10 เม.ย. เวลา 05:00 • ธุรกิจ

จดรายรับ-รายจ่ายแบบไหนให้ได้ประโยชน์สูงสุด

ขั้นตอนแรกแสนสำคัญสำหรับคนที่กำลังจะเก็บเงิน คงหนีไม่พ้นการทำ ‘รายรับ-รายจ่าย’ ซึ่งแน่นอนว่าการจดรายรับ-รายจ่ายของแต่ละคนก็มีความแตกต่างกันไป แต่วันนี้เอไอเอจะขอแนะนำเคล็ดลับในการจดรายรับ-รายจ่ายที่จะทำให้เราเห็นภาพและเกิดประโยชน์ได้สูงสุด ผ่านไอเดียการจดแบบแบ่งพฤติกรรม ✍️
ในการจดแบบแบ่งพฤติกรรมเราจะแยกสัดส่วนออกมาเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ‘การจดรายรับ’ ‘การจดรายจ่าย’ ‘การประเมินสถานการณ์’ ซึ่งเราจะทำการสรุปรายรับ-รายจ่ายด้วยความถี่คงที่ เช่น ทุกเดือนหรือทุก 2 อาทิตย์
📝 ส่วนที่ 1 : การจดรายรับ
การจดรายรับนั้นปกติที่เราทำกันคือการใส่รายละเอียดว่ามีเงินเข้าเท่าไหร่ โดยเน้นไปที่จำนวนเงิน แต่หากจะให้เกิดประโยชน์ที่มากขึ้น เราควรจะแบ่งประเภทที่มาของรายได้ในการจดไว้ด้วย เพราะในกรณีที่ต้องการรายรับที่เพิ่มขึ้นจะได้สามารถดูช่องทางได้ว่าก้อนไหนที่สามารถเพิ่มเติมได้ โดยจะแบ่งออกเป็นดังนี้
- การจดรายรับจากการทำงานหลัก เช่น เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง
- การจดรายรับจากการทำงานเสริม
- การจดรายรับจากทรัพย์สินคงที่ เช่น เงินปันผล ค่าเช่า
- การจดรายรับจากส่วนอื่น ๆ
📝 ส่วนที่ 2 : การจดรายจ่าย
เช่นเดียวกับการจดรายรับ ในส่วนของรายจ่ายยิ่งจำเป็นจะต้องแยกย่อยในรายละเอียด เพื่อให้เห็นภาพรวมว่ามีจุดไหนที่สามารถลดการใช้จ่ายได้ หรือจุดไหนสามารถตัดออกหรือทอนออกในเดือนถัด ๆ มา ดังนั้นการจดรายจ่ายจะประกอบไปด้วย
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและการออม คือ ค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่ต้องกันไว้ทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ เป็นเงินเก็บเพื่อใช้จ่ายในเป้าหมาย เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นเงินออมที่หักเก็บไว้ในทุกเดือน
- ค่าใช้จ่ายคงที่ คือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแน่นอนทุก ๆ เดือน สามารถประมาณการได้ เช่น ค่าเงินผ่อนต่าง ๆ หรือค่าเช่าแบบคงที่
- ค่าใช้จ่ายผันแปร คือ ค่าใช้จ่ายที่มีจำนวนไม่เท่ากันในแต่ละเดือน มีความผกผันตามการใช้ชีวิต เช่น ค่าอาหาร ค่ารถ ค่าเสื้อผ้า ค่าของฟุ่มเฟือย โดยในการจดรายจ่ายในส่วนนี้ให้ทำอย่างละเอียด โดยระบุชี้ชัดว่าจ่ายไปกับอะไรบ้าง
📝 ส่วนที่ 3 : การประเมินสถานการณ์
เพื่อทำให้การจดรายรับ-รายจ่ายมีประสิทธิภาพ ส่วนสุดท้ายอย่างการประเมินสถานการณ์จึงมีบทบาทค่อนข้างสูง โดยเมื่อถึงระยะเวลาความถี่ที่พอควร เช่น จดมาครบ 1 เดือน เราจะทำการประเมิน โดยนำรายได้หรือรายรับ มาหักกับรายจ่าย หากรายรับในเดือนนั้นสูงกว่า ให้เรียกว่าเป็น ‘เงินเหลือ’ ให้นำเงินส่วนนั้นไปทำประโยชน์
ได้แก่ เก็บเป็นเงินออมเผื่อฉุกเฉิน ปลดหนี้ ซื้อสินทรัพย์เพิ่ม แต่หากประเมินแล้วพบว่ารายจ่ายสูงกว่ารายรับ จนต้องนำเงินก้อนอื่นออกมาใช้ ให้เรียกว่าเป็น ‘เงินขาด’ ซึ่งในกรณีนี้ให้เรากลับมาพิจารณาบัญชีที่จด โดยมองว่าสามารถลดรายจ่ายตรงไหนได้บ้าง หรือเพิ่มรายได้ทางใดได้บ้าง เพื่อจะได้ปรับตัวในเดือนถัดมาในการใช้เงิน
ถึงใครจะบอกว่าการจดรายรับ-รายจ่ายเป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ทำได้ทุกคน แต่ก็ใช่ว่าทุกการจดจะทำให้เกิดประโยชน์ เพราะหากขาดการประเมินสถานการณ์และแยกรูปแบบรายรับ-รายจ่าย ก็จะไม่ช่วยทำให้เรามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ดังนั้นวันนี้หากใครกำลังมีความคิดที่จะเริ่มเก็บเงิน ลองทำตามนี้ดู แล้วจะพบว่าการออมเงินไม่ยากอย่างที่คิด! 💸
ขอบคุณข้อมูล ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ติดตาม Community AIA Thailand ได้ที่ https://www.blockdit.com/aiathailand
โฆษณา