Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Supawan’s Colorful World
•
ติดตาม
9 เม.ย. 2024 เวลา 02:21 • ท่องเที่ยว
Ramnagar Fort ป้อมปราการที่น่าเกรงขาม แห่งพาราณสี
เราใช้เวลาล่องเรือในคงคา มหานทีที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู อยู่ราว 1 ชั่วโมงอย่างรื่นรมย์ .. ชมท่าน้ำ หรือ Ghats ต่างๆ รวมถึงวิถีชีวิตของคนอินเดียที่ปรากฏในสายตาท่ามกลางสายน้ำคงคาที่บางครั้งไหลเอื่อยๆ บางครั้งสาดซ่าด้วยแรงคลื่น
.. จนมาถึงใกล้ๆบริเวณสะพาน Ramnagar Bridge
ป้อม Ramnagar เป็นป้อมปราการหินทรายสีแดงในเมือง Ramnagar เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย .. ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำคงคาบนฝั่งตะวันออก ตรงข้ามกับ Tulsi Ghat ตั้งอยู่บนพื้นที่สูงซึ่งอยู่เหนือระดับน้ำท่วม
โดยอยู่ในตำแหน่งที่สวยงามบนฝั่งขวาด้านตะวันออกของแม่น้ำคงคา ข้างสะพาน Ramnagar ที่สร้างขึ้นใหม่
จากท่าน้ำ เราต้องเดินขึ้นเนินผ่านชุมชนที่อยู่ใกล้ๆป้อม จนมาถึงประตูทางเข้าอันยิ่งใหญ่ของป้อมรัมนาการ์
.. ทางเข้าเป็นช่องโค้งปลายแหลมแบบกลับดอกบัวที่มีลวดลายหยักๆปูนปั้นอยู่รอบๆ มีประตูเหล็กเป็นส่วนกั้นพื้นที่ด้านในจากโลกภายนอก ด้านบนมีมุขระเบียงเหมือนสถานที่ที่เหล่าราชวงศ์จะออกมาเยี่ยมชมความเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆนอกพระราชวัง
ป้อมรัมนาการ์ มีโครงสร้างหินทรายสร้างตามแบบฉบับสถาปัตยกรรมของอาณาจักรโมกุลในศตวรรษที่ 17 ในปี 1750 โดย Kashi Naresh Maharaja Balwant Singh .. กษัตริย์องค์ปัจจุบันและผู้ที่อาศัยอยู่ในป้อม คือ อนันต์นารายณ์ ซิงห์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามมหาราชาแห่งเบนาเรส แม้ว่าตำแหน่งกษัตริย์นี้จะถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปี 1971 ก็ตาม
จากประตูทางเข้า ผ่านเข้าสู่ลานขนาดใหญ่..
ภายในบริเวณป้อม มองเห็นอาคารที่อยู่รอบๆลานกว้าง และศาลาชั้นเดียวหลายอาคาร
.. อาคารหลังใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมยิ่งใหญ่อันสง่างาม แต่ยังคงเห็นร่องรอยของความเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา และอายุของอาคารที่ยังไม่ได้รับการบูรณะ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของโครงสร้างที่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้
พื้นที่ส่วนที่เหลือจะเป็นที่อยู่อาศัยของ Kashi Naresh และครอบครัว และไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไป .. วันนี้จึงจะพาชมเฉพาะส่วนที่สามารถชมได้ค่ะ
อาคารที่เราเห็นอาจจะเป็นพื้นที่ของกองทหารที่รักษาความปลอดภัยเมื่อครั้งที่พระราชวังแห่งนี้ยังเป็นที่อยู่ของมหาราชาแห่งพาราณสีอย่างเป็นทางการ .. ปัจจุบันก็ยังเห็นเจ้าหน้าที่รักษาการณ์ตามจุดต่างๆอยู่บ้าง แม้จำนวนจะไม่มาก
ปืนใหญ่ .. อาจจะถูกย้ายมาจากส่วนของกำแพงป้อมด้านที่ติดแม่น้ำ
ระเบียงแกะสลักทอดยางไปตามความโค้งของกำแพงด้านนอก เป็นส่วนที่ติดกับประตูใหญ่ทางเข้า .. ชอบสถาปัตยกรรมแบบนี้มากมาย
ลานกลางแจ้ง .. มีทางเดินปูน 4 ด้านที่มาบรรจบกันที่น้ำพุเล็กๆตรงกลาง ดูสวยงาม
ชั้นสองของอาคารด้านหนึ่ง ตรงข้ามกับประตูใหญ่ทางเข้าหลัก
.. ชอบทางเดินรอบๆ ที่มีราวระเบียงที่มีลวดลายเหมือนแกะสลักที่สวยงาม บริเวณที่เป็นประตู หน้าต่าง ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นที่วิจิตร มีรายละเอียดที่อ่อนช้อย อาจจะเป็นงานศิลปะปูนปั้นแบบโมกุล
ซุ้มประตูที่สวยๆแบบฉบับอินเดียอีกอันหนึ่ง .. ด้านล่างเป็นปูนปั้นลอยตัวรูปช้าง
จากอาคารรอบๆลานกว้างภายใน เราเดินตามทางเข้ามาในอุโมงค์ซึ่งทะลุอาคารมายังพื้นที่ด้านนอก ซึ่งมองเห็นแม่น้ำคงคา และสะพาน
ภาพที่ปรากฏในสายตา เมื่อเราเดินทะลุอุโมงค์ออกมา .. มุขก่ออิฐถือปูนบนระเบียงงดงามเหมือนระเบียงไม้ ด้วยการประดับด้วยลวดลายที่เหมือนการถักทอลูกไม้ราคาแพง (แม้วัสดุที่ใช้จริงจะเป็นปูน)
.. งามทุกส่วน ทั้งคันทวย ราวกั้นระเบียง พื้นด้านล่างของทางเดินระหว่างคันทวย แม้กระทั่งส่วนของชายคาบนหลังคา
มุขระเบียงแห่งนี้ อาจจะเป็นพื้นที่ในการออกมาชมพระอาทิตย์อัสดงที่งดงามยามค่ำริมฝั่งแม่น้ำคงคา
ระเบียง หน้าต่างที่อยู่ถัดมา .. ประดับอย่างสวยงามเช่นกัน
ในบริเวณนี้มีวัดเล็กๆในศาสนาฮินดูตั้งอยู่ มีกำแพงสูงๆของป้อมปราการอยู่อีกด้านหนึ่งของทางเดินแคบๆรอบป้อมปราการ
หากเรามองจากกำแพงด้านข้างของวัดลงไป .. จะเห็นส่วนของอาคาร 3 หรือ 4 ชั้นที่ประดับอย่างอลังการด้วยลวดลายแลลอินเดียโบราณที่วิจิตรทุกส่วน ด้านบนอาจจะเคยเป็นที่พักของเหล่าราชวงศ์ หรืออาจะเป็นพื้นที่ทำงานของใครบางคน (ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดค่ะ) ชอบมุขระเบียงที่งดงาม
ท่าน้ำที่มีประตูซึ่งเป็นทางเปิดออกสู่ท่าน้ำ ซึ่งอาจจะเป็นท่าสำหรับลงเรือ ก่อนเดินทางสู่แม่น้ำคงคา .. พื้นที่ทั้งหมดนี้ นักท่องเที่ยวไม่สามารถที่จะเข้าไปด้านในได้ค่ะ
.. ไกลออกไปอีกนิด คือพื้นที่หอคอยต่าง ๆ สังเกตเห็นผลงานศิลปะชดช้อยที่ตกแต่งผนังหินทรายอันแข็งแกร่งไว้อย่างประณีต
เราเดินตามทางมายังอีกด้านหนึ่ง .. ทัศนียภาพอันงดงามจากริมฝั่งแม่น้ำ มองเห็นป้อมปราการริมน้ำที่น่าเกรงขามที่ล้อมรอบพระราชวังเสื่อมสภาพลงไปตามกาลเวลา แต่ทิวทัศน์ ณ จุดนี้ มีสะพานเป็นฉากหลังที่สวยงาม
อดคิด และจินตนาการในใจไม่ได้ว่า บรรยากาศพระอาทิตย์ตกดินเหนือแม่น้ำคงคา ที่มีแสงสีแดง เหลือง ส้ม ทองที่ผสมกันเป็นเฉดต่างๆน่าอัศจรรย์ เมื่อตกกระทบบนผิวน้ำนั้น จะสวยงามน่าชมขนาดไหน
หากมีโอกาสที่จะลงไปนั่งที่ขั้นบันไดริมแม่น้ำ ขณะที่สายตาเฝ้ามองพระอาทิตย์อังดงลับขอบฟ้า ซึ่งจะทอแสงสีทองลงบนผืนน้ำและหลังคาบ้านเรือน เรือมากมายรายเรียงอยู่ในแม่น้ำ ก่อให้เกิดเป็นฉากหน้าอันงดงาม ควรค่าแก่การถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกมากมาย .. คงเป็นอีกโมเม้นท์ที่ประทับใจ
Museum
Durbar Hall ซึ่งเคยเป็นท้องพระโรง (Public Audience Hall) ของมหาราชาอินเดียในอดีต ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ชื่อว่า “สรัสวดีภวัน” (Saraswati Bhawan .. ภายในจัดแสดงของสะสมที่เป็นของราชวงศ์ มีชื่อเสียงในเรื่องของสะสมรถโบราณของอเมริกา เช่น รถโบราณอย่างรถคาร์ดิลแลค ที่แปลกตาและหายาก รถม้าสีเงิน รวมถึงสิ่งของสะสมอื่นๆ
.. เก้าอี้เก๋งประดับด้วยเพชรพลอย งานงาช้าง เครื่องแต่งกายในยุคกลาง Palakis (เกี้ยวในรูปดอกบัว) ประดับด้วยทองและเงิน ช้างแกะสลักจากเงิน เครื่องประดับ เครื่องแต่งกายที่ทำจากผ้าไหมกิมฮวา (ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดของช่างทอเมืองพาราณสี) คลังอาวุธอันน่าทึ่งพร้อมดาบ ปืนเก่าจากแอฟริกา พม่า และญี่ปุ่น ปืนคาบศิลาหุ้มเกราะเก่า มอระกู่หรูหรา มีดสั้น กริช หอก และดาบ .. เป็นหลายสิ่งของกลุ่มโบราณวัตถุที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
ชื่นชมภาพวาดเหมือนของมหาราชา เครื่องดนตรีเก่าแก่สีดำที่กลายเป็นสีขาวเพราะละเลยการบำรุงรักษา และมีนาฬิกาดาราศาสตร์จากศตวรรษที่ 19 ที่หายาก นาฬิกานี้ไม่เพียงแต่แสดงเวลา แต่ยังแสดงปี เดือน สัปดาห์และวัน ตลอดจนรายละเอียดทางดาราศาสตร์ ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ด้วย นาฬิกาเรือนนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2395 โดยนักดาราศาสตร์ที่ศาลในพระราชวังพาราณสี
นอกจากนี้ ยังมีชื่อเสียงจากการจัดแสดงอักษรและพระคัมภีร์โบราณต้นฉบับ โดยเฉพาะงานเขียนทางศาสนา ยังเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์อีกด้วย หนังสือหลายเล่มที่แสดงในรูปแบบโมกุลย่อส่วนก็เป็นส่วนหนึ่งของคอลเลกชันนี้เช่นกัน มีภาพประกอบจำนวนห้าร้อยสามสิบห้าภาพที่แสดงถึงหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม แต่ละภาพมีเส้นขอบตกแต่งด้วยลวดลายดอกไม้หรือภาพกราฟิกที่หรูหรา
***ห้ามถ่ายภาพภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์ จึงไม่มีภาพมาให้ชมค่ะ
Festivals
พระราชวังป้อมดูมีชีวิตชีวาที่สุดในช่วงเทศกาลรามลีลาซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลาหนึ่งเดือนในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ซึ่งเป็นที่ซึ่งมีการแสดงฉากจากมหากาพย์รามเกียรติ์
พระราชวังป้อมดูมีชีวิตชีวาและมีสีสันมากเมื่อได้รับการถวายเป็นบุญราศีในช่วงเทศกาลรามลีลาซึ่งกินเวลานานหนึ่งเดือน ซึ่งมีการแสดงรามเกียรติ์ตอนต่างๆ
ในโอกาสนี้ มีการนำเสนอการประกวดหรือขบวนแห่มหากาพย์รามเกียรติ์หลากสีสันโดยเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองดุสเสห์ราที่จัดขึ้นในเดือนตุลาคมตามปฏิทินเกรโกเรียน โดยมีการเผารูปจำลองของทศกัณฐ์ ราชาปีศาจ และพรรคพวกของเขา ซึ่งแสดงถึงชัยชนะ ความดีมากกว่าความชั่ว
เทศกาลนี้ยังรวมถึงขบวนแห่เครื่องราชอิสริยาภรณ์โบราณต่างๆ มหาราชายังคงสืบสานประเพณีของครอบครัวในการเข้าร่วมเทศกาลละคร Ram Lila ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีบนถนนด้านหลังป้อมโดยขี่ช้างที่ประดับประดาไว้เป็นหัวหน้าขบวน
ในสมัยก่อน ละครนี้แสดงโดยกองทหารพื้นเมืองและมีการอ่านเรื่องราวมหากาพย์ของคัมภีร์รามเกียรติ์ตลอดเทศกาลที่กินเวลานานหลายเดือน เทศกาลอื่นๆ ที่จัดขึ้นในป้อมคือในเดือน Magh (มกราคมและกุมภาพันธ์) หน้าวัด Veda Vyasa ที่ซึ่งผู้แสวงบุญมาเยี่ยมชม Ramnagar ในเดือน Phagun (กุมภาพันธ์และมีนาคม) มีเทศกาลที่เรียกว่า Raj Mangal จัดขึ้นในป้อมโดยมีขบวนเรือพร้อมผู้คน การเต้นรำและการร้องเพลง เริ่มจาก Asi Ghat เลียบแม่น้ำหน้าป้อม
https://en.wikipedia.org/wiki/Ramnagar_Fort
1 บันทึก
1
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย