5 เม.ย. เวลา 04:52 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจแบบ “คุณหลอกดาว” โตแต่ตัวเลข

“คุณหลอกดาว” เป็นประโยคที่สะท้อนภาพของเศรษฐกิจในมุมของประชาชนที่น่าจะเห็นภาพ และตรงกับสภาวะ ณ ตอนนี้ได้เป็นชัดเจนที่สุด นี่เป็นคำจำกัดความที่มาจาก GroupM Thailand ที่ได้สำรวจผู้บริโภคแบบเชิงลึก จนพบว่าความหวังของคนที่เคยมีต่อเศรษฐกิจหลังเลือกตั้งในปี 2566 มันได้กลายเป็นแค่ความหวังที่อยู่ในฝันไปแล้ว พอเข้าปี 2567 ต้องตื่นจากความฝันมาเจอความเป็นจริง ที่หลายสิ่งไม่ได้เป็นไปตามหวัง เป็นเหมือนภาพลวงตา “คุณหลอกดาว”
การสำรวจข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค โดยกรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) ทำมาอย่างต่อเนื่อง 14 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นมุมมองของผู้บริโภค โดยการลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ และตอบแบบสอบถาม กระจายในทุกภูมิภาค ผ่านกลุ่มตัวอย่าง 2,600 ตัวอย่าง ดังนั้นจึงเพียงพอที่จะสะท้อนมุมมองของผู้บริโภค พฤติกรรมการใช้จ่าย ซึ่งสะท้อนถึงภาพเศรษฐกิจในมุมของประชาชนทั่วไปได้เป็นอย่างดี
ย้อนกลับไปปี 2566 ผลสำรวจยกให้เป็น “ปีแห่งความหวัง” เพราะมีการเลือกตั้ง มีคำสัญญาจากบรรดาพรรคการเมือง มีการตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาพร้อมกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเหมือนความหวังว่าอะไรมันจะดีกว่านี้ แต่พอเข้าสู่ปี 2567 ภาพความหวังที่เคยฝันไว้ในปี 2566 กลับเข้าสู่โลกความเป็นจริง หลายสิ่งช้า หลายไม่มาตามคำสัญญา รายได้ไม่เพิ่ม แต่รายจ่ายแพงขึ้นกว่าเดิม
ภาพรวมเศรษฐกิจไม่ได้ดีมากนัก ไม่เหมือนฝันที่คิดไว้ตอนปี 2566 แม้จะมีความหวังจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เคยเป็นพระเอกก่อนโควิด มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาจริง แต่ก็ไม่ได้มามากตามหวังโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ส่วนรายได้ก็ไม่มาตามหวัง เพราะส่วนหนึ่งการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวแต่ละคนลดลง แถมเศรษฐกิจในประเทศต้นทางก็ไม่ได้ดีเช่นกัน
"แค่มีรายได้เสริมไม่เพียงพออีกต่อไป ต้องมีรายได้แหล่ง 3-5"
ลองมาดูภาพให้ชัดขึ้นผ่านการสำรวจด้านการเงินของผู้บริโภคใน 3 มิติ คือ การหารายได้ การใช้เงิน และการใช้จ่าย น่าจะเป็นตัวที่บอกสภาวะเงินในกระเป๋าของคนไทยได้เป็นอย่างดี
>>ด้านการหารายได้ (Money-in) พบว่า ในสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การจะหารายได้เข้ากระเป๋า คนไทยต้องแข็งแกร่ง และสตรองมากขึ้น หากย้อนไปดูการสำรวจในปี 2566 คนไทยมีรายได้มาจาก 2 ช่องทาง คือรายได้หลักที่เป็นงานประจำ และรายได้เสริม เช่น การเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ หรือเป็นไรเดอร์ส่งอาหาร แต่พอปี 2567 กลายเป็นว่าแค่ 2 ช่องทางไม่พอกิน ต้องมีอย่างน้อย 3-5 ช่องทาง ทั้งงานประจำ ทั้งขายของออนไลน์ ว่างๆ อาจไปเป็นไรเดอร์ พอเข้าช่วงเทศกาลก็ไปหาของมาขายอีก ต้องสตรองที่สุดเพื่อความอยู่รอด
>>ด้านการใช้เงิน (Money-Out) คนไทยจะเลือกซื้อของจากความคุ้มค่า เลือกซื้อของจากร้านที่จัดโปรโมชั่นแบบที่รู้สึกคุ้มค่าที่สุด จากการสำรวจพบว่าบางร้านค้าท้องถิ่นเริ่มออกโปรโมชั่นแปลกๆ แต่ตอบโจทย์ผู้บริโภค เช่น ซื้อขนมแถมเครื่องดื่มชูกำลัง ฟังดูแปลกๆ เป็นสินค้าที่ไม่น่ามาคู่กัน แต่เป็นการจัดโปรที่ตอบโจทย์พ่อ-ลูก คือลูกได้กินขนม ส่วนพ่อก็ได้เครื่องดื่ม มาทีเดียวคุ้มทั้ง 2 คน
และอีกส่วนคือการใช้เงินสำหรับความหวังเดือนละ 2 ครั้งอย่าง ลอตเตอรี่ ที่ยังสามารถดึงเงินในกระเป๋าของคนไทยได้อย่างต่อเนื่อง เพราะช่วยเติมความหวังล่อเลี้ยงได้ทุก 15 วัน
>>ส่วนการการใช้จ่ายที่ไหน (Money-Where) พบว่า คนไทยเลือกซื้อสินค้าผ่านหน้าร้านมากที่สุด และลดการช้อปออนไลน์ ด้วยเหตุผลว่าเมื่อไปซื้อหน้าร้านจะสามารถเปรียบเทียบสินค้า ราคา โปรโมชั่น และความคุ้มค่าได้มากกว่า เพราะถ้าซื้อออนไลน์ต้องไล่ดูที่ละร้าน แต่ถ้าไปซื้อหน้าร้านเลย จะเห็นราคาและโปรโมชั่นเปรียบเทียบตรงเชลฟ์สินค้า หากเจอราคาที่ถูกกว่า ก็เปลี่ยนใจเลือกแบรนด์อื่นที่จุดขายได้ เพราะโปรโมชั่นที่คุ้มค่ากว่า
"รัดเข็มขัดขั้นสุด"
จากพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทยปี 2567 เรียกว่า “รัดเข็มขัด” แบบขั้นสุด เงินในกระเป๋าเมื่อไม่เพิ่มหรือเท่าเดิม ก็ต้องเลือกการจ่ายออกที่คุ้มค่าที่สุด ซึ่งสะท้อนจากพฤติกรรมที่กรุ๊ปเอ็มไปสำรวจมา พบว่ามีพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยที่ประหยัดแบบขั้นสุด เช่น คนกรุงเทพฯ เคยเลือกซื้อข้าวหอมมะลิมารับประทาน แต่เมื่อต้องประหยัดก็ยอมซื้อข้าวสารที่ราคาถูกลง ยอมทานข้าวที่แข็งขึ้น
นอกจากนี้ พฤติกรรมประหยัดที่น่าสนใจคือการใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม เดิมเทเป็นฝาแช่เสื้อผ้า ปัจจุบันใส่ฟ็อกกี้เพื่อฉีดน้ำยาปรับผ้านุ่มให้เป็นละอองฝอยกระจายเหมือนน้ำหอม ด้านร้านค้าเมื่อผู้บริโภคซื้อสินค้าน้อยลง ปรับตัวไม่สต็อกสินค้าจำนวนมาก หรือซื้อคราวละ 10 แพ็ค มาขาย เพราะห่วงหมดอายุแล้วขายไม่ได้ คนในชุมชนยังปรับตัวหันมาผลิตสินค้าขายภายในพื้นที่กันเองมากขึ้น รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่กลับบ้านเกิด ต่อยอดพัฒนาสินค้าให้มีคุณค่า เช่น สมุนไพร นำไปทำเครื่องสำอาง ขายได้ราคาดีขึ้น เป็นต้น
ทั้งหมดเป็นตัวสะท้อนภาพของเศรษฐกิจในมุมของประชาชนทั่วไปได้เป็นอย่างดี แม้ในเชิงของตัวเลขที่สะท้อนออกมาผ่าน GDP จะไม่ได้ดูเลวร้าย แถมยังมีปัจจัยเรื่องท่องเที่ยวที่พอจะเป็นความหวังเข้ามาช่วย แต่การดูเพียงตัวเลข GDP อย่างเดียวมันอาจขัดแย้งกับความรู้สึกในมุมของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องของ “รายได้” ที่มันโตไม่ทัน “รายจ่าย” แถมยังไม่รวมปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เป็นเหมือนแผลเรื้อรังของเศรษฐกิจไทย
ภาพความหวังด้านเศรษฐกิจที่เคยหวังไว้ คงต้องตื่นมาเจอความเป็นจริง หารายได้มาให้ทันการเติบโตกับรายจ่าย เป็นเพราะเศรษฐกิจมันไม่ดี หรือที่ผ่านมาเราหวังกันมากเกินไป?
โฆษณา