Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Side Stories
•
ติดตาม
4 เม.ย. เวลา 13:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
เจาะเบื้องหลังแนวคิดที่ซ่อนอยู่ในจิตรกรรมซีรีส์ "สาธุ"
คุยกับ "คุณกอล์ฟ - สราวุฒิ ปานหนู" ศิลปินเจ้าของผลงาน
ตอนเด็กๆ เวลาเข้าวัดทำบุญ
แล้วหันไปเห็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ก็ยังคงจำได้ถึงความสวยงามรายล้อม
พร้อมภาพที่สื่อความต่างชัดระหว่างสองขั้ว
โดยมี “นรก-สววรค์” คอยแบ่งแยกผิดชอบ ชั่ว ดี
เป็นดั่งใจความที่ตำราเรียนพระพุทธศาสนา
และผู้หลักผู้ใหญ่เสี้ยมสอนปลูกฝังกันมา
ว่าอันนี้คือขาว ส่วนอันนั้นคือดำ
ทุกอย่างถูกขีดเส้นไว้ชัดเจน
เพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้และจดจำ
แม้แต่ธงชาติก็ยังทำเป็นสีขาวตรงกลาง
เมื่อนึกถึงศาสนาก็จะมีแต่ความบริสุทธิ์ สงบ ร่มเย็น
เป็นที่พึ่งยึดเหนี่ยวทางใจแก่พุทธศาสนิกชนทุกเวลา
แต่พอเราได้เติบโตกลับพบว่า
ชีวิตในสังคมจริงยังมีเฉดสีมากมาย
ฉาบซ่อนเอาไว้ใต้กุฏิ ซ่อนในตู้บริจาค
หรือฝากไว้ในซองทำบุญต่างๆ
ซึ่งไม่ได้ดูง่าย ไม่ได้สวยงาม
ล้วนเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกมานาน
เพียงแค่เมื่อก่อนไม่ได้มีโลกโซเชียล
ให้เผยแพร่เร็วแบบปัจจุบัน
ภาพจิตรกรรมที่เราเห็นนั้น
จึงไม่เคยมีการ “อัปเดต”
ว่าแท้จริงแล้วศาสนาพุทธกำลังเป็นยังไง
กลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ไม่มีใครกล้าบอก
ศาสนากลายเป็นเรื่องไกลตัวอยู่บนหิ้ง
พิสูจน์ไม่เห็น แตะต้องไม่ได้
ศรัทธามา เงินตราไปเข้าที่ไหนหมด!?
สาธุชนอย่างเราๆ กำลังเป็น “เครื่องมือ”
ของการแสวงบุญบางอย่าง (หรือเปล่า?)
ซึ่งซีรีส์ “สาธุ” ดังกล่าว
ไม่ได้จะบอกให้เราเลิกปฏิบัติ
แต่กำลังชวนตั้งคำถามให้ชัด
ว่าเรากำลังอยู่บนเส้นแบ่งบางอย่าง
ที่คั่นกลางระหว่าง “ความเชื่อ” กับ “ความจริง”
ในทุกสิ่งซึ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และยังไม่เคยดับไป
จะใช้ชีวิตยังไงให้ไม่โดนสิ่งเหล่านี้กลืนกิน?
“โลกนี้มันช่างโหดร้าย
คิดแล้วมันไม่มีความหมายอะไร
เปิดใจให้ได้รู้ ถึงมุมที่ไม่เคยเห็น
ของเราจะได้หรือเปล่า?
เธอกับฉัน,,,”
ตรงนี้อยากขอเชิญสาธุชนทั้งหลาย
มาร่วมติดตามบทความนี้อย่างแยบคาย
ว่าอะไรคือแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการวาดของ
“คุณกอล์ฟ - สราวุฒิ ปานหนู” ศิลปินผู้สร้างสรรค์
ผลงานจิตรกรรมภาพปกทุกตอนในซีรีส์
ที่กลายเป็นอีกหนึ่งภาพจำให้พวกเราได้พูดถึง
และสนุกกับการตีความก่อนดู
**เหมาะกับคนที่ดูซีรีส์จบแล้วเท่านั้น!
***ขอให้มีคนมาอ่านและแชร์กันเยอะๆ ด้วยเถอะครับ
“1 2 3 สาธุ!!!!” 🙏🙏
อยากให้คุณกอล์ฟเล่าถึง “ร่มใหญ่” ในภาพรวมหน่อยครับว่าตอนได้ “โจทย์แรก” เป็นยังไงบ้าง? (พี่แจ็กบรีฟอะไรมาบ้าง)
- โจทย์แรกคือพี่แจ็ค ผกก. ติดต่อมาอยากให้วาดภาพเป็นงานจิตรกรรมฝาผนังร่วมสมัยครับ เขาชอบภาพหนึ่งที่ผมวาดเป็นแมวเล่นโน้ตบุ๊ค อยากได้ภาพสไตล์นั้น เลยส่งบทซีรีส์คร่าวๆ มาให้ผมอ่านก่อนว่าจะเล่าเรื่องอะไร เรื่องของธุรกิจในวัด จะมีตัวละคร 3 คนแบบนี้ แล้วค่อยมาบรีฟกันอีกทีว่าเราจะออกแบบยังไง
รู้แค่ว่าจะมีตัวละครแบบนี้ ลักษณะนิสัยเป็นยังไงก็จะรู้ประมาณนี้ น้าแต๋ง พระดล พระเอกชัยเป็นยังไง เขาจะเล่าเรื่องตัวละครมาให้เรานั่งอ่าน แล้วก็เนื้อเรื่องคร่าวๆ เขาไม่ได้สปอยล์เยอะ
แปลว่าเราก็ต้องมาตีความจินตนาการต่อลึกซึ้งเหมือนกัน?
- ใช่ครับ เพราะพี่แจ็คเขาไม่อยากสปอยล์ แต่อยาก “บอกใบ้” อะไรไว้ให้คนดูคิดต่อและไปหาคำตอบในซีรีส์ แล้วค่อยมาคิดต่อยอดตามอีกที ผมเลยบอกว่า “ไม่ต้องบอกผมหมด” เพราะถ้าบอกหมด ผมจะติดในกรอบเวลาสร้างสรรค์งาน
แล้วเรามีแนวคิด-วิธีการตีโจทย์ยังไงครับ ก่อนจะลงดีเทลงานแต่ละชิ้น วางคอนเซปต์ ร่มใหญ่ที่ว่ากันแบบไหน?
- เดิมผมได้เป็นเรื่องย่อโดยรวมก่อน แล้วค่อยมาบรีฟกันแต่ละตอนอีกที ซึ่งพี่แจ็คลงทุนมาหาผมถึงบ้านที่ลพบุรี ซึ่งตอนนั้นถ่ายทำยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี เขาก็ให้ผมดูแต่ละตอนแบบคร่าวๆ กรอไวๆ ทั้งหมดน่าจะมีถ่ายไว้ประมาณสัก 5-6 ตอน แล้วช่วงนั้นยังไม่ได้มีการหั่นมาเป็นตอนชัดเจน เริ่มด้วยการคุยว่า Ep.1 เราจะเล่าจะวาดเขียนยังไงโดยที่ “ไม่สปอยล์” ค่อยๆ บรีฟกันไปเรื่อยๆ จนครบ 9 ตอน
แปลว่าทำงานคู่ขนานไปกับการถ่ายไฟนอลเลยใช่มั้ยครับ?
- น่าจะใช่ครับ เพราะผมได้มาดูละเอียดจริงๆ ตอนฉาย พร้อมกับทุกคนนี่แหละ
แปลว่าเบื้องต้นพอรู้เนื้อหาคร่าวๆ ก็ต้องมาจินตนาการต่อยอดเองว่าแต่ละตอนควรมีภาพและองค์ประกอบอะไรบ้าง?
- ใช่ครับ เพราะเนื้อหาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติในสังคมอยู่แล้ว เราเข้าใจและมั่นใจได้ว่ามันไม่มีทางหลุดไปจากกรอบนั้น เราก็จะสเก็ตช์ลงไปในองค์ประกอบต่างๆ พร้อมกับปรึกษาพี่กอล์ฟ (ผู้ช่วย ผกก.) และพี่แจ็คเอง ซึ่งพี่ๆ เขาให้อิสระผมเลยว่าอยากจะใช้สีแบบไหน จะเล่าเนื้อหาแบบไหนหรือใส่อะไรลงไป
เขาขอแค่ให้ภาพสื่อเรื่องราวเพียง “บางส่วน” เท่านั้นจริงๆ และก็อยากให้สไตล์ภาพมันดูเวอร์ไปเลย ผ่านสไตล์ผมที่ได้อิทธิพลมาจากจิตรกรรมฝาผนังร่วมสมัยอยู่แล้ว สไตล์โมเดิร์นเวอร์ๆ หน่อย มียานอวกาศเอย อะไรเอย หลุดกรอบไปเลย
มีความท้าทายมั้ยครับ ในการวาดให้ออกมาร่วมสมัยขนาดนี้ในเรื่องศาสนาที่คนเบื่อกัน?
- ไม่ได้ท้าทายอะไรครับ มันเป็นการพูด “เรื่องจริง” ที่เราเห็นกันมาตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบันอยู่แล้ว เกือบทุกวัดเลยด้วยซ้ำไป หลายๆ อย่างเวลาไปวัดเราก็แอบ “เอ๊ะ” หรือตั้งคำถามในสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว แค่ปล่อยผ่านมันมา แต่พอมีโปรเจกต์ซีรีส์นี้ให้ทำ พอได้อ่านโจทย์พล็อตเรื่องทุกอย่างมันเลยพรั่งพรูออกมาโดยธรรมชาติของประสบการณ์ที่เคยเจอมาทั้งชีวิต พอมันเป็นเรื่องจริงมากๆ เราก็แทบไม่ต้องเค้นอะไรเลย
นี่ไปเจอชาวเน็ตคอมเม้นต์กันด้วยครับว่าอยากให้ภาพวาดถูกนำมาจัดแสดงเลย
- จริงๆ ต้นฉบับทั้งหมดเป็นงาน “Painting” บนเฟรมผ้าใบนะครับ คือผมจะถนัดแบบนี้มากกว่า Digital Painting อย่างในซีรีส์สาธุนี้ก็มาจากการวาดบนผ้าใบทั้งหมด แต่ตัวโปรโมตเขาจะเอางานเราไปทำเป็น Digital คนละเทคนิคกัน ซึ่งจะใช้เวลาน้อยกว่า
ต่อกันในรายละเอียดเนื้องาน ทราบมาว่าไอเดียในการวาดแต่ละภาพ คุณกอล์ฟวางมาให้ทุกอย่างเกิดขึ้นบนสวรรค์ ขยายความให้ฟังหน่อยครับ
- ด้วยความที่เรื่องนี้เกิดในวัด โดยการสร้างวัดจะใช้หลักของ “ไตรภูมิ” (ดินแดน 3 โลกตามความเชื่อในพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย กามภูมิ, รูปภูมิ และอรูปภูมิ ที่เหล่าเทวดา, มนุษย์ และอมุษย์จะต้องเวียนว่ายเกิด แก่ เจ็บ ตาย จนกว่าจะบรรลุนิพพาน) แล้วดินแดนที่ว่าจะเป็นภาพของสวรรค์ มีหุบเขานั่นนี่ ก็เลยตีความว่าซีรีส์นี้เป็นงานจิตรกรรมว่าด้วยเรื่องราวของสวรรค์
เหมือนวัดที่เปรียบได้กับที่พึ่งทางใจหรือ “คอมมูนิตี้” ที่เป็นศูนย์รวมของกิจกรรมชุมชนในงานก็จะนำโดยคาแรคเตอร์หลักในการดำเนินเรื่องซึ่งในที่นี้จะใส่กิมมิคเป็นสัตว์ที่สื่อแทนตัว อย่าง “เกม (พีช พชร)” แทนด้วยลิงที่ตัวละครเขาจะมีความขี้เล่นๆ เป็นหน้าด่านค่อยดีลงานให้ทีม, “วิน” ที่เลี้ยงแมว เราก็แทนเขาด้วยแมว ส่วน “เดียร์ (แอลลี่)” ก็ใช้กวางตรงตัวเลย สภาพแวดล้อมก็จะมีเมฆ มีเกาะต่างๆ แล้วก็อื่นๆ เสริมไป
แต่สวรรค์(วัด) ที่ว่านี้ก็แปดเปื้อนไปด้วยอะไรมากมาย?
- คือเดิมทีถ้างานจิตรกรรมทางศาสนาก็มักจะเล่าพุทธประวัติ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีเทวดาลงมา ภาพสวยงามตาเป็นสีขาวสง่า อะไรแบบนั้น แต่อันนี้เป็นงานร่วมสมัยผเลยอยากจะ “บิดมุมเล่า” ให้เป็น “สวรรค์ปัจจุบัน” ที่ทุกอย่างมันเปื้อนไปหมด
มีทั้งดี ไม่ดี ปนกันไปหมด เหมือนในความเป็นจริงที่ยังมีอีกหลายสีให้เห็น ไม่ใช่แค่ขาวหรือดำ เทา แดง แต่เป็น “สีรุ้ง” มันเยอะไปหมดถ้าว่ากันในรายละเอียดแวดวงศาสนา ทั้งวัด การทำบุญ บาป หรืออะไรหลายๆ อย่างที่อยู่ในสวรรค์บนดินตอนนี้
ฟังแล้วก็นึกย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยเด็กๆ ที่เราถูกปลูกฝังว่าศาสนาพุทธคือศาสนาประจำชาติและมีสีขาวอยู่ในธง บริสุทธิ์ ผุดผ่อง สดใส แต่ระหว่างทางนั้นกลับไม่เคยมีการ “เขย่าให้ชัด” ว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในสังคม
- ใช่ครับ หรือกลับกัน สีดำเองก็ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายเลวทรามเสมอไปนะ ไม่งั้นสีของเส้นผมหรือคิ้วเรา (ที่พื้นฐานเป็นสีดำ) มันก็ไม่ได้หมายถึงความงามน่ะสิ ผมมองอย่างนี้นะครับ มันไม่มีกรอบตายตัว
ทุกอย่างล้วนมีอะไรแฝงข้างในเสมอ เราเห็นอะไรขาวมันอาจจะไม่ดี เราเห็นอะไรดำข้างในมันอาจจะงดงามก็ได้ เหมือนหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการผ้าเหลืองก็ชวนเราตั้งคำถามกับศาสนาว่ามันใช่อย่างนั้นหรือเปล่า? ภาพที่เห็นกับสิ่งที่เป็น หลายครั้งก็แตกต่างกันด้วยเหตุปัจจัยซ่อนเร้นมากมาย
ตอนแรกผมดูภาพวาดซีรีส์ ก็แอบตีความไปว่าเอ๊ะเขากำลังสื่อ Ester Eggs ถึงพุทธชาดกต่างๆ หรือเปล่านะ?
- ไม่เลยครับ มันเป็นแค่สไตล์ไทย พอกลับไปย้อนดูก็จะเป็นเรื่องของชาดก ประวัติพระพุทธเจ้า หรือเหตุการณ์ต่างๆ ในพระพุทธศาสนา แต่งานร่วมสมัยเราไม่ได้วาดเขียนแบบนั้น ซึ่งก็เกิดการเปรียบเทียบกันได้ครับ
ในบรรดาภาพปก Intro ทั้ง 9 ตอน มีตอนไหนที่คุณกอล์ฟรู้สึกชอบที่สุด หรือสื่อถึงแก่นของซีรีส์ได้ดีที่สุด?
- ชอบทุกตอนครับ55+ เพราะเราวาดก็ภูมิใจ แต่ถ้าให้เลือกจริงๆ คือ Ep.9 เป็นรูปมือ อันนี้ก็จะดูหลุดๆ จากความเป็นจิตรกรรมหน่อย ดูร่วมสมัยสุด ในนี้ก็จะมีสัญลักษณ์ มีเรื่องราวให้คนดูคิดตามเป็นปลายเปิดว่าซีรีส์จะจบแค่นี้หรือไปต่อ? ในมือนี้ก็จะดูได้ว่ามีใครอะไรยังไงบ้าง
คือมันมีสวรรค์ในนี้ แล้วก็มีคนที่ “เหนือสวรรค์” ไปอีกทีเป็นเจ้าของจักรวาล มันคือเรื่องจริงในสังคมที่มี “อำนาจมืด” ซ่อนอยู่ พร้อมบดขยี้ ขี้เป็นชี้ตายผู้คนได้ เหมือนซ้ายขวาด้านล่างรูปที่เป็นกะโหลกคนตายวางอยู่ ก็เหมือน “น้าแต๋ง (พี่ติ๊ก กลิ่นสี)” มัคนายกวัดภุมรามที่ต้องเป็นเครื่องสังเวยของกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่ชักใยอยู่เบื้องหลังในที่สุด
และถัดจากรูปกะโหลก จะสังเกตเห็นแท่งที่เป็นหลอด 2 ข้าง แล้วหลอดที่ว่านี้ก็แบ่งเป็นหลอดแดงกับเขียว พร้อมกับมีสัญลักษณ์ ∞ (อินฟินิตี้ หรือเป็นอนันต์ ไม่มีสิ้นสุด) กับเลข 0% ซึ่งตรงนี้ผมก็สื่อถึง “พลังชีวิต” เป็นแง่คิดว่าชีวิตมันก็มีแค่นี้เองครับ มีอายุขัยแค่ในหลอดหรือตามบุญกรรมที่ทำมาในชาติภพก่อนและปัจจุบัน แต่กระแสพลังหรือ “กิเลส” ที่มันฝังอยู่ในสังคมเนี่ยมันอินฟินิตี้จริงๆ
ผมยังคิดภาพตอนมันสิ้นสุดไม่ออกเลยว่าภาพการหากินกับวัดเอย ความอยากได้อยากมีเอย มันไม่มีทางจบในความเป็นมนุษย์ปุถุชน สิ่งที่ทำได้คือช่วยให้คนเรา “ตื่นรู้” เท่าทันตรงนี้กันมากขึ้น เป็นภาพที่ชอบที่สุด สนุกมากครับ
เลยสงสัยครับว่ากว่าจะมาเป็นแต่ละภาพที่สมบูรณ์ คุณกอล์ฟมีแนวคิดยังไงบ้างว่าจะต้องใส่องค์ประกอบนั่นนี่ที่ได้ทั้งบอกใบ้และไม่สปอยล์?
- ผมเริ่มจากการสเก็ตช์ไอเดียส่งไปทีละภาพเลยครับ แล้วค่อยมานั่งดูกัน โดยเบื้องต้นเราวางธีมหลักของเรื่องก่อนคือ ภาพ Ep.1 ก็จะเห็นทั้ง “แมว กวาง ลิง (วิน เดียร์ เกม)” ลากกระเป๋าเข้าวัดมาโดยกำลังจะเอา “ปรสิต” มาฝาก แต่แล้วก็พบว่าวัดนี้ดันมีตัวปรสิตเก่าอยู่แล้ว โผล่เป็นไส้เหมือนหางออกมา คอยดูดเงินจากวัด ตั้งท่ารออยู่ คิดแค่นี้ครับ
ไม่ได้คิดว่าต้องมีนั่นนี่ แต่พอทำงานลงดีเทลไป มันก็จะออกมาเอง เขียนคร่าวๆ ว่าจะเป็นเกาะๆ หนึ่ง มี 3 เกลอ มีตู้บริจาคแปะ QR Code ธนาคารให้ญาติโยมโอนเงิน สวรรค์มันควรจะมีอะไรบ้างแล้วก็แทรกเรื่องราวที่เรามองว่ามันต้องมีลงไปเล็กๆ น้อยๆ เช่น ชาวบ้านคอยส่อง เพื่อสื่อว่า “ทุกการกระทำมีคนมองเห็นอยู่นะ!”
ทีนี้พอเราพรั่งพรูไอเดียในชิ้นแรกเสร็จ ชิ้นที่ 2 มันก็จะต่อยอดง่ายขึ้นละ พอเรื่องจะเป็นแบบนั้นนี้มันก็จะไปเรื่อยๆ
ขออนุญาตสรุปอีกทีครับ คุณกอล์ฟวางตัวละครทั้ง 3 เป็นแก่นในการวาดเล่าเรื่องก่อน ว่าจะพาเราไปไหน ทำอะไร ส่วนที่เหลือจะตามมาด้วยองค์ประกอบของตอนนั้นๆ เอง?
- ใช่ครับ คงแก่นเส้นเรื่องไว้โดย 3 ตัวละครนี้ ส่วนที่เหลือจะตามองค์ประกอบและตามเรื่องราวที่เรารู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับตอนนั้นๆ ร้อยเรียงเข้าไป
ซึ่งภาพจิตรกรรมใน Intro นับเป็นอีกหนึ่งภาพจำของเรื่องที่มีเสน่ห์มากๆ ในแง่ของการบอกใบ้เรื่องราว คือชื่อตอนมันก็บอกอยู่แล้วว่าจะเกี่ยวกับอะไร เช่น “Beeliever” ที่เป็นการเล่นคำระหว่าง Bee (หลวงพ่อผึ้ง แรงบันดาลใจสร้างวัตถุมงคล) +Believer (ปุถุชนผู้ศรัทธา)”
- ภาพมันบอกใบ้ในตัวแต่ละตอนอยู่แล้วครับ แค่ต้องกลับมาตีความต่อ ตรงนี้ขอเล่าย้อนกลับไปตอน “ดราฟต์แรก” ที่ผมสเก็ตช์มามันแทบจะบอกใบ้หมดเลย อย่างภาพวาด “น้าแต๋ง (พี่ติ๊ก กลิ่นสี)” จะไม่ใช่ตัวที่แสยะยิ้มอยู่ในวัด (ภาพปก Ep.2)
แต่เดิมผมวาดให้เป็น “ชูชก” เลย แต่พอคุยกับทีมพี่แจ็คเขาบอกว่ามันสปอยล์ไป ขอเป็นรูปหน้าคนเต็มๆ ในวัดดีกว่า คือกว่าจะได้ภาพแต่ละชิ้นก็จะสเก็ตช์แล้วมาปรึกษากันว่ามันสปอยล์มั้ย? หรือบางทีเราก็แอบสปอยล์ซะเอง เพราะเรารู้เส้นเรื่องไปประมาณหนึ่งแล้ว ขนาดแค่ดูแบบกรอๆ นะครับ ก็ต้องมานั่งตกผลึกกันว่าประมาณไหนถึงไม่สปอยล์เกินไป ทำงานกันหลายส่วน ตั้งแต่การกำหนดเฉดสีจนถึงองค์ประกอบโดยรวมภาพที่สื่อถึงซีรีส์อย่างดีที่สุด ให้ทุกอย่างมันครบ ล้อไปด้วยกัน พอใบ้ให้ได้คิดต่อ เพื่อให้คนดูรับชมได้สนุก เต็มอถรรสครับ
อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่าผมสเก็ตช์ภาพทีละชิ้น สมมติหนึ่งงานเสร็จปุ๊บ ก็ส่งปั๊บ อันนี้โอเคแล้วก็มาต่อชิ้นที่ 2 แล้วก็ไปเรื่อยๆ จน 9 เพื่อที่จะให้ตัวงานได้มีการต่อยอดจากกัน เกิดเป็นประเด็นและลูกเล่นใหม่ๆ ตามมา สนุกและเสร็จเป็นงานๆ ไปเลย ซึ่งแต่ละภาพก็จะมีการ “Customize” วิเคราะห์เรื่องราวแต่ละตอน
และใส่เอกลักษณ์ของมันไปได้เต็มที่ ทุกตอนเลยจะมีความแตกต่างกันไปด้วยอย่างชัดเจน (ในทิศทางเดียวกัน) และที่สำคัญมันก็จะมี “ความสดใหม่” อยู่ในเนื้องาน เพราะถ้าเราลงแรงทำไปทั้งหมดทีเดียว งานมันจะเป็นเส้นตรงคล้ายๆ กันครับ เหมือนใช้ประสบการณ์ทั้งหมดวาดภาพทั้ง 9 ในช่วงเดียว
*ตามตำนานในมหาเวชสันดรชาดกเล่าว่าเฒ่าชูชก ผู้เป็นพราหมณ์ในเมืองกลิงคราษฎร์ เที่ยวขอทานไปทั่วเป็นอาจิณจนได้รับการขนานนามว่าเป็น “เทพเจ้าแห่งการขอ” ที่แม้จะมีรูปร่างสังขารไม่น่าดู แต่เต็มไปด้วยเสน่ห์แพรวพราว วาจาอ่อนหวานพาคล้อยตาม ไปไหนใครก็รักและให้ตามที่ขอทั้งข้าวของ, ภรรยา ตลอดจนข้าทาสบริวาร ก็ได้เสพสมอารมณ์หมาย จนกลายมาเป็นหนึ่งในสุดยอดเครื่องรางยอดนิยม)
ผมนี่อย่างชอบเลย โดยเฉพาะภาพปก Ep.3 ที่วาดให้สื่อถึง “ไซอิ๋ว” ที่ทั้ง 3 ตัวละครหลักพา “พระถังซัมจั๋ง (พระดล)” เข้ามาในวัดภุมรามคือไซอิ๋วเขาชวนกันไปทำดี
เนอะ แต่อันนี้...
- ชวนกันไปทำธุรกิจทางวัดละกัน55+ แต่ในภาพนี้ก็จะมีตาคอยจ้องอยู่รอบๆ นะครับ ตามวัด ส่วนตำรวจก็จะมาชัดในภาพสีแดงที่เป็นรถ (Ep.6) ก็จะเป็นไปตามเนื้อเรื่องที่เกิดขึ้นว่าตำรวจเริ่มเข้ามามีบทบาทตอนไหน
ทั้งหมดนี้ใช้เวลาเท่าไหร่ในการวาดครับ?
- ประมาณ 3 เดือนครับ ไม่สิ! จริงๆ มันประมาณ 3 เดือนกว่า ตกเดือนละ 2 ภาพ ตั้งเป็นชิ้นเล็กๆ ให้ทีมนำไปทำเป็นไฟล์ดิจิทัลได้
มีเรื่องราวระหว่างทาง (Side Stories) อื่นๆ ที่อยากแชร์มั้ยครับตลอดการทำงานในเรื่องนี้?
- การตีแผ่ความเป็น “พุทธพาณิชย์” ที่ทำให้เราเห็นภาพกันมากขึ้นว่ามันเป็น “เรื่องปกติ” ของสังคมไทย พอประเทศมีวัดเยอะ ทางวัดก็ต้องดิ้นรนหาเงินมาทำนุบำรุงให้อยู่รอด แล้วเราเป็นคนเขียนวาดภาพด้วย
มันก็เลยยิ่งชัดเข้าไปใหญ่ในความรู้สึก ทำให้ย้อนกลับมาคิดกับตัวเองว่า “เราควรจะใช้วิจารญาณในการเข้าวัด” คือซีรีส์ไม่ได้ทำให้องค์กรใหญ่ๆ เขาเข้าไปตรวจสอบวัดหรอก เพราะนี่คือปัญหาที่หยั่งรากลึกมานานแล้วในสังคม แต่ซีรีส์ทำให้คนดูมีวิจารณญาณมากขึ้นเวลาเข้าวัด แค่นั้นเลยครับ
(ตรงนี้ทำให้ผมนึกถึง “โยนิโสมนสิการ” หลักพระธรรมคำสอนที่ให้เราคิดพิจารณา ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนและแยบคายไปตามเหตุผลปัจจัย หรือตั้งคำถามระหว่าง “ศรัทธา” กับ “งมงาย”) ใช่ครับ จริงๆ ตัวซีรีส์ก็ไม่ได้บอกนะครับว่าเข้าวัดแบบนั้นมันผิด แต่ถ้าเราเข้าไปแบบมีสติและความคิดรู้เท่าทัน มันก็จะดีต่อตัวเรา ช่วยให้เราตื่นรู้มากขึ้น เป็นเหมือนเกราะป้องกันตัว
แล้วแบบนี้คุณกอล์ฟคิดว่าวันหนึ่งศาสนาพุทธจะ “สาบสูญ” ไปมั้ย? อย่างคนยุคนี้ ก็มีหลายคนที่ระบุในบัตร ปชช. ว่า “ไม่มีศาสนา” กันก็เยอะ
- มีโอกาสครับ เป็นเรื่องปกติเลย พอถึงเวลาก็มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันเกิดขึ้นได้ทุกศาสนาเลย ทำให้ศาสนาเองก็ต้องดิ้นรนหรือ “Transform” ตัวเองเพื่อให้ร่วมสมัยมากขึ้น
เพราะขนาดธุรกิจยังมีการปรับตัว เปลี่ยนแปลง ศาสนาเองก็เช่นกัน เขาก็ไม่อยากหายไปตามยุคสมัยกาลเวลา เจ้าอาวาสก็ต้องหาทางให้คนเข้าวัด ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นเช่นนั้นเองครับ อย่างพระดลก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการปรับศาสนาให้ร่วมสมัยมากขึ้น
แล้วในซีรีส์ชอบตอนไหนสุดครับ?
- ชอบฉากที่กำลังจะปั้น “หลวงพ่อผึ้ง” ให้ดัง เพราะมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากๆ ในความรู้สึกผม และมันก็เป็นเรื่องจริง (หรือเปล่า?) เป็นการตั้งคำถามว่าวัดหรือวัตถุมงคลที่ดังมันเกิดจากอะไรกันแน่? มันมีการจัดฉากมาหรือเปล่า? แต่ความเป็นจริงจะมีแค่ไหนยังไง?
มันยังมวลๆ ในตัวผมอยู่ ซึ่งในซีรีส์ตอนนั้นมันจะย้อนแย้งตรงที่พอพวกวินยื่นข้อเสนอให้ลุงขับกระบะที่ประสบเหตุรถชนหนัก เป็นหน้าม้าโปรโมตว่ารอดได้เพราะพระองค์นี้แหละ ตอนแรกลุงปฏิเสธ แต่พอเข้าห้องน้ำแล้วเดินได้ก็ศรัทธาขึ้นแบบไม่มีอะไรมาหยุด มันมวลๆ นะคือคนที่ “พยายาม” ปั้นพระให้ดัง กับคนที่สุดท้ายก็ “ศรัทธา” ขึ้นมาจริงๆ กลายเป็นพระองค์เดียวกัน มันทำให้ผมโอ้โหแบบ “ความเชื่อ” กับ “ความจริง” มันเป็นเส้นที่วัดกันไม่ได้เลย
คนที่เชื่อเขาก็เชื่อ ส่วนคนไม่เชื่อยังไงก็ไม่ มันตอบยากมากๆ เรื่องนี้ถกกันยาวไม่รู้จบ คำตอบมันคนละชุดคำตอบกัน อย่างเกมไปเถียงกับป๊าที่กำลังศรัทธาหลวงพ่อผึ้ง ก็คุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะเขามองคนละมุม
ทิ้งท้ายในสิ่งที่ซีรีส์และภาพปกไม่ได้บอกไว้ ในมุมคุณกอล์ฟ?
- “Messages” ในตัวงานผมมันได้บอกความจริงในเชิงพุทธพาณิชย์ไปหมดแล้ว ถ้าคนที่เคยสัมผัสแบบนั้นได้มาดู เขาก็จะรู้สึกแบบนั้นจริงๆ ฝากแบบนี้ดีกว่าครับ
มาถึงตรงนี้ต้องยอมรับโดยดุษฎีครับว่า
ซีรีส์ “สาธุ” ได้สะท้อนแง่มุมต่างๆ ให้เรามากมาย
ที่นอกจากการตีแผ่นด้านมืดดำของศาสนาพุทธ
ในมุมตื่นเต้น กระแทกอารมณ์ เร้าใจ
ทั้งความเป็นพุทธพาณิชย์
คอยหากินกับศรัทธาญาติโยม
รวยเพราะการได้บวชเป็นพระ
ทั้งการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้มีอิทธิพล
การฉ้อฉล อาศัยผลประโยชน์ร่วมของกัน
เป็นวงกลมที่เหลื่อมกันไปมาระหว่าง
“ธุรกิจ-ศาสนา-การเมือง (สจ.-ตำรวจ)-สังคม”
รวมไปถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
สรวงสรรค์อันดีงามที่แปดเปื้อนด้วย
กิเลสตัณหาต่างๆ วนไป
อีกทั้งยังให้แง่คิดชวนตั้งสติ
ว่าพระที่ปฏิบัติมิชอบทำบาปให้เห็นตามสื่อ
จนพุทธศาสนิกชนพากันหมดศรัทธาในศาสนา
แท้จริงแล้วต้องกลับมาตั้งคำถามใหม่ว่า
แก่นของศาสนาคือ “พระธรรม” คำสอน
และพระธรรมก็สอนให้เรา “ไม่ยึดติด” กับสิ่งใดๆ
เช่นกันกับพระสงฆ์ที่เป็นตัวบุคคล ร้อยพ่อพันแม่
พระดีๆ ก็มี พระไม่ดีก็พาเสียหมด
รวมถึงการยึดติดใน “วัตถุ” มากกว่าหลักปฏิบัติ
นั่นใช่สิ่งที่ควรเป็นหรือเปล่า? แต่ก็ไม่ได้ชี้นิ้วบอก
ว่าใครผิดหรือถูก ตราบใดที่ศรัทธานั้น
ไม่ได้พาเราประพฤติผิด เดือดร้อนตนและผู้อื่น
แบบไหนถึงจะเรียกว่า “ทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา)”
ที่แท้จริงและเหมาะกับยุคสมัยปัจจุบัน?
แต่สิ่งที่ผมชอบที่สุดคือการสื่อภาพ
ของ “วัด” และ “ธุรกิจ” ให้ชัด
จนเห็นเป็นเนื้อเดียวนี่แหละ
คือไม่ใช่แค่วัดต้องดิ้นรนดึงคน
หาปัจจัยมาบำรุงตัวเองให้ไปต่อ
พระเองก็ต้องสวมบทบาท
เป็น “Story Teller” ที่ดีและดึงดูด
ปรับตัวไปตามยุคสมัย ไม่เป็นไดโนเสาร์
เล่ายังไงให้ญาติโยมเห็นภาพตามที่สุด
หยุดความวอกแวก ง่วงเหงาหาวนอน
Transform พระธรรมคำสอน
ให้จับต้องง่าย ใกล้ชิดกับคน
และยุคสมัยปัจจุบันมากขึ้น
อย่าง “พระดล” ที่เป็นตัวอย่าง
ของพระผู้พร้อมโอบรับการเปลี่ยนแปลง
โดยยังคงไว้ซึ่งแก่นของเนื้อหาธรรมะได้อยู่
ขณะเดียวกันตัววัดเองก็ต้องมีการปรับ “Business Model”
ในรูปแบบที่พร้อมซัพพอร์ตการเผยแผ่ศาสนาในมุมใหม่
ให้ลึกซึ้งจึ้งถึงใจญาติโยมด้วยเช่นกัน
อีกทั้งยังสื่อถึง “ไฟแห่งกิเลส”
ที่พอลุกโชนจุดติดขึ้นมา
มันก็ไม่มีท่าจะดับลงไป
ตั้งแต่คนเป็นพระเองที่หากเผลอขึ้นมา
ก็จะถูกกิเลสครอบงำได้โดยง่าย
ทั้ง “โลภะ โทสะ โมหะ”
ทั้งหลวงเจ๊ ทีมพระนักเลง หรือแม้แต่พระดล
รวมถึงปุถุชนคนธรรมดาอย่างวิน
ที่พอได้เงินจากธุรกิจวัดเยอะ
ใช้หนี้ทนายได้หมดจดแล้ว
ก็ไม่อยากลงง่ายๆ ขอทำต่อ
เมื่อมีกิเลสก็เป็นเหตุแห่งทุกข์ต่อไปอีก
ถลำลึกเกินจนกู่ไม่กลับ มีแต่จะแผดเผา
พากันวอดวายตามกันไปหมด
รู้ไปถึงอดีตที่ไม่มืดดำของครอบครัวตัวเองต่อ
บางทีเรื่องราวทางโลกและทางธรรม
ก็หยั่งลึกถึงกันมากกว่าที่ใครจะจินตนาการ
คำถามคือจะรอให้กิเลสกลืนกิน
หรือเราจะรู้เท่าทันแล้วจัดการมัน!?
ไม่ว่าซีรีส์จะมีซีซั่นต่อหรือไม่นั้น
มันก็ช่วยสร้างแรงกระเพื่อม
ให้สาธุชนอย่างเราๆ
ได้ฉุกคิดกันบ้างแล้วล่ะครับ,,,
ขอขอบคุณคุณกอล์ฟ – สราวุฒิ ปานหนู อีกครั้งนะครับ
ที่สละเวลามาให้สัมภาษณ์ พูดคุยอย่างเป็นกันเอง
บอกเล่าเรื่องราวมาอย่างเต็มที่เลย
ขอบคุณทีมงาน ผกก. / ครูร่ม / และทีมงานนักแสดงทุกคน
สำหรับการตีแผ่เรื่องราวศาสนาที่เรียกได้ว่า “ทำถึง”
จิกกัด เจ็บแสบ บดขยี้ได้ตรงไปตรงมาสุดๆ จุกถึงทรวงอก!
หนัง
netflix
พุทธศาสนา
1 บันทึก
1
2
1
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย