3 เม.ย. 2024 เวลา 00:48 • ธุรกิจ

Ryuichi Sakamoto

ใจหายกับการ เสียชีวิตของศิลปินที่ยิ่งใหญ่ของวงการดนตรี และภาพยนตร์
หลังศิลปินและนักแต่งเพลงระดับตำนานชาวญีปุ่น Ryuichi Sakamoto
ได้เสียชีวิตในวัย 71 ปี เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566
ขออนุญาตนำบทความ จาก ThestandardPop และThe People
ภาพจากเพจ David Bowie หนังที่ทั้งคู่แสดงคู่กัน มารวบรวมเพื่อ ระลึกถึงนะคะ
หลังจากที่ Ryuichi Sakamoto ได้ศึกษาจบจากมหาวิทยาลัย Tokyo National University of Fine Arts and Music เมื่อกลายยุค 70 เขาก็ได้สร้างสรรค์ผลงานเอาไว้มากมายที่ต้องจารึกในประวัติศาสตร์ดนตรี
โดยเฉพาะการทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดสุดคลาสสิค ไม่ว่าเรื่อง The Last Emperor เมื่อปี 1987 ที่ทำให้เขาชนะรางวัลออสการ์ แกรมมี่ และลูกโลกทองคำสาขา Best Original Score, The Little Buddha เมื่อปี 1994, The Revenant เมื่อปี 2015 และทีวีซีรีส์แอนนิเมชั่นเรื่อง Exception ทาง Netflix เมื่อปี 2022 ที่เป็นผลงานสุดท้ายของเขา
แต่กับผลงานที่หลายคนน่าจะจดจำ Ryuichi Sakamoto ได้ดีสุดก็คือจากเรื่อง Merry Christmas, Mr. Lawrence เมื่อปี 1983 ที่เขาแสดงร่วมกับ David Bowie พร้อมกับทำดนตรีประกอบที่ชนะราง BAFTA อีกด้วย
นอกจากนี้ ทาง Ryuichi Sakamoto ยังเคยเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งวงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ Yellow Magic Orchestra เมื่อปี 1978 ร่วมกับ Haruomi Hosono และ Yukihiro Takahashi ซึ่งวงนี้ก็ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกดนตรีแนวนี้ให้เป็นที่นิยมมากขึ้น ส่วนโปรเจ็คอื่นๆ ที่ Ryuichi Sakamoto เคยทำก็มีทั้งการทำเพลงประกอบมหากรรมกีฬาโอลิมปิคเมื่อปี 1992 ที่บาร์เซโลน่า ประเทศสเปน, ทำริงโทนสำหรับมือถือ Nokia เมื่อต้นยุค 2000 และยังเคยปรากฎตัวในมิวสิควิดีโอ Rain ของ Madonna อีกด้วย
THE STANDARD POP ขอร่วมแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ Ryuichi Sakamoto อีกหนึ่งตำนานของวงการดนตรีที่จะถูกจดจำตลอดไป
.
#RyuichiSakamoto #TheStandardPop
Merry Christmas, Mr. Lawrence:
ความต่างขั้วที่งดงามท่ามไฟกลางสงครามและวันคริสต์มาส
.
บทเพลงหนึ่งที่ถือเป็นผลงานชิ้นเอกและมีเสียงดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์ชิ้นหนึ่งของนักดนตรีในตำนานแห่งแดนอาทิตย์อุทัยนามว่า ‘ริวอิจิ ซากาโมโตะ’ (Ryuichi Sakamoto) ก็คงเป็นบทเพลงไหนไปไม่ได้นอกเสียจาก ‘Merry Christmas, Mr. Lawrence’ เสียงดนตรีที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ตั้งแต่ความเศร้า ความคิดถึง ไล่เรียงไปถึงความหวังที่ผุดขึ้นมา
.
นับเป็นเรื่องน่าใจหายที่ในคืนวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2566 ทางโซเชียลมีเดียของซากาโมโตะได้มีอัพโหลดภาพที่บอกว่า นักประพันธ์เพลงแห่ง Yellow Magic Orchestra ได้เสียชีวิตอย่างสงบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ต่อสู้กับโรคมะเร็งมานานหลายปี
.
เนื่องในโอกาสรำลึกการจากไปของเขา The People จึงอยากจะนำเสนอภาพยนตร์อันเป็นที่มาของบทเพลงอมตะที่ฉายในปี 1983 ในชื่อเดียวกัน ซึ่งก็คือ ‘Merry Christmas, Mr Lawrence’ (1983) จากผลงานการกำกับของ ‘นางิสะ โอชิมะ’ (Nagisa Oshima) เกี่ยวกับเรื่องราวของเชลยศึกชาวตะวันตกในค่ายของทหารญี่ปุ่น
.
ซึ่งตัวละครหลักทั้งสองในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือคนสองคนที่แตกต่างกันสุดขั้ยวในแทบจะทุกแง่มุม — แจ็ค เซลเลียร์ (Jack Celliers) เชลยใหม่จากค่ายที่ตัวเป็นนักโทษแต่ใจเป็นอิสระ ใจกล้าต่อต้านทุกสิ่งอย่างที่ไม่ยุติธรรมในค่าย แม้ในภายหลังจะต้องเจ็บกายก็ตาม และ ผู้กองโยโนอิ (Yonoi) ผู้ยึดมั่นในระเบียบและขนมธรรมเนียมของกองทัพญี่ปุ่นและวิถีซามูไรโบราณ ผู้ที่กายอิสระแต่ใจกับถูกกักขังด้วยระเบียบเหล่านั้น
ไม่เพียงแค่ตัวละครหลักทั้งสองจะมีความต่างขั้วกันอย่างสุดทางเท่านั้น แต่นักแสดงที่สวมบทบาทเหล่านั้นก็ต่างกันอย่างสุดขั้วเช่นเดียวกัน ในด้านหนึ่งคือ เดวิด โบวี (David Bowie) นักดนตรีศิลปินเดี่ยวชื่อดังก้องโลกจากฝั่งตะวันตก มาประชันกับ ริวอิจิ ซากาโมโตะ นักดนตรีสายทดลองจากวง Yellow Magic Orchestra (YMO) จากฝั่งตะวันออก
.
ไม่เพียงแค่ซากาโมโตะมาสวมบทบาทเป็นตัวละครหลักในภาพยนตร์เรื่องนี้เท่านั้น แต่เขายังได้เป็นผู้ประพันธ์เพลงประกอบให้อีกด้วย ซึ่งก็ออกมาเป็นดนตรีสุดคุ้นหูและอมตะดังที่เรากล่าวไปข้างต้นนั่นเอง ในบทความนี้เราจะพาไปสำรวจบางมุมจากภาพยนตร์เรื่อง Merry Christmas, Mr. Lawrence เกี่ยวกับประเด็นความต่างขั้วทางด้านวัฒนธรรม มิตรภาพ สงคราม และความสวยงามของความเป็นมนุษย์ที่เรื่องราวนี้พยายามจะสื่อออกมา
#ความต่างที่สมานผ่าน_มิตรภาพ
แทบจะตลอดทั้งเรื่องเราจะได้เห็นความเหี้ยมโหดภายในค่ายเชลยจากเหล่าทหารญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ‘ฮาระ’ (Hara) นายทหารยศจ่าขาโหดผู้เป็นผู้คุมและดูแลความเรียบร้อยของเชลยในค่าย นำแสดงโดย ‘ทาเคชิ คิทาโน่’ (Takeshi Kitano) เรียกได้ว่าหากใครคนใดประพฤติผิดกฎหรือไม่ถูกใจก็จะโดนฟาดไม่เลี้ยง
แต่แม้จะมีความแตกต่างอย่างสุดขั้วในเชิงอำนาจระหว่างผู้กุมอำนาจกับผู้อยู่ใต้อำนาจ แต่มิตรภาพระหว่างจ่าฮาระกับล่ามเชลยประจำค่ายนามว่า ‘ลอวเรนซ์’ (Lawrence) ที่สวมบทบาทโดย ‘ทอม คอนติ’ (Tom Conti) ก็ก่อตัวขึ้นเรื่อยมา จนทำให้เราได้เห็นอีกมุมหนึ่งของนายทหารสุดโหดว่าเขาก็มีมุมความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้โหดร้ายอะไรดังที่สงครามเหลาให้เขาเป็น
ในครั้งหนึ่งที่ลอวเรนซ์และเซลเลียร์ประพฤติผิดอย่างร้ายแรงจนต้องโทษประหารในคืนวันคริสต์มาส แต่พอถึงเวลาที่จะต้องรับโทษจริง ๆ เขาทั้งคู่กับถูกพาเข้าไปหาฮาระในห้อง ๆ หนึ่ง ในขณะที่เขากำลังดื่มด่ำเฉลิมฉลองกับสาเกและผลไม้อย่างมีความสุข พร้อมทั้งเปรียบตัวเองเป็น ‘ซานตา คลอส’ หรือ ‘Father Christmas’ ที่ประธานของขวัญเป็นการละเว้นโทษประหารให้แก่สองเชลยในค่ำคืนพิเศษวันนั้น
“มันเป็นคืนคริสต์มาสที่ดีมาก ๆ เลยนะ นายว่าไหม?”
“มันเป็นคืนที่สุดแสนจะมหัศจรรย์เลยล่ะ… นายเมาปลิ้นเลย”
“ดีจังนะ ผมอยากจะเมาแบบนั้นไปอีกเรื่อย ๆ จัง…”
.
เมื่อมองฉากดังกล่าวผสานเข้ากับประโยคจากฉากสุดท้าย เราจะได้เห็นว่าความเป็นมนุษย์ที่แอบซ่อนอยู่หลังความเหี้ยมโหดของฮาระจะถูกดึงออกมาเมื่อเขา ‘เมาเหล้า’ เมื่อสาเกถูกกระดกเข้าปากสู่กระแสเลือด ยศถาบรรดาศักดิ์ แนวคิดเรื่องสงครามและอำนาจก็ถูกเปลื้องออกจนหมดเกลี้ยง เหลือเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่หวังอยากจะช่วยเพื่อนมนุษย์อีกคนหนึ่งเพียงเท่านั้น
ตั้งแต่วินาทีแรกของภาพยนตร์ที่ฮาระปรากฎตัวขึ้นมาบนจอ เราจะได้เห็นพัฒนาการของตัวละครตัวนี้อย่างน่าสนใจ ฮาระเริ่มก้าวเดินจากจ่าผู้คุมที่ (ดูเหมือน) ไร้หัวใจ แถมยังไม่ยอมรับวัฒนธรรมจากฝั่งตะวันตกและกล่าวว่าวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นเป็นอะไรที่สูงส่งกว่า ค่อย ๆ โอบรับและเข้าใจความแตกต่างมากขึ้นผ่านลอวเรนซ์ แม้จะโหดร้าย แต่เราก็จะได้เห็นอีกมุมของฮาระที่เข้าใจและเห็นใจเชลยคนอื่น ๆ จนก่อให้เกิดเป็นมิตรภาพระหว่างตัวเขากับลอวเรนซ์เสียด้วยซ้ำ
.
ความน่าสนใจของความคัดแย้งนี้ชี้ให้เราเห็นถึงความแตกต่างระหว่างสองวัฒนธรรมที่มาเผชิญกันจนเกิดเป็นความขัดแย้งและไม่เห็นด้วย แต่เมื่อมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า ‘มิตรภาพ’ เริ่มแทรกตัวเขามาระหว่างกลาง มันกลับทำหน้าที่เสมือนกาวที่ช่วยสมานความแตกต่างนั้นให้เขยิบเข้ามาใกล้และเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น
.
แต่มิตรภาพเหล่านั้น แทนที่จะเบิกบานได้อย่างเต็มที่ กลับถูกครอบด้วยความโหดร้ายที่มุ่งแบ่งแยกผู้คนให้ฆ่าแกงกันเองนามว่า ‘สงคราม’ แต่อย่างน้อยเราก็ได้เห็นว่ายังมี ‘ความเป็นมนุษย์’ หลบซ่อนอยู่เบื้องหลังความเหี้ยมโหดเหล่านั้น
.
#คำลาสุดท้าย_ชัยชนะที่ยิ้มไม่ออก
.
“พวกเราล้วนคือเหยื่อของเหล่าคนที่คิดว่าตนเองถูก… แต่ความจริงแล้ว ไม่มีใครเลยที่เป็นคนถูก”
อีกหนึ่งประเด็นที่ภาพยนตร์เรื่อง Merry Christmas, Mr. Lawrence ได้นำเสนอออกมาได้อย่างน่าสนใจคือด้านมืดของ ‘สงคราม’ ที่นอกจากจะทิ้งซากปรักหักพังให้แก่มวลมนุษย์แล้วยังไม่สร้างผลประโยชน์ที่จีรังยั่งยืนให้แก่ฝ่ายใดเลย มีเพียงแต่อำนาจเหนือผู้อื่นที่ใครสักคนอาจจะได้มันมาครองเพียงชั่วคราวเท่านั้น
ดังที่เราได้กล่าวไปก่อนหน้าว่าตลอดเรื่องเราจะได้เห็นนายทหารญี่ปุ่นทั้งหมด รวมถึงฮาระครองอำนาจนำและสามารถบงการเชลยทุกคนในค่ายได้ตามอำเภอใจ แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงตอนสุดท้าย ในตอนที่สงครามโลกได้เดินมาถึงจุดจบเป็นที่เรียบร้อย ในวันที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผู้ชนะ และอักษะเป็นผู้แพ้ บทบาททั้งหมดที่เคยเกิดขึ้นจึงพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากเชลยจึงกลายเป็นผู้ชนะ จากผู้คุ้มเชลยจึงกลายเป็นนักโทษ
ในคืนวันคริสต์มาสก่อนที่ฮาระจะถูกประหารในเช้าวันต่อไป ลอวเรนซ์ได้เดินทางไปหามิตรจากค่ายเชลยเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งบทสนทนาของเขาทั้งคู่ถือเป็นหนึ่งในเรื่องราวการจากลาและตอนจบที่ซึ้งเรียกน้ำตาที่สุดแห่งโลกภาพยนตร์ก็ว่าได้
แม้จะสลับบทบาทกันอย่างชัดเจน แต่ลอวเรนซ์ก็ไม่ได้แสดงท่าทีที่อยู่เหนือกว่าฮาระเลยแม้แต่น้อย เขาเคารพฮาระเสมือนเพื่อนคนหนึ่งของเขาดังเดิมไม่เปลี่ยนไป เมื่อได้พูดคุยกันเขาก็เลือกที่จะนั่งกับพื้นแทนที่จะยืนเพื่อที่จะสามารถคุยกับฮาระในระดับสายตาเดียวกัน ซึ่งสื่อความรู้สึกว่าไม่มีใครเหนือหรือด้อยกว่าในสถานการณ์นี้
.
ในทางตรงกันข้าม จากฮาระ จ่าสายโหดในตอนนั้นกลับกลายเป็นคนที่นอบน้อมสุภาพในวันที่เขาได้ลองมาเข้าใจความรู้สึกของเชลยเมื่อเขาได้เจอมันเองกับตัว
“นายจำคืนคริสต์มาสคืนนั้นได้ไหม?”
.
“จำได้สิ”
.
“มันเป็นคืนคริสต์มาสที่ดีมาก ๆ เลยนะ นายว่าไหม?”
.
“มันเป็นคืนที่สุดแสนจะมหัศจรรย์เลยล่ะ… นายเมาปลิ้นเลย”
.
“ดีจังนะ ผมอยากจะเมาแบบนั้นไปอีกเรื่อย ๆ จัง…”
อีกหนึ่งความต่างขั้วที่ตรงกันข้ามกันที่น่าจะสร้างความเจ็บปวดให้ลอวเรนซ์ไม่น้อยก็คือ ‘การช่วยชีวิต’ ในคราวที่ฮาระถือครองอำนาจเป็นผู้คุมเชลย แม้จะโหดเหี้ยมต่างจากในคราวของลอวเรนซ์อย่างสิ้นเชิง แต่ในวันที่ลอวเรนซ์กำลังจะถูกประหารในคืนวันคริสต์มาส ฮาระสามารถช่วยชีวิตลอวเรนซ์และเซลเลียร์โดยการละเว้นโทษได้
แต่ในคืนวันคริสต์มาสหลายปีต่อมา เมื่อถึงคราวที่ฮาระต้องเดินหน้าสู่ลานประหาร แม้ลอวเรนซ์จะไม่ได้ใช้อำนาจอย่างเหี้ยมโหดเหมือนฮาระในคราวที่เขามีอำนาจ แต่ลอวเรนซ์ก็ไม่สามารถช่วยฮาระให้พ้นจากการประหารได้ เขาไม่สามารถมอบของขวัญในวันคริสต์มาสแก่ฮาระเหมือนที่ฮาระเคยมอบให้เขาเมื่อหลายปีก่อนได้ นับเป็นความต่างขั้วที่ชี้ให้เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนตัวอย่างหนึ่ง
“ในบางคราว มันก็ยากเหลือเกินที่จะโอบรับชัยชนะเอาไว้…”
เมื่อกล่าวถึงชัยชนะ บางชัยชนะก็มาพร้อมความสุขอันล้นเหลือ แต่บางชัยชนะก็มาพร้อมความปวดร้าว โดยเฉพาะเมื่อผู้ชนะคนนั้นเคยยืนอยู่ในจุดที่ผู้แพ้เคยยืนมาก่อน คำกล่าวและท่าทีของลอวเรนซ์สะท้อนความเข้าอกเข้าใจและเห็นใจต่อฮาระออกมาอย่างชัดเจน เมื่อครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นเชลยที่เคยเกือบโดนประหาร เหตุใดจึงต้องหัวเราะเยาะใครสักคนที่กำลังเผชิญกับชะตากรรมแบบเดียวกับที่เขาเคยเผชิญ? โดยเฉพาะเมื่อบุคคลคนนั้นเป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งของเขา
หลังจากบอกลาฮาระด้วยน้ำเสียงสั่นเครือเป็นครั้งสุดท้าย ลอวเรนซ์ก็แข็งใจและเดินจากไป แต่ไม่นานหลังจากนั้นเขาก็ได้ยินเสียงเรียกแบบเดิม เหมือนที่หลายปีก่อนเขาได้ยินเป็นประจำ
.
“ลอวเรนซ์!!!!!”
.
“เมอร์รีคริสต์มาส… เมอร์รีคริสต์มาสนะ คุณลอวเรนซ์”
แม้ลอวเรนซ์จะไม่สามารถช่วยชีวิตฮาระให้รอดพ้นจากโทษประหารได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาทำได้คือกอบกู้จิตใจและดวงวิญญาณของฮาระให้เข้าใจในความงามของมิตรภาพและความเป็นมนุษย์เอาไว้ได้ อย่างน้อยในค่ำคืนคริสต์มาสนั้น เขาก็ได้เข้าใจความพิเศษของมันและได้บอกลาลอวเรนซ์เป็นครั้งสุดท้าย
นับเป็นชัยชนะที่น่าเจ็บปวดของลอวเรนซ์ที่เขาต้องเห็นเพื่อนต้องเดินหน้าไปเผชิญกับความโหดร้ายที่เขาเคยประสบ นับเป็นความพ่ายแพ้ที่สวยงามของฮาระ แม้ว่าชีวิตของเขาจะต้องจบลงในอีกไม่นาน แต่อย่างน้อย ในช่วงเวลาที่เหลือของเขา เขาก็ได้เห็นและเข้าใจความงดงามของความเป็นมนุษย์ที่พร้อมจะเข้าใจและเห็นใจผู้อื่นอย่างแท้จริง
ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราเห็นถึงแง่งามของความเป็นมนุษย์ที่แทรกตัวอยู่ในซากปรักหักพังของสงครามที่ไม่ว่าจะปืนกี่กระบอก รถถีงกี่คัน หรือระเบิดกี่ลูก ก็ไม่สามารถทำลายมิตรภาพระหว่างเพื่อนมนุษย์ให้มลายหายไปได้ แต่ก็นับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ผู้คนมากมายหลายคนที่สามารถะเป็นเพื่อนกันได้ ต้องมาถือปืนเล็งหากัน เพียงเพราะอุดมการณ์และเป้าหมายของคนไม่กี่คน พวกเขาถูกชี้สั่งให้ทำร้ายกัน ฆ่ากัน เพียงเพราะคำว่า ‘สงคราม’
ถึงกระนั้น อย่างน้อยฮาระก็เข้าใจความสวยงามของวันคริสต์มาส…
เรื่อง: รัฐฐกรณ์ ศิริฤกษ์
ภาพ:
ภาพยนตร์เรื่อง Merry Christmas, Mr. Lawrence (IMDb)
.
#ThePeople #Culture #Film #Thought #HardOpinion #MerryChristmasMrLawrence #RyuichiSakamoto
โฆษณา