหลือ ส่วนหัวหน้าทีมก็จะรับมือและแก้ปัญหาได้ดียิ่งขึ้น เพราะได้รับพลังการสนับสนุนจากสมาชิกในทีม และอาจจะแก้ปัญหาได้เร็วขึ้นด้วยถ้าเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นร่วมกัน ยิ่งไปกว่านั้น หากพนักงานทุกคนในองค์กรยึดคุณสมบัตินี้เหมือนกันหมด ก็จะยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้และโอกาสเติบโตขององค์กรให้มากขึ้นด้วย
การเติบโตขององค์กรอาจเริ่มได้จากตัวผู้นำปฏิบัติกับพนักงานอย่างมนุษย์ที่มีคุณค่าเท่ากันเสียก่อน เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนได้พัฒนาตัวเอง แสดงความคิดเห็นต่อกิจการต่างๆ ในบริษัทอย่างเต็มที่ แล้วพวกเขาจะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้
เพราะผู้นำคือคนที่สำคัญที่สุดที่จะสามารถกำหนดทิศทางขององค์กร และเป็นเชือกประสานทักษะและความสามารถของ ‘คนทำงาน’ ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เตรียมพบกับคุณสมบัติของผู้นำองค์กรในโลกยุคใหม่ได้ใน Session 8 : Humanized Leader ผู้นำยุคใหม่ต้องใช้ใจบริหารคนอย่างไรถึงจะสำเร็จ | 16.00 - 16.45 น. ในงาน Mission To The Moon Forum 2024 Work-Life Survival Guide คู่มือเอาชีวิตรอดสำหรับคนสู้งาน
บรรยายโดยคุณชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Food Passion และคุณจิตสุภา วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวีและไทยรัฐออนไลน์ ดำเนินการบรรยายโดยคุณชญาน์ทัต วงศ์มณี นักเขียนชื่อดังที่รู้จักกันในนามเพจ 'ท้อฟฟี่ แบรดชอว์'
📌สามารถซื้อบัตรได้แล้ววันนี้ที่ https://www.zipeventapp.com/e/Mission-To-The-Moon-Forum-2024
อ้างอิง
- The Power of Humanized Leadership : Srini Pillay, Duke Corporate Education - https://bit.ly/4ak1Y60
#worklife
#leadership
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา