10 เม.ย. 2024 เวลา 01:00 • ไลฟ์สไตล์

คนไทยอ่านหนังสือ 2 ชั่วโมง/วัน วัยรุ่นเลิกติดจอ หันจับหนังสือ คนแก่ชอบ E-book ขยายตัวหนังสือได้

สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เผย “นิยายวาย” ยังครองแชมป์หนังสือขายดี พร้อมเปิดเผยพฤติกรรมการอ่าน พบ คนรุ่นใหม่อ่านหนังสือเยอะขึ้น ด้านผู้สูงอายุหันมาใช้ “E-book” ทดแทน
2
“สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยว่า งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น มีหนังสือปกใหม่มากกว่า 3,000 ปก ส่งผลให้โดยรวมแล้วมีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้น “1,300,000 ล้านคน” เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 10% มีเม็ดเงินสะพัดมากกว่า “400 ล้านบาท” สวนทางกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง
1
ทั้งนี้ PUBAT เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า พฤติกรรมการอ่านของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยหนังสือที่ได้รับความนิยมสูงสุดยังคงเป็นหนังสือนวนิยายและวรรณกรรม ด้วยสัดส่วน 38% ตามมาด้วยนิยายวายทุกประเภท 21% หนังสือการ์ตูนและไลท์โนเวล 21% หนังสือประเภทเสริมทักษะ (How to) 18% หนังสือเด็กและคู่มือการเรียน 13% และหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพ 10%
ด้าน “ธีรนัย โสตถิปิณฑะ” เลขาธิการสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ กล่าวว่า การเติบโตของตลาดหนังสือไทยยังมีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับผลสำรวจในโครงการวิจัยพฤติกรรมการอ่านและการซื้อหนังสือของคนไทย ในปี 2567 ที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ทำงานร่วมกับคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อเก็บผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างทุกเพศวัยจำนวน 2,550 คนทั่วประเทศ โดยมีอายุตั้งแต่ 12-50 ปี ระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา พบว่า
2
คนไทยมีพฤติกรรมการอ่านรวมทุกกลุ่มอายุเฉลี่ย 113 นาที ต่อวัน หรือเกือบ 2 ชั่วโมงต่อวัน พบว่า 45% เป็นการอ่านทุกวัน โดยกลุ่มอายุ 12-19 ปี อ่านตำราเรียนและคู่มือเตรียมสอบในสัดส่วนที่สูงถึง 72% ส่วนอายุ 20-29 ปี อายุ 30-39 ปี และอายุ 40-49 ปี อ่านหนังสือพัฒนาตัวเองสูงที่สุดในสัดส่วน 52% 57% และ 51% ตามลำดับ ส่วนกลุ่ม 50 ปีขึ้นไป 58% ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพ
2
อย่างไรก็ตาม พบว่า ทุกกลุ่มอายุเลือกอ่านหนังสือรูปเล่มในสัดส่วนที่สูงถึง 50% และอีบุ๊ก 47% แต่เมื่อแยกเป็นรายกลุ่มกลับพบว่า กลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป เลือกอ่านหนังสือผ่านอีบุ๊กสูงถึง 58% เนื่องจากสามารถขยายตัวหนังสือได้ รวมทั้งมีความสบายตาในขณะอ่านและ 38% เป็นการอ่านในรูปเล่ม
1
ส่วนกลุ่มอายุ 40-49 ปี อ่านหนังสือและอีบุ๊กในสัดส่วนที่เท่ากันคือ 48% กลุ่มอายุ 30-39 ปี อ่านหนังสือรูปเล่ม 54% และอีบุ๊ก 43% กลุ่มอายุ 20-29 ปี อ่านรูปเล่ม 51% และอีบุ๊ก 47% ในขณะที่อายุ 12-19 ปี เลือกอ่านหนังสือรูปเล่มและอีบุ๊กในสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ 47% และ 48%
“เดิมทีเราเคยคิดว่า กลุ่มเด็กจะนิยมอ่านอีบุ๊กมากกว่าหนังสือรูปเล่ม แต่จากผลสำรวจกลับพบว่ากลุ่มที่อ่านอีบุ๊กมากกว่ากลับเป็นผู้ใหญ่เพราะสายตายาว ซึ่งอีบุ๊กสามารถขยายตัวหนังสือทำให้อ่านง่ายขึ้น ในขณะที่วัยรุ่นต้องการลดพฤติกรรมการติดจอจึงหันมาอ่านหนังสือเป็นรูปเล่มมากขึ้น จากผลงานวิจัยการอ่านจากประชาชนทั่วประเทศทำให้พบข้อมูลใหม่ว่า คนไทยไม่ได้อ่านหนังสือแค่ 8 บรรทัดอีกต่อไป” ธีรนัย กล่าวปิดท้าย
2
โฆษณา