8 เม.ย. 2024 เวลา 14:58 • ไลฟ์สไตล์

งานศพที่ไม่ต้องไว้ทุกข์

ปกติเป็นคนที่มีเสื้อผ้าสีเข้มมากกว่าสีสันสดใส ถ้ามีเหตุต้องไปงานศพแบบไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อน จะหยิบเสื้อผ้าออกงานได้สบายมาก
1
ทราบเรื่องผู้ใหญ่ที่ทางบ้านเคารพนับถือท่านหนึ่งเสียชีวิตในวัย 94 ปี ผู้ที่แจ้งข่าวบอกไว้ด้วยว่า ไม่ต้องไว้ทุกข์นะ เพราะผู้วายชนม์ท่านอายุ 94 ปีแล้ว!
1
แล้วเป็นวันที่แม่ของฉันใส่เสื้อสีชมพู แบบชมพู๊ ชมพู กระโปรงสีดำแบบมีลายเส้นนิดหน่อย ส่วนฉันก็กางเกงสีดำ เสื้อสีฟ้าอ่อนแต่ลวดลายก็ไม่สุภาพพอที่ควรจะไปงานศพผู้ใหญ่อยู่ดี
ความที่รู้เพียงว่า.. ไ ม่ ต้ อ ง ไ ว้ ทุ ก ข์ คิดเองเสร็จสรรพก็ควรเป็นสีสุภาพ ๆ เรียบร้อย เหมาะแก่การไปงานไว้อาลัยหน่อยไหม ?!
2
เลยเปลี่ยนชุดเป็นสีสุภาพทั้งแม่ทั้งลูก พอไปถึงงานที่วัดเท่านั้นแหละ ลูก ๆ หลาน ๆ ท่าน เจ้าภาพงานศพใส่สีแดงกันทุกคน ราวกับเทศกาลตรุษจีนเลยทีเดียว รวมทั้งแขกที่มาร่วมงานก็ชมพูบ้าง แดงบ้าง ลายดอกสดใส ล้วนแต่สีสันตระการตาทั้งงาน
เป็นงานแรกสำหรับฉันจริง ๆ ที่เห็นงานศพด้วยสีสันสดใสแบบจริงจัง เจ้าภาพใส่เสื้อโปโลสีแดงเหมือนกันหมดทุกคน
คุยกับผู้ใหญ่ท่านที่มาร่วมงาน 2-3 ท่านที่นั่งใกล้ ๆ ด้วยความอยากรู้ อยากเห็นเป็นการส่วนตัว เพราะเรื่องประเพณีจีนที่รู้อยู่บ้าง ก็แสนจะน้อยนิดตามประสาคนที่มีเชื้อสายจีนแบบลูกเสี้ยวอย่างฉัน
ทราบว่าแขกที่มาร่วมงานนั้น จะสวมชุดสีอะไรก็ได้ไม่มีผิด และการจากลาครั้งนี้ของผู้วายชนม์ที่อายุเกิน 90 ปีขึ้นไป ถือว่าไม่ใช่งานอวมงคล ท่านจากไปตามอายุขัยของท่านแล้ว
3
และมีความเชื่อว่า ท่านที่อายุยืนยาวถึง 90 ปีขึ้นไปนั้น เป็นผู้ที่มีชีวิตที่น่าชื่นชม เราไม่ควรแสดงความโศกเศร้าเมื่อท่านจากไป
ลูก ๆ หลาน ๆ รวมถึงญาติมิตรไม่จำเป็นต้องไว้ทุกข์ สามารถใส่เสื้อผ้าสีสดใส เพื่อเป็นการฉลองชีวิตที่ยาวนาน และมีความสุขของผู้วายชนม์ เป็นการแสดงความเคารพ ยกย่องชีวิตของท่านที่ได้มีโอกาสใช้ชีวิตอย่างเต็มที่
1
ทั้งนี้ทั้งนั้นน่าจะเฉพาะเชื้อสายจีนนะคะ
เพราะฉันยังไม่เคยเห็นงานศพของคนไทยท่านที่อายุ 90 ปีขึ้นไปที่เสียชีวิต ไม่ต้องไว้ทุกข์ทำนองเดียวกันนี้สักครั้ง
ก่อนกลับเจ้าภาพแจกของชำร่วยแขกที่มาร่วมงานแต่ละคน และอวยพรขอให้สุขภาพดี เฮง เฮง เฮง มั่งมี ศรีสุข
1
จริง ๆ แล้วความตายเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรชีวิต จะให้คิดว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าเศร้าอะไร ก็ไม่ง่ายนัก
..
ธรรมชาติอันเป็นธรรมดาของคนทั่ว ๆ ไป
ที่เราต่างควรยอมรับให้ได้
เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วให้เร็ว
และ
ใช้ชีวิตที่เหลือของเราต่อไปให้ดี ๆ (เนอะ)
ข้อมูล: เกร็ดความรู้ประเพณีจีน
โฆษณา