Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ดั่งเม็ดทราย
•
ติดตาม
6 เม.ย. 2024 เวลา 23:39 • หนังสือ
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร
หอมกลิ่นความดี
วันหนึ่งปีที่แล้ว
เพื่อนอักษรศาสตร์จุฬาฯ ที่เข้าจุฬาฯ รุ่นเดียวกันในปี 2510 เล่าว่า
“เธอรู้ไหม ชื่อหนังสือและชื่อคอลัมน์ใน FB ของเธอที่ตั้งชื่อว่า ‘หอมกลิ่นความดี’ นั้น ถูกเพื่อนเราคนหนึ่งเขาทักว่า เธอใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้อง”
“ยังไงหรือ” ผู้เขียนถาม
“เขาบอกว่า ความดีไม่ใช่ดอกมะลิ ไม่ใช่ดอกกุหลาบ มันไม่มีกลิ่น แล้วจะไปหอมกลิ่นได้อย่างไร”
“แล้วเธอตอบเขาว่ายังไง”
“ในฐานะคนมีบทกวีอยู่ในหัวใจก็เลยตอบไปว่า ‘หอมกลิ่นความดี’ เป็นคำกวี เป็นโวหาร เป็นคำเปรียบเทียบที่แสดงให้รู้สึกได้ว่าความดีนั้นสามารถกระจายกลิ่นให้ผู้คนมีความรู้สึก มีอารมณ์ร่วมไปด้วยกันในเรื่องราวดีๆ นั้น”
ผู้เขียนพูดขอบคุณเพื่อนสตรีคนนั้น ที่ตอบคำถามแทนใจได้ดี
นอกจากเรามีผู้คนหลายอาชีพที่เถรตรงแล้ว เรายังมีนักภาษาศาสตร์เถรตรงด้วย
ความดีไม่มีกลิ่นก็จริง แต่ภาษาที่ใช้ทำให้รู้สึกประหนึ่งกรุ่นกลิ่น กวีรู้จักเอาถ้อยคำมาเรียงร้อย สามารถจะทำให้ถ้อยคำกลายเป็นภาพได้ ในความรู้สึกของผู้คน
เดือนที่แล้ว ในงานวัฒนธรรมสัมพันธ์นานาชาติ ที่หอศิลป์ กทม. ผู้เขียนได้พบและสนทนากับ อ.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ที่ไปสร้างงานศิลป์อยู่ที่สหรัฐอเมริกา เป็นที่รู้จักและยอมรับนับถือกันในระดับโลก
อ.กมล บอกว่า เกือบสามสิบปีก่อน อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ไปคอนเสิร์ตทัวร์กับ
วงดนตรีคาราบาวที่ USA
“ผมพา อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ไปดูประดิษฐกรรมธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ของแกรนด์แคนยอนที่แอริโซนา หินผาทั้งหมดใหญ่ยาวกว้างลึกมหาศาล ผมเองไม่มีปัญญาจะเขียนภาพ ที่ทำให้คนเห็นรู้สึกได้ถึงความมหึมาของแกรนด์แคนยอน
แต่ อ.เนาวรัตน์ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที เขียนบทกวีออกมาว่า
‘เต็มแผ่นดินเต็มแผ่นฟ้าเต็มตาเห็น
เสลาสลักสลับเล่นเป็นงานศิลป์
ถล่มโลกลงเป็นฉาก ณ ฟากดิน
ชะลอหินขึ้นเป็นฉาก ณ ฟากฟ้า’
บทกวีแค่ 4 วรรคนี้ เก็บภาพอารมณ์ความรู้สึกแกรนด์แคนยอนได้ทั้งหมด มีความสมบูรณ์แบบ ไร้ที่ติ ซึ่งศิลปินอย่างผมวาดภาพลงในกรอบสี่เหลี่ยมให้ได้ความรู้สึกอย่างนี้ไม่ได้”
ในความเป็นจริง…
ขุนเขาไม่ได้ใหญ่กว่าท้องฟ้าหรอก
โลกก็ไม่ได้ถล่มลงมาหรอก
หินก็ไม่ได้ยกตัวขึ้นมาหรอก
แต่กวีเป็นคนคัดสรรเอาถ้อยคำมาใช้เชิงเปรียบเทียบให้รู้สึกได้
การใช้ภาษาจึงไม่ได้จำกัดเพียงแค่เหตุแค่ผล แค่หลักวิชาตามตัวอักษร มันมีมิติเหนือเหตุผลที่คนเราสามารถเก็บรับได้
อย่าว่าแต่กวีเลย นิยาย นิทาน ทั้งมวลล้วนแล้วแต่มีเรื่องราวเปรียบเทียบ มีให้เห็นมากมาย
นิทานอีสปเขียนให้หมาป่าตะคอกลูกแกะได้
เขียนให้กระต่ายท้าเต่ามาวิ่งแข่งกันได้
คนทั่วโลกจึงหลงรักดวงจันทร์ได้
เพราะดวงจันทร์เป็นตัวแทนของความงดงาม และความเปลี่ยวเหงา
คนเราเอาดวงดาวมาเป็นตัวแทนแห่งความหวังความศรัทธา
จะว่าไปแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้ายังมีวาทะธรรมจารึกไว้ว่า
“ดูกรภิกขุทั้งหลาย กลิ่นดอกไม้จันทน์ ไม่สามารถหอมทวนลมได้ แต่กลิ่นแห่งเกียรติคุณความดีความงามของสัตบุรุษนั้นแล สามารถจะหอมไปได้ทั้งตามลมและทวนลม.”
และเพื่อให้กรุ่นกลิ่นความดีได้จริงๆ ขอคัดเอา บทที่ 24 จากหนังสือ “หอมกลิ่นความดี” เรื่อง อูบันตู (UBUNTU) ความเป็นมนุษย์ในตัวคน มากระจายกลิ่นไว้ ณ ที่นี้
.
นักมานุษยวิทยาคนหนึ่งเดินทางไปศึกษาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในแอฟริกา
ขณะที่รายล้อมไปด้วยเด็กกลุ่มหนึ่ง เขาเล่นเกมด้วยการเอาตะกร้าผลไม้ซึ่งมีผลไม้วางอยู่เต็มตะกร้า แล้วเอาตะกร้านั้นวางใต้ต้นไม้ ห่างจากกลุ่มเด็กราว 50 เมตร
เขาวางกติกาโดยบอกกับเด็กทั้งหมดว่า
ใครก็ตามที่วิ่งเร็วสุดไปถึงตะกร้าเป็นคนแรกเป็นผู้ชนะ จะได้ตะกร้าผลไม้นั้นเป็นรางวัล
ก่อนจะให้สัญญาณเด็กวิ่ง ปรากฏว่าโดยไม่ต้องพูดอะไรกัน เด็กทั้งหมดพากันคล้องแขนกันและกันทั้งสองข้างเป็นหน้ากระดานเรียงหนึ่ง
หลังจากได้รับสัญญาณให้เริ่มได้ พวกเขาวิ่งเป็นหน้ากระดานไปพร้อมๆ กัน และพวกเขาถึงตะกร้าผลไม้พร้อมกันทั้งหมด
ทุกคนได้ผลไม้ในตะกร้ามาแบ่งปันกันทั่วหน้า ไม่มีใครได้มากน้อยไปกว่าใคร แล้วต่างก็แกะผลไม้กินกันอย่างเบิกบาน
“ทำไมหนูถึงใช้วิธีวิ่งไปถึงพร้อมๆ กัน แทนที่จะแข่งขันเอาชนะเพื่อน เพื่อจะได้ผลไม้ทั้งตะกร้าไว้กินคนเดียว”
นักมานุษยวิทยาถามเด็ก
เด็กส่งเสียงตอบรับพร้อมกันว่า “อูบันตู” (UBUNTU)
ความหมายก็คือ “ฉันจะสุขได้อย่างไรถ้าคนอื่นเศร้า” (I AM BECAUSE WE ARE)
.
.
เรื่องที่ไม่คาดคิด เกิดขึ้นได้เสมอ
ใช่ไหมว่า เราจะมีภาพในใจของเราเองว่าเด็กชนเผ่าในแอฟริกานั้นไร้การศึกษา อดอยาก แร้นแค้น จนแม้แต่เสื้อผ้าไม่มีจะสวมใส่
ดังนั้นต่อหน้าผลไม้เต็มตะกร้าที่ยั่วยวนใจอย่างนี้ เด็กแต่ละคนคงจะวิ่งสุดแรงเกิด เพื่อไปถึงเป็นคนแรกจะได้คว้าตะกร้าผลไม้มาเป็นของตนเพียงคนเดียวให้ได้
แต่ที่ไหนได้ แม้แต่นักมานุษยวิทยาเองก็ยังงุนงง จึงตั้งคำถามและได้รับคำตอบเช่นนั้น
ความอดอยากยากจนจึงไม่ใช่บทสรุปว่า จะเป็นเหตุให้พวกเขาเห็นแก่ตัว ความแร้นแค้น ก็ใช่ว่าจะแล้งน้ำใจที่พึงมีต่อกันและกัน
ขาดการศึกษา ไม่ได้หมายถึงว่าจะทำความดีไม่ได้
อูบันตู (UBUNTU) คำโบราณในทวีปแอฟริกา แปลตรงตัวว่า...
“ความเป็นมนุษย์ในคน” ก็คือความเมตตาในตัวคนนั่นเอง
ในความหมายที่กว้าง “เราเป็นมนุษย์ได้ทุกวันนี้ ก็เพราะเราทุกคนมีความเมตตาต่อกัน”
ใช่ไหมว่า เมตตาธรรมในตัวคนนั่นเอง คือแก่นแกนและความยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ ประสา..ประสาร : ฉบับวันที่ 10ก.พ.2567
…..
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย