29 มี.ค. เวลา 04:52 • หนังสือ

📚 รีวิวสรุปหนังสือ Same as Ever ♾️ แบบละเอียดยิบสไตล์สิงห์นักอ่าน 📚

“สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนสอนอะไรเราได้บ้าง?” ⏳
Same as Ever: A Guide to What Never Changes
เขียนโดย Morgan Housel (ผู้เขียนหนังสือ The Psychology of Money)
(ขอบอกก่อนว่ารีวิวสรุปอันนี้ยาวมากจริง ๆ ครับ ใครยังไม่มีเวลาอ่านแนะนำให้แชร์เก็บไว้ก่อนครับ 😁)
……………..
📌 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเชื่อว่าหลายคนคงรู้จักหนังสือ “The Psychology of Money” และคาดว่าหลายคนคงได้อ่านหนังสือเล่มนี้กันบ้างมากพอสมควร (มีแปลไทยแล้วครับ หรือใครยังไม่ได้อ่านผมเคยรีวิวเอาไว้แล้วในเพจครับ)
และเมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนคนเดียวกัน “Morgan Housel” ได้เขียนหนังสือเล่มใหม่ที่แค่เห็นชื่อหนังสือก็น่าสนใจแล้วอย่าง “Same as Ever” ♾️ (เล่มนี้ผมซื้อจาก Asia Books ครับ)
👉🏻 หนังสือเริ่มต้นด้วยว่า หากมนุษย์เราเดินทางจากอดีต 500 ปีที่แล้วมาในปัจจุบัน เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกนี้มากมายทั้งในเรื่องของการพัฒนาทางเทคโนโลยี ความเป็นอยู่ หรือแม้กระทั่งการแพทย์
แต่อย่างไรก็ตามเราจะยังคงเห็นสิ่งที่เหมือนเดิมอย่างแน่นอนในตัวมนุษย์คือ ความโลภ หรือ ความกลัว ที่อยู่ติดตัวมนุษย์เรามาตลอดไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ 😮
อีกทั้งมนุษย์ก็ยังคงเสาะหาความสุขอยู่ตลอดเวลาทั้งที่โลกในปัจจุบันนั้นก็ดีมากกว่าในอดีตแบบเทียบกันไม่ได้เลย
💡 การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้นดีครับ แต่พฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปเลยไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่นั้นจะสอนบทเรียนที่ล้ำค่าให้เราได้ และเราจะสามารถทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้จากสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เหล่านี้ครับ
นอกจากนั้นสิ่งที่ยังไงก็จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงนั้นสำคัญมากเพราะจะช่วยให้เรารู้ว่าเราควรจะจัดการกับสิ่งที่คาดว่าจะเกิดซ้ำในอนาคตอย่างไร
📍 Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon.com กล่าวไว้ว่าสิ่งที่เค้ารู้แน่นอนว่าจะไม่เปลี่ยนคือ ลูกค้าจะต้องชอบของที่จัดส่งในราคาถูกและเร็วอย่างแน่นอน ทำให้เค้าตัดสินใจลงทุนในด้านการขนส่ง เพื่อช่วยให้ของจัดส่งด้วยราคาที่ถูกและเร็วที่สุด...
……………..
“Hanging by a Thread” 🧵
ชีวิตเรานั้น ”แขวนอยู่บนเส้นด้าย” 🤔
ผู้เขียนได้เล่าเรื่องที่เกิดกับตัวเขาเองว่า เขามีเพื่อนอยู่สองคนที่ไปเล่นสกีด้วยกันเป็นประจำ แต่มีอยู่ครั้งสุดท้ายที่เขาก็ไม่แน่ใจว่าทำไมถึงตัดสินใจไม่ไปด้วยกับเพื่อนสองคนนั้นอีก ซึ่งครั้งนั้นดันเกิดเหตุการณ์หิมะถล่มพอดี ทำให้เพื่อนของเขาสองคนนั้นต้องเสียชีวิต....
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าหลายต่อหลายครั้งที่เหตุการณ์บางอย่างจะให้ผลลัพธ์ต่างกันสิ้นเชิง หากการตัดสินใจของเราเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าการตัดสินใจครั้งนั้นจะให้ผลลัพธ์แบบไหน จนกระทั่งเราเห็นผลลัพธ์ของมัน แบบเหตุการณ์ที่ผู้เขียนได้เล่าไว้ข้างต้นครับ
💡 เรามักจะรู้ว่าเรื่องราวต่าง ๆ จะจบอย่างไร แต่เราไม่ค่อยรู้ว่ามันเริ่มจากจุดใด เสมือนโลกใบนี้แขวนเราอยู่บนเส้นด้ายแบบนี้แหละครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเงิน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งเล็ก ๆ ที่เราทำหรือตัดสินใจล้วนมักส่งผลในอนาคตที่เราไม่อยากจะเชื่อได้ครับ
……………..
“Risk is What You don’t See” ⚠️
ความเสี่ยงจริง ๆ แล้วคือสิ่งที่เรามองไม่เห็นหรือนึกไม่ถึง 😟
หลายคนที่มีโอกาสทำงานในด้านธุรกิจ มักจะคุ้นเคยกับคำว่า การจัดการความเสี่ยง หรือ Risk Management ซึ่งเราพยายามประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ออกมาแล้วหาทางป้องกันความเสี่ยงนั้น ๆ
👉🏻 แต่หลายครั้งเราก็ยังเห็นว่ามันก็ยังมีสิ่งที่เราคาดไม่ถึงเกิดขึ้นและสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจเราได้อยู่ดี ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลยเช่น วิกฤติการณ์โรคระบาดอย่างโควิด-19 ครับ ใครจะไปคิดว่ามันจะเกิดขึ้น
สิ่งที่เรามองไม่เห็นเหล่านี้แหละครับจะทำให้เกิดความเสียหายที่ร้ายแรงมากอย่างคาดไม่ถึง เพราะเราไม่ได้มีแผนการรองรับไว้ก่อนเลยครับ มันยากมากที่เราจะสามารถประเมินสิ่งเหล่านี้ได้ล่วงหน้าว่า เหตุการณ์โรคระบาดจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ถูกมั้ยครับ?
💡 อย่างไรก็ตามเราก็มีสิ่งที่เราสามารถทำได้อยู่สองอย่างก็คือ “Invest in preparedness, not prediction”
อย่างแรกเราต้องเตรียมการรับมือล่วงหน้า เช่น การป้องกันแผ่นดินไหวของรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เขารู้ว่าสักวันแผ่นดินไหวครั้งใหญ่จะต้องเกิดแน่นอน แต่ไม่สามารถรู้ได้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เขาจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมทั้งทีมฉุกเฉิน การออกแบบตึกที่ต้องสามารถรองรับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ ซึ่งแผ่นดินไหวอาจจะไม่เกิดขึ้นใน 100 ปีนี้ก็เป็นได้
อย่างที่สองคือ เราสามารถเตรียมรับมือได้เฉพาะสิ่งที่เรารู้เท่านั้น ดังนั้นในการจะทำอะไร เราควรจะเผื่อเรื่องเหล่านี้ไว้หน่อยครับจนเราสึกว่า “มันมากเกินไป” ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของการออม ให้เราออมเพิ่มมากกว่าที่เราคิดไว้สักหน่อยในระดับที่เราเริ่มรู้สึกว่ามันมากเกินไป ครับ (แบบที่ไม่ค่อยมีเหตุผล) เพราะเหตุการณ์ไม่คาดฝันมักจะเกิดขึ้นโดยเราก็อธิบายไม่ได้ด้วยเหตุผลครับ หากมันเกิดขึ้นจริง อย่างน้อยความเสียหายหรือผลกระทบก็จะไม่มากเกินไป
……………..
“Expectations VS Reality”
“The first rule of happiness is low expectations”
💡 กฎข้อแรกของการมีความสุขก็คือให้มีความคาดหวังน้อย ๆ ไว้ครับ
แปลกใจไหมครับว่าโลกในปัจจุบันถ้าเทียบกับในยุคสมัยก่อนนั้นพัฒนาไปอย่างมาก ช่วยให้เราใช้ชีวิตอย่างสุขสบายมากขึ้น รายได้เฉลี่ยก็สูงขึ้นมากแต่แปลกที่คนเราในปัจจุบันก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีความสุขมากขึ้นเลยครับ?
คนเรามักจะเปรียบเทียบตัวเองกับสิ่งรอบข้างเสมอ เช่น การที่เราได้เงินเดือนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่เรากลับไม่ค่อยรู้สึกมีความสุข หากเรารู้ว่าเราได้เงินเดือนน้อยกว่าเพื่อนที่ทำงานมาประสบการณ์เท่ากัน เราจะรู้สึกแย่มาก ๆ ตรงกันข้ามหากเรารู้ว่าเราได้เงินเดือนเยอะกว่าเพื่อนที่ทำงานมาประสบการณ์เท่ากันกลับทำให้เรามีความสุขได้ทั้ง ๆ เงินเดือนเราเองอาจไม่ได้เยอะเท่ากรณีแรกครับ
สิ่งที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกมีความสุขหรือไม่มีนั้น เกิดจากการเปรียบเทียบระหว่างความเป็นจริง กับความคาดหวังของเราครับ หลายต่อหลายครั้งที่สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรานั้นดีขึ้น แต่ความคาดหวังที่เรามีนั้นดันไปไกลเกิน ก็ทำให้เราเป็นทุกข์ครับ ฉะนั้นเขาจึงแนะนำว่าให้เรามีความคาดหวังที่เหมาะสมครับ แล้วเราจะมีความสุขได้อย่างง่ายดาย
เค้าเปรียบตัวอย่างกับคู่แต่งงานครับว่าคู่แต่งงานใด ๆ จะมีความสุขที่สุดหากทั้งสองฝ่ายต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยไม่หวังอะไรตอบแทนครับ ❤️
……………..
1
“Wild Minds” 🤯
คนที่มีความสามารถเป็นพิเศษหรือโดดเด่นกว่าคนอื่นนั้น มักจะมีลักษณะที่แปลกหรือพิเศษในทุก ๆ ด้านครับ แต่เรานั้นมักจะเห็นคน ๆ นั้นแค่ในด้านเดียวที่เค้าโดดเด่น ในหนังสือบอกว่า ลักษณะที๋โดดเด่นแบบนี้จะมาเป็นแพ็คเกจเลยครับซึ่งก็จะมีทั้งดีและไม่ดีปนกันไป เราต้องยอมรับความจริงข้อนี้ให้ได้
1
แน่นอนว่าการจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่นต้องอาศัยความพยายามและการกระทำบางอย่างที่คนทั่วไปไม่ได้ทำ และบุคคลเหล่านี้มีสิ่ง ๆ นั้นครับ
📌 ยกตัวอย่าง Steve Jobs หรือ Elon Musk ที่แน่นอนว่าทุกคนยอมรับในความโดดเด่นและความสำเร็จทางด้านธุรกิจของทั้งคู่ ถึงขั้นยกย่องให้เป็นอัจฉริยะ แต่ทว่าในอีกด้านของชีวิตส่วนตัวหรือพฤติกรรมบางอย่างที่หากเราเคยอ่านเรื่องราวของทั้งคู่มา ก็จะพบว่าทั้งคู่นั้นค่อนข้างเป็นคนที่จริงจังและเป็นหัวหน้าที่ลูกน้องไม่น่าจะชอบสักเท่าไหร่ครับ
เรื่องนี้จริงเสมอ คล้ายกับคำพูดที่ว่า “nobody is perfect” การที่เราจะโดดเด่นอะไรสักอย่างก็ต้องตามมาด้วยข้อด้อยบางอย่างเช่นกันครับ
……………..
“Wild Numbers” 1️⃣2️⃣3️⃣
“People don’t want accuracy, they want certainty”
คนเราจะไม่ค่อยเข้าใจและมีความรู้สึกกับเรื่องตัวเลขสักเท่าไหร่ครับ 😵‍💫
เช่น หากหัวหน้างานของเราถามว่างานชิ้นนี้จะเสร็จตามกำหนดหรือไม่ และหากเราคิดว่าหัวหน้าของเราต้องการความแม่นยำเราอาจจะตอบไปว่ามีโอกาสเสร็จตามกำหนดมากกว่า 50%
ในความเป็นจริงแล้วนั้นคนเราไม่ได้ต้องการคำตอบหรือความแม่นยำเป็นตัวเลขขนาดนั้นครับ หัวหน้าของเราน่าจะชอบมากกว่ากับคำตอบของเราที่บอกว่า “เสร็จแน่นอน” เท่านั้นเองครับ การที่เราตอบเป็นตัวเลขนั้นทำให้มนุษย์เราประเมินได้ยากและเกิดความไม่มั่นใจครับ
อีกเรื่องของตัวเลขคือ เรามักจะประเมินค่าต่าง ๆไว้ต่ำเกินไปครับ เช่น เขาบอกว่าให้เราลองคิดดูว่า เวลาที่เราตื่นทั้งวันคร่าว ๆ ประมาณ 8 ชั่วโมง เราจะเห็นสิ่งต่าง ๆ ในอัตรา 1 อย่างต่อวินาทีครับ ดังนั้นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดกับเราจะเป็นจำนวนทั้งหมดประมาณ 30,000 เหตุการณ์ต่อวัน ซึ่งหมายถึงประมาณ 1 ล้านเหตุการณ์ต่อเดือนครับ
💡 ในหนังสือพูดถึงเหตุการณ์ที่คนเราเรียกว่า “miracle” ที่เราอาจจะคิดว่าน่าจะเกิดในแค่ 1 ในล้าน นั่นแสดงว่า miracle นั้นอาจจะเกิดขึ้นกับเราได้ถึง 1 ครั้งต่อเดือนเลยนะครับ (1 ในล้านเรามองว่าน้อยมาก แต่พอมาวิเคราะห์จริง ๆ ก็จะเห็นว่าไม่น้อยเลย)
มนุษย์เรานั้นวิเคราะห์และประเมินตัวเลขได้แย่มากครับ แม้กระทั่งผู้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือ expert ก็ประเมินหรือพยากรณ์ตัวเลขได้แย่ไม่ต่างกันครับ
……………..
“Best Story Wins”
📌 การเล่าเรื่องที่ดีจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการมีข้อมูลที่ดีหรือมีไอเดียที่ดีครับ ใครก็ตามที่สามารถเล่าเรื่องหรือมีทักษะที่สำคัญมากในปัจจุบันอย่าง “story-telling” ก็จะมีชัยไปกว่าครึ่งครับ
แน่นอนครับว่าคนเราจะให้ความสนใจกับเรื่องราวที่น่าสนใจหรือน่าติดตามมากกว่าจะมานั่งดูตัวเลขหรือข้อมูลทางสถิติเป็นหางว่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีไอเดียที่ดี ทำงานได้ดี แถมเล่าเรื่องได้ดีอีก จะไปได้ไกลกว่าคนอื่นมาก ๆ ครับ
💭 ในหนังสือได้เล่าเรื่องของ Martin Luther King Jr. ผู้เป็นเจ้าของสุนทรพจน์อันลือลั่นที่ชื่อว่า “I have a dream”
👉🏻 เชื่อไหมครับว่าสุนทรพจน์ท่อนนั้นไม่ได้จากการเตรียมเนื้อหามาก่อน แต่มาจากการที่เขาคิดเฉพาะหน้าเลย แต่เขาสามารถพูดเล่าเรื่องให้คนเกิดแรงบันดาลใจและคิดตามจนทำให้สุนทรพจน์อันนี้เป็นหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของโลกใบนี้เลยครับ
อีกตัวอย่างที่ผู้เขียนเล่าคือ หนังสือ Sapiens ที่มียอดขายถล่มทลายทั่วโลก ที่เขียนโดย Yuval Noah Harari ที่ถ้าถามถึงเนื้อหาของ Sapiens คนที่เคยอ่านจะทราบว่าก็เป็นหนังสือที่เล่าประวัติความเป็นมาของมนุษย์เราเล่มหนึ่ง ที่ก็มีหนังสือหลายเล่มที่เขียนถึง แต่สิ่งที่ทำให้หนังสือ Sapiens เป็นที่ถูกใจก็คือ การเล่าเรื่อง การปะติดปะต่อเรื่องราวต่าง ๆ ของผู้เขียนที่ทำให้นักอ่านชื่นชอบครับ
……………..
“Does Not Compute”
โลกของเรานั้นถูกขับเคลื่อนด้วยแรงผลักดันบางอย่างที่เราวัดไม่ได้ หรือมองไม่เห็นครับ หลายครั้งเราอาจคิดว่าการตัดสินใจมักจะทำจากข้อมูลหรือตัวเลขต่าง ๆ แต่ลึก ๆ แล้วอารมณ์ ความเชื่อ สัญชาติญาณต่าง ๆ ของมนุษย์นั้นจะทำงานไวมากและทำงานก่อนที่เราจะตัดสินใจด้วยเหตุผลหรือตัวเลขด้วยซ้ำครับ
📈 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ราคาของหุ้นหรือตลาดหุ้น ที่มักจะมีการเปลี่ยนแปลงจากการที่มีเรื่องราวบางอย่างมาสนับสนุน หรือจากการที่คนเชื่อว่าหุ้นตัวนี้จะขึ้นเป็นจำนวนมากแล้วมันก็จะขึ้นจริง ๆ ครับ อะไรก็ตามที่คนต้องการมาก ๆ จะมีมูลค่าสูงขึ้นเอง โดยไม่ได้สนใจว่าเหตุผลที่รองรับสิ่งนั้นคืออะไรครับ 😵‍💫
……………..
“Calm Plants the Seeds of Crazy”
“ความสงบเป็นต้นเหตุของความบ้าคลั่ง” 🌪️
เมื่อไหร่ที่พายุสงบนั่นแหละครับ เมื่อนั้นสิ่งไม่ดีกำลังก่อตัวขึ้น ประโยคนี้ผู้เขียนบอกว่าเป็นจริงเสมอ เมื่อเรามองย้อนกลับไปมองวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ของโลกที่เกิดขึ้นมันจะเป็นวังวนเดิม ๆ แบบที่เราแทบจะไม่อยากเชื่อเลยครับ
🔄 เริ่มจากมีข่าวดีเกิดขึ้น เราจะเริ่มมองโลกในแง่ดี ลืมเรื่องร้าย ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ไป และไม่เชื่อว่าจะมีข่าวร้าย
🔄 แต่หลังจากนั้นที่เกิดข่าวร้าย เราจะเริ่ม panic จนกระทั่งเรายอมรับมันในที่สุด แล้วเราก็จะมองโลกในแง่ร้ายว่ามันไม่ดีแน่ ๆ จนเราลืมเรื่องดี ๆ ไปหมด และไม่เชื่อข่าวดีที่จะเกิดขึ้น จนข่าวดีเกิดขึ้น เรายอมรับมัน และกลับมามองโลกในแง่ดีอีกครั้ง....วนซ้ำ ๆ ไป
💡ช่วงเวลาที่อันตรายที่สุด คือ ช่วงที่มีแต่ข่าวดีและช่วงที่คนคิดว่าปลอดภัยที่สุดครับ มันเป็นจริงแบบนี้เสมอมาครับ
……………..
“Too Much, Too Soon, Too Fast”
อะไรที่มากจนเกินไปนั้นมักจะไม่ดี ในหนังสือยกตัวอย่างของชายผู้มีขนาดร่างกายที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ สูงที่สุดในโลกชื่อว่า “Robert Wadlow”
เขาน่าจะเป็น Superhuman ที่แข็งแรงและมีพลังมากอย่างกับ super hero ใช่มั้ยครับ แต่ความเป็นจริงแล้วนั้นชีวิตเขาน่าสงสารมากครับ เพราะแค่การเดินเขาก็เดินได้อย่างลำบากเพราะต้องใช้ไม้ค้ำด้วยน้ำหนักตัวมหาศาล ทำให้ขาและหัวเข่าของเขาต้องรับน้ำหนักในกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมาก สุดท้ายเค้าต้องเสียชีวิตไปก่อนเวลาอันควรด้วยวัยเพียงแค่ 22 ปีเท่านั้นด้วยภาวะสะสมเหล่านี้ครับ 🥲
👉🏻 ทุกอย่างในโลกนี้นั้นมักจะมีขนาดที่เหมาะสมอยู่เสมอครับ หรือ “most convenient size” เหมือนอย่างร้านกาแฟ Starbucks ที่ช่วงหนึ่งมีการขยายสาขาอย่างมากจาก 1,000 สาขาเป็น 13,000 สาขา ทำให้เกิดปัญหาของเรื่องคุณภาพและความเป็นตัวตนของ Starbucks ทำให้ต้องยอมปิดสาขาไปถึง 600 กว่าสาขาหลังจากนั้น
การที่เราพยายามจะทำอะไรให้ใหญ่ หรือเร็วจนเกินไปนั้นต้องระวังให้ดีครับ เพราะมันมักจะเกิดปัญหาตามมาเสมอจากความไม่พอดี
1
……………..
“When the Magic Happens”
นวัตกรรมที่สำคัญ ๆ หรือการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่นั้นไม่ค่อยจะเกิดขึ้นในช่วงที่คนใช้ชีวิตปกติ มีความสุขดีครับ แต่มันมักจะเกิดในช่วงเวลาที่แย่ ภาวะสงครามหรือวิกฤติต่าง ๆ ครับ
นวัตกรรมหรือ “Innovation” มักจะถูกขับเคลื่อนให้สำเร็จได้ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “incentive” หรือสิ่งจูงใจต่าง ๆ ในหลากหลายรูปแบบ
👉🏻 ซึ่งที่เราเห็นบ่อย ๆ ในอดีตก็คือภาวะสงครามหรือความต้องการทางการทหารครับ เทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างเกิดขึ้นมาเพราะความต้องการทางการทหารครับ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เครื่องบิน นิวเคลียร์ หรือแม้กระทั่งอินเตอร์เน็ต
เค้าสรุปไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีความจำเป็นครับ ในช่วงเวลาเหล่านั้นทรัพยากรทุกอย่างจะถูกทุ่มเทไปยังการพัฒนาสิ่งนั้น ๆ อย่างเหตุการณ์ล่าสุดที่เราเห็นกันก็คือ การคิดค้นวัคซีน COVID-19 รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า mRNA ครับ
……………..
“Overnight Tragedies and Long-Term Miracles”
คนเราจะไม่ค่อยรู้สึกตื่นเต้นเท่าไหร่กับข่าวดีครับ แต่จะตื่นตระหนกกับข่าวร้ายมากกว่า
ข่าวดีนั้นมักจะใช้เวลาที่คนเราถึงจะรับรู้ถึงผลกระทบจากเรื่องนั้น ๆ ได้ แต่ตรงข้ามกับข่าวร้ายที่มักจะเกิดในเวลาอันรวดเร็วและมักจะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงครับ
📌 Warren Buffet กล่าวไว้ว่า “คนเราใช้เวลามากถึง 20 ปีที่จะสร้างชื่อเสียง แต่ใช้เวลาเพียงแค่ 5 นาทีในการาทำลายมันลงในพริบตา” หลายสิ่งหลายอย่างเป็นแบบนั้นจริง ๆ ครับ
ตัวอย่างเช่น หากเราได้อ่านข่าวอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจลดลง 1.5% ต่อปี (ข่าวดี) เราก็คงอาจจะเฉย ๆ แล้วก็ผ่านไป และข่าวที่ว่าก็คงไม่ได้ลงพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์หรือสื่อต่าง ๆ แต่อย่างใด ทั้งที่กว่าที่การแพทย์จะทำให้เกิดสิ่งนี้ได้ ต้องลงทุนลงแรงกับการพัฒนาและวิจัยต่าง ๆ มากมายเลยนะครับ
ในทางตรงกันข้ามหากมีข่าวร้ายใด ๆ ก็ตาม ข่าวนั้น ๆ มักจะเป็นพาดหัวข่าวของสื่อต่าง ๆ และแพร่กระจายไปสู่คนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว
……………..
“Tiny and Magnificent”
ข่าวร้ายหรือสิ่งไม่ดีต่าง ๆ มักจะเกิดขึ้นโดยเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ ที่เรามองข้ามมันไปครับ
👉🏻 การศึกษาของมหาวิยาลัย Yale เมื่อปี 2010 ระบุไว้ว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญของคนที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักมากกว่าปกติมาก ๆ นั้นไม่ได้เกิดจากการรับประทานอาหารมื้อใหญ่หรือมื้อหลัก แต่เกิดจากการรับประทานขนมเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างวันตลอดเวลามากกว่าครับ
⚠️ ความเสี่ยงเล็ก ๆ ที่สะสมไปมาก ๆ เข้าก็สามารถกลายเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่ได้ และความเสี่ยงเล็ก ๆ เป็นสิ่งที่คนเรามักจะละเลย แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันจะกลับกลายเป็นความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ได้ เราไม่ควรจะประเมินสิ่งเล็ก ๆ นั้นต่ำเกินไปครับ
……………..
“Elation and Despair”
การที่เราจะทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จนั้นจำเป็นต้องประกอบด้วยการมองโลกในทั้งแง่ดี (optimistic) และมองในแง่ร้าย (pessimistic) ผสมกันไปนะครับ
“Plan like a pessimist and dream like an optimist”
💡 การตั้งเป้าหมายหรือความฝันก็ควรมองโลกแบบ optimistic แต่การวางแผนเราควรจะมองแบบ pessimistic คือมองในลักษณะของ worst case scenario ให้รอบคอบ ครอบคลุมและรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
หนังสือได้ยกตัวอย่าง Bill Gates ที่ใครก็ทราบว่าเขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ และมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลและมองโลกในแง่ดี แต่มีอีกด้านหนึ่งที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้คือ เขาเป็นคนที่ระมัดระวังมาก ๆ และให้ความสำคัญกับ cash flow ของบริษัทที่ต้องมีให้เพียงพอตลอดเวลา
“Save like pessimist and invest like an optimist”
……………..
“Casualties and Perfection”
เรามักจะคิดว่าการทำอะไรให้ดีที่สุด (perfect) หรือมีประสิทธิภาพที่สุดนั้นน่าจะดีที่สุดอย่างแน่นอน แต่ความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นครับ
แน่นอนว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ perfect แน่นอน ดูได้จากธรรมชาติรอบตัวเรา สัตว์ที่แข็งแรงอย่างสิงโตก็ยังมีจุดอ่อน และไม่มีอะไรที่มีประสิทธิภาพแบบ 100%
คนเรานั้นจำเป็นต้องอยู่เฉย ๆ บ้าง พักและใช้เวลาคิดแทนที่จะลงมือทำตลอดเวลาครับ
💡 การที่เรามี “little of inefficiency” จะช่วยให้เรามีเวลาคิดมากขึ้น ทำงานได้ดีขึ้น
👉🏻 เช่นเดียวกับการลงทุน ที่มองว่าการมีเงินสดเป็นสิ่งที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ในช่วงเวลาที่ตลาดไม่ดีนั้น เงินสดจะทำให้เราสามารถอยู่รอดได้ครับ
หลายครั้งที่เราต้องการจะทำอะไรให้ perfect กลายเป็นว่ามันกลับมาทำร้ายเราเองครับ
……………..
“It is Supposed to Be Hard”
ความสำเร็จทุกอย่างที่จะได้มาจำเป็นจะต้องแลกมาด้วยความลำบากและความพยายามครับ ไม่มีทางลัดสำหรับความสำเร็จ 🚷
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมีรูปร่างที่ดี, การลงทุน หรือ รายได้ ทุกคนอยากได้ทางลัดที่จะทำสำเร็จครับ แต่ทางลัดเหล่านั้นมักจะมีข้อเสียหรืออยู่ได้ไม่ยั่งยืนครับ
“Where there’s pain, there’s profit”
……………..
“Keep Running” 🏃🏻‍♂️🏃🏻‍♂️🏃🏻‍♂️
“Competitive Advantage” ความได้เปรียบทางการแข่งขันนั้นจะอยู่ได้ไม่นานครับ สุดท้ายสิ่งนั้นจะโดนคู่แข่งคนอื่น ๆ ตามทัน เราจึงจำเป็นต้องปรับตัวและหาความได้เปรียบใหม่ ๆ ตลอดเวลา
คงไม่ต้องแปลกใจว่าบริษัทที่โดดเด่นในยุคหนึ่งกลับตกต่ำในอีกยุคสมัยหนึ่งที่เทคโนโลยีหรือโลกที่เปลี่ยนไปครับ เป็นสิ่งปกติในโลกที่เกิดขึ้นเสมอ ดังนั้นเราจึงไม่ควรจะหยุดนิ่งอยู่กับที่และต้องพัฒนาตนเองต่อไปเรื่อย ๆ ครับ
……………..
“Harder Than It Looks and Not as Fun as It Seems”
“สนามหญ้าบ้านคนอื่นมักจะเขียวกว่าบ้านเราเสมอ” ✅
ประโยคนี้เป็นจริงเสมอครับ คนเรามักจะเปรียบเทียบของๆเรากับคนอื่นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นอยู่หรือการงาน
แต่ผู้เขียนได้บอกว่าเขาได้เรียนรู้บทเรียนที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ทุกอย่างคือการขายทั้งหมด ไม่ว่าเราจะทำอะไร หรือมีหน้าที่อะไร ทุกคนพยายามทำภาพของตัวเองออกมาให้ดีที่สุดให้คนอื่นเห็น โดยซ่อนหรือปกปิดด้านที่ไม่ดีเอาไว้ ถูกมั้ยครับ?
ฉะนั้นสิ่งที่เราเห็นจากภายนอกทั้งหมดนั้นมักจะดูดีเสมอครับ เหมือนเราทำงานในบริษัทหนึ่ง เราก็มักจะมองเห็นข้อเสียของบริษัทนั้น ๆ และมักจะบ่นกับเพื่อน ๆ ประจำ แต่เมือเพื่อนของเรามองจากภายนอกเข้ามา เขาก็คิดว่าบริษัทนี้ก็เป็นบริษัทที่ดีนี่นา
เช่นเดียวกับมนุษย์เรานี่แหละครับ เรามักจะลงรูปหรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่ดี ๆ ในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ จนคนอื่นมองว่าชีวิตเรานี่ช่างดี๊ดีใช่มั้ยหละครับ เวลาเราไปดูของคนอื่น เราก็คิดแบบเดียวกันว่า ทำไมชีวิตคนนี้ดีจังอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราไม่เคยเห็นอีกด้านหรืออีกมุมของคน ๆ นั้นหรอกครับ
1
……………..
“Incentives: The Most Powerful Force in the World” 💰💰💰
“Incentives” จะเป็นตัวผลักดันสิ่งต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นได้ครับ เมื่อไหร่ก็ตามที่ incentives เยอะมาก ๆ คนเราก็จะยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มันมาจนบางทีก็น่าตกใจครับ
Jason Zweig นักข่าวของ Wall Street Journal เคยพูดไว้ว่า มี 3 ทางสำหรับนักเขียนในการจะนำเสนอ คือ
1. โกหกคนที่เต็มใจอยากที่จะโดนหลอก ถ้าทำได้คุณก็จะรวยได้ 💵
2. บอกความจริงกับคนที่ต้องการรู้ความจริง ก็จะทำให้คุณรวยได้ 💵
3. บอกความจริงกับคนที่ไม่อยากรับฟังความจริง จะทำให้คุณหมดตัวหรือมีปัญหาได้
นี่คือข้อสรุปที่ดีมากของพลังของ incentives หรือแรงจูงใจ ที่สามารถทำให้คนเราทำอะไรที่บ้า ๆ ได้เลยครับ
……………..
“Now You Get It”
ไม่มีอะไรที่ทำให้เราได้รู้จริงเท่ากับการที่เราได้ลงมือทำหรือสัมผัสมันโดยตรงครับ เราอาจจะอ่านหนังสือหรือศึกษามาเยอะในเรื่องใด ๆ แต่หากเราไม่ได้ลงมือทำจริง หรืออยู่ในเหตุการณ์นั้นจริง ๆ ก็ยากที่เราจะรู้ว่าเป็นอย่างไรครับ
💡 หลาย ๆ เรื่องเราอาจจะคิดได้ว่าหากเกิดขึ้นเราจะรู้สึกอย่างไร แต่ความเป็นจริงเมื่อเราได้สัมผัสเหตุการณ์นั้นจริง ๆ อาจจะต่างจากที่เราคิดไว้ก็ได้ครับ
……………..
“Time Horizons” ⏳
การทำอะไรที่หวังผลในระยะยาวนั้นดูไม่ยาก แต่ทำจริงได้ยากมากครับ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนให้กับตัวเองในการออกกำลังกายหรือการลงทุนทางการเงิน
การที่เราจะทำเรื่องระยะยาวเหล่านี้ให้สำเร็จได้ ผู้เขียนได้แนะนำสิ่งเหล่านี้ไว้ครับ
เราต้องคิดว่าการทำอะไรยาว ๆ ก็คือการทำสิ่งซ้ำ ๆ กันหลาย ๆ ครั้งเท่านั้นเอง นอกจากนี้คนรอบข้าง เพื่อนและสังคมก็มีส่วนช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายนั้นได้
อีกประเด็นที่ผู้เขียนพูดถึงคือเรื่องของ information หรือข้อมูลที่เราได้รับมานั้นมีทั้ง “permanent information” ที่จะอยู่กับเราและสามารถใช้งานได้ตลอด กับ “expiring information” ที่มีประโยชน์แค่ช่วงเวลาหนึ่ง เช่น ข่าวประกาศผลกำไรของบริษัท ๆ หนึ่งตามพาดหัวข่าว
👉🏻 คนเรามักจะให้ความสนใจกับ expiring information เพราะมันมีเยอะมาก นับไม่ถ้วนและเราอยากรู้มันก่อนที่มันจะหายและถูกลืมไป
👉🏻 Permanent information นั้นหาได้ยากกว่า เพราะคุณต้องอ่านหนังสือหรือเรื่องราวมากกว่าพาดหัวข่าว และมันมีประโยชน์กับเรามากกว่า เมื่อเราสะสมไปเรื่อย ๆ เราจะสามารถนำมันออกมาใช้ได้เมื่อต้องการ
💡 Expiring information บอกเราว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ permanent information จะบอกเราว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้นและมันน่าจะเกิดขึ้นอีก
……………..
“Trying Too Hard”
คนเรามักจะชอบทำอะไรให้มันซับซ้อนมากกว่าทำอะไรง่าย ๆ เหตุผลก็เพราะการทำอะไรที่ดูซับซ้อนนั้นมีแนวโน้มจะ “ขายได้” มากกว่านั่นเอง
✅ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้มีคะแนนพิเศษสำหรับการทำอะไรให้ยากเข้าไว้ครับ ความสำเร็จเกิดจากการที่คุณทำสำเร็จเท่านั้น การทำอะไรให้ดูยากเกินไปอาจกลับมาทำร้ายเรา และทำให้เราไม่ประสบความสำเร็จได้ครับ
…………..
“Wounds Heal, Scars Last”
มนุษย์เราผ่านประสบการณ์ที่ต่างกันมาก็จะมีแนวคิดที่แตกต่างกัน มีเป้าหมาย มีความต้องการ หรือให้ความสำคัญกับสิ่งที่ต่างกัน
ดังนั้นเวลาเราเห็นคนขัดแย้งกันในเรื่องของแนวคิดมันก็แค่เกิดจากการที่คนที่มีประสบการณ์ต่างกันมาพูดคุยกันเท่านั้นเองครับ
ตัวอย่างของคนที่เคยผ่านช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (recession) ก็มักจะเป็นคนที่กลัวว่าเหตุการณ์นั้น ๆ จะเกิดขึ้นซ้ำอีกและระมัดระวังตัวในเรื่องการเงินมาก ๆ ถึงแม้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจะผ่านไปแล้ว แผลที่เกิดขึ้นนั้นหายเจ็บแล้ว แต่รอยแผลเป็นจากเหตุการณ์ก็ยังคงฝังอยู่ในแนวคิดและความคิดของคน ๆ นั้นครับ
👉🏻 ฉะนั้นความขัดแย้ง (disagreement) มักจะไม่เกี่ยวกับการที่ใครคนหนึ่งรู้หรือไม่รู้ แต่จริง ๆ แค่เกิดจากประสบการณ์ที่แตกต่างกัน มุมมองที่ต่างกัน และสิ่ง ๆ นี้ก็จะยังคงเกิดขึ้นเสมอ ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงครับ...
……………..
📍 “Same As Ever” ของผู้เขียน Morgan Housel เป็นหนังสือที่ให้แนวคิดที่แปลกและน่าสนใจมากครับ
คนเรามักจะชอบอ่านอะไรใหม่ ๆ หรือความเปลี่ยนแปลงอะไรใหม่ ๆ
👉🏻 แต่หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เราเห็นว่าอะไรก็ตามที่เหมือนเดิมไม่ว่าเวลาจะผ่านไป เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากกว่า และเราเองก็ควรจะให้ความสนใจด้วย เพราะมันจะสอนให้เรารู้ว่าเราจะจัดการกับมันอย่างไรครับ
✅ หนังสือได้ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจครับว่า เราควรจะศึกษาประวัติศาสตร์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมากกว่าการจะพยายามนึกและคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในอนาคตครับ เพราะทุกคนทราบดีว่าไม่ว่าเราจะเก่งขนาดไหนก็ยากที่จะหยั่งรู้ถึงอนาคตได้ แต่เรารู้ได้ว่าอะไรที่เกิดขึ้นเสมอไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าไหร่...
✳️ What’s always been true?...What’s the same as ever?... ลองตั้งคำถามนี้ดูนะครับ ♾️
#SameAsEver #BookReview #รีวิวหนังสือ #สิงห์นักอ่าน
ป.ล. ถ้าไม่อยากพลาดการติดตามการรีวิวหนังสือดี ๆ แบบละเอียดยิบ ฝากกด Like กดติดตามเพจ รวมถึงยังติดตามได้อีกหนึ่งช่องทางใน facebook : สิงห์นักอ่าน
โฆษณา