Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Wild?
•
ติดตาม
31 มี.ค. 2024 เวลา 08:11 • สิ่งแวดล้อม
’พะยูน‘ ตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ ของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งไทย
ทุกคนเคยได้ยินตำนานเงือกสาวผมยาวนั่งอยู่บนโขดหินใกล้ชายฝั่งไหมคะ ความจริงแล้วอาจจะเป็นเจ้าน้องพะยูนที่มีหญ้าทะเลคลุมหัวมาหยุดพักที่บริเวณโขดหินก็เป็นได้
พะยูน (Dugong) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dugong dugon เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม อยู่ในอันดับ Sirenia และอยู่ในวงศ์ Dugong อาศัยอยู่ในทะเลบริเวณชายฝั่งที่น้ำตื้น ไม่ลึกมาก พะยูนมีรูจมูกอยู่ด้านบนเพื่อให้ขึ้นมาหายใจที่ผิวน้ำได้โดยไม่ต้องโผล่ส่วนอื่นขึ้นมา โดยจะหายใจทุก 1 ถึง 2 นาที ลักษณะทางกายภาพ คือมีรูปทรงกระสวยคล้ายโลมา แต่อ้วนกลมกว่า ผิวหนังเรียบลื่น ลำตัวมีสีเทาอมชมพูหรือน้ำตาลเทา สี มีขนสั้น ๆ ตลอดลำตัว มีหางแฉก ซึ่งเป็นวิวัฒนาการให้พะยูนสามารถดำรงชีวิตอยู่ในน้ำได้
ถึงแม้พะยูนจะมีลักษณะทางกายภาพคล้ายโลมา แต่กลับมีวิวัฒนาการมาสายเดียวกับช้าง หรือเรียกว่าเป็นญาติห่าง ๆ กับช้างนั่นเอง เมื่อ 55 ล้านปีก่อน บรรพบุรุษของพะยูนเคยอาศัยอยู่บนบก แต่ได้มีวิวัฒนาการให้ลงไปอยู่ในทะเล ขาหลังลดขนาดลงและหายไป ขาหน้าเปลี่ยนแปลงไปให้มีลักษณะคล้ายใบพาย เพื่อให้สามารถว่ายน้ำได้ มีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ จนมีลักษณะรูปร่างเป็นพะยูนอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
พะยูนกินพืชเป็นอาหาร (Herbivore) โดยเฉพาะหญ้าทะเลชนิดต่าง ๆ ตามแนวชายฝั่ง และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ไม่ห่างจากบริเวณที่มีแหล่งหญ้าทะเลหนาแน่นและกว้างใหญ่เพียงพอ จึงถือได้ว่าพะยูนเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศหญ้าทะเลได้เป็นอย่างดี
อีกทั้งหญ้าทะเลยังมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างมาก เป็นทั้งออกซิเจน แหล่งอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัย ที่วางไข่และหลบซ่อนศัตรู ช่วยลดมลพิษในทะเล ปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น รวมทั้งช่วยป้องกันการพังทลายของชายฝั่งได้ดี ในบริเวณที่มีหญ้าทะเลขึ้นอยู่ จึงจัดเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตในทะเลไทยอีกด้วย
พะยูนในประเทศไทยพบการกระจายอยู่บริเวณแหล่งหญ้าทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน พบกระจายอยู่ในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่นในเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกาตะวันออก พะยูนยังมีญาติใกล้ชิดและลักษณะคล้ายกันแต่อยู่คนละวงศ์ คือมานาตี (Manatee) หรือพะยูนหางกลม แต่พบเฉพาะในทวีปอเมริกาและแอฟริกาตะวันตกเท่านั้น ไม่พบในเอเชีย
แม้พะยูนจะเป็น 1 ใน 20 สัตว์ป่าสงวนของไทย และอยู่ในบัญชี 1 ของบัญชีไซเตส ห้ามค้าโดยเด็ดขาด แต่พะยูนในประเทศไทยยังอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากถูกคุกคามอย่างหนักจากกิจกรรมมนุษย์ ทั้งการสูญเสียถิ่นอาศัย และการทำลายหญ้าทะเล แหล่งอาหารของพะยูน รวมถึงการล่า การติดเครื่องมือประมง และปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้พะยูนลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันพะยูนมีประชากรอยู่ประมาณ 273 ตัว (จากการสำรวจในปี 2565) โดยพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยพบประมาณ 31 ตัว และพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันพบประมาณ 242 ตัว ถึงแม้แนวโน้มประชากรจะเพิ่มขึ้น ทว่าในปี 2565 พบพะยูนเกยตื้นตายถึง 18 ตัว ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี ซึ่งมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการป่วยและการถูกกระแทกด้วยของแข็ง
#จากมาเรียมถึงสัตว์ทะเลชนิดอื่น ๆ
ความตายของมาเรียม สู่ยามีล และสัตว์ทะเลชนิดอื่น ๆ ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมขนาดใหญ่ในสังคม ต่อวงการอนุรักษ์โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายาก เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ คือ เราทุกคน เราต้องไม่เพียงแต่รับรู้ถึงปัญหา แต่เราต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น
รวมถึงช่วยกันผลักดันนโยบายสำคัญต่อภาครัฐ เพื่อให้ภาครัฐออกกฎหมาย และมาตราการการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งอย่างเป็นระบบ ตลอดจนชุมชนเจ้าของพื้นที่ชายฝั่ง ที่มีส่วนสำคัญในการปกป้องระบบนิเวศชายฝั่ง เพราะสุดท้ายแล้วมนุษย์ต่างก็ได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ไม่มากก็น้อย
การอนุรักษ์เป็นเรื่องของทุก ๆ คน ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน ร่วมกันปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง และระบบนิเวศหญ้าทะเล เพื่อให้สัตว์ทะเลอยู่คู่กับทะเลไทยไปอีกนานแสนนาน
อ้างอิง
-
https://km.dmcr.go.th/c_10/d_957
-
https://www.greenpeace.org/thailand/story/8061/marium-the-famous-dugong/
-
https://greennews.agency/?p=31809
เรื่องเล่า
ข่าวรอบโลก
environment
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย