5 เม.ย. เวลา 09:05 • อาหาร

Little Chefs, Big Hearts เรื่องเล่าจากชายแดนใต้ผ่านจานอาหาร

หากพูดถึง ‘ภาคใต้’ ท่านผู้อ่านนึกถึงอะไรกันคะ อาจจะเป็นเพลง โอ่โอปักษ์ใต้บ้านเรา แม่น้ำภูเขาทะเลกว้างไกล สถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงาม หรืออาหารรสจัดจ้านที่หลายท่านชื่นชอบ วันนี้ดิฉันจะขอพาไปสัมผัสเรื่องราวอีกแง่มุมหนึ่งของภาคใต้ โดยเฉพาะ ‘ชายแดนใต้’ ผ่านจานอาหารกับ ‘กลุ่มลูกเหรียง’ กันค่ะ
เมื่อวันที่ 13 - 15 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ทางกระทรวงการต่างประเทศได้มีการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติร่วมกับ The Food School Bangkok วิทยาลัยเทคโนโลยีครัววันดี สถาบันการอาหารไทย (TCA) ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานเอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย ในชื่อโครงการ “Little Chefs, Big Hearts – เชฟตัวน้อยหัวใจใหญ่ เปิดโลกเชฟ” แก่เยาวชนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้กับสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง)
เพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับศาสตร์ในการปรุงยาอาหารไทยและนานาชาติ สร้างแรงบันดาลและสร้างโอกาสสู่สายอาชีพในวงการอาหารและการเป็นเชฟในอนาคต
มาถึงตรงนี้หลายท่านอาจสงสัยว่า ‘กลุ่มลูกเหรียง’ คือใคร
สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ หรือ กลุ่มลูกเหรียง คือ สมาคมที่จัดตั้งโดย น.ส.วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ หรือ คุณแม่ชมพู่ เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมนี้ขึ้นหลังจากที่เธอได้สูญเสียครอบครัวจากเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ เธอได้รับรู้และสัมผัสกับความไม่ปลอดภัยทั้งในด้านความรู้สึกและชีวิตที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ เธอจึงสร้างพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือและเสริมสร้างกำลังใจในการมีชีวิตอยู่ในสังคม สำหรับผู้หญิง เด็ก และผู้คนที่สูญเสียครอบครัวไปด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบ
คุณแม่ชมพู่เริ่มจากการเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านอาหารและน้ำให้กับผู้ได้รับความเสียหายที่ไม่มีที่พึ่งพิง ไม่ได้รับการเยียวยาและเมื่อมีอะไรที่คุณชมพู่พอช่วยได้ เธอก็พยายามจะเอาทรัพย์สินที่มีไปขายเพื่อนำเงินมาช่วยเหลือผู้คนให้ได้มากที่สุด แต่โดยที่เธอรู้ว่ายังมีผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์ความไม่สงบอีกมากมาย คุณชมพู่จึงตั้งสมาคมขึ้นเป็นช่องทางหาทุน และเริ่มอุปการะเด็กที่สูญเสียครอบครัวจากความรุนแรงมาอยู่ในกลุ่มลูกเหรียงร่วมกัน
กลุ่มลูกเหรียง มีหลักการสำคัญ 4 ประการคือ
1. การปกป้องคุ้มครอง
2. การช่วยเหลือเยียวยา
3. การส่งเสริมพัฒนา
4. ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)
จะเห็นได้ว่ากลุ่มลูกเหรียงไม่ได้มีจุดประสงค์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อขอทุนจากหน่วยงานที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว แต่กลุ่มลูกเหรียงพยายามสร้างคุณค่าและความหมายของชีวิตให้เด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง จากการที่รู้สึกว่าสังคมที่เขาอยู่ไม่ปลอดภัยสำหรับเขา
โดยการเข้าไปให้ความรู้ด้านการป้องกันภัยทั้งทางธรรมชาติและจากการก่อการร้าย เช่น โครงการ ‘ECHOing Child Safety เด็กชายแดนใต้ปลอดภัยเมื่อภัยมา’ การช่วยเหลือเยียวยาทางด้านน้ำ อาหาร เสื้อผ้า และสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิต รวมถึงการให้ทุนให้กับเด็กในสมาคมไปเรียนต่อในสิ่งที่เด็กชอบ และนำความรู้ที่ได้เรียนไปใช้สร้างประโยชน์ให้กับตัวเองและสังคมต่อไป
การส่งเสริมการพัฒนาโดยการสนับสนุนในสิ่งที่เด็กสมาคมให้ความสนใจ เช่น โครงการครัวลูกเหรียง ซึ่งเกิดจากการที่เด็กในสมาคมชอบทำอาหารและแบ่งปันไปให้พื้นที่ที่ขาดแคลน ทำให้เกิดเป็นกิจกรรมอบรมเพิ่มทักษะการทำอาหาร Little Chefs, Big Hearts ขึ้นมา และยังมีโครงการอื่น เช่น โครงการลิปสติกแดงและแป้งพัฟ ที่ทางกลุ่มลูกเหรียงร่วมกับลอรีอัล (L'Oreal) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้หญิงและเหล่าคุณแม่ในชายแดนใต้ และสุดท้ายธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)
เมื่อเด็กในสมาคมมีวิชาความรู้ติดตัวสามารถใช้ประกอบอาชีพได้และมีความผูกพันกับกลุ่มลูกเหรียง เด็กหลายคนจึงกลับมาช่วยหารายได้ให้กับสมาคม เพื่อให้สมาคมสามารถช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์ความสงบต่อไปได้
โดยการจัดกิจกรรมอบรม Little Chefs, Big Hearts ที่กระทรวงการต่างประเทศเข้าไปช่วยส่งเสริมนั้นเป็นหนึ่งโครงการในหลักการส่งเสริมพัฒนา ให้เด็กในกลุ่มลูกเหรียงได้เข้ามาเรียนรู้การทำอาหารเพื่อนำไปประกอบอาชีพในอนาคต โดยนำวัตถุดิบในท้องถิ่นและอาหารประจำท้องถิ่นมาประยุกต์ (Fusion) เข้ากับอาหารตะวันตก เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างสรรค์อาหารจานใหม่ขึ้นมา และยังเป็นการเปิดมุมมองใหม่ในสายอาชีพ
การทำอาหารให้กับเด็กๆ อีกด้วย
สำหรับดิฉันเองได้มีโอกาสเข้าร่วมงานวันสุดท้ายของการอบรม ซึ่งเป็นวันที่น้องๆ จะได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้มาประกอบอาหารให้แขกผู้ร่วมงานได้ชิมกัน ดิฉันขอยกตัวอย่าง 3 เมนูที่ประทับใจและอยากแบ่งปันเรื่องราวที่ดิฉันได้ฟังจากน้องๆ กลุ่มลูกเหรียงที่ได้เล่าเรื่องราวของตนเองผ่านจานอาหารเล่านี้ค่ะ
(เมนู: ข้าวยำบก)
เมนูแรก Southern Rice Salad on Fish Cracker (ข้าวยำบก) อาหารขึ้นชื่อประจำภาคใต้ที่ถูกจัดในรูปแบบคานาเป้ (Canapé) เป็นอาหารจานเล็กที่สามารถทานได้หมดในคำเดียว โดยจานนี้ถือเป็นจากหลักที่จะนำทุกท่านเข้าสู่อาหารท้องถิ่นภาคใต้ได้อย่างดี เพราะข้าวยำคือการนำข้าว ปลาป่น ผัก และสมุนไพรประจำถิ่นมาผสมคลุกเคล้ากับข้าวและน้ำยำบูดู ทั้งหมดถูกจัดลงบนแผ่นข้าวเกรียบเพื่อให้ง่ายต่อการทานและเพื่อ
เนื้อสัมผัสตอนเคี้ยวให้กับอาหารจานนี้
(เมนู: แกงจอแหร้งไก่ย่างและปลากุเลากรอบ)
เมนูที่สอง Grilled Betong Chicken with Fried Gulao Fish in Jor-Rang Curry Soup (แกงจอแหร้งไก่ย่างและปลากุเลากรอบ) แกงจอแหร้ง หรือ แกงขมิ้นของภาคใต้ รสชาติจะเข้มข้นจากการต้มกะทิกับขมิ้นบนให้ได้สีเหลือง กลายเป็นซอสราดลงไก่ย่างหมักสมุนไพรและผักทอด ให้กลิ่นหอมและตัดความมันของกะทิได้อย่างดี จากนั้นถูกจัดเสิร์ฟบนจานทรงแบนตามสไตล์ตะวันตกทำให้ตัวอาหารมีความน่าสนใจมากขึ้น
(เมนู: กรานิต้ามะม่วงเบากับมะม่วงเบาเชื่อม)
เมนูสุดท้าย Green Mango Granita with Mango Candy (กรานิต้ามะม่วงเบากับมะม่วงเบาเชื่อม) กรานิต้า คือ ไอศกรีมที่มีถิ่นกำเนิดมาจากเกาะซิซิลี ประเทศอิตาลี เป็นไอศกรีมแบบโฮมเมด (Homemade) โดยไม่ต้องใช้เครื่องทำไอศกรีม จานนี้เป็นการประยุกต์เอาวัตถุดิบขึ้นชื่ออย่างมะม่วงเบามาสับให้เป็นเนื้อละเอียด นำไปแช่กับน้ำเชื่อมและนำไปแช่แข็ง พอเซตตัวแล้วจึงนำมาเสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มพริกเกลือในรูปแบบซอส
เป็นของหวานจานสุดท้ายได้อย่างดี
จากเมนูตัวอย่างของรายการอาหารที่ผู้เขียนได้ยกมานั้นเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างอาหารท้องถิ่นกับวิธีการปรุงแบบตะวันตกทำให้นำเสนออาหารออกมาได้น่าทานและน่าดึงดูดต่อผู้พบเห็นมากขึ้น ทั้งนี้ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้อาหารท้องถิ่นอย่างมาก และเป็นความรู้ติดตัวให้กลุ่มลูกเหรียงสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต
สุดท้ายนี้ แม้จะผ่านความเจ็บปวดท่ามกลางความไม่สงบมามาก แต่ความรักความผูกพันสร้างขึ้นในบ้านหลังใหม่จะคอบโอบอุ้มให้ชีวิตเล็กๆ เติบโตขึ้นอย่างมีคุณค่าและคอยเป็นผู้คำจุนบ้านแสนอบอุ่นและปลอดภัยของกลุ่มลูกเหรียงต่อไปในอนาคต
โฆษณา