3 เม.ย. เวลา 15:42 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“ทองยิ่งขึ้น คนยิ่งซื้อ” พฤติกรรมซื้อ-ขายทอง คนไทยเปลี่ยนไป

ราคาทองคำคึกคักไม่หยุด ทำนิวไฮหลายรอบตั้งแต่ต้นปี และส่วนราคาทองคำในประเทศก็พุ่งพรวดทะลุ 40,000 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ว่าจะเกิดขึ้นภายในครึ่งปีแรก แต่แค่ต้นเดือนเมษายน ราคาทองก็ร้อนแรงแข่งกับอากาศ แถมมีแนวโน้มที่จะไปต่อแบบไม่รอใคร เฉพาะไตรมาสแรกราคาทองคำต่างประเทศปรับขึ้นไปแล้วเกือบ 10% ส่วนทองคำในประเทศปรับขึ้นไปถึง 14-15% มากกว่าราคาตลาดโลก เพราะได้ค่าเงินบาทที่อ่อนมาช่วยดันในราคาทองในประเทศพุ่งมากกว่าตลาดโลก
เวลาที่พูดถึงทองคำราคาขึ้น เรามักจะนึกภาพว่าคนที่มีทองคำก็จะแห่เอาไปขาย ไม่ว่าจะเอาไปขายที่หน้าร้านเหมือนเมื่อก่อน หรือกดคำสั่งขายผ่านออนไลน์ เพื่อเอาส่วนต่างราคามาเป็นกำไร ยิ่งราคาทองขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งได้กำไรมากขึ้นเท่านั้น หรือถ้าเอาตามความเข้าใจก็ขึ้น “ซื้อ” ตอนที่ทองราคาลง แล้วเอามา “ขาย” ตอนที่ทองราคาขึ้น
แต่พฤติกรรมซื้อขายทองคำคนไทยตั้งแต่ต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ในช่วงที่ราคาทองคำทำนิวไฮเรื่อยๆ กลับพบว่า เมื่อทองราคาขึ้น คนยิ่งแห่ไปซื้อ บรรยากาศหน้าร้านขายทองในวันที่ราคาทองคำปรับขึ้น จะเห็นแน่นร้าน ไม่ใช่แห่เอาทองไปขาย แต่ไปแย่งกันซื้อ
“คนมาซื้อทองมากขึ้น พฤติกรรมไม่เหมือนเมื่อก่อน เพราะมองในทิศทางเดียวกันว่าราคาจะขยับขึ้นอีก”
จิตติ ตั้งสิทธิภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ
จากพฤติกรรมการซื้อขายทองที่เกิดขึ้น ก็พอจะอธิบายได้ว่า คนโดยส่วนใหญ่มองว่าทองยังมีทิศทางขาขึ้น ทำนิวไฮวันนี้ เดี๋ยววันหน้าก็นิวไฮได้อีก แถมเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ในยามที่เศรษฐกิจไม่ดี และมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน
นอกจากปัจจัยต่างประเทศแล้ว เงินบาทก็มีส่วนทำให้คนอยากซื้อทองมากขึ้น หากย้อนดูราคาทองคำในอดีตเวลาที่ทองคำตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้น เงินบาทก็จะแข็งค่า นั่นหมายความว่าสัดส่วนการปรับเพิ่มขึ้นของราคาทองคำในประเทศจะขึ้นน้อยกว่าราคาตลาดโลก เพราะโดนเงินบาทที่แข็งค่ากดเอาไว้ แต่ช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมาภาพกลับกัน คือช่วงจังหวะที่ราคาทองตลาดโลกราคาขึ้น เงินบาทของไทยก็อ่อนค่าลงไปด้วย ก็ยิ่งกลายเป็นตัวทวีคูณให้ราคาทองในประเทศปรับขึ้นได้สูง
ทั้งปัจจัยต่างประเทศ ทั้งเรื่องเงินบาทอ่อนค่าเป็นใจ ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนทองคำในไทยยิ่งรู้สึกมั่นใจ เมื่อราคาทองปรับขึ้น คนก็ยิ่งซื้อ เพราะมองว่ายังมีโอกาสไปได้ต่อ หรือที่เรียกว่า “Follow Buy” ในตลาดหุ้น เพราะมั่นใจในปัจจัยพื้นฐาน ว่าราคาไปต่อและมีเหตุผลรองรับในการปรับขึ้น
ทองคำจ่อพุ่งทั้งปี
คำถามคือ “เมื่อนักลงทุนมั่นใจว่าราคาทองขึ้นต่อ แล้วปัจจัยพื้นฐานจะซัพพอร์ตให้ไปต่อไหม”
ปัจจัยที่ช่วยดันราคาทองหลักๆ ก็อยู่ที่ความคาดหวังเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งค่อนข้างส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะลดดอกเบี้ยแน่นอนในปีนี้ ส่วนจะปรับลดกี่ครั้งนั้นยังไม่ได้ยืนยัน แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองคล้ายๆ กัน ที่ 2-3 ครั้ง เร็วที่สุดอาจได้เห็นราวเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม
แต่ประเด็นดอกเบี้ยของสหรัฐ เริ่มมีตั้งคำถามจากนักวิเคราะห์บางส่วนว่าเป็นเรื่องการเมือง เพราะปลายปีจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ จะในโยบายเอื้อต่อรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงิน ผ่านการลดอัตราดอกเบี้ย
3
หากย้อนดูการประชุมธนาคารกลางสหรัฐครั้งล่าสุด ได้ปรับมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐดีกว่าการประชุมครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา แถมเงินเฟ้อก็ปรับขึ้นมากกว่าครั้งก่อน ส่วนตลาดแรงงานยังคงตึงๆ ตัวต่อไป แต่ก็ไม่ถือว่าเลวร้ายมาก ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วการที่ธนาคารกลางสหรัฐ ประเมินว่าเศรษฐกิจของสหรัฐ จะขายตัวดีขึ้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องส่งสัญญาณเรื่องการลดเบี้ย
แต่การประชุมครั้งล่าสุดกลับยึดยันชัดเจนว่าจะลดดอกเบี้ยแน่นอนในช่วงครึ่งปีหลัง จึงถูกมองว่าการลดดอกเบี้ยเป็นประเด็นที่มุ่งหวังด้านการเมือง แต่ไม่ว่าจะอย่างไรการลดดอกเบี้ยของสหรัฐ ก็ถือเป็นเรื่องที่ช่วยดันราคาทองคำ
1
อีกหนึ่งปัจจัยคือ ปัญหาความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ทองคำยิ่งถูกมองเป็น “สินทรัพย์ปลอดภัย แถมยังเกิดกระแส De-Dollarization คือการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือใช้ในการค้าขายระหว่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยง ทำให้ความน่าสนใจของดอลลาร์ลดลง ยิ่งทำให้ทองคำเปล่งประกายมากขึ้น
นอกจากนี้ธนาคารกลางทั่วโลกก็ถือครองทองคำมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา ธนาคารกลางทั่วโลกเข้าซื้อทองคำกว่า 1,000 ตันต่อปี จากปกติที่ซื้อประมาณ 400-600 ตันต่อปี บวกกับกองทุนใหญ่ๆ ก็ตุนทองคำเข้าพอร์ตเพราะมองเรื่องการลงทุนที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภาพใหญ่ และมองทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย
ปัจจัยต่างๆ ที่ช่วยเสริม ก็ยิ่งทำให้ทองคำถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และบรรดานักวิเคราะห์ต่างๆ ก็มองตรงกันว่าราคาทองคำจะปรับตัวไปต่อได้อีก ด้วยปัจจัยความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ธนาคารกลางสหรัฐลดดอกเบี้ย ก็เพียงพอดันให้ราคาไปต่อ
โฆษณา