Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
SCB Thailand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
5 เม.ย. 2024 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
เคล็ดลับเลือกลงทุนกิจการอนาคตดี ด้วย ESG Rating
เรามักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า หากระยะเวลาลงทุนยิ่งมากขึ้น โอกาสการขาดทุนจะยิ่งน้อยลง และโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีก็จะมีมากขึ้น อย่างไรก็ดี ผมมองว่า ผลตอบแทนที่ดีมากขึ้นในระยะยาว ต้องพิจารณาโอกาสและความเสี่ยงที่สินทรัพย์หรือกิจการนั้นมีในอนาคตด้วย โดยให้ความสำคัญทั้งตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านการเงิน (Financial Measures) และตัวชี้วัดที่ไม่ใช่ด้านการเงิน (Non-financial Measures)
อย่างการบริหารจัดการประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environment, Social and Governance) ที่มีนัยสำคัญ เป็นปัจจัยด้าน Non-financial ที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม เพราะหากบริหารจัดการ ESG ไม่ดีหรือไม่เหมาะสม อาจต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายทางกฎหมายหรือค่าใช้จ่ายจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งหมายถึงต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น
รวมถึงสูญเสียโอกาสทางธุรกิจอันเนื่องมาจากขาดนวัตกรรมที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและความต้องการของลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
การประเมินโอกาสและความเสี่ยงบนประเด็น ESG ในอนาคตนั้น นอกจากศึกษาข้อมูลที่สินทรัพย์หรือกิจการได้เปิดเผยไว้ ไม่ว่าจะเป็นในรายงานประจำปี รายงานความยั่งยืน หรือเว็บไซต์ของกิจการแล้ว เรายังพิจารณาเพิ่มเติมได้จาก ESG Rating หรือผลประเมินด้าน ESG ที่จัดทำขึ้นโดยผู้ให้บริการบุคคลที่สาม (Third Party) ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ให้บริการหลายราย โดยผู้ให้บริการระดับโลกที่นักลงทุนคุ้นเคย อาทิ Bloomberg ESG Data, MSCI ESG Rating, Sustainalytics, Refinitiv ESG Rating, S&P Global ESG Score เป็นต้น
ขณะที่ในไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็มีการจัดทำ SET ESG Rating ในปี 2566 ที่ผ่านมา โดยประเมินคะแนน ESG ของบริษัทจดทะเบียนในไทยที่สมัครใจเข้าร่วมประเมิน ซึ่งการประเมินคะแนนนี้ยกระดับมาจากการประเมินที่ทำต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ในรูปแบบการประเมินว่าบริษัทจดเบียนนั้นเข้าข่ายหุ้นยั่งยืนหรือไม่เพียงอย่างเดียว
สำหรับ ESG Rating ที่ผู้ให้บริการจัดทำจะประเมินความสามารถของสินทรัพย์และกิจการในการบริหารจัดการทั้งความเสี่ยงและโอกาสด้านประเด็น ESG ที่มีนัยสำคัญ โดยกิจการหรือสินทรัพย์ที่มีผลการประเมินที่ดี มักจะมีคุณสมบัติสำคัญ คือ มีการเปิดเผยข้อมูลผลการบริหารจัดการประเด็น ESG ที่มีนัยสำคัญ
มีระบบการจัดการความเสี่ยงบนประเด็น ESG ที่มีนัยสำคัญที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อโต้แย้ง หรือเหตุการณ์ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ ESG รวมทั้งมีการกำกับดูแลที่เข้มแข็ง เข้าใจถึงความเสี่ยงและโอกาสด้าน ESG ที่สำคัญ
ทั้งนี้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูล ESG Rating ได้ ครอบคลุมดังนี้
1. นักลงทุนทั่วไป ที่มีความกังวลหรือสนใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการประเด็น ESG ของกิจการหรือสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่
2. นักลงทุนสถาบัน ที่ต้องหาข้อมูลผลการดำเนินงานด้าน ESG ของกิจการ เพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการลงทุนที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมถึงประเมินผลกระทบทางการเงินจากประเด็น ESG ต่อการดำเนินงานระยะสั้นและระยะยาวได้
3. บริษัทที่ได้รับการประเมินหรือบริษัทที่สนใจบูรณาการประเด็น ESG ในการดำเนินธุรกิจ นำผลการประเมินหรือแนวทางการประเมินขององค์กรประเมินภายนอกมาพัฒนาปรับปรุงการบริหารจัดการและการเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานในประเด็น ESG ที่มีนัยสำคัญให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
4. หน่วยงานกำกับ ที่ใช้ข้อมูลเพื่อตรวจสอบและประเมินกิจการหรือสิ่งที่ผู้จัดการลงทุนกล่าวอ้างเกี่ยวกับการใช้ปัจจัย ESG ในกระบวนการดำเนินธุรกิจและการลงทุน
5. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เช่น ชุมชน หรือบุคคลทั่วไปที่ให้ความสำคัญกับประเด็น ESG เป็นต้น
เนื่องจากผู้ให้บริการ Third Party แต่ละรายมีวิธีการประเมิน (Methodology) และให้คะแนนที่แตกต่างกันไป ในส่วนของผู้ลงทุนทั่วไปนั้น อาจใช้ข้อมูล ESG Rating จากหลายแหล่ง เพื่อให้ได้เห็นมุมมองที่ครอบคลุมสำหรับใช้คาดการณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับปัจจัยที่จะมีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพการเนินธุรกิจและทิศทางด้าน ESG ของบริษัทในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสจากสินทรัพย์หรือกิจการที่ลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนที่ยั่งยืนได้
เคล็ดลับเลือกลงทุนกิจการอนาคตดี ด้วย ESG Rating
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เผยแพร่ในรายงาน ESG Investing : Practces, Progress and Challenges โดยระบุว่า ในการประเมินคะแนน ESG นั้น บางบริษัทอาจจะได้ Rating อันดับต้นๆ ของผู้ให้บริการประเมินรายหนึ่ง แต่ได้คะแนนต่ำกว่าในผู้ประเมินรายอื่น ซึ่งประเด็นนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ประเมินรายนั้นใช้ปัจจัยอะไรในการวัด ให้น้ำหนักกับปัจจัยใดอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับคุณภาพในการตัดสินของนักวิเคราะห์ และการวัดผลนั้นได้รับผลจากการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทอย่างไร เป็นต้น
ขณะที่ สมาคมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนระดับสากล หรือ (CFA Institute) มีการเผยแพร่บทความ Do Better ESG Ratings Boost Bond Holders? โดยผู้เขียนบทความได้สร้างกลุ่มตัวอย่างบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ที่มีการจัดอันดับ ESG และเสนอขายตราสารหนี้ต่อสาธารณะ โดยที่ตราสารหนี้ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2567 และ 2568
โดยคัดเลือกผู้ออกตราสารหนี้มา 10 ราย ใน 11 กลุ่มธุรกิจที่กำหนดไว้ใน S&P 500 โดยที่มีการนำผลตอบแทนมาปรับตามความเสี่ยงแล้ว ด้วยการหักลบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ครบกำหนดใกล้เคียงกันออกจากอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ขององค์กรในปัจจุบัน การทดลองทำขึ้นช่วงวันที่ 6-7 เม.ย. 2566 และนำคะแนน ESG มาจาก Sustainanalytics
ผลลัพธ์ที่ได้ คือ บริษัทที่มีคะแนน ESG ที่ดีกว่าค่าเฉลี่ย จะมีส่วนต่างเครดิตที่ดีขึ้น และการจัดอันดับ ESG ที่ดี ยังมีความสัมพันธ์กับผลตอบแทนที่สูงกว่า ดังนั้นก็อาจจะนำคะแนน ESG มาใช้เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเพิ่มเติมในการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของตราสารหนี้ได้
สำหรับ SCB Wealth ในฐานะที่เราทำหน้าที่คัดเลือกผลิตภัณฑ์การลงทุนมานำเสนอลูกค้า เราก็มีการนำข้อมูล ESG Rating ของผลิตภัณฑ์การลงทุนต่างๆ มาเป็นปัจจัยหนึ่งในการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ก่อนนำเสนอให้ลูกค้า
โดยนอกจากการพิจารณา ESG Rating เราก็มีการตรวจสอบประเด็น ESG ของผู้ออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นพันธมิตรด้วยวิธีการอื่นประกอบด้วย เช่น การส่งแบบสอบถามให้พันธมิตร การตรวจสอบข้อมูลจากหนังสือชวนฉบับเต็ม และการสัมภาษณ์ข้อมูลจากพันธมิตร เกี่ยวกับการใช้ ESG ในกระบวนการลงทุน (Investment Process) เพื่อประเมินคะแนน ESG โดยรวมอีกครั้ง
เมื่อคะแนน ESG Rating มีส่วนแสดงถึงโอกาสและความเสี่ยงในอนาคตของสินทรัพย์ที่ลงทุนได้ ผมก็แนะนำให้ผู้ลงทุนพิจารณา ESG Rating ประกอบการตัดสินใจลงทุนเช่นเดียวกันครับ เช่น ถ้าท่านต้องการลงทุนกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศกองทุนหนึ่ง ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ในไทยเสนอขาย โดยกองทุนนั้นมีกองทุนหลักเป็นกองทุนที่จดทะเบียนอยู่ในต่างประเทศ
ท่านก็สามารถค้นหาข้อมูล ESG Rating ของกองทุนหลักในต่างประเทศได้ผ่าน Third Party บางรายที่ให้บริการข้อมูล ESG Rating โดยเผยแพร่ข้อมูลบางส่วนเป็นสาธารณะให้ผู้ลงทุนทั่วไปพิจารณาได้ เช่น MSCI และ Sustainanalytics ส่วนการพิจารณา ESG Rating ของบริษัทจดทะเบียนในไทยที่ท่านลงทุนอยู่ ก็สามารถก็พิจารณาได้จาก SET ESG Rating ครับ
คำเตือน
การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน
สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 02-777-7777
โดยเนื้อหาดังกล่าวจัดทำโดยทีม SCB CIO Office
คุณศรชัย สุเนต์ตา, CFA SCB Wealth Chief Investment Officer
รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Investment Office and Product Functionกลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
13 บันทึก
24
13
13
24
13
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย