6 เม.ย. เวลา 06:30 • ไอที & แก็ดเจ็ต

ส่งหนัง 1,800 เรื่องใน 1 วิ! นักวิทย์ทดสอบส่งข้อมูล 301 เทราบิตต่อวินาที

นักวิทยาศาสตร์ทดสอบการส่งข้อมูลด้วยความเร็ว 301 Tbps เร็วกว่าบรอดแบนด์ทั่วไป 1.2 ล้านเท่า ส่งหนัง 4K ได้ 1,800 เรื่องใน 1 วินาที!
นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (IET) ได้ทดสอบความเร็วการถ่ายโอนข้อมูลผ่านใยแก้วนำแสงหรือไฟเบอร์ออปติก ที่เร็วกว่าสายบรอดแบนด์พื้นฐานทั่วไปถึง 1.2 ล้านเท่า โดยการใช้ประโยชน์จากย่านความถี่การส่งข้อมูลที่ก่อนหน้านี้ไม่เสถียร
นักวิจัยทำความเร็วได้ถึง 301 เทราบิตต่อวินาที (Tbps) ซึ่งเทียบเท่ากับการถ่ายโอนภาพยนตร์ระดับความคมชัด 4K จำนวน 1,800 เรื่องผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ในเวลาเพียง 1 วินาที
ใยแก้วนำแสง (แฟ้มภาพ)
พวกเขาประสบความสำเร็จด้วยความเร็วที่เหลือเชื่อในการส่งข้อมูลผ่านอินฟราเรดผ่านท่อใยแก้ว ซึ่งเป็นวิธีการทำงานของบรอดแบนด์ไฟเบอร์ออปติกทั่วไป แต่พวกเขาใช้แถบสเปกตรัมที่ไม่เคยถูกใช้ในระบบเชิงพาณิชย์มาก่อนที่เรียกว่า “อีแบนด์” (E-band) โดยใช้อุปกรณ์ใหม่ที่สร้างขึ้นเอง
ในสเปกตรัมปกติ แสงที่ตาเรามองเห็นอยู่ในช่วงความยาวคลื่นระหว่างประมาณ 400-700 นาโนเมตร ส่วนช่วงอินฟราเรดที่ใช้สำหรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะอยู่ที่ 1,260-1,675 นาโนเมตร ซึ่งการเชื่อมต่อไฟเบอร์ออปติกเชิงพาณิชย์ทั้งหมดจะส่งสัญญาณข้อมูลผ่านสายเคเบิลในย่าน ซีแบนด์ (C-band) และแอลแบนด์ (L-band) ของอินฟราเรด หรือช่วงระหว่าง 1,530-1,625 นาโนเมตร
C-band และ L-band มักถูกใช้ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์เนื่องจากมีความเสถียรมากที่สุด ซึ่งหมายความว่าระหว่างการส่งข้อมูลจะมีข้อมูลจำนวนน้อยมากสูญหายไป
ขณะเดียวกันยังมี “เอสแบนด์” (S-band) ซึ่งอยู่ติดกับ C-band และอยู่ในช่วง 1,460-1,530 นาโนเมตร เคยมีการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์บ้างเช่นกัน เพื่อให้ได้ความเร็วที่สูงกว่ามาก
แต่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า วันหนึ่งปริมาณการรับส่งข้อมูลที่แท้จริงจะส่งผลให้ย่าน C-band และ L-band แออัด ซึ่งหมายความว่าจะต้องเพิ่มย่านความถี่ในการส่งสัญญาณเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยสามารถจำลองการเชื่อมต่อด้วย E-band มาก่อนได้ เนื่องจากการสูญเสียข้อมูลในย่านนี้อยู่ในระดับสูงถึงสูงมาก ประมาณ 5 เท่าของอัตราการสูญเสียข้อมูลในย่าน C-band และ L-band
นอกจากนี้ สายเคเบิลไฟเบอร์ออปติกยังไวต่อการสัมผัสโมเลกุลไฮดรอกซิล (OH) ที่สามารถเข้าไปในท่อและขัดขวางการเชื่อมต่อ ไม่ว่าจะผ่านการผลิตหรือในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ทำให้เกิดการสูญเสียข้อมูลที่สูงมากจากการดูดซับโมเลกุล OH ด้วยแสงอินฟราเรดในย่านนี้
ในการวิจัยครั้งใหม่นี้ นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างระบบที่ทำให้การส่งข้อมูล E-band มีความเสถียรได้ พวกเขาแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จและการถ่ายโอนข้อมูลที่เสถียรด้วยความเร็วสูงโดยใช้ทั้ง E-band และ S-band ที่อยู่ติดกัน
เพื่อรักษาการเชื่อมต่อที่เสถียรในย่านสเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้านี้ นักวิจัยได้สร้างอุปกรณ์ใหม่ 2 ชิ้นที่เรียกว่า “เครื่องขยายสัญญาณออปติคอล” และ “อีควอไลเซอร์รับแสง”
ชิ้นแรกช่วยขยายสัญญาณในด้านระยะทาง ในขณะที่ชิ้นหลังตรวจสอบแต่ละช่องความยาวคลื่นและปรับแอมพลิจูดตามที่ต้องการ พวกเขานำอุปกรณ์ทั้งสองมาปรับใช้กับสายเคเบิลไฟเบอร์ออปติกเพื่อให้แน่ใจว่าแสงอินฟราเรดส่งข้อมูลโดยปราศจากความไม่เสถียรและการสูญเสียข้อมูล
เอียน ฟิลลิปส์ ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ มาวิทยาลัยแอสตัน สหราชอาณาจักร หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานในโครงการนี้ กล่าวว่า “ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยแอสตันได้พัฒนาเครื่องขยายสัญญาณออปติคัลที่ทำงานในย่านความถี่ E band ซึ่งอยู่ติดกับย่านความถี่ C band ในสเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้า แต่มีความกว้างมากกว่าประมาณ 3 เท่า”
เขาเสริมว่า “ก่อนการพัฒนาอุปกรณ์ของเรา ไม่มีใครสามารถจำลองช่อง E-band ได้อย่างถูกต้องในลักษณะที่มีการควบคุม”
แม้ว่า 301 Tbps จะเร็วมาก แต่ก่อนหน้านี้เคยมีนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ ใช้การเชื่อมต่อแบบไฟเบอร์ออปติกเพื่อสาธิตความเร็วขั้นสุดยอด ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2023 ทีมงานที่สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติญี่ปุ่น (NICT) ทำลายสถิติโลกด้วยความเร็วในการส่งข้อมูลที่ 22.9 เพตาบิตต่อวินาที (Pbps) เร็วกว่าความเร็วที่มหาวิทยาลัยแอสตันทำได้ถึง 75 เท่า
เรียบเรียงจาก Live Science
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา