11 เม.ย. 2024 เวลา 09:53 • สุขภาพ

โปรแกรมหมอประจำบ้านอัจริยะ: เส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น / โรคคาร์พัลทูนเนล

โปรแกรมหมอประจำบ้านอัจริยะ: เส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น / โรคคาร์พัลทูนเนล
เส้นประสาทมือ ที่เรียกว่า ประสาทมีเดียน (median nerve) เมื่อลงมาที่ข้อมือจะวิ่งผ่านช่องเล็ก ๆ ซึ่งประกอบด้วยกระดูกข้อมือและแผ่นพังผืดเหนียว ๆ ที่อยู่ข้างใต้ของกระดูกข้อมือ ช่องเล็ก ๆ นี้มีชื่อเรียกว่า คาร์พัลทูนเนล (ช่องใต้กระดูกข้อมือ) ในบางครั้งเนื้อเยื่อภายในช่องแคบนี้อาจเกิดการบวม ทำให้เส้นประสาทมือถูกบีบรัด เกิดมีอาการปวดหรือชาที่ปลายมือ เรียกว่า โรคคาร์พัลทูนเนล หรือ เส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น
โรคนี้พบได้ค่อนข้างบ่อย มักพบในคนอายุ 30-60 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย บางรายอาจพบมีญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย
สาเหตุ
โรคนี้เกิดจากเส้นประสาทมือ (เส้นประสาทมีเดียน) ที่อยู่ในช่องใต้กระดูกข้อมือ (คาร์พัลทูนเนล) ถูกบีบรัด ซึ่งมักไม่พบว่าเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งอย่างชัดเจน สันนิษฐานว่ามีปัจจัยร่วมกันหลายอย่างที่ส่งเสริมให้เกิดความผิดปกติของเส้นประสาทมือ อาทิ
มีช่องใต้กระดูกข้อมือ (คาร์พัลทูนเนล) ที่แคบกว่าปกติ ซึ่งพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
การบาดเจ็บที่ข้อมือ หรือการขยับข้อมือขึ้นลงซ้ำ ๆ ติดต่อกันนาน ๆ (เช่น การพิมพ์ดีด)
ข้อกระดูกมือมีการอักเสบ (เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์)
ภาวะบวม (มีน้ำคั่งในเนื้อเยื่อ) ในระยะก่อนมีประจำเดือนหรือระหว่างตั้งครรภ์
ภาวะอื่น ๆ เช่น ภาวะอ้วน เบาหวาน วัยหมดประจำเดือน ภาวะขาดไทรอยด์ ไตวาย เป็นต้น
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบปวดร้อน รู้สึกชา หรือรู้สึกซ่า ๆ คล้ายเป็นเหน็บเป็นพัก ๆ ที่มือ (โดยเฉพาะที่นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และซีกหนึ่งของนิ้วนางด้านที่ติดกับนิ้วกลาง ยกเว้นนิ้วก้อยและนิ้วนางด้านที่ติดกับนิ้วก้อย) บางครั้งอาจปวดร้าวขึ้นไปที่แขนหรือหัวไหล่ อาการปวดมักจะเป็นมากตอนกลางคืนหรือตอนเช้ามืดจนบางครั้งอาจทำให้ผู้ป่วยสะดุ้งตื่น บางรายเมื่อได้ห้อยข้อมือตรงขอบเตียงหรือสะบัดมือจะรู้สึกทุเลาได้
การทำงานโดยใช้ข้อมือ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่างอข้อมือมาก ๆ หรือเร็ว ๆ เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน พิมพ์ดีด) งอข้อมือเร็ว ๆ อาจทำให้เกิดอาการปวดหรือชาได้ ถ้าเป็นมากอาจทำให้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วอื่น ๆ ชาและอ่อนแรงได้ อาการอาจเกิดที่มือข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้
ในรายที่เป็นระหว่างตั้งครรภ์ หลังคลอดอาการมักจะหายไปได้เอง
ภาวะแทรกซ้อน
หากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ ไม่รับการรักษา อาจทำให้กล้ามเนื้อฝ่ามือบริเวณใต้นิ้วโป้งลีบและอ่อนแรงอย่างถาวรได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
การกดหรือเคาะที่ข้อมือ (ตรงด้านเดียวกับฝ่ามือ) อาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดแปลบ ๆ หรือชาที่ปลายนิ้วมือได้
อาจทำการทดสอบโดยให้ผู้ป่วยวางหลังมือ 2 ข้างชนกันในท่างอข้อมือให้มากที่สุด และนิ้วมือชี้ลงพื้นนาน 60 วินาที ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจมีอาการปวดหรือชาปลายนิ้วมือ (นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และซีกหนึ่งของนิ้วนางด้านที่ติดกับนิ้วกลาง) เรียกการทดสอบนี้ว่า Phalen’s sign
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (electromyography/EMG) และการตรวจอัตราความเร็วของการนำกระแสประสาท (nerve conduction velocity test)
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อย จะให้กินยาแก้ปวด ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนก ไพร็อกซิแคม นาโพรเซน) และแนะนำให้ใส่อุปกรณ์ช่วยดามข้อมือเวลาเข้านอน
บางรายอาจต้องฉีดสเตียรอยด์เข้าที่ข้อมือข้างที่ปวด
การรักษาดังกล่าว ส่วนใหญ่อาการมักจะทุเลาได้
ส่วนน้อยที่มีอาการมาก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด (โดยตัดแผ่นพังผืดที่บีบรัดเส้นประสาท) ซึ่งจะช่วยให้อาการทุเลาภายในเวลาไม่กี่วัน
ในรายที่ตรวจพบมีภาวะอื่นร่วมด้วย (เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เบาหวาน ภาวะขาดไทรอยด์ ไตวาย) แพทย์ก็จะให้การรักษาโรคเหล่านี้พร้อมกันไปด้วย
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการปวดแสบปวดร้อน รู้สึกชา หรือรู้สึกซ่า ๆ คล้ายเป็นเหน็บเป็นพัก ๆ ที่มือ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นเส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา ใส่อุปกรณ์ช่วยดามข้อมือ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
เวลาทำงานที่ใช้ข้อมือนาน ๆ ควรมีการพักข้อมือบ่อย ๆ
หมั่นบริหารมือ โดยการหมุนข้อมือและยืดเหยียดฝ่ามือและนิ้วมือ
ลดน้ำหนักตัวถ้ามีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระดำ ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
เนื่องจากโรคนี้เกิดจากปัจจัยร่วมกันหลายอย่าง จึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผลเต็มที่
สำหรับผู้ที่เคยมีอาการของโรคนี้ อาจป้องกันไม่ให้กำเริบด้วยการปฏิบัติตัวเพื่อลดแรงกดดันต่อมือและข้อมือ ดังนี้
เวลาทำงานที่ใช้ข้อมือ หมั่นพักข้อมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องใช้มือออกแรงมากหรือใช้อุปกรณ์ที่มีการสั่น
หมั่นบริหารมือบ่อย ๆ โดยการกำมือ สลับกับการยืดเหยียดฝ่ามือและนิ้วมือ ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง
หลีกเลี่ยงการเหยียดและงอข้อมือขึ้นลงซ้ำ ๆ คอยรักษาข้อมือให้อยู่ในท่าตรงและผ่อนคลาย เช่น เวลาใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ จัดวางเครื่องให้คีย์บอร์ดอยู่ระดับเดียวกับข้อศอกหรือต่ำกว่าข้อศอก
เวลานั่งทำงาน รักษาหลังให้ตรง และเท้าสองข้างวางราบบนพื้น
ใส่อุปกรณ์ช่วยดามข้อมือ
ข้อแนะนำ
1. หากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีใช้ยา ส่วนน้อยที่อาจต้องผ่าตัดแก้ไข ซึ่งช่วยให้หายขาดได้ และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงใด ๆ แต่ถ้าปล่อยปละละเลย อาจทำให้กล้ามเนื้อฝ่ามือลีบและอ่อนแรงอย่างถาวรได้
2. อาการปวดแสบปวดร้อนมือ หรือมือชา นอกจากโรคนี้แล้ว ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น เบาหวาน ปลายประสาทอักเสบ กระดูกคองอกกดรากประสาท เป็นต้น ในการวินิจฉัยแพทย์อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ ตรวจเลือด เป็นต้น
โฆษณา