4 เม.ย. เวลา 05:30

รู้จัก The Beauty Bias เมื่อผลสัมภาษณ์ชี้ คนหน้าตาดีมักได้เปรียบเรื่องงาน

เคยสงสัยหรือไม่ว่า หน้าตาส่งผลกับการสัมภาษณ์และการทำงานจริงๆ หรือไม่? การที่เรารู้สึกไม่ดีเมื่อถูกมองข้ามความสามารถและเห็นคนที่มีหน้าตาที่ตรงกับ Beauty Standard ได้รับความชื่นชอบในที่ทำงานมากกว่านั้น เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ หรือเรากำลังแค่รู้สึกอิจฉาไปเอง?
เรื่องของความนิยมชมชอบในตัวของคนทำงานที่มีหน้าตาดีหรือ The Beauty Bias นั้น เป็น 1 ในปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสถานที่ทำงาน แม้จะไม่มีผลการสำรวจใดๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่คนทำงานมักจะรู้กันอยู่ดี
แต่ถ้าหากจะหาสิ่งที่สามารถยืนยันปรากฏการณ์นี้ได้จริงๆ นั้น ก็คงต้องหยิบยกเอาผลการวิจัย Physical Attractiveness Biases in Ratings of Employment Suitability: Tracking Down the “Beauty is Beastly” Effect ที่ทำการทดลองคัดเลือกผู้สมัครกับเจ้าหน้าที่สรรหาบุคลากรทั้งหมด 180 คน พบว่าผู้สมัครที่แนบรูปและมีรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูดีนั้น มักจะได้รับการคัดเลือกสู่ขั้นตอนสัมภาษณ์มากกว่าผู้สมัครที่ไม่แนบรูปภาพ ทั้งนี้รูปลักษณ์ภายนอกที่ดีมักจะส่งผลต่อเงินเดือนที่เจ้าหน้าที่สรรหาเสนอให้กับผู้สมัครคนนั้นๆ ด้วย
นอกจากนี้ ผลวิจัยยังพบว่า รูปลักษณ์ภายนอกจะมีอิทธิพลต่อการสรรหาบุคลากรในระดับเริ่มต้นไปจนถึงปานกลางเท่านั้น เพราะเรื่องของ Beauty Standard ไม่ได้ส่งผลต่อการสรรหาบุคลากรในตำแหน่งบริหารมากนัก
แต่ในทางกลับกัน การศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกลับยืนยันว่า Beauty Standard ส่งผลกับการทำงานในทุกระดับขอพนักงานเพราะ “คนทำงานที่มีค่าความงามดีกว่าค่าเฉลี่ย มักจะมีรายได้มากกว่าคนทำงานที่มีค่าความงามต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 10 ถึง 15%” ซึ่งมาตรฐานของความงามกับการทำงาน เป็นปัญหาที่ถูก Normalize หรือทำจนกลายเป็นเรื่องปกติ และแพร่หลายเทียบเท่ากับการกีดกันทางเชื้อชาติและเพศในตลาดแรงงานสหรัฐ”
ด้วยเหตุผลนี้ เราจึงมักจะเห็นผู้ชาย รูปร่างสูง อยู่ในวัย 30 ปลายๆ จนถึง 40 ต้นๆ ใส่สูทผูกไทด์ ขับรถหรู เป็นซีอีโอของบริษัทใหญ่ๆ และชนะใจของลูกน้องได้ไม่ยาก
เพราะอะไร คนหน้าตาดีจึงมักจะได้เปรียบเรื่องงาน
คำตอบของเรื่องนี้ก็คือ “ผู้คนชอบคนที่สวยหรือหล่อ และเมื่อการเป็นคนที่สวยหรือหล่อสามารถเปิดโอกาสในหน้าที่การงานได้มากขึ้น ทำให้คนเหล่านี้มีทรัพยากรมากขึ้น และจึงเป็นที่มาที่ทำให้คนสวยหรือหล่อมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าคนทั่วไป” คนที่มีลักษณะภายนอกที่น่าดึงดูดใจ จะทำให้ผู้คนคิดว่าบุคคลนั้นมีความฉลาด น่าเชื่อถือ มีคุณธรรม และน่าเข้าหามากกว่า
แต่ปัญหาก็คือเมื่อสถานที่ทำงานปล่อยให้ Beauty Bias เข้ามามีผลต่อการตัดสินใจมากจนเกินไป ก็สามารถส่งผลให้เกิดการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมและไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนทำงานได้เช่นกัน และที่สำคัญคือเมื่อเจ้าหน้าที่สรรหาใช้อคติด้านความงามในการตัดสินผู้สมัครมากจนเกินไป ก็ทำให้บริษัทพลาดผู้สมัครที่มีความสามารถไปอย่างน่าเสียดาย
ปัจจุบันนี้ กระแสการต่อต้าน Beauty Bias ก็เพิ่มมากขึ้น แต่ก็คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า Beauty Bias ก็ยังคงมีอยู่อย่างเข้มข้นในโลกของการทำงานทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทยเองก็มีรูปลักษณ์ภายนอกของคนทำงานในอุดมคติเช่นเดียวกัน หรืออาจจะมากกว่าประเทศที่มีผลสำรวจเกี่ยวกับ Beauty Bias ออกมามากมายอย่างสหรัฐอเมริกาเสียด้วย
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะช่วยให้ Beauty Bias ค่อยๆ ลดบทบาทความสำคัญได้ก็คือกระบวนการการคัดกรองผู้สมัคร ที่ควรจะนำเอาเรื่อง Beauty Bias ออกไปจากการพิจารณา และควรพิจารณาในเรื่องของความสามารถมากขึ้น อีกทั้งเรื่องของ Beauty Bias ก็เป็นเรื่องที่ควรตระหนักรู้ และควรปลูกฝังว่าทุกคนมีความหลากหลายเพื่อให้คนทำงานรู้ว่า มนุษย์ไม่ได้มีความสวยงามเพียงแค่แบบเดียวเท่านั้น เราทุกคนมีความแตกต่างและรูปลักษณ์ภายนอกไม่ใช่เรื่องที่สำคัญกับการทำงานมากไปกว่าความสามารถ
อ้างอิง
- Physical Attractiveness Biases in Ratings of Employment Suitability: Tracking Down the “Beauty is Beastly” Effect : Stefanie K Johnson, Kenneth E Podratz, Robert L Dipboye and Ellie Gibbons, ResearchGate - https://bit.ly/3xhJyEO
- Physical Attractiveness Bias in Hiring : Jonathan Porter-Whistman, PerceptionPredict - https://bit.ly/4cE3FNw
- Attractive People Have A Big Advantage In The Job Interview : Jack Kelly, Forbes - https://bit.ly/43HM6Ig
- The Beauty Bias: How Does Appearance Affect the Hiring Process? : traicie, LinkedIn - https://bit.ly/4cD63UL
#trend
#beautybias
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา