2 เม.ย. เวลา 03:36 • ความคิดเห็น

Amor Fati

โทมัส เอดิสัน นั่งเล่นในเวลาสบายๆหลังอาหารเย็น อยู่ดีๆ ก็มีผู้ช่วยเขาวิ่งเข้ามาในบ้าน ตะโกนโวยวายว่าไฟไหม้ แล้วพยายามจะบอกว่าไฟได้ลามไปไหม้ศูนย์วิจัยของเอดิสันทั้งสิบตึก
1
เอดิสันรีบไปที่เกิดเหตุก่อนจะพบว่านักดับเพลิงก็ทำอะไรไม่ได้ เพลิงได้เผาตึกสำคัญที่เก็บงานวิจัยทั้งชีวิตของเขาจนหมด
1
เอดินสันในวัย 67 ปี ยืนดูเพลิงลุกโหม ในกองเพลิงนั้นมีของสำคัญที่สร้างและสะสมมาหลายสิบปีหมดอยู่ในกองไฟนั้น ถ้าเป็นเรา เราจะรู้สึกอย่างไร น่าคิดนะครับ
2
ในนิตยสารรีดเดอร์ไดเจสท์ปี 1961 บันทึกไว้จากปากคำของลูกชายเอดิสันในวันเกิดเหตุว่า “คุณพ่อเดินอย่างชิลๆมาหาเขาที่กำลังดูเพลิงลุกไหม้อยู่ พูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นกับเขาซึ่งอายุ 24 ปีในตอนนั้นว่า รีบไปตามแม่กับเพื่อนแม่ให้มาเร็วๆ เพราะรับรองว่าจะไม่ได้เห็นไฟไหม้อะไรแบบนี้อีกแล้วในชีวิต และเมื่อลูกชายพยายามจะบอกว่านี่มันหายนะชัดๆ เอดิสันกลับบอกลูกชายว่า
“ไม่เป็นไรหรอก ไฟไหม้รอบนี้นี่ช่วยเผาขยะที่ไม่ได้ใช้ไปเยอะอยู่นะ“
4
หลังจากนั้นมีบทสัมภาษณ์ของเอดิสันใน new york times ตอบถึงเรื่องนี้ว่า ถึงแม้ผมจะอายุ 67 ปีแล้วอ่ะนะ แต่เดี๋ยวก็จะเริ่มสร้างกันใหม่พรุ่งนี้เลย ซึ่งในตอนนั้นความสูญเสียของศูนย์วิจัยเขาประมาณล้านเหรียญในสมัยนั้น แต่จากทัศนคติที่ “ช่างแม่ม” แล้วเริ่มใหม่ในทันที ทำให้เขาทำเงินได้สิบล้านเหรียญในปีถัดมา
4
ผมแปลเรื่องราวนี้จาก Omaritani blog ที่เล่าถึงความคิดและทัศนคติที่เรียกว่า Amor Fati ซึ่งเป็นภาษาละตินโดยมีคำแปลว่า A love of Fate เป็นคำที่นิตเซ่ นักปรัชญาชาวเยอรมันเคยบรรยายไว้ว่าเป็นสูตรสำคัญในความยิ่งใหญ่ในความเป็นมนุษย์ที่จะยอมรับในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แล้วพยายามจะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเสมอ ไม่พยายามลบอดีต ยอมรับในสิ่งที่เป็นไม่ว่าจะดีหรือร้าย ผิดพลาดหรือล้มเหลว
5
ความคิดแบบนี้ทำให้ลดความขัดขืนกับโชคชะตาลง และพาไปสู่วิธีคิดและแนวทางใหม่ได้
1
ใน blog ยกตัวอย่างถึงกรณีถ้าเราไม่ชอบงานที่ทำ เราก็จะพยายามฝืน โทษโน่นโทษนี่ ฝไม่อยากตื่นมาทำงาน จะบ่นกับคนรอบข้างตลอดเวลา ปล่อยพลังลบอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ยอมรับว่างานที่ทำเป็นสิ่งที่เป็นอยู่ ยิ่งเราขัดขืนเท่าไหร่ก็จะยิ่งดิ้นรนเท่านั้น แต่ถ้าเรายอมรับว่ามันก็เป็นอย่างนั้น ใช้วิธีคิดแบบ Amor Fati ทัศนคติก็จะเปลี่ยนไป ยอมรับว่าเอองานมันแย่จริงแหละ แต่เอาเวลาไปหางานใหม่ดีกว่าเพราะบ่นไปก็แก้อะไรไม่ได้อยู่ดี เป็นการยอมรับในสิ่งที่เป็นแล้วเปลี่ยนพลังงานไปในทางบวกมากขึ้น
2
พออ่านวิธีคิดแบบ Amor Fati ผมก็คิดถึงคำว่า ตถตา ในศาสนาพุทธที่แปลได้ว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ได้เกิดจากความอ้อนวอนหรือปรารถนาของใคร แล้วก็นึกถึงเรื่องหนึ่งที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์เคยเขียนเล่าไว้ น่าจะนำมาเปรียบเทียบกับ Amor Fati ของละตินได้อยู่เหมือนกัน
1
เรื่องเล่ามีอยู่ว่า ..
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงมีถ้วยชาลายครามอยู่ใบหนึ่งซึ่งโปรดนักหนา และทรงใช้ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งมาเป็นเวลาช้านาน
วันหนึ่งขณะประทับอยู่ในกุฏิ ทรงได้ยินเสียงคนทำถ้วยแตกนอกห้อง จึงมีรับสั่งถามว่าอะไรแตก มหาดเล็กทูลว่าทำถ้วยชาแตก เมื่อรับสั่งถามว่าถ้วยใบไหน ก็ทูลว่าถ้วยใบที่โปรดนั้นแตก เมื่อทรงทราบดังนั้น ก็ตรัสว่า
“สิ้นเคราะห์ไปที ต่อไปนี้ไม่ต้องห่วงอะไรอีกแล้ว”
3
Amor Fati หรือ ตถตา ..หลายเรื่องในชีวิตที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะทุกข์ จะสุข มันก็เป็นเช่นนั้นเอง อยู่ที่จะยอมรับแล้วเดินหน้าต่อหรือไม่
ที่เขียนเรื่องนี้เพื่อเตือนตัวเองไปในตัวด้วยครับ …
โฆษณา