3 เม.ย. 2024 เวลา 05:00 • สุขภาพ

สาเหตุ-ระยะโรคไตเรื้อรัง ไม่กินเค็มแต่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นก็เป็นได้!

โรคไต ปัญหาสาธารณสุขของไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ และผู้ป่วยมักรู้ตัวในระยะท้ายๆ เช็คสาเหตุและระยะของโรคไต รู้ก่อนรักษาหายได้
โรคไต เหมือนกับโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ในระยะแรกจะไม่แสดงอาการ แต่รู้หรือไม่?คนไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคไตสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยโรคดังกล่าวจะแสดงออกมาก็ต่อเมื่อเป็นมากแล้วในระยะท้ายๆ โดยส่วนมากผู้ป่วยจะสามารถสังเกตความผิดปกติได้อย่างชัดเจน
โรคไตแบ่งเป็น 2 ประเภท
  • โรคไตแบบฉับพลัน มีโอกาสหายได้เมื่อทำการรักษาตรงตามสาเหตุอย่างถูกต้อง เช่น การควบคุมความดันในคนไข้ที่มีโรคความดัน ควบคุมระดับน้ำตาลในคนไข้โรคเบาหวาน
  • โรคไตแบบเรื้อรัง คนไข้ส่วนใหญ่จะเป็นตลอดชีวิต
โรคไตเรื้อรัง
โรคไตเรื้อรังแบ่งออกเป็น 5 ระยะ
  • ระยะที่ 1 มีค่าการทำงานของไต (GFR) มากกว่า 90 ไตอยู่ในภาวะปกติแต่เริ่มมีความเสื่อมเกิดขึ้น รักษาด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และรักษาโรคประจำตัว
  • ระยะที่ 2 มีค่าการทำงานของไต (GFR) น้อยกว่า 90 ไตเสื่อม รักษาด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง
  • ระยะที่ 3 มีค่าการทำงานของไต (GFR) น้อยกว่า 60 ไตเสื่อมมากขึ้น การทำหน้าที่กรองของเสียลดลง รักษาด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์ ตรวจโปรตีนในปัสสาวะ และติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง
  • ระยะที่ 4 มีค่าการทำงานของไต (GFR) น้อยกว่า 30 ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษา แพทย์จะรักษาด้วยการควบคุมอาหาร ให้ออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์ ตรวจเลือดและปัสสาวะติดตามอาการทุก 3 หรือ 6 เดือน
  • ระยะที่ 5 มีค่าการทำงานของไต (GFR) น้อยกว่า 15 เกิดภาวะไตวาย ไตไม่สามารถทำงานได้ ต้องรักษาด้วยการฟอกเลือดเมื่อค่า GFR ต่ำกว่า 9 หรือทำการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายไต
อาการโรคไตที่มักมาพบแพทย์
  • ขาบวม ผิดปกติ
  • ปัสสาวะผิดปกติ ติดขัด มีสีขุ่น มีเลือดปนออกมา
  • ปวดสีข้างร้าวไปหลัง หรือปวดร้าวมาถึงขาหนีบ
  • มีความดันสูง ต้องรับประทานยาหลายชนิด
  • ภาวะโลหิตจาง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
อาการเหล่านี้ เป็นสัญญาณของโรคไตในระยะที่ 3 ขึ้นไป จึงไม่ควรปล่อยให้ลุกลาม รุนแรงกว่าเดิม สำหรับในระยะที่ 1-2 สามารถตรวจพบได้ แม้ว่าจะยังไม่แสดงอาการ แต่เมื่อพบโรคในระยะแรกๆ ก็จะช่วยให้ได้ผลการรักษาที่ดี มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็ว เพราะโรคไตมีภาวะการอักเสบในร่างกายมาก มีความเสี่ยงเท่ากับคนไข้โรคเบาหวาน จึงสามารถพัฒนาเป็นโรคเรื้อรังชนิดอื่นได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ การเกิดแผลเรื้อรังที่ขาและเท้าดำ
สาเหตุการเกิดโรคไต
การรับประทานอาหารรสเค็มเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดโรคไต แต่ยังมีสาเหตุของการเกิดโรคไตที่สำคัญอีกหลายอย่าง เช่น
  • โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเรื้อรัง โรคนิ่ว
  • ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เกี่ยวกับโรคพุ่มพวง (โรคที่เกิดจากภาวะที่ร่างกายสร้างสารภูมิคุ้มกันต้านทานผิดปกติ)
  • การรับประทานยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่ไม่มีคุณภาพ เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคไตในผู้ที่มีโรคประจำตัว
  • พันธุกรรม คือ โรคถุงน้ำในไต พบประมาณ 1 ใน 800 คน ถึง 1 ใน 1,000 คน ของประชากรในประเทศ โดยการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของยีนเด่น คือ พ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคนี้ สามารถถ่ายทอดโรคสู่รุ่นลูกได้
คำแนะนำจากอายุรแพทย์โรคไต
ตรวจสุขภาพคัดกรองโรคไตเป็นประจำทุกปี เมื่อมีอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงคนไข้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน ไม่ควรละเลยการกินอาหารให้ครบทั้งครบ 5 หมู่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดื่มน้ำให้เพียงพองดการสูบบุหรี่ งดการดื่มแอลกอฮอล์ และอย่าติดนิสัยกลั้นปัสสาวะ เพราะอาจนำไปสู่การติดเชื้อเรื้อรังได้ ที่สำคัญไม่ควรรับประทานยาที่มีพิษต่อไต หรืออาหารเสริม และยาสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐาน
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพญาบาลพญาไท นวมินทร์
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา