9 เม.ย. เวลา 03:00 • สุขภาพ

ความโดดเดี่ยวทางสังคมส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมกินอาหารและสุขภาพจิต

ในปัจจุบัน ปัญหาด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชากรกำลังได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินอาหารและสุขภาพจิต ซึ่งมีความเชื่อมโยงกัน
งานวิจัยจากวารสารทางการแพทย์ JAMA Network Open 2024 ศึกษาว่า ความรู้สึกโดดเดี่ยวทางสังคม (social isolation) มีความสัมพันธ์กับกระบวนการทางสมองในการประมวลสัญญาณความอยากอาหาร พฤติกรรมการ
กินอาหาร ภาวะโภชนาการ และสุขภาพจิต หรือไม่ อย่างไร
ผลการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างสตรีวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น จำนวน 93 คน พบว่า ผู้ที่รู้สึกโดดเดี่ยวทางสังคมมากจะมีการตอบสนองของสมองต่อสัญญาณความอยากอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปในบริเวณที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตนเอง (executive control network) ความสนใจและการประมวลข้อมูลภายในสมอง (default mode network) และระบบการให้ความสนใจต่อสิ่งที่มองเห็น (visual attention network)
ซึ่งส่งผลให้มีพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น การมีความอยากอาหารหวาน ๆ การกินอาหารเพื่อรางวัล และมีภาวะอ้วน นอกจากนี้ ยังพบว่ามีปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และภาวะเครียดมากกว่ากลุ่มที่มีความรู้สึกโดดเดี่ยวทางสังคมน้อยกว่า
ข้อค้นพบเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ความโดดเดี่ยวทางสังคมมีความสัมพันธ์กับรูปแบบการทำงานของสมองที่ชี้ให้เห็นถึงความยากลำบากในการควบคุมตนเอง การประมวลสถานการณ์ภายในสมอง และการตอบสนองต่อสัญญาณความอยากอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารหวาน ซึ่งส่งผลให้มีพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม ภาวะอ้วน และปัญหาสุขภาพจิต
ดังนั้น จึงควรหากิจกรรมที่ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางจิตใจ เพื่อช่วยลดผลเสียที่เกิดจากความโดดเดี่ยวทางสังคม อาทิ การฝึกทักษะการควบคุมตนเอง การจัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อเพิ่มปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการฝึกสติและสมาธิเพื่อเสริมสร้างสุขภาพจิต เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังควรมีการศึกษาวิจัยต่อยอดในกลุ่มประชากรที่หลากหลายเพื่อให้เข้าใจปรากฏการณ์นี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และพัฒนาแนวทางการช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพต่อไป
อ้างอิง
Zhang X, Ravichandran S, Gee GC, et al. Social Isolation, Brain Food Cue Processing, Eating Behaviors, and Mental Health Symptoms. JAMA Netw Open.2024;7(4):e244855. doi:10.1001/jamanetworkopen.2024.4855

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา