7 เม.ย. 2024 เวลา 10:06 • ธุรกิจ

‘ชายสี่’ อัปเกรด! 70-90 บาทต่อชาม กินอิ่มไม่พอ ต้องถ่ายลง IG ได้ด้วย เน้นขายตลาดบน-ชาวออฟฟิศในเมือง

“ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” รอใช้นามสกุล “มหาชน” หลังกำไรโตพุ่ง 121% พร้อมแตกไลน์ธุรกิจครอบคลุมทุกเซกเมนต์ วาดฝันเป็นสตรีทฟู้ดอันดับ 1 ของประเทศ คาด IPO ภายในปี 2570 ด้านผู้ก่อตั้งระบุ อยากเข้าตลาดฯ เพราะกลัวลูกทะเลาะกัน เชื่อ หากระดมทุนสำเร็จ แก้ปัญหารสชาติไม่เสถียรได้
1
มูลค่าตลาดสตรีทฟู้ดบ้านเราเพิ่มขึ้นแทบทุกปี โดยในปี 2566 มีการประเมินว่า อาจขึ้นไปแตะถึง 300,000 ล้านบาท จึงไม่แปลกที่ธุรกิจร้านอาหารโดยเฉพาะสตรีทฟู้ดจะคึกคัก ทั้งฝั่งผู้เล่นในสนาม หรือผู้ขายรวมถึงผู้บริโภคเองก็ให้การตอบรับที่ดีเช่นกัน นี่จึงเป็นที่มาในการปักธงเคลื่อนทัพของ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” ร้านบะหมี่รถเข็นสีเหลืองสะดุดตาที่มาพร้อมโลโก้ผู้ชายสี่คน จากการเติบโตผ่านสินค้าประเภทเส้น สร้างรายได้-แตกหน่อแฟรนไชส์ออกไปแล้วมากกว่า 4,500 รถเข็นทั่วประเทศ
มาวันนี้ “พันธ์รบ กำลา” ผู้ก่อตั้งชายสี่บะหมี่เกี๊ยว และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชายสี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เริ่มทรานสฟอร์มธุรกิจไปยังโปรดักต์อื่นๆ ในตลาดอาหารอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น “ชายใหญ่ข้าวมันไก่” “พันปีบะหมี่เป็ดย่าง” “อาลีหมี่ฮาลาล” และ “ไก่หมุนคุณพัน” ทั้งยังตั้งใจที่จะกว้านซื้อแบรนด์ดังอื่นๆ มาเติมพอร์ตอีกหลายสิบแบรนด์ด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ก่อตั้งจะประกาศกร้าวว่า เป้าหมายหลังจากนี้ คือการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน แต่เหตุผลแรกสุดในการยื่นไฟลิ่งกลับมีจุดเริ่มต้นเล็กๆ จากความคิดที่ “พันธ์รบ” กลัวว่า ลูกๆ จะฆ่ากันตาย เพราะเรื่องธุรกิจชายสี่ฯ ที่ตนเป็นคนก่อร่างมากับมือตั้งแต่ปี 2535
1
  • ขายชามละ 10 บาท มีเงินเก็บ 7 แสน ดังจนมีคนโทรมาขอซื้อแฟรนไชส์
“ผมเริ่มขายบะหมี่ครั้งแรกตั้งแต่ทองบาทละ 4,000” พันธ์รบ กำลา เล่าถึงช่วงตั้งไข่ธุรกิจในฐานะพ่อค้าร้านบะหมี่ริมทางเมื่อ 31 ปีก่อนหน้า เขาไม่ได้มีความรู้เรื่องกำไร-ขาดทุน และการขยายสาขาผ่านโมเดลแฟรนไชส์ตั้งแต่เริ่ม “พันธ์รบ” เหมือนกับคนหาเช้ากินค่ำทั่วๆ ไป ที่ขายอาหารด้วยรถเข็นบะหมี่หนึ่งคันบริเวณแยกลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
หากเปรียบเทียบเป็นนักฟุตบอล ก็นับว่า อาชีพพ่อค้าขายบะหมี่ “เข้าข้อ” พันธ์รบอย่างมาก เพราะขายได้เพียง 2 ปี ก็มีเงินเก็บราว 700,000 บาท ในยุคนั้นราคาก๋วยเตี๋ยวต่อชามอยู่ที่ 10-15 บาท ขายดีจนมีรายได้สูงสุดถึง 6,000 บาทต่อวัน เมื่อมีเงินเก็บมากพอ พันธ์รบก็คิดอยากทำเส้นบะหมี่ด้วยตัวเอง เนื่องจากเส้นที่รับมาเริ่มไม่ได้มาตรฐาน บางวันเส้นเหนียว บางวันเส้นขาด จึงติดต่อซัพพลายเออร์ที่มาส่งวัตถุดิบทุกวัน เพื่อซื้ออุปกรณ์ในการทำบะหมี่ด้วยตัวเอง
ความเหนียวนุ่มของบะหมี่ชายสี่ทำให้สามารถขยายสาขาออกไปได้มากขึ้น กระทั่งมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ คือการได้รับเชิญไปออกรายการโทรทัศน์ ส่งให้ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” เป็นที่รู้จักทั่วประเทศภายในชั่วข้ามคืน
“เราเริ่มติดต่อสอบถามคนมาส่งเส้นว่า ซื้อเครื่องจักรที่ไหน อย่างไร จากนั้นจึงไปซื้อเครื่องทำเส้นมาในราคา 230,000 บาท พอผลิตเส้นได้เองก็แนะนำ-บอกต่อให้คนแถวบ้านมาเปิดร้านขายด้วย จากของเราสาขาเดียวก็เพิ่มเรื่อยๆ จนครบ 210 สาขา ได้ไปออกรายการ “เกมแก้จน” ของคุณปัญญา นิรันดร์กุล ตอนปี 2540 ปรากฏว่า เป็นที่รู้จักทั่วประเทศ มีคนโทรติดต่อเข้ามาว่า อยากนำชายสี่ฯ ไปขาย ซึ่งสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีคนรู้จักคำว่า แฟรนไชส์ แม้กระทั่งตัวผมเองก็ไม่เข้าใจว่า แฟรนไชส์คืออะไร”
พันธ์รบมองว่า นอกจากการขยายธุรกิจผ่านแฟรนไชส์แล้ว มุมมองและทัศนคติของคนขาย คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” เติบโต ตนถือคติ “คนกินคือเจ้านาย คนขายคือลูกจ้าง” เป็นสโลแกนประจำตัวในฐานะพ่อค้าขายบะหมี่มาโดยตลอด ต้องใส่ใจดูแลลูกค้า และมีความละเอียดในการปรุงบะหมี่แต่ละชาม สิ่งเหล่านี้จะทำให้สินค้าขายดี
อ่านต่อ:
โฆษณา