6 เม.ย. เวลา 08:01 • ความคิดเห็น

OLD GAME

กระทิง พูนผล ผู้ที่ผมว่าใกล้เคียง AI ที่สุดในเรื่องความรู้สารพัด ส่งบทความกึ่งการ์ตูนเรื่องหนึ่งชื่อ OLD GAME เข้ามาในห้องไลน์ของ How Club ให้พวกเราได้อ่านกันเป็นอาหารสมอง อ่านแล้วรู้สึกถึงตัวเองและผองเพื่อนได้เป็นอย่างดีเพราะเป็นเรื่องของการปรับตัวและเอาตัวรอดของพวกรุ่นใหญ่ที่ยังไม่เกษียณ อายุเริ่มมาก ทักษะเดิมที่เคยเก่งก็สู้น้องๆรุ่นใหม่ไม่ค่อยได้
บทความนี้เล่าถึง Lebron James นักบาสเกตบอลที่เรียกได้ว่าเป็น G.O.A.T (greatest of all time) คนหนึ่งในประวัติศาสตร์ NBA ปัจจุบันนี้ก็ยังเล่นอยู่ในวัย 39 ปีซึ่งถือว่าแก่มากๆในอายุของนักบาส เพราะนักบาสส่วนใหญ่เลิกตอนประมาณอายุ 34 ปีเนื่องจากบาสเป็นกีฬาที่ต้องใช้ความแข็งแรงของร่างกายสูงมาก นักบาสวัยสามสิบกลางก็จะสู้เด็กหนุ่มๆไม่ได้ทั้งสิ้นเพราะทั้งร่างกายที่เสื่อมลงและอาการบาดเจ็บที่รบกวน
2
แต่ไม่ใช่เลบรอน..
ในวัยสามสิบเก้า สถิติของเลบรอนยังเหมือนหนุ่มๆอยู่เลย ทั้งเวลาที่เขาเล่นในสนาม ค่าเฉลี่ยการทำคะแนน การรีบาวน์ และแอสซิสต์ ซึ่งผู้เขียนวิเคราะห์ว่าไม่ใช่เพราะเลบรอนเป็นอมตะ ร่างกายไม่เสื่อม แต่เพราะเลบรอนวางแผนปรับตัว ฝึกทักษะใหม่ๆเพื่อรับมือกับวัยที่สูงขึ้นได้เป็นอย่างดี ในวัยหนุ่ม เลบรอนใช้พละกำลังเล่นวงใน ทำคะแนนเป็นหลัก แต่พอเริ่มมีอายุ เลบรอนเริ่มฝึกฝนการเล่นวงนอก ชู้ตจากระยะไกลมาทดแทน คะแนนช่วง
หลังๆมาจากการเล่นวงนอกมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนั้นเลบรอนในวัยที่มากขึ้นก็ทำการบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ เขาศึกษาคู่แข่งมากขึ้น ดูวีดีโอคู่แข่งแต่ละคนแต่ละทีมแบบจริงจัง หาจุดอ่อนของคู่แข่ง ซึ่งในสมัยหนุ่มๆเขาไม่จำเป็นต้องทำเพราะเขาแข็งแรงที่สุดในสนามอยู่แล้ว
1
ในวัยที่สูงขึ้น เมื่อร่างกายเสื่อมถอยลง เลบรอนทดแทนความเสื่อมด้วย ปัญญา (wisdom) ความรู้เกี่ยวกับเกมส์ (knowledge) และเทคนิคใหม่ๆที่เหมาะกับวัย (technique) ซึ่งทำให้เขายืนระยะได้เหมือนเดิมโดยที่นักบาสสูงวัยคนอื่นต้องยอมแพ้ลง
1
ในมุมคนทำงานก็ไม่น่าจะต่างกันนัก พอวัยย่างสี่สิบ ห้าสิบ คนทำงานส่วนใหญ่ก็จะเผชิญหน้ากับความเสื่อมถอยทางทักษะเดิม เด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามาทั้งอึดกว่า ไม่นอนสองวันยังเฉย
ทั้งสายตาดีกว่า ใช้เทคโนโลยีได้เก่งกว่ารุ่นใหญ่มาก รวมถึงเงินเดือนที่ถูกกว่า รุ่นใหญ่ที่เคยบุกตะลุยร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ เคยใช้ทักษะวัยหนุ่มทำงานได้ดีก็เริ่มเสื่อม สู้เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ ถ้าไม่ได้เตรียมตัวปรับทักษะ ปรับความรู้ และสร้างองค์ความรู้อะไรบางอย่างไว้ระหว่างทาง
หลายครั้งพอถึงเวลาก็สายเกินไป กลายเป็น deadwood ในองค์กร โชคร้ายหน่อยก็โดนเชิญออกในวัยห้าสิบ ไปเริ่มต้นใหม่อะไรก็ยากเพราะที่ใหม่ก็อยากจะรับแต่คนรุ่นใหม่ คนอายุเยอะหน่อยต้องมีทักษะอะไรที่ต่างและมีคุณค่าจริงๆจึงจะรับ
แล้ว Old game สำหรับคนวัยสี่สิบห้าสิบคืออะไร ผมเองในวัยห้าสิบกว่าก็พยายามสังเกตคนวัยเดียวกันที่ยังอยู่รอดและยังแข็งแรงแบบเลบรอนกับคนที่ถูกบีบแทบไม่มีทางไป ถ้าจะพอสรุปได้จากการสังเกตบางประการที่ทำให้รุ่นใหญ่ยังมีประโยชน์ก็น่าจะเป็นเรื่องเหล่านี้นะครับ
ประการแรกคือทักษะด้าน leadership คนรุ่นใหญ่ที่ต้องเปลี่ยนงานหรือได้เลื่อนตำแหน่งต่อส่วนใหญ่เกิดจากภาวะผู้นำที่สามารถเข้าใจและรวบรวมน้องๆเก่งๆมาอยู่รวมกันแล้วทำงานสำเร็จได้ ไม่ว่าจะผ่านความเข้าใจกลไกต่างๆในบริษัท ความสามารถในการจูงใจคน
1
ความสามารถในการทำให้น้องๆทำงานเป็นทีม และในที่สุดคือความเข้าใจว่าการทำงานสำเร็จตามเป้าประสงค์คืออะไรและสามารถ deliver ได้ เวลาบริษัทจะรับคนอายุเยอะก็จะรับเพื่อมาเป็น leader มาคุมทีมทั้งนั้นเพราะทักษะเฉพาะรับเด็กใหม่ดีกว่า ทั้งอึด ทั้งคล่อง ทั้งราคาไม่แพงอีกด้วย
3
ประการที่สองคือทักษะด้าน coaching คนรุ่นใหญ่ที่สามารถอยู่ในองค์กรได้ยาวๆก็คือความสามารถในการรับคนเก่งมาเป็นลูกน้องและสอนงานให้เขาเก่งขึ้นมาทัดเทียมหรือเก่งกว่าเรา ผมเคยฟังคุณ John Brown อดีตซีอีโอของ Agoda เล่าว่าผู้บริหารระดับสูงยิ่งถ้ารับคนเก่งมาทำงาน หน่วยงานที่ดูแลก็จะยิ่งเจริญ ตัวเองก็จะพลอยมีผลงานไปด้วย
1
และพอมีคนเก่งทำงานแทนเราได้ เราก็ย้ายไปทำฝ่ายอื่น ไปรับคนเก่งแล้วเทรนขึ้นมาอีก พอสร้างคนเก่งมาก เราก็มีโอกาสเติบโต เพราะคนเก่งในบริษัทที่โตเร็ว กลายเป็นผู้บริหารในที่สุดก็เคยเป็นลูกน้องเรา เราสร้างมา เป็นเครือข่ายที่ทำให้เราอยู่รอดปลอดภัยได้ประมาณหนึ่งเช่นกัน
เหตุที่ผู้บริหารรับคนเก่งไม่ค่อยได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะความคิดที่ว่ากลัวคนเก่งจะมาแทน เลยรับแต่คนห่วยๆ แต่ระยะยาวก็ไม่ได้เป็นผลดี หรือไม่มีเสน่ห์พอที่จะรับคนเก่ง คนเก่งไม่อยากทำงานด้วย ทักษะในการเตรียมตัวเป็นรุ่นใหญ่ที่สำคัญก็คือความสามารถในการรับคนเก่ง และที่สำคัญไม่แพ้กันคือความสามารถในการสอนงาน สร้างคน เป็น wisdom ที่รุ่นใหญ่ต้องมีในระหว่างที่ยังพอทำได้
8
ประการที่สามที่รุ่นใหญ่จะคงความมีประโยชน์ก็คือเรื่อง networking และ connection ประสบการณ์การทำงานที่ยาวนานถ้าผสมผสานกับการรู้จักคนใน โทรหาใครถึงจะสำเร็จ หรือรู้จักคนนอกที่สามารถทำให้งานที่ติดขัดราบรื่นขึ้น สามารถช่วยเหลือน้องใหม่ได้จากการที่เรารู้จักคนมาก เราจึงจะมีประโยชน์ในมุมของน้องๆ
1
ซึ่งในการที่จะยกหูหาใครได้แล้วได้รับความช่วยเหลือ การรู้จักคนมากและมีคุณภาพ ก็ต้องเริ่มจากการเปิดตัวเอง ไปเรียนหลักสูตร ไปพบปะผู้คนในสาขาอาชีพตัวเองและอุตสาหกรรมอื่นๆ และต้องทำตัวน่ารัก ช่วยเหลือผู้คนไว้ในยามที่เรายังทำได้ เล็กๆน้อยๆก็ยังดี เพราะเวลาต้องการเป็นผู้ประสาน (connector) ในวันที่ทักษะสู้ไม่ได้แล้ว ก็จะสามารถยังมีคุณค่ากับน้องๆอยู่ได้ แต่ก็ต้องเริ่มตั้งแต่ในวัยที่ยังไม่มาก และใช้เวลาลงทุนให้มี network เป็น asset สำคัญไว้เช่นกัน
1
ในแต่ละสาขาอาชีพ รุ่นใหญ่ก็จะยังต้องสังเกตว่ามีทักษะอะไรที่เราต้องพัฒนาโดยเฉพาะเพื่อให้ยังคงคุณค่าและมีประโยชน์ต่อองค์กรเมื่อทักษะเดิมสู้ไม่ได้อีกด้วย
ในบทความนี้ ผู้เขียนเล่าถึงตัวเองว่าเดิมเป็นคนวาดภาพเล่าเรื่อง (visual storytelling) ตอนหนุ่มๆก็ทำได้ดี ใช้ความสามารถในการวาด ความอึดนอนน้อยและการใช้ software ทำงาน แต่พอแก่ตัว คนรุ่นใหม่ทั้งอึด ทั้งใช้ software ใหม่ๆได้ดีกว่า ทั้งสายตาดีกว่า ในวัยสามสิบกว่าเขาเลยพยายามพัฒนาตัวเองให้เป็น art director คอยแนะนำ โค้ชและคุมงานน้องๆ และพัฒนาทักษะทางธุรกิจ การหางานมากขึ้น ซึ่งไม่ง่ายเลยแต่ก็ทำให้เขายังอยู่ในเกมต่อไปได้
ผมเพิ่งคุยกับรุ่นน้องคนหนึ่ง เพิ่งเล่าถึงลูกน้องเก่าที่ถูกให้ออกจากงานในวัยห้าสิบ โทรมาขอความช่วยเหลือว่าจะขอคำแนะนำและอยากให้ช่วยหางานให้ รุ่นน้องผมก็บ่นว่าไม่รู้จะช่วยยังไงเพราะห้าสิบแล้ว ทำงานสายโฆษณาสู้เด็กๆก็ไม่ได้
ที่สำคัญรุ่นน้องผมก็แอบบ่นว่า ตอนอยู่ในอำนาจเป็นหัวหน้าฝ่ายโฆษณา โทรหาก็แทบไม่รับ ขอความช่วยเหลือเล็กๆน้อยก็ปฏิเสธ พอเดือดร้อนก็ถึงโทรมา ฟังแล้วก็รู้ว่าสายเกินไปสำหรับ Old game คนนั้นละครับ…..
3
โฆษณา