Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Rimping Supermarket
•
ติดตาม
3 มิ.ย. 2024 เวลา 12:00 • อาหาร
Rimping Supermarket NimCity Branch
ทำความรู้จัก “อุเมะชู” เหล้าบ๊วยญี่ปุ่นเครื่องดื่มที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นยาชูกำลังชั้นเลิศ
ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์อันยาวนานที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องของเครื่องดื่ม ซึ่งในบรรดาเครื่องดื่มเพื่อความรื่นรมย์ของญี่ปุ่นนั้นหลัก ๆ ไม่ได้มีแค่เหล้าสาเกหรือโชจูที่เรารู้จัก แต่ยังมี “อุเมะชู” (梅酒, Umeshu) หรือ “เหล้าบ๊วย” เป็นเครื่องดื่มขึ้นชื่ออีกด้วย
เหล้าบ๊วยเป็นเครื่องดื่มเก่าแก่ของญี่ปุ่นที่มีประวัติยาวนานพอ ๆ กับเหล้าสาเก กล่าวกันว่าเมื่อ 300 ปี ก่อนคริสตกาลในยุคยาโยอิ (Yayoi) ชาวญี่ปุ่นได้รับเอาข้าว ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักในการทำสาเก มาพร้อมกับบ๊วยที่ใช้ทำเหล้าบ๊วยมาจากประเทศจีน แต่ในยุคแรก ๆ ยังไม่มีการนำบ๊วยมาทำเป็นเครื่องดื่ม มีเพียงข้าวเท่านั้นที่ถูกนำมาทำเป็นสาเก
ต่อมาในยุคเอโดะ (1603-1867) เกษตรกรเริ่มปลูกบ๊วยกันมากขึ้นเพื่อใช้ทำยาชูกำลัง เนื่องจากผลบ๊วยได้รับการยกย่องอย่างสูงในด้านสรรพคุณทางยา โดยเชื่อกันว่ามีสรรพคุณในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ จึงนำผลบ๊วยมาแปรรูปเป็นบ๊วยดอง เรียกว่า อุเมะโบชิ (Umeboshi,梅干し) และอุเมะชู (เหล้าบ๊วย) เพื่อทำเป็นยาชูกำลังและเป็นการถนอมอาหาร เพราะบ๊วยเป็นผลไม้ที่มีแค่บางฤดูกาลเท่านั้น ดังนั้นในอดีตเหล้าบ๊วยจึงไม่ได้มีไว้ เพื่อเป็นเครื่องดื่มรื่นรมย์ แต่นิยมใช้เป็นยาชูกำลัง โดยส่วนใหญ่แล้วจะผลิตในวัดและศาลเจ้า
เมื่อเวลาผ่านไปหลายศตวรรษจนมาถึงยุคเมจิ การรับรู้ของเหล้าบ๊วยก็เริ่มเปลี่ยนไปจากที่เคยเป็นเพียงยาชูกำลัง ก็เริ่มกลายมาเป็นเครื่องดื่มเพื่อความรื่นรมย์ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มซามูไรและขุนนาง แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเวลานี้กฎหมายยังคงห้ามไม่ให้ประชาชนทั่วไปผลิตเหล้าบ๊วย จนกระทั่งในช่วงปลายยุคเมจิในปี 1962 กฎหมายได้รับการแก้ไข ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถผลิตเหล้าบ๊วยได้ ด้วยเหตุนี้เองเหล้าบ๊วยจึงกลายเป็นเครื่องดื่มเพื่อความรื่นรมย์ที่นำมาใช้ในการสังสรรค์และพิธีกรรมต่าง ๆ
ชาวญี่ปุ่นมักจะเริ่มทำเหล้าบ๊วยกันประมาณเดือนมิถุนายนของทุกปี เพราะเป็นช่วงที่บ๊วยกำลังเติบโตเต็มที่และในการทำเหล้าบ๊วยปกติชาวญี่ปุ่นจะนำผลบ๊วยสีเขียวที่ยังไม่สุกมาหมักรวมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่หลากหลาย เช่น โชจู สาเก เหล้ารัม บรั่นดี เตกิล่า และวอดก้าจากนั้นก็เติมน้ำตาลหรือน้ำผึ้งลงไปแล้วทำการหมักภายในโหลแก้วหรือภาชนะที่ปิดฝาสนิทเป็นระยะเป็นเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี จนได้เป็นเหล้าบ๊วยที่มีรสเปรี้ยวอมหวาน
แต่ถ้าหากต้องการหมักต่อหลังจากครบ 1 ปี ชาวญี่ปุ่นจะนิยมตักผลบ๊วยออกก่อน เพื่อไม่ให้สีของเหล้าบ๊วยที่หมักหลังจากช่วงเวลาดังกล่าวมีสีขุ่นเข้มและมีรสขม ส่วนผลบ๊วยที่ถูกตักออกมาก็จะถูกนำไปล้างเพื่อประกอบเป็นอาหารต่อไป
การทำเหล้าบ๊วยนั้นแตกต่างจากเครื่องดื่มหมักอย่างเบียร์ ไวน์ และสาเก เนื่องจากการทำเหล้าบ๊วยสามารถทำได้ง่าย ๆ ไม่ต้องผ่านกระบวนการกลั่นหรือหมักด้วยส่วนผสมอย่างยีสต์ จุลินทรีย์ และโคจิ ถึงแม้กระบวนการผลิตจะไม่เหมือนกัน แต่กล่าวกันว่าเหล้าบ๊วยสามารถอยู่ได้นานหลายปีและรสชาติจะดีขึ้นตามกาลเวลาเช่นเดียวกับวิสกี้หรือไวน์ชั้นดีชนิดอื่น ๆ
ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมีประเพณีหนึ่งที่พ่อแม่มักจะทำเหล้าบ๊วยเป็นชุดของขวัญให้ลูกเมื่อตอนแรกเกิด แล้วจะหมักไว้เป็นเวลานานเพื่อดื่มพร้อมกันเป็นครั้งแรก เมื่อลูกมีอายุครบ 20 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่กฎหมายอนุญาตให้ดื่มแอลกอฮอล์ได้
เมื่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมในการถนอมอาหารมาถึง การผลิตเหล้าบ๊วยในรูปแบบโฮมเมดจึงเริ่มลดลงและมีการผลิตในเชิงพาณิชย์กันมากขึ้น บริษัทต่าง ๆ เริ่มผลิตเหล้าบ๊วยจำนวนมากเพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น
ในยุคสมัยใหม่เหล้าบ๊วยได้ก้าวข้ามพรมแดนของญี่ปุ่นและได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากอาหารและวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้รับความนิยมไปทั่วโลก ดังนั้นเหล้าบ๊วยจึงกลายเป็นสิ่งที่ต้องการสำหรับผู้ที่แสวงหารสชาติแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น
ทุกวันนี้เหล้าบ๊วยมีรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมายนับไม่ถ้วน มีการใช้บ๊วยหลากหลายสายพันธุ์ จึงทำให้เหล้าบ๊วยแต่ละชนิดมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง และนอกจากนี้เหล้าบ๊วยยังถูกใช้เป็นผสมในค็อกเทล ของหวาน และอาหารคาวอีกด้วย กล่าวกันว่ารสชาติที่หวานอมเปรี้ยวของเหล้าบ๊วยช่วยเพิ่มความโดดเด่นให้กับสูตรอาหารต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
ถึงแม้ทุกวันนี้หลายคนจะคุ้นเคยกับเหล้าบ๊วยในฐานะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อความรื่นรมย์ แต่อย่างไรก็ตามยังมีคนอีกจำนวนมากที่ดื่มเหล้าบ๊วยเพื่อบำรุงร่างกาย เนื่องจากเหล้าบ๊วยอุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย เช่น ธาตุเหล็ก โพแทสเซียม แมกนีเซียม แคลเซียม และธาตุอื่น ๆ ที่ช่วยในเรื่องของการบำรุงกระดูกและหัวใจ ไม่เพียงเท่านั้นสารอาหารเหล่านี้ยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายช่วยชะลอความแก่ และลดระดับคอลเลสเตอรอลได้เป็นอย่างดี
ในสมัยก่อนจะนิยมใช้เป็นยาแก้อาการคลื่นไส้ ปวดหัว หรือท้องผูกได้ เนื่องจากเหล้าบ๊วยนั้นมีฤทธิ์เป็นด่าง ทั้งยังใช้เป็นเครื่องดื่มบรรเทาอาการเจ็บคอ ช่วยเพิ่มความสดชื่นให้กับร่างกาย สามารถบรรเทาอาการหวัดและอาการไอได้อีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตามการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย ดังนั้นหากต้องการดื่มเพื่อบำรุงร่างกาย เราควรดื่มเหล้าบ๊วยในปริมาณที่พอเหมาะและหลีกเลี่ยงการขับรถ เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุและความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ความรู้รอบตัว
ประวัติศาสตร์
อาหาร
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย