2 เม.ย. 2024 เวลา 15:07 • ประวัติศาสตร์
เยอรมนี

🚫“นิทรรศการศิลปะเสื่อมทราม : เมื่อศิลปะสมัยใหม่เป็นสิ่งไม่พึงปรารถนาของฮิตเลอร์และนาซี”⚠️

🕑ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเยอรมันนี มีผลงานศิลปะประเภทหนึ่งที่ได้รับคำจำกัดความว่า “ศิลปะนาซี” (Nazi art) เมื่อยุคสมัยพรรคนาซีเรืองอำนาจ (Nazi party, 1933-1945) ซึ่งศิลปะแนวทางนี้ถูกผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองในรสนิยมของ ‘อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolph Hitler)’ ณ ช่วงเวลานั้นศิลปินนาซีได้เข้ามามีบทบาทแทนที่ศิลปินสมัยใหม่ในเยอรมันนีที่มีแนวทางการสร้างสรรค์แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว
👨‍🎨กลุ่มศิลปินที่มีความเคลื่อนไหวแตกต่างจากศิลปินนาซีดังที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้นยกตัวอย่างเช่น ‘ศิลปินเอ็กซเพรสชั่นนิสต์ (Expressionist)’ ซึ่งมีการแสดงออกแบบหัวก้าวหน้าโดยที่ไม่ปรากฏเนื้อหาทางสังคมหรือการเมืองของเหล่าศิลปินในสังกัด ‘สถาบันเบาเฮาส์ (Bauhaus)’ และสถาบันแห่งนี้ถูกสั่งปิดถาวรในเวลาต่อมา เช่น ‘พอล คเล (Paul Klee)’ ‘วาสสิลี แคนดินสกี้ (Vassily Kandinsky)’
Paul Klee. Twittering Machine, 1922, Oil transfer drawing, watercolor, and ink on paper with gouache and ink borders on board, 64.1 x 48.3 cm
กลุ่มเบาเฮาส์สามารถพัฒนาศิลปะให้ก้าวหน้าไปสู่แนวทางศิลปะสมัยใหม่คือ ‘ศิลปะนามธรรม (Abstract Art)’ ซึ่งแน่นอนว่าแนวทางของศิลปะดังกล่าวไม่เป็นที่พึงพอใจของรัฐบาลนาซี จึงถูกปราบปรามโดยวิธีการยึดทำลายผลงาน ศิลปินบางคนถึงขั้นต้องหลบหนีออกนอกประเทศ เนื่องจากแนวคิดแบบสมัยใหม่ (Modernism) เป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาของพรรคนาซี และฮิตเลอร์เห็นว่าศิลปะสมัยใหม่มีอิทธิพลต่อผู้คนที่จะสามารถชักจูงให้เกิดการต่อต้านอำนาจทางการเมืองของตนได้
Wassily Kandinsky. Composition “Silence”, 1928, Oil on canvas, 52 x 79 cm
ภาพถ่ายหมู่อาจารย์ประจำบนชั้นดาดฟ้าของสถาบันศิลปะและการออกแบบเบาเฮาส์ (Bauhaus) ก่อนที่สถาบันจะยุติการเรียนการสอนและถูกสั่งปิดในปี ค.ศ. 1933 ด้วยอำนาจเผด็จการพรรคนาซี
🕔ในเดือนกรกฎาคม ปี ค.ศ. 1937 พรรคนาซีนำโดยฮิตเลอร์ ได้จัดนิทรรศการศิลปะขนาดใหญ่ขึ้น ณ ใจกลางเมืองมิวนิค (Munich) จำนวน 2 นิทรรศการด้วยกันคือ
1. The Great German Art Exhibitions (German: Große Deutsche Kunstausstellungen)
2. Degenerate Art Exhibition (German: Die Ausstellung "Entartete Kunst")
Degenerate Art Exhibition
🟢‘The Great German Art Exhibitions’ คือนิทรรศการศิลปะที่รวบรวมผลงานกว่า 12,550 ชิ้น อันเป็นผลงานที่มีรูปแบบและเนื้อหาเป็นไปตามนโยบายด้านศิลปวัฒนธรรมของผู้มีอำนาจรัฐ ถูกจริตผู้นำสูงสุดของเยอรมันนีในขณะนั้น เมื่อฮิตเลอร์ชื่นชอบและเคยเป็นผู้สร้างสรรค์งานศิลปะมาก่อนจึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดเขาจึงพยายามทุ่มเททรัพยากรต่างๆเพื่อสร้างโลกในอุดมคติของรัฐผ่านงานศิลปะเหล่านี้
🔴ถัดจากพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการข้างต้นนี้ไปเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ‘Degenerate Art Exhibition’ นิทรรศการศิลปะเสื่อมทรามอันน่ารังเกียจถูกจัดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกัน ผลงานเหล่านี้แน่นอนว่าเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับงานที่ผู้เขียนกล่าวไปแล้วก่อนหน้า
ผลงานส่วนหนึ่งถูกพรรคนาซีเผาทำลายไปก่อนที่นิทรรศการจะเริ่มต้นขึ้น ทิศทางของนิทรรศการนี้ถูกจัดขึ้นเพื่อเยาะเย้ยถากถางรูปแบบผลงาน และโน้มน้าวสร้างความรู้สึกเกลียดชังให้เกิดแก่ผู้ชมที่เข้ามาในบริเวณงาน ศิลปะเชิงทดลองและศิลปะรูปแบบสมัยใหม่ถูกปฏิเสธอย่างไม่ใยดีด้วยระบอบเผด็จการทหาร
❎กลุ่มศิลปินหัวก้าวหน้าในห้วงเวลานั้น ถูกฮิตเลอร์ขนานนามว่าเป็นพวก “เสื่อมทราม” (Degenerate) และใช้อำนาจเผด็จการทางการเมืองเข้ากวาดล้างทำลาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้แสดงให้เราเห็นว่าการเมืองมีความหวาดกลัวต่อพลังอำนาจของศิลปะอย่างชัดเจน
ผลงานศิลปะในประเทศเยอรมันนี อิตาลี และรัสเซียในยุคสมัยนั้น นิยมสร้างสรรค์ผลงานที่เน้นเชิดชูส่งเสริมชนชั้นปกครอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างการเมืองและศิลปะ ในแง่หนึ่งคือการเมืองเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดลัทธิและแนวทางสร้างสรรค์ศิลปะมากมาย เช่น ศิลปะนาซี สัจนิยมสังคม และฟาสซิสต์ ส่วนอีกแง่หนึ่งการเมืองก็ส่งผลกระทบในทางลบต่อการสร้างสรรค์ศิลปะและตัวศิลปินเอง เช่น ศิลปินเอ็กเพรสชั่นนิสต์ และสถาบันเบาเฮาส์ในเยอรมันนี อันเป็นผลจากการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่กระทบต่อโครงสร้างทางการเมือง
💬ผลกระทบทางการเมืองนั้นผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ที่สำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์วงการศิลปะตะวันตก คือกลุ่มศิลปิน ‘ดาดา (Dada)’ ยุคเริ่มแรก ก่อนที่ต่อมากลุ่มดังกล่าวนี้จะไปเขย่าวงการศิลปะในปารีส (Paris) และนิวยอร์ก (New York)
กลุ่มดาดาเริ่มต้นรวมตัวกันด้วยเพราะผลกระทบจากสภาวะสงครามในห้วงเวลาสงครามโลกครั้งที่ 1 พวกเขาต้องหลบหนีจากประเทศของตนเองด้วยแรงกดดันทางการเมือง เมื่อศิลปินไร้ที่อยู่อาศัยจึงเกิดการอพยพรวมตัวกันขึ้นที่สถานบันเทิงทางศิลปะ ‘คาบาเรต์ วอลแตร์ (Cabaret Voltaire)’ ในเมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Zurich, Switzerland)
❌‘Degenerate Art Exhibition’ หรือ “นิทรรศการศิลปะเสื่อมทราม” ที่ถูกจัดขึ้นในประเทศเยอรมันนี และการยึดทำลายผลงานศิลปะโดยพรรคนาซีเมื่อครั้งก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะปะทุขึ้นนั้นเป็นการเน้นย้ำถึงประเด็นว่าศิลปะสามารถส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบผลงานและประเด็นที่ศิลปินต้องการสื่อสาร หากงานศิลปะนั้นๆมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมการเมืองในเชิงต่อต้านแนวคิดกระแสหลัก หรือเนื้อหาของผลงานเป็นสิ่งที่รัฐไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะบริบทของพื้นที่ที่ถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการแล้วกระบวนการเซ็นเซอร์งานศิลปะมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นและสำเร็จได้โดยง่าย เบ็ดเสร็จและรุนแรงกว่า
แม้เราจะทราบว่าการเซ็นเซอร์มีอยู่และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐ หรือรัฐเผด็จการ คือตัวแปรและตัวเร่งอย่างมีนัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการปิดกั้นนั้นลุล่วงสัมฤทธิ์ผลโดยปราศจากเงื่อนไข การต่อรอง การรับฟังความเห็นจากภาคประชาสังคม หรือแม้กระทั่งการวิพากษ์วิจารณ์อันเป็นกระบวนการที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาสังคมให้ก้าวเดินไปข้างหน้า
แล้วพบกันใหม่ ขอให้มีความสุขกับการอ่านและการเรียนรู้ ในทุกๆวันนะครับ 😊
📌อ้างอิง
🔗กำจร สุนพงษ์ศรี. (2528). ศิลปะสมัยใหม่ (Vol. 2). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
🔗Selz, P. (2006). Art of Engagement: Visual Politics in California and Beyond. California: University of California.
🔗El-Mecky, N. (2014). Art in Nazi Germany, from Khan Academy.
โฆษณา